15 มิ.ย. 2021 เวลา 03:42 • บ้าน & สวน
ขยะชิ้นใหญ่ทิ้งยังไงดี? พร้อมวิธีการกำจัดขยะทุกประเภท
ช่วงโควิดทำให้หลายๆคนที่อยู่บ้านหรือห้องของตัวเอง ได้มีการจัด รื้อ ขนของในบ้านออกมาทิ้งกันบ้างใช่ไหมคะ แต่ก็มีหลายคนที่ประสบปัญหาการทิ้งขยะของชิ้นใหญ่ๆ อย่าง เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่สภาพใช้งานไม่ได้แล้วควรนำไปทิ้งที่ไหน หรือจัดการอย่างไรดี ? ไหนจะขยะอื่นๆภายในบ้านอีก ซึ่งประเทศไทยของเรานั้นมีขยะกว่า 78,000 ตันต่อวันเลยทีเดียวค่ะ
วันนี้เราจึงอยากมาบอกพี่ๆน้องๆที่กำลังจัดของ รื้อบ้านกันว่าสามารถจัดการกับขยะชิ้นใหญ่อย่างไรได้บ้าง พร้อมกับวิธีการกำจัดขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะจากอาหารเดลิเวอรี่  เศษอาหาร ขยะจากการชอปปิ้งออนไลน์ และอื่นๆ ให้มีประโยชน์สูงสุด จะมีวิธีการอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมที่ด้านล่าง หรืออ่านบทความฉบับเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยค่ะ >>
' ขยะชิ้นใหญ่ ' มีอะไรบ้าง?
'ขยะชิ้นใหญ่' ภายในบ้านที่หลายคนประสบปัญหาในการหาที่ทิ้ง จะวางทิ้งไว้ที่บ้านก็เกะกะ จึงต้องนำออกมา 'ทิ้ง' ข้างนอกทำให้เกิดปัญหา ถังขยะหน้าบ้านก็ไม่พอ วางไว้เยอะๆรถขยะก็ไม่สามารถเก็บให้ได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของที่นานๆจะมีการเปลี่ยนชิ้นใหม่สักที แบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
เฟอร์นิเจอร์
เฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งของในบ้านที่มีขนาดชิ้นใหญ่มาก เช่น ตู้เก็บของ ตู้เสื้อผ้า โซฟายาว 2 - 3 เมตร หรือเตียงที่กินพื้นที่กว่า 4 ตารางเมตร จึงทำให้เกิดปัญหาเวลาจะไปทิ้ง ขนไปทิ้งเองก็ลำบาก วันนี้เรามีวิธีการแก้ไขมาแนะนำค่ะ
ก่อนจะตัดสินใจทิ้งขยะ ให้ทุกคนลองพิจารณาให้ดีก่อนนะคะว่าสิ่งของชิ้นนั้นยังสามารถใช้งานได้หรือไม่ ถ้ายังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ อยากให้ทุกคนมองหาผู้ใช้งานคนต่อไป เนื่องจากยังมีคนที่มีความต้องการของใช้ต่างๆอยู่ และเพื่อลดขยะที่จะทิ้งไปในสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ
- สภาพดี / ซ่อมได้
ถ้าสิ่งของยังมีสภาพดี หรือสามารถซ่อมได้ ให้บริจาคตามแหล่งรับบริจาคต่างๆ ซึ่งไม่ต้องห่วงสำหรับบางคนที่ไม่สะดวกขนของไปบริจาค สถานรับบริจาคบางแห่งมีบริการรถมารับถึงที่บ้านเลยค่ะ ยกตัวอย่าง เช่น
- มูลนิธิวัดสวนแก้ว : รับบริจาคเฟอร์นิเจอร์เก่า(รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง) เพื่อใช้ในกิจการต่างๆของทางวัด และบริจาคให้กับผู้ขาดแคลนต่างๆ
- โครงการปันกัน : รับบริจาคเฟอร์นิเจอร์ เพื่อเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาเด็กที่ขาดโอกาส
สำหรับใครที่ของสภาพดีมากๆสามารถ 'ขาย' ได้อีกด้วยนะคะ ซึ่งผู้เขียนเองเคยย้ายบ้าน ตอนที่ย้ายมาที่ใหม่ไม่ต้องการเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเก่าบางส่วนได้ลงขายให้ Application ขายของมือสอง ลงได้ไม่นาน ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก็มีคนติดต่อขอซื้อหลายคน และเขามารับถึงที่บ้าน ทั้งสะดวกและได้เงินไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ด้วยนะ
ส่วนพื้นที่ขายก็สามารถเลือกได้ตามที่ถนัดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นร้านรับซื้อของเก่า ร้านรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถ้าใครไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เราขอแนะนำ Application ซื้อ - ขายของทั่วไปที่เปิดให้ขายของมือ 2 ค่ะ เพราะมีคนเข้าชมค่อนข้างมาก เหมาะกับคนที่ต้องการขาย ของโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น kaidee ก็จะมีร้านรับซื้อคอยดูของชิ้นใหม่ๆใน Application อยู่ตลอด ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ หรือเหล็ก คนที่รับของต่อไปเขาสามารถปรับปรุง ซ่อม หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้หลากหลาย จะทำให้ขายออกได้รวดเร็วทีเดียวค่ะ
แต่ถ้าใครที่ไม่อยากรอผู้ซื้อเข้ามาติดต่อ โอนเงินผ่านระบบหรือต้องขนส่งของให้ยุ่งยาก เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์มีขนาดใหญ่ ก็จะมีเว็บไซต์ต่างๆที่รับซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสอง ซึ่งมีวิธีการขายที่ง่ายมากๆค่ะ เพียงถ่ายรูปให้ทางร้านประเมินราคา เมื่อเราตกลงกันเรียบร้อย ทางร้านจะนำรถมารับและจ่ายเงินสดให้ถึงที่เลยค่ะ ซึ่งจะมีรับทั้งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ  ซึ่งถ้าของมีมูลค่า ร้านมักจะไปรับถึงที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเดินทางค่ะ (สอบถามพื้นที่บริการได้จากทางร้านโดยตรงเลยค่ะ)
- สามารถใช้งานได้บางส่วน
เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นอาจมีสภาพไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถซ่อม หรือบริจาคได้แล้ว แต่ก็ยังไม่แนะนำให้ทิ้งไปเลยนะคะ เราสามารถถอดบางส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ เช่น ตู้เสื้อผ้าไม้เก่าที่มีเสียเอี๊ยดอ๊าด บานพับพังแล้ว สามารถถอดส่วนไม้ที่เหลือออกมาขายเป็นเศษไม้ หรือส่งเศษไม้ไปยังสถานที่รับบริจาคได้ต่อไปค่ะ นอกจากนั้นสถานที่รับซื้อบางแห่งที่เราได้แจ้งไปก็รับซื้อเฟอร์นิเจอร์ในสภาพที่ใช้งานได้แค่บางส่วนด้วยค่ะ ใครที่ตัดสินใจทิ้งก็อาจเปลี่ยนใจมาเปลี่ยนเป็นเงินเล็กๆน้อยๆกลับคืนมาได้นะคะ แถมยังได้ช่วยลดขยะในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
- สภาพใช้งานไม่ได้
ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่สภาพไม่สามารถใช้งานได้แล้วจะต้องทิ้งอย่างเดียว แต่ไม่รู้จะทิ้งที่ไหน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถทิ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่งได้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ค่ะ แต่ถ้าใครที่ไม่มีรถขนย้าย ทางเขตมีลงพื้นที่นัดรับขยะชิ้นใหญ่ทุกๆวันเสาร์ - อาทิตย์ ในบางเขตด้วย สามารถติดตามได้ที่ Application : BKK Connect หรือเว็บไซต์ http://www.bkknowconnect.com ได้ค่ะ
เครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของอีกชนิดที่มีขนาดใหญ่และกินพื้นที่มาก นอกจากนั้นยังมีอายุการใช้งานที่จำกัดอีกด้วย ที่ต้องแยกเครื่องใช้ไฟฟ้าออกมาจากเฟอร์นิเจอร์เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic – Waste) ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และอาจมีโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว ปนเปื้อนอยู่ด้วย ไม่สามารถทิ้งได้ทั่วไป เพราะจะเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากค่ะ
ก่อนจะตัดสินใจทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อยากให้ทุกคนพิจารณาอีกทีเช่นกันค่ะ ว่าของชั้นนั้นยังสามารถซ่อมและใช้งานได้หรือไม่ เพื่อช่วยกันลดขยะที่จะไปสู่สิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยหลักการแล้วจะเหมือนกับของเฟอร์นิเจอร์เลยค่ะ ส่วนที่มีความแตกต่างกันคือ สถานที่รับบริจาค หรือแหล่งขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามือ 2 เป็นคนละที่กัน (บางแห่งก็รับทั้ง 2 อย่าง) เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียนั้นจะต้องมีช่างที่มีความชำนาญในการซ่อม ถึงจะสามารถฟื้นคืนชีพให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง หรือไม่ก็จะต้องตัดสินใจขายเป็นซากโลหะแทนค่ะ
- สภาพดี / ซ่อมได้
ถ้าใครมีเครื่องใช้ไฟฟ้าสภาพดีที่ต้องการโละหลายชิ้น สถานที่รับบริจาคบางแห่งมีบริการมารับให้ถึงที่บ้านเหมือนกับเฟอร์นิเจอร์เลยค่ะ นอกจากไม่เป็นขยะแล้วยังได้ประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการอีกด้วยค่ะ ซึ่งสถานที่รับบริจาคเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีหลายแห่งเลยนะคะ เพราะเป็นของที่เปลี่ยนการใช้งานบ่อยกว่าเฟอร์นิเจอร์ และสามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ มีสถานที่รับบริจาค ยกตัวอย่างเช่น
- มูลนิธิกระจกเงา : รับบริจาคอุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด  เครื่องถ่ายเอกสารต่างๆ เพื่อส่งต่อให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน
- มูลนิธิบ้านนกขมิ้น : รับบริจาคเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทั้งสามารถใช้งานได้และไม่สามารถใช้งานได้แล้วก็รับเช่นกันค่ะ
- โครงการปันกัน : รับบริจาคเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าสภาพดีใช้งานได้ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินในการทำสาธารณะประโยชน์ต่อไป
- สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล : รับบริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียเพื่อนำมารีไซเคิล รียูส ดัดแปลงสร้างมูลค่าเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือคนพิการต่อไป
สามารถใช้งานได้บางส่วน หรือ สภาพใช้งานไม่ได้
สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียแล้ว แต่ยังคงสภาพที่ดีอยู่อาจจะมีสนิมขึ้น เก่า ฝุ่นเกาะ สามารถซ่อมได้หรือไม่สามารถซ่อมได้แล้ว ทำให้หลายๆคนคิดว่าเราซ่อมเองไม่เป็น จะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูงไม่คุ้มค่ากับการซื้อชิ้นใหม่ จึงมีความคิดที่จะเอาไป ทิ้ง แต่เราขอบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นก็สามารถขายเป็นซากและได้เงินกลับคืนมาได้เช่นกันนะคะ เนื่องจากอุปกรณ์ภายในเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นมักจะมีโลหะที่สามารถขายได้อยู่ด้วยค่ะ สถานที่รับซื้อขยะที่มีแฟรนไชส์หลายแห่ง อย่างร้าน วงษ์พาณิชย์ สามารถโทรสอบถามรับบริการถึงหน้าบ้านได้แล้วแต่พื้นที่ ได้ที่ 055-321555 หรืออ่านรายละเอียดได้ที่ www.wongpanit.com ค่ะ
การจัดการ 'ขยะ' ภายในบ้าน
นอกจากขยะชิ้นใหญ่แล้วขยะชิ้นเล็กๆภายในบ้านเองก็มีเยอะทีเดียวค่ะ ยิ่งช่วงนี้ยุคแห่งการ Work From Home ด้วยแล้ว ทำให้หลายๆคนสั่งซื้อของทางออนไลน์ และสั่งอาหารเดลิเวอรี่มารับประทานกันมากขึ้น ทำให้มีปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ประมาณ 6,300 ตัน/วัน จากปกติประมาณ 5,500 ตัน/วัน*
หลายๆบ้านจึงเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ผู้เขียนก็ขอสนับสนุนการแยกขยะภายในบ้าน ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ สามารถทำตามได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนค่อยๆปรับนิสัยของตัวเองจนเกิดความเคยชิน ซึ่งทุกคนสามารถทำตามได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเลยค่ะ
*ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มจากไหน ก่อนอื่นให้เราเตรียมถังขยะในบ้านไว้สำหรับแยกขยะกันทั้งหมด 4 ใบค่ะ โดยแต่ละถังจะแบ่งประเภทของขยะด้านใน ดังนี้
ขยะเศษอาหาร(ย่อยสลายได้)
ถังขยะสีเขียว : จำง่ายๆเป็นสีของพืชผักเลยค่ะ ถังนี้ไว้สำหรับทิ้งขยะที่เป็นเศษอาหาร หรือสิ่งที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติค่ะ เช่น เศษอาหาร ขนม เปลือกผลไม้ รวมถึงน้ำปั่น น้ำแข็ง และเศษกิ่งไม้ ใบไม้ กระดาษทิชชูแห้ง เป็นต้น เป็นขยะที่ถือว่าพบเห็นได้เป็นจำนวนมาก
สำหรับถังขยะภายในบ้านแนะนำให้ใช้ถังขยะแบบทึบ ไม่มีรูเหมือนตะกร้านะคะ เป็นถังที่เอาไว้สำหรับหมักเศษอาหารเพื่อทำปุ๋ยได้เลยโดยไม่ต้องเททิ้งที่อื่น ถ้ากลัวว่าจะมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ หรือมีแมลงก็แนะนำถังแบบที่มีฝาปิดค่ะ
ขยะรีไซเคิล
ถังขยะสีเหลือง : สำหรับทิ้งวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และพบได้ในบ้านของเราเป็นจำนวนมากค่ะ บางคนอาจทิ้งรวมกันกับขยะอื่นๆ ทำให้สุดท้ายปลายทางขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับไปเป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม
ขยะรีไซเคิลสามารถแบ่งย่อยได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องโลหะ กระดาษ ฯลฯ โดยแต่ละชนิดก็สามารถแบ่งย่อย เพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่แตกต่างกันไปได้อีกค่ะ สำหรับถังขยะรีไซเคิลในบ้านเราอาจจะแยกเป็นกล่องๆ หรือแยกใส่ถุงไว้ก็ได้ เช่น ถุงสำหรับใส่ขวดน้ำอย่างเดียว, ถุงสำหรับใส่กระดาษ, ถุงสำหรับใส่หลอดพลาสติก และถุงสำหรับใส่ซองขนม เป็นต้น
ขยะอันตราย
ถังขยะสีแดง : เป็นถังสำหรับทิ้งขยะอันตราย ไม่สามารถทิ้งรวมกับของชิ้นอื่นๆได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษ อาจจะมีโลหะหนักปนเปื้อน เช่น วัตถุไวไฟ บรรจุภัณฑ์สารพิษ วัตถุที่เกิดการระเบิด หรือติดไฟได้ง่าย วัตถุที่ทำให้เกิดโรค สารกัดกร่อน ฯลฯ นอกจากปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรแยกขยะประเภทนี้ให้ดีค่ะ
ขยะอันตรายภายในบ้านอาจจะมีไม่เยอะเท่าไรนักแนะนำให้มีเป็นกล่องขนาดเล็กแยกเอาไว้ข้างๆถังขยะก็ได้ค่ะ เช่น กล่องใส่ถ่านไม่ใช้แล้ว เป็นต้น
ขยะทั่วไป 
ถังขยะสีน้ำเงิน : ขยะประเภทนี้จำง่ายๆได้เลยค่ะว่าเป็นขยะที่นอกเหนือจาก 3 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้น เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก อีกทั้งยังไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก ส่วนใหญ่เป็นพวกซองขนม ถุงพลาสติกบาง ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ฟอยล์อาหาร ซึ่งเป็นขยะที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมอยู่ค่อนข้างมาก และยังใช้เวลาในการย่อยสลายนานมากๆๆ อีกด้วยค่ะ
สำหรับขยะทั่วไปก็สามารถใช้ถังขยะตามปกติที่บ้านได้เลยค่ะ พอถึงเวลาทิ้งก็ผูกถุงให้เรียบร้อย เวลาคนเก็บขยะมาถึงจะได้เทรวมกันได้ไม่กระจัดกระจาย
แยกขยะแล้วไปไหนต่อ?
เมื่อเราแยกขยะกันไปแล้ว ทีนี้ก็ลองมาดูว่าขยะที่เราแยกไปนั้นสามารถทำอะไรต่อได้บ้างค่ะ
ขยะเศษอาหาร
เริ่มจากขยะที่สามารถย่อยสลายเองได้ เป็นขยะที่ทุกๆบ้านสามารถจัดการและใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย ใช้ปลูกต้นไม้ภายในบ้านได้โดยไม่ต้องปล่อยทิ้งสู่สาธารณะเลยค่ะ เพียงแค่ใช้ถังหมักเศษอาหารใบเดียวก็สามารถทำได้แล้ว
อุปกรณ์นั้นมีไม่เยอะเลยค่ะ เพียงแค่เลือกใช้ถังภาชนะมีฝาปิดกันแมลงและสัตว์รบกวน ด้านในมีตะแกรง หรือตะกร้า 1 ชั้นสำหรับกรองเศษอาหารแยกออกจากน้ำ และมีช่องระบายน้ำทิ้งเพื่อลดกลิ่นและทำให้เศษอาหารกลายเป็นปุ๋ยได้ดียิ่งขึ้น และหัวเชื้อหมัก
วิธีการทำคือ ก่อนจะทิ้งเศษอาหารลงในถังหมักแนะนำให้เทน้ำทิ้งออกทั้งหมดก่อนนะคะ เหลือน้ำนิดหน่อยไม่เป็นไร เราสามารถเปิดก๊อกระบายออกได้ค่ะ จากนั้นโรยหัวเชื้อหมักลงไปประมาณ 2 กำมือ กับปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม วันต่อไปก็สามารถเททับลงไปพร้อมโรยหัวเชื้อได้อีกค่ะ เมื่อเต็มถังแล้วหมักไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะได้ปุ๋ยเศษอาหารแห้งๆ ไว้โรยให้ต้นไม้งอกงามได้เลย แต่ถ้าใครต้องการความสะดวกสบายรวดเร็วปัจจุบันก็มีเครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหารอัตโนมัติ เพียงแค่เทอาหารลงไป เครื่องก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 1 วัน โดยไม่ต้องใส่หัวเชื้อเลย ราคาก็อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึง 30,000 บาทค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ผู้เขียนหวังว่าเพื่อนๆจะสามารถแยกขยะกันได้ถูกวิธีและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้นนะคะ ใครที่มีปัญหา สงสัยทุกเรื่องภายในบ้านสามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้ที่ด้านล่างนี้เลยนะคะ
ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook : ThinkofLiving
LINE Official Account : https://lin.ee/svACOxc
โฆษณา