19 มิ.ย. 2021 เวลา 03:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปรียบเทียบเทคนิคการลงทุนแบบ DCA - VA - LS - REBAL
1. DCA (Dollar Cost Averaging)
ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นงวดๆ โดยแบ่งเงินลงทุนเป็นจำนวนเท่าๆ กัน เป็นประจำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน อย่างมีวินัย โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้นเป็นเท่าไร ซึ่งทำให้ง่ายต่อการวางแผน เหมาะกับการลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
# ตัวอย่าง #
กรณีลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ทุกเดือน
- เดือน ม.ค. หุ้น A ราคา 10 บาท / หุ้น จำนวนที่ซื้อ 100 หุ้น
- เดือน ก.พ. หุ้น A ราคา 20 บาท / หุ้น จำนวนที่ซื้อ 50 หุ้น
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DCA เรื่อง "มือใหม่ออมหุ้นด้วยวิธีDCA" ได้ที่นี่ครับ --> https://www.blockdit.com/posts/5d26d42ed92f281b8024efe4
Cr: Pixabay
2. VA (Value Averaging)
ลงทุนด้วยวิธีการควบคุมให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ โดยกำหนดเป้าหมายของผลตอบแทนในอนาคตอย่างชัดเจนว่าจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าๆ กันในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งอาจจะมีการซื้อเพิ่ม-ขายออกในบางงวด จำนวนหุ้นต่อหน่วยลงทุนที่ได้มาในแต่ละงวดจึงมีเพิ่มและลดตามภาวะตลาด
# ตัวอย่าง #
กรณีลงทุนด้วยเงินเริ่มต้น 100,000 บาท และกำหนดเป้าหมายว่าปีหน้าจะมีเงิน 110,000 บาท (คิดเป็นผลตอบแทน 10%)
ผลที่ได้คือมูลค่าพอร์ตเพิ่มเป็น 120,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่คาดไว้ ก็จะสามารถถอนเงินออกมาได้
แต่กรณีมูลค่าของพอร์ตไม่ถึงเป้า เช่น ได้แค่ 100,500 บาท ก็ต้องเพิ่มเงินเข้าไปอีก 500 บาท
Cr: Pixabay
3. LS (Lump Sum Investment)
การลงทุนแบบครั้งเดียว คือ ใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อลงทุนในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การลงทุนด้วยวิธีนี้ ต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนในระดับหนึ่งที่พอจะสามารถคาดการณ์ หรือจับจังหวะของตลาดที่เหมาะสมได้
# ตัวอย่าง #
วันที่ 1 ม.ค. 2564 ลงทุนหุ้น A ในมูลค่ารวม 100,000 บาท ที่ราคา 10 บาท / หุ้น โดยคาดหวังว่า 12 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 15 บาท
ทั้งนี้ หากกรณีประเมินจังหวะของตลาดผิดพลาดก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับลดลงไปน้อยกว่า 10 บาท / หุ้น ด้วยเช่นกัน
Cr: Pixabay
4. REBAL (Rebalancing)
กำหนดมูลค่าพอร์ตที่เราต้องการ “คงไว้” ในช่วงเวลาหนึ่ง และทำการซื้อเข้า-ขายออกเมื่อมูลค่าตลาดของพอร์ตการลงทุนลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากจุดที่เราต้องการ โดยกำหนดกรอบมูลค่ามูลค่า การลงทุนว่าจะ +- จากกำหนดได้เท่าใด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำการปรับสมดุลทุกครั้งที่มูลค่าพอร์ตเปลี่ยนแปลง
# ตัวอย่าง #
กำหนดกรอบมูลค่าพอร์ต +- ไว้ที่ 10% ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 100,000 บาท
- กรณีมูลค่าหุ้น +10% เป็น 110,000 บาท ก็สามารถขายส่วนต่างทำกำไรออกมาได้ 10,000 บาท โดยเหลือเงินลงทุนไว้เท่าเดิม
- กรณีมูลค่าหุ้น -10% เป็น 90,000 บาท ก็ต้องเพิ่มเงินลงทุน 10,000 บาท เข้าไปให้มูลค่าเท่ากับเงินลงทุนตั้งต้น
Cr: Pixabay
ทั้งนี้ ในแต่ละเทคนิคก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป นักลงทุนอาจจะปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับทุนทรัพย์ เวลา และปัจจัยส่วนตัวต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้การลงทุนประสบผล และได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าครับ
แต่สิ่งหนึ่งที่ถ้ามีแล้ว...ผมเชื่อว่าจะทำให้การลงทุนของท่านประสบความเร็จได้แน่ๆ นั่นก็คือ "วินัย" ในการลงทุน ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อย่างมีวินัย อิสรภาพทางการเงินอยู่ไม่ไกลแน่นอนครับ
Ref: : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, www.ideatechnical.com
โฆษณา