21 มิ.ย. 2021 เวลา 01:27 • อาหาร

ติดเตาเล่าเรื่อง l ขนมไข่เหี้ย

"จากไข่เหี้ย เปลี่ยนเป็นไข่หงส์ เพี้ยงเปลี่ยนชื่อ ฤา จะลบเลือนที่มาได้"
ขนมโบราณ อร่อย หาทานยาก ที่มีความผูกพันกับ "เหี้ย" อย่างแท้จริง ไมใช่แค่อิงเรื่องเล่า
1
ก่อนอื่นต้องขอทำความใจกับ "เหี้ย" ที่ไม่ได้ "เหี้ย" เหมือนกับที่เราคิดกันก่อนย้อนไปในสมัยโบราณคนอินเดียและคนไทย มีการยอมรับที่จะเลือกใช้คำว่า "เหี้ย" อย่างปกติ ศัพท์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเรียกเหี้ยว่า "โคธา" หรือ "โคธ" อย่างในวรรณคดีโบราณของอินเดีย มีแม่น้ำหนึ่งที่มีชื่อว่า "โคธาวารี" หากแปลก็จะได้ความว่า "แม่น้ำเหี้ย" นั่นเอง
นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวดังจารึกจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร ธนบุรี ชาดกเรื่องที่ ๑๓๘ “โคธชาดก” ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ยโคธบัณฑิต เพราะฉะนั้นไม่ควรมีอะไรไปเปรียบเหี้ยให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ดีเลย
หากจะย้อนไปในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับเหี้ย ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ต่างเสวยไข่เหี้ยตาม รัชกาลที่ ๑
ปรากฏตามคำกล่าวที่ว่า
"อยู่แถวซอยสวนพลูแล้วหาไข่เหี้ยกินยาก"
บันทึกตอนหนึ่งในบทความของ ทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวกับ ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์
แสดงให้เห็นว่า เมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายและเชื้อพระวงศ์ ต่างโปรดปรานเสวยไข่เหี้ย
หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมผู้คนจึงปรุงแต่งจินตนาการเปรียบให้มันเป็นตัวแทนของเรื่องที่ไม่ดี ซึ่งยุคก่อนนั้น เหี้ย ไม่มีวี่แววจะไปเกี่ยวข้องเป็นสิ่งไม่ดีเลย
เมื่อไม่นานมานี่เริ่มมีผู้ใหญ่ยุคเก่า พูดเปรียบเทียบบุคคล และสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจะให้เข้าบ้านว่า “ชาติเหี้ยหางแดง แร้งตีนสั้น เข้าที่ไหนก็จังไรที่นั่น” กับมูลเหตุนี้ทำให้เหี้ยกับอีแร้งกลายเป็นสัตว์ต้องห้าม และน่ารังเกียจ
Credit Photo by: Internet
ขนมไข่เหี้ย ขนมแห่งความทรงจำ
ทุก ๆ คืนก่อนเข้านอนทุกคนนั่งล้อมวงช่วยกันคลึงแป้งที่ถูกแบ่งไว้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน แล้วแผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ ห่อไส้ที่ผัดไว้หอมกรุ่น แล้วค่อย ๆ ใช้สองมือตะล่อมให้ขนมมีลักษณะคล้ายไข่เป็ด หรืออนุมานเอาว่าคล้ายไข่เหี้ย
ไข่เหี้ย มากมายหลายร้อยใบวางเรียงรายเต็มดระด้ง ก่อนคลุมด้วยผ้าข้าวบางสักสามชั้นเป็นอันเสร็จภารกิจก่อน
รุ่งแจ้งฟ้ายังไม่ทันสางเตาใบใหญ่ถูกติดด้วยฟืนอย่างดีจนไฟลุกโชน กระทะใบบัวถูกเติมน้ำมันใส่ไปจนเต็ม พอร้อนได้ที่ค่อย ๆ หย่อนแป้งทีปั้นไว้ลงไปทอด ไม่นานเกินรอยก็จะเห็นลูกขนมค่อย ๆ ลอยตุ๊บป่องขึ้นมาจนเต็มหน้ากระทะพร้มกับกลิ่นอันหอมอบอวลกระซอนอันใหญ่ตักขนมใส่กระด้งพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
น้ำตาลทรายขาวถูกเทใส่ไว้ครึ่งหม้อพร้อมกับน้ำพอท่วม ก่อนยกขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเหนียวได้ที่ แล้วจึงใส่ขนมลงไปในหม้อ แล้วปิดฝาให้สนิทสองมือจับหูหม้อให้แน่น เขย่าให้สุดแรง หลังจากเสียงดังขลุก ๆ อยู่พักใหญ่ก็จะได้ขนม ไข่เหี้ย เรียงรายเต็มกระด้งเลยทีเดียว
เอาล่ะคราวนี้เรามาเข้าเรื่อง "ขนมไข่เหี้ย" กันเสียที
ขนมนี้มีตำนานเล่าต่อ ๆ กันว่าเป็นขนมที่เจ้าจอมแว่น (หรือสมัญญาที่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ เรียกว่า คุณเสือ) พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ คิดทำขึ้นถวายพระองค์ เพราะครั้งหนึ่งทรงพระประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย แต่ระยะนั้นไข่เหี้ยหายาก เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่นจึงประดิษฐ์ "ขนมไข่เหี้ย" ขึ้นถวายแทน
Credit Photo by: Internet
วิธีทำขนมไข่เหี้ย
"ส่วนผสมและวัตถุดิบขนมไข่เหี้ย ประมาณ ๓๐ ลูก"
ส่วนผสมแป้ง
๑. แป้งข้าวหนียว ๓ถ้วย
๒. แป้งข้าวเจ้า ๑/๔ ถ้วย
๓. มะพร้าวขูดขาว ๓ ถ้วย
๔. น้ำตาลปี๊บ ๓ ช้อนโต๊ะ
๕. เกลือป่น ๓/๔ ช้อนชา
๖. น้ำอุ่น ๑/๒ ถ้วย
๗. น้ำมันสำหรับทอด
ส่วนผสมไส้
๑. ถั่วทอง (ถั่วเขียวเลาะเปลือกออก) ๓/๔ ถ้วย
๒. หอมแดงสับหยาบ ๑/๔ ถ้วย
๓. น้ำมันพืช ๑/๔ ถ้วย
๔. น้ำตาลทราย ๔ ช้อนโต๊ะ
๕. เกลือป่น ๓/๔ ช้อนชา
๖. พริกไทยป่นตามใจชอบ
น้ำตาลสำหรับเคลือบ
๑. น้ำตาลทราย ๑/๒ ถ้วย
๒. น้ำเปล่า ๑/๒ ถ้วย
วิธีการทำขนมไข่เหี้ย
๑. ล้างถั่วให้สะอาดแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ ๑ คืน ล้างถั่วให้สะอาดอีกครั้ง
๒. นำไปนึ่งบนลังถึงที่ปูผ้าขาวบางรองไว้ บนน้ำเดือดไฟกลางจนสุก พักให้เย็นแล้วโขลกถั่วนึ่งให้ละเอียดพักไว้
๓. ผัดหอมแดงกับน้ำมันให้มีกลิ่นหอม ใส่ถั่วที่โขลกไว้ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือ พริกไทย ผัดต่อจนส่วนผสมเริ่มร่อนจากกระทะ ปิดไฟพักไว้ให้เย็น ปั้นเป็นก้อนกลมน้ำหนักก้อนละ ๑๐ กรัมเตรียมไว้
๔. ใส่แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า และมะพร้าวขูดขาวลงในอ่างผสม นวดให้เข้ากัน จนมะพร้าวเริ่มมีน้ำมันออกมาเล็กน้อย ใส่น้ำตาลปี๊บ เกลือ ผสมพอเข้ากันค่อย ๆ ใส่น้ำทีละน้อย
๕. นวดต่อจนปั้นเป็นก้อนได้ พักแป้งไว้ประมาณ ๒๐ นาที ปั้นแป้งเป็นก้อนกลม น้ำหนักก้อนละ ๑๕ กรัม นำไปห่อไส้ให้มิด
๖. จากนั้นนำไปทอดในกระทะน้ำมันด้วยไฟอ่อนประมาณ ๑๐ นาที หรือจนแป้งเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน
๗. ตั้งกระทะใส่น้ำตาลและน้ำด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน เคี่ยวจนเหนียวและเดือดเป็นฟองเล็ก ๆ เต็มกระทะ ใส่ขนมที่ทอดลงคลุกให้เคลือบทั่วก้อน ปิดไฟแล้วคลุกต่อจนน้ำตาลตกผลึกเคลือบเป็นสีขาวทั้งหมดและแห้งสนิท
เท่านี้ก็จะได้ขนมไข่เหี้ยสุดแสนอร่อยพร้อมเสริฟแล้วจ้า
กลเม็ดเคล็ดลับ Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
พักแป้งทิ้งไว้ในอ่างนวดแป้งไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เพื่อให้แป้งอิ่มตัว เวลาปั้นอย่าคลึงให้กลมมาก ที่สำคัญเวลาทอดอย่าใช้ไฟแรงเพราะจะทำให้ขนมแตก
Credit Photo by: Internet
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เห็นว่าชื่อ "ขนมไข่เหี้ย" ไม่ไพเราะจึงเปลี่ยนเป็น "ขนมไข่หงส์" ทำให้ลักษณะของขนมเปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยฟองใหญ่ คล้ายไข่เป็ด เนื้อแป้งหนา กลายเป็นฟองกลม ๆ เล็ก ๆ แป้งบางลง
นอกจากที่เราจะเข้าใจถึงที่มาของ ขนมไข่เหี้ย พอสังเขป แล้ว จากเรื่องเล่าข้างต้นยังเป็นที่มาสำนวนไทยที่หลายคนคุ้นหู "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" นั่นก็คงไม่ต่างอะไรมากนักกับการที่เราเกลียดตัวเหี้ย แต่กลับกลายเป็นว่าหลงใหลในรสชาติที่มีความหวานมันของถั่ว มะพร้าว และน้ำตาล อีกทั้งแป้งที่มีความกรอบนอกนุ่มในของขนมไข่เหี้ย นั่นเอง
นอกจากความอร่อย ชื่อ ลักษณะของขนมที่เป็นเอกลักษณะ แล้ว ในสมัยก่อน ขนมไข่เหี้ย ยังใช้ในพิธีขันหมากหรือติดกัณฑ์เทศน์ด้วย
ขนมไข่เหี้ย คงเป็นนัยยะแฝงคติธรรมได้เป็นอย่างดี "ชื่อหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันคุณค่าหรือคุณงามความดีของคนได้เช่นไร เฉกเช่นเดียวกันกับ ขนมไข่เหี้ย ถึงแม้ว่าชื่อเรียกจะทำให้ใครต่อใครหลายคนไม่อยากกิน แต่เพียงแค่เราลองเปิดใจหยิบขนมไข่เหี้ยมากินดูแล้วจะรู้ว่า ความอร่อย มันไม่ได้วัดกันที่หน้าตาหรือชื่อขนมจริง"
ขนมไข่เหี้ย คงเป็นนัยยะแฝงคติธรรมได้เป็นอย่างดี ชื่อหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันคุณค่าหรือคุณงามความดีของคนได้เช่นไร เฉกเช่นเดียวกันกับ ขนมไข่เหี้ย ถึงแม้ว่าชื่อเรียกจะทำให้ใครต่อใครหลายคนไม่อยากกิน แต่เพียงแค่เราลองเปิดใจหยิบขนมไข่เหี้ยมากินดูแล้วจะรู้ว่า ความอร่อย มันไม่ได้วัดกันที่หน้าตาหรือชื่อขนมจริง
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
รฤก รัก
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
#ขนมพื้นบ้า
#ขนมไข่เหี้ย
#ขนมไขหงส์
#ติดเตาเล่าเรือง
โฆษณา