21 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • สุขภาพ
6 สิ่งที่ต้องทำ เพื่อคนไทยได้ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ไม่เฟล!
บทความโดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์
6 สิ่งที่ต้องทำ เพื่อคนไทยได้ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ไม่เฟล!
วันนี้สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศพุ่งความสนใจไปมากที่สุดคือเรื่องวัคซีน ตั้งแต่ตนและคนที่เรารักจะได้ฉีดเมื่อไร?
วันที่ลงทะเบียนไว้จะถูกเลื่อนหรือไม่? คนรอบข้างที่ต้องเริ่มนัดเจอกันเป็นวงเล็ก ๆ ก็ถามก่อนนัดกันว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่?
หลายคนเริ่มตั้งความหวังนับถอยหลัง 100 ล้านโดส ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เสียที เพราะมีผลกับหน้าที่การงานการค้าการขาย ที่ต้องดีกว่านี้ให้เร็วก่อนจะพากันหมดแรงเสียก่อน ผมจึงสรุปสิ่งที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยทำได้ตามเป้าไม่เฟล
1. เร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นอีก 1.66 เท่า
นับจากดีเดย์ 7 มิ.ย ที่เริ่มฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตลอด 1 สัปดาห์ ฉีดได้เฉลี่ยวันละ 281,724 โดส กับเวลาที่เหลืออีก 200 วัน จะถึงสิ้นปี 2564 ตามสัญญาที่ประกาศ แปลว่าต้องเร่งมือฉีดให้เร็วขึ้นอีก 466,945/281,724 = 1.66 เท่า ของอัตราการฉีดในขณะนี้ จึงจะสำเร็จตามเป้า ซึ่งต้องเร่งความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการอนุมัติ การสั่งวัคซีน การจัดสรร และการกระจายฉีดวัคซีน
2. หลังครบ 100 ล้านโดสแรกแล้ว ยังต้องฉีดเฉลี่ยให้ได้วันละ 273,972 โดส อย่างต่อเนื่อง
หากเราต้องฉีดวัคซีนกันอย่างต่ำปีละ 2 โดส แปลว่าถ้าจะรักษาภูมิคุ้มกันหมู่ให้อยู่ในปีต่อ ๆ ไป กำลังการฉีดยังต้องทำให้ได้เฉลี่ยวันละ 100,000,000/365 = 273,972 โดส ทุกวัน ไม่หยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตลอดทั้งปี ดังนั้นต้องเร่งยกระดับกระบวนการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องในระยะยาวให้ได้
3. การมีแพลตฟอร์ม (ออนไลน์) ให้ลงทะเบียนหลายช่องทาง กลับทำให้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ในฐานะคนทำงานด้านดิจิทัลผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมแพลตฟอร์มที่ใช้ในการลงทะเบียนทางออนไลน์ต้องมีหลายแอพ และบางแพลตฟอร์มฐานข้อมูลก็แยกจากกัน (ซึ่งบางแหล่งอธิบายว่าต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน หลาย ๆ ช่องทาง! คือช่องทางออนไลน์จะแอปหรือเว็บไหนมันก็เข้าได้จากโทรศัพท์เครื่องเดียวกันไหม??) ทั้ง ๆ ที่การแก้ไขปัญหาของการจัดกลุ่มคนที่ต้องฉีดสามารถแก้ได้ด้วยการปรับปรุงระบบของแอปเดียวให้รองรับการจัดการคนกลุ่มที่หลากหลาย ที่ต้องการใช้บริการตามจุดที่หลากหลาย แล้วจึงค่อยยิง Ads ไปในหลายช่องทาง ก็ทำได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจัยนี้นอกจากจะส่งผลในการเพิ่มความสับสนให้กับประชาชนแล้ว เพียง 5-6 วัน หลังจากดีเดย์ก็เกิดปัญหาตามคาด จนถึงกับต้องประกาศเลื่อนนัดฉีดวัคซีนในทั้งช่องทางหมอพร้อมและไทยร่วมใจ ซึ่งแน่นอนว่าหากไม่รีบบูรณาการฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน ปัญหาการจองแย่ง-แย่งโควต้าระหว่างช่องทาง ปัญหาการจองซ้ำซ้อนของประชาชนแต่ละคน อาจเกิดขึ้น จนเกิดการบริหารการกระจายวัคซีนผิดพลาด จนสุดท้ายประชาชนก็ตกเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการประกาศเลื่อนนัดฉีดอีกเช่นเคย
4. ต่อยอดแพลตฟอร์มประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) คือโซลูชันในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
หากดูกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการวัคซีนอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน (อย่างน้อยเข็มแรก) เฉลี่ยสูงเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งใช้การจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนผ่านระบบ National Health Service หรือ NHS (ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลอังกฤษ) โดยระบบ NHS นี้ จะทำการส่งวัน เวลา และสถานที่นัดฉีดวัคซีนทาง SMS ให้กับประชาชน ซึ่งมีข้อมูลช่องทางการติดต่ออยู่ในระบบของ NHS อยู่แล้ว ซึ่งระบบ NHS นี้ยังมีการเก็บ Data ด้านสุขภาพรายบุคคลอีกด้วย ทำให้สามารถทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นโรคอะไรอยู่บ้าง มีความเสี่ยงขนาดไหน เพื่อการจัดลำดับในการฉีดวัคซีนของประชาชนได้ถูกต้อง และด้วยการตัดสินใจจัดหาวัคซีนไว้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2020 ผลที่ได้คือการจัดสรรการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและตรงกับสถานะด้านสุขภาพของประชากรแต่ละกลุ่ม ถ้าเราไม่ต้องไปเสียงบประมาณหรือทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน แต่มุ่งนำไปพัฒนาต่อยอดจากแพล็ตฟอร์มของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีข้อมูลทั้งด้านสุขภาพและช่องทางติดต่อของประชาชนเป็นฐานอยู่แล้วแทน นอกจากจะบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังถือเป็นโซลูชันที่ทั้งถูกและมีประสิทธภาพกว่าอีกด้วย
5. ใช้หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างเคร่งครัด
สั้น ๆ ครับ... การสื่อสารจากหน่วยงานของรัฐบาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้ยังฉีกทุกตำราการสื่อสารในภาวะวิกฤตอยู่
1
6. ประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเลขจริงตามมาตรฐานสากล “ถ้าไม่ยอมรับความจริง-จะไม่มีวันแก้ไขได้”
ขณะนี้สากลยอมรับการใช้ตัวเลขสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีน (อย่างน้อยเข็มแรก) ในการประเมินสถานการณ์การบริหารจัดการ ซึ่งวันนี้ตัวเลขดังกล่าวของประชากรเอเชียอยู่ที่ 20.93% และทั่วโลกอยู่ที่ 20.68% ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 6.49% ตกจากค่าเฉลี่ยโลกถึง 3.2 เท่า ถ้าผมเป็นอาจารย์ตัดเกรดลูกศิษย์ ก็ต้องให้เกรด F คือสอบตก
ตัวเลขสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีน (อย่างน้อยเข็มแรก) ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับโลกและภูมิภาคต่าง ๆ
จนถึงสิ้นปีนี้ ผมหวังว่าเราทุกคนจะร่วมกันผลักดัน ทั้งส่งแรง-ส่งเสียง (Voice, Not Noise) เพื่อส่งผลให้ประเทศเราสอบผ่านในการแก้วิกฤตโควิดให้ได้ อย่างน้อยเอาเกรด C มาก็ยังดี!
และปีหน้าไปลุ้นการแก้วิกฤตเศรษฐกิจกันต่อ ว่าจะสอบผ่านหรือสอบตก!!
โฆษณา