15 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กูลิโกะ บริษัทขนม 8 หมื่นล้าน
2
เกือบทุกคนเคยลิ้มลอง ขนมปังอบกรอบเคลือบช็อกโกแลต “ป๊อกกี้ (Pocky)”
หรือขนมช็อกโกแลตแท่งละ 10 บาท “แอลฟี่ (Alfie)” โดยเฉพาะแบบทูโทน รสนม และสตรอว์เบอร์รี
และอีกสารพัดขนม ที่เติบโตมาพร้อมกับเรา ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยทำงาน
อย่าง ขนมกรอบแบบแท่ง “เพรทซ์ (Pretz)”
บิสกิตโรลสอดไส้ครีม “โคลลอน (Collon)”
อัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลต “แอลมอนด์ ฟรายด์ (Almond Fried)”
ขนมเวเฟอร์โคนกรุบกรอบ “ใจแอนท์ คาปุลิโกะ (Giant Caplico)”
ซึ่งขนมเหล่านี้ ล้วนอยู่ภายใต้บริษัท กูลิโกะ หรือ Ezaki Glico
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่กล่องหรือแพ็กเกจจิงของขนมทุกอัน จะมีโลโกกูลิโกะ ติดอยู่บนมุมของกล่อง
ปัจจุบัน Ezaki Glico มีมูลค่าบริษัทกว่า 82,000 ล้านบาท
และดำเนินธุรกิจใน 30 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งอเมริกาเหนือ, เอเชียแปซิฟิก และยุโรป
แต่กว่าจะกลายมาเป็นบริษัทขนมยักษ์ใหญ่
รู้ไหมว่า อาณาจักรขนมของ กูลิโกะ
ได้รับแรงบันดาลใจ และมีจุดเริ่มต้นมาจาก “น้ำซุปที่ต้มหอยนางรม”
แล้ว หอยนางรม กับ ขนม เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?
เรื่องนี้ต้องเท้าความไปถึงปี ค.ศ. 1919
ในตอนนั้น คุณริอิจิ เอซากิ (Riichi Ezaki) ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แล้วเจอข่าวว่า Glycogen ที่สะสมอยู่ในหอยนางรม มีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
1
เขาจึงลองไปซื้อหอยนางรมจากชาวประมง แล้วนำไปต้มน้ำ เพื่อสกัด Glycogen ออกมา
ซึ่งบังเอิญลูกชายของเขากำลังป่วยอยู่พอดี
คุณริอิจิ เลยเอาน้ำซุปที่ต้มหอยนางรม ซึ่งอุดมไปด้วย Glycogen ให้ลูกชายดื่ม
ปรากฏว่า ลูกชายของเขาหายป่วยจริง
คุณริอิจิ จึงเกิดไอเดียที่จะนำ Glycogen มาเป็นส่วนผสมในการทำขนมขาย เพื่อให้เด็กญี่ปุ่น มีโอกาสได้กินเหมือนลูกชายของเขาบ้าง
ต่อมา เขาได้คิดค้นและสร้างขนมเสริมสุขภาพ ตัวแรกได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1921
ในชื่อว่า “Glico Caramel” ขนมคาราเมลรูปหัวใจ ซึ่งมีแพ็กเกจจิงสีแดง เป็นรูปนักวิ่งกำลังยกมือสองข้างเข้าเส้นชัย และทดลองนำไปวางขาย
1
ก่อนจะเริ่มวางอย่างเป็นทางการในปีต่อมา โดยวางขายในห้างสรรพสินค้ามิตสึโคชิ ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่ในโอซากะ พร้อมกับจัดตั้งเป็นบริษัท Ezaki Glico
1
ซึ่งชื่อ Ezaki Glico มาจากนามสกุลของคุณริอิจิ คือ เอซากิ (Ezaki)
บวกกับ Glico ที่ย่อมาจากคำว่า ไกลโคเจน (Glycogen) นั่นเอง
2
แม้ช่วงแรก ๆ Glico Caramel จะเป็นสินค้าที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน จึงทำให้หลายคนไม่กล้าซื้อกิน
แต่บริษัทก็พยายามขยายช่องทางการตลาด และปรับปรุงรสชาติอยู่ตลอดเวลา
ทำให้ในที่สุด กูลิโกะ ก็สามารถก้าวข้ามกำแพงใจผู้บริโภค และได้รับความไว้วางใจมาแทน
หลังจากนั้น กูลิโกะ ก็ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสร้างโรงงานใหม่หลายแห่ง และขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
ซึ่งปี ค.ศ. 1932 เป็นปีแรกที่บุกตลาดต่างประเทศ โดยกูลิโกะ ไปสร้างโรงงานในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน และเริ่มตีตลาดจีนแผ่นดินใหญ่
ต่อมา พอเข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานของกูลิโกะหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ก็พังทลายลง เพราะโดนระเบิดจากการโจมตีทางอากาศ
แม้จะต้องสูญเสียโรงงานและทรัพย์สินไป แต่คุณริอิจิเชื่อว่า ตัวเขาเองยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่มอดไหม้ไปในช่วงสงคราม นั่นคือ ชื่อของ กูลิโกะ นั่นเอง
หลังจากสงครามสิ้นสุด เขาจึงได้เริ่มต้นสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
พร้อมกับขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ช็อกโกแลต, เพรทซ์, ไจแอนท์ โคน และป๊อกกี้ ตามลำดับ
ทำให้ธุรกิจของ กูลิโกะ ค่อย ๆ ฟื้นตัว และเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบัน กูลิโกะ มีสำนักงานตั้งอยู่ 18 แห่ง ใน 12 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และฝรั่งเศส
และนอกจากผลิตภัณฑ์ประเภทขนมแล้ว บริษัทยังขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ไอศกรีม, เครื่องดื่มนม/โยเกิร์ต, ขนมตะวันตก, นมผง, อาหารแปรรูป, ธุรกิจเสริมสุขภาพ, ธุรกิจร้านค้าสำนักงาน, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจวัตถุดิบอาหาร
มาดูผลประกอบการของ กูลิโกะ ในปีที่ผ่านมา
บริษัท Ezaki Glico Co., Ltd.
ปี ค.ศ. 2019 มีรายได้ 100,648 ล้านบาท กำไร 3,443 ล้านบาท
ปี ค.ศ. 2020 มีรายได้ 97,888 ล้านบาท กำไร 3,358 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้
27% มาจากไอศกรีม
24% มาจากนมและผลิตภัณฑ์จากนม
20% มาจากขนม
15% มาจากธุรกิจในต่างประเทศ
6% มาจากอาหาร
5% มาจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
3% มาจากวัตถุดิบอาหาร
1
จะเห็นว่าปี ค.ศ. 2020 บริษัทมีรายได้และกำไรลดลง
เป็นผลมาจาก การแพร่ระบาดของโควิด 19
ทำให้รายได้ในทุกหมวดผลิตภัณฑ์ของบริษัทลดลง
ยกเว้น รายได้จากหมวดไอศกรีม ที่เติบโตขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งหลัก ๆ มาจากยอดขายในญี่ปุ่น ที่ยังคงแข็งแกร่ง
1
และรายได้จากหมวดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่เติบโตขึ้น 5% ตามเทรนด์รักสุขภาพ
ในส่วนของประเทศไทย
กูลิโกะ ได้เข้ามาจัดตั้งบริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970
บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด
ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว
ปี พ.ศ. 2561 มีรายได้ 4,053 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 มีรายได้ 4,055 ล้านบาท
บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด
ดำเนินธุรกิจจำหน่ายไอศกรีม
ปี พ.ศ. 2561 มีรายได้ 274 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 มีรายได้ 262 ล้านบาท
โดย กูลิโกะ มีโรงงานในประเทศไทย 2 แห่ง ได้แก่
โรงงานบางกะดี ที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี
และโรงงานรังสิต ที่ ต.คลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี
สรุปแล้ว เส้นทางของ กูลิโกะ บริษัทขนม 8 หมื่นล้านบาทนี้
เกิดจากความช่างสังเกต และความอยากรู้อยากเห็น ของคุณริอิจิ เอซากิ
ว่า Glycogen ที่สะสมอยู่ในหอยนางรม มีประโยชน์จริงหรือไม่
จึงลงทุนไปหาซื้อมา และทำการทดลอง
และพอรู้ผลลัพธ์แล้ว เขาก็คว้าโอกาสทางธุรกิจทันที
ด้วยการนำความรู้สึก ที่อยากจะส่งต่อคุณค่า หรือประโยชน์นั้น ๆ ให้กับผู้อื่น
เป็นแรงขับเคลื่อนภายในใจ ให้ไฟผู้ประกอบการของตัวเองลุกโชนขึ้นมา..
อ้างอิง:
-รายงานประจำปี 2020
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โฆษณา