3 ก.ค. 2021 เวลา 04:27 • ความคิดเห็น
ผู้นำที่ดีต้องเป็นนักปฏิบัติ ที่สามารถทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง(The Leader as Doer)
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ ในครั้งนี้ผมอยากจะนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจต่อจากบทความครั้งที่แล้วที่ผมมองว่าเนื้อหาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน นั่นคือประเด็นเกี่ยวกับ The Leader as Doer: หนึ่งในบทบาทหลักที่ผู้นำพึงมี Donald Mackinnon นักการเมืองชาวออสเตรเลีย เคยกล่าวว่า “Leadership is an action, not a position.” ใช่ครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่า ความเป็นผู้นำ คือการกระทำ ไม่ใช่ตำแหน่ง เพราะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ องค์กร หรือแม้แต่สังคมเล็ก ๆ อย่างครอบครัวเองก็ล้วนต้องการ “ผู้นำ” ที่เป็น “นักทำ สั่งได้ ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้” ที่จะนำพาทุกคนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ยิ่งโดยเฉพาะ ในสถานะการณ์ ที่องค์กรต้องการพัฒนาสร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างคุณค่าใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่มากกว่าที่คาดหวัง ย่อมมีความท้าทายและความยาก บทบาทผู้นำที่ต้องนำพาทีมให้มีความกล้าคิดกล้าเสี่ยงกล้าทำสิ่งใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทีมอยากเห็นผู้นำที่ลงมาเล่นเองด้วยบ้าง ลงมาคลุกในสนามทำให้เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เพื่อช่วยทีมแก้ไขและทำให้ทีมเห็นเป็นตัวอย่าง ต่อพฤติกรรมใหม่ๆที่คาดหวังจากทีม กล้ารับผิดชอบความล้มเหลวแทนทีม และพร้อมสนับสนุนให้ทีมมุ่งมั่นฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จเคียงบ่าเคียงใหล่กับทีม เพราะทีมที่ทำเรื่องใหม่ๆย่อมมีโอกาสล้มเหลวผิดพลาดมากกว่าสำเร็จอยู่แล้ว
ผมขอยกตัวอย่าง หนึ่งในผู้นำ ที่มีโอกาสได้อ่านบทความ ชนะ 1 แพ้ 9: บทเรียนจากชายที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น จาก เพจของคุณ เกตุวดี Marumura ซึ่งได้พูดถึง Yanai Tadashi เจ้าของบริษัทเสื้อผ้าชื่อดังแบรนด์ Uniqlo ที่มีสาขาทั่วโลกกว่า 1,300 สาขา และ เป็นผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติที่เหมาะสมต่อการยกเป็นตัวอย่างให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักเขาครับ
Yanai Tadashi เป็นลูกชายคนเดียวในบ้านที่เมื่อเขาเรียนจบก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องการจะเข้าทำงานที่ไหน เพราะ พ่อของเขาเป็นเจ้าของร้านสูทแห่งหนึ่งในจังหวัดฮิโรชิม่า เมื่อพ่อเริ่มทนพฤติกรรมของลูกชายคนนี้ไม่ไหวจึ งฝากให้เขาได้เข้าทำงานที่ Jusco (Japan United Stores Company) ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่สุดท้ายแล้ว Yanai ก็ได้ลาออก และ กลับมาช่วยพ่อทำธุรกิจร้านสูทที่บ้านหลังจากเขาทำงานที่ Jusco ได้เพียง 10 เดือน แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ และ อาจดูเป็นประสบการณ์ทำงานที่น้อย แต่ Yanai ก็ได้เรียนรู้การวิธีการในการจัดการคลังสินค้า การวางสินค้าอย่างเป็นระบบ จากประสบการณ์การทำงานในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้น เขาจึงพยายามจะนำประสบการณ์ที่ได้มาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงธุรกิจของพ่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการกระทำนั้นเองทำให้พนักงานหลายคนทนไม่ไหว ทะยอยลาออกกันหมด จนท้ายสุดแล้ว Yanai ในวัย 25 ปี ต้องลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ทำความสะอาดร้าน ลงบัญชี สั่งของ จนถึงการขายสินค้า แต่เขากลับมองว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้เขามีโอกาสในการทำทุกอย่าง ทุกขั้นตอนด้วยตัวของเขาเอง
ผ่านไปไม่นาน Yanai มีโอกาสได้เจอกับจิมมี่ ไล เจ้าของแบรนด์ Giordano ที่ฮ่องกง ในระหว่างการเดินทางไปดูงานที่สหรัฐฯ เขาได้เห็นความสำเร็จของแบรนด์เสื้อผ้า Casual สไตล์ เช่น GAP Esprit Benetton เขาได้เห็นพฤติกรรมการบริโภคของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มาหาซื้อเสื้อฮู้ท เสื้อยืด เลยทำให้เขาเกิดไอเดียและ ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจจำหน่ายสูทของพ่อ ที่ต้องคอยดูแลลูกค้า เอาใจใส่ทุกกระบวนการการผลิต เป็นการจำหน่าย Casual wear หรือเสื้อผ้าชุดลำลองที่มีราคาถูกและลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าประเภทนี้จะทำการขายได้ง่ายกว่า และ สามารถขยายธุรกิจได้เร็วกว่าเดิม สอดคล้องกับนิสัยส่วนตัวของเขาเองที่เป็นคนใจร้อน และ ไม่ค่อยถนัดกับการที่ต้องพูดคุยกับลูกค้าอย่างนอบน้อมใจเย็น ใช่แล้วครับ นี่คือที่มาของแบรนด์ “Uniqlo” สินค้าราคาประหยัดที่คุณภาพดี และ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นกระแสในญี่ปุ่น ทำให้ Yanai สามารถขยายกิจการไปทั่วประเทศ และยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก้าวสู่กิจการระดับโลกให้ได้
การขยายธุรกิจที่รวดเร็วของ Uniqlo ทำให้หลายคนมองว่าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมากในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี แต่ Yanai ไม่ได้มองแค่นั้น เขามองลึกลงไปว่า กว่าจะสำเร็จได้อย่างวันนี้ เขาเองก็ผิดพลาดมามากมายเช่นกัน “ในการทำธุรกิจ หากเริ่มอะไรใหม่ ๆ สัก 10 อย่าง ก็คงจะล้มเหลวสัก 9 อย่างนั่นแหละ เพราะ ความผิดพลาด ความล้มเหลว เป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ แต่ ล้มเร็ว ก็ต้องลุกเร็ว”
มาดูความผิดพลาดของเขากันครับ Uniqlo เคยลงทุนในเสื้อผ้ากีฬา แต่ก็ต้องล้มเลิกไปในเวลาไม่ถึง 1 ปี Uniqlo เคยไปเปิดร้านที่ประเทศอังกฤษ โดยเปิด 21 ร้านภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจปิดสาขาไปทั้งหมด 16 ร้าน Uniqlo เคยพยายามลองทำธุรกิจขนส่งผัก แต่ด้วยยอดขายที่ไม่ถึงเป้า จึงต้องล้มเลิกไปภายใน 2 ปี Yanai ผิดพลาดมาหลายครั้งจริง ๆ แต่เขาก็ยังก้าวเดินต่อ ขอแค่ความผิดพลาดนั้น ไม่ถึงกับทำให้บริษัทต้องล้มละลาย เขาก็พร้อมที่จะผิดพลาดในความผิดใหม่ ๆ และ เรียนรู้เสมอ เพราะคติที่ “ล้มเร็ว ก็ต้องลุกเร็ว” ที่เขายึดมั่นไว้นั่นเองครับ หากธุรกิจที่เขากำลังดำเนินนั้นดูท่าทางจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เขาจะรีบถอนตัวแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Uniqlo เป็นแบรนด์ที่ไม่เคยกลัวความล้มเหลว ได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ จากความผิดพลาดในอดีตจนเกิดเป็นองค์ความรู้
เป็นเรื่องปกติครับที่ความล้มเหลวจะนำมาซึ่งความรู้สึกไม่ดี หรือ นำมาซึ่งความเสียหายต่าง ๆ ที่ตามมา จนทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงในการเจอกับความล้มเหลว และเลือกที่จะอยู่ใน Safe Zone ของตัวเอง แต่ในอีกแง่มุมของความล้มเหลวหรืออุปสรรคนั้น ก็ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จที่เราอยากเจอมันตั้งแต่ต้น ฉะนั้นแล้ว อย่ากลัวที่จะล้มเหลวเลยครับ ถ้าล้มเมื่อไหร่ก็ตาม ก็แค่ลุกขึ้นให้เร็วแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการล้มเหลวที่ผ่านมา เพื่อให้เราไม่ล้มในจุดเดิม แต่ไปเริ่มล้มในจุดใหม่ ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อีกเช่นกัน อย่างเรื่องราวของ คุณ Yanai Tadashi ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้สอนให้เรารู้จักกับการ “อย่ากลัวที่จะล้มเหลว” และ “การแข่ง 10 ครั้ง แพ้ 9 ครั้ง เป็นเรื่องปกติ” นั่นเองครับ
สุดท้ายนี้ผมอยากลองชวนคิดถึงทีมที่พัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น ถ้าเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความคิดคำแนะนำ กำลังใจ และทรัพยากรที่เหมาะสมจากผู้นำของเขา ความรู้สึกที่จะกล้าฝ่าฟันมุ่งมั่นให้เอาชนะความล้มเหลวคงไม่เกิดขึ้น และก็คงไม่มีใครอยากที่จะคิดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ไม่มีใครอยากเสียสละมาทำสิ่งที่จะล้มเหลวมากว่าสำเร็จแน่ และองค์กรจะมีการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร องค์กรที่มีกำไรในวันนี้ไม่ได้การันตี ว่าจะสำเร็จเติบโตต่อไปในวันหน้า จึงขอฝากแง่คิดการเป็นผู้นำในบทบาทนี้ เพื่อทีมของทุกท่านนะครับ สวัสดีครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา