25 มิ.ย. 2021 เวลา 08:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“มารี กูรี” หนึ่งหญิง ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกวิทยาศาสตร์
บทที่ 3: พ.ศ. 2454–2456 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อกู้เกียรติยศ ฟื้นฟูสุขภาพ และรับรางวัลโนเบลอีกครั้ง
อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง
ฝรั่งเศสในช่วงที่มารีมีชีวิตอยู่นั้นมีวิธียกย่องเกียรติคุณผู้มีอัจฉริยะสองวิธี คือ มอบรางวัล Legion of Honour กับได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Science Academy)
ในปี พ.ศ. 2453 ทางรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอรางวัล Legion of Honour แก่มารี แต่เธอปฏิเสธ เพราะถือว่ารางวัลเป็นสิ่งฉาบฉวย (ตั้งแต่ได้รับรางวัลโนเบล หลายประเทศ เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เช็กโกสลาเวีย และโปแลนด์ เลือกเธอเป็นสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาตินั้นๆ)
สถาบันแห่งชาติฝรั่งเศส (Institute de France) ภาพจาก https://www.researchgate.net/
สถาบันวิทยาศาสตร์เป็นสถาบันหนึ่งในห้าสถาบันที่ประกอบกันเป็นสถาบันแห่งชาติฝรั่งเศส (Institute de France) งานของสถาบันวิทยาศาสตร์มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฝรั่งเศสมาก เป็นองค์กรที่วางขอบเขตคัดเลือกรายงาน ให้รางวัลผลงานทางวิทยาศาสตร์ มีอิทธิพลต่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีของชาติ การได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในวิชาชีพ
เมื่อสมาชิกสาขาเคมีฟิสิกส์คนหนึ่งถึงแก่กรรมในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 ตำแหน่งสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสว่างขึ้นหนึ่งตำแหน่ง ฝ่ายฟิสิกส์เสนอชื่อเธอเข้ารับเลือกในเดือนธันวาคม เธอไม่ปฏิเสธ ทั้งๆ ที่รู้จากประสบการณ์ของปิแอร์ว่าเสี่ยงต่อการผิดหวังและเสียหน้าหากไม่ได้รับเลือก (เธออาจเกรงว่าถ้าไม่ยอมรับการเสนอชื่อจะถูกมองว่าเย่อหยิ่ง ไม่สำนึกถึงบุญคุณของชาติที่ให้การศึกษาแก่เธอ)
นักวิทยาศาสตร์อาวุโส เอดัวร์ บรอนลี (Edouard Branly) ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/
ตัวเก็งคู่แข่งของมารีคือ เอดัวร์ บรอนลี (Edouard Branly) เป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโส เคยเป็นศาสตราจารย์สอนฟิสิกส์ที่ซอร์บอนน์ แต่ลาออกไปสอนที่สถาบันคาทอลิก ผลงานที่สำคัญคือค้นพบวิธีการรับ-ส่งสัญญาณคมนาคมคลื่นวิทยุ (ที่เพิ่งค้นพบโดย Hertz) แบบไม่ต้องใช้ลวดตัวนำ (wireless) เครื่องรับคลื่นที่เขาประดิษฐ์ขึ้นถือว่าเป็นต้นแบบ นำไปสู่ความสำเร็จของกูลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ในการประดิษฐ์เครื่องรับ-ส่งที่ใช้ในโทรคมนาคมข้ามประเทศ (ปรากฏว่ามาร์โคนีได้รับรางวัลโนเบลคนเดียว)
ผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายต่างพยายามรณรงค์หาเสียงอย่างเต็มที่ โดยเขียนความเห็นด้านบวกด้านลบลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีสองฝ่ายคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ชาตินิยม) สนับสนุน Branly กับฝ่ายหัวก้าวหน้า สนับสนุนมารี โดยเปรียบเทียบผลงานของคู่แข่งขัน ทั้งสองฝ่ายเขียนวิจารณ์โต้ตอบกันในหน้าหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่วันประกาศชื่อจนถึงวันโหวต ตลอดจนหลังประกาศผลแล้ว
มารีมีข้อเสียเปรียบหลายข้อ เธอไม่ได้เสียงจากสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์คาทอลิก เธอเป็นชาวโปลโดยกำเนิด ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศส และที่สันนิษฐานว่าเป็นเหตุผลสำคัญคือเป็นเพศหญิง ซึ่งในประวัติ 215 ปีของสมาคมยังไม่มีผู้หญิงคนใดได้รับเลือก สังคมฝรั่งเศสในทศวรรษนั้น ส่วนใหญ่ ถือว่าเพศหญิงเป็นเพศเปราะบางต้องการความคุ้มครองจากเพศชาย เหมาะสมกับหน้าที่ รับผิดชอบดูแลบ้านช่อง คอยอยู่เคียงข้างสนับสนุนสามี เพื่อให้สังคมครอบครัวรวมตัวกลมเกลียวกันอย่างที่เป็นมาตั้งแต่โบราณ
ในวันเลือกตั้งสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์ 24 มกราคม พ.ศ. 2454 มีประชาชนทั่วไปสนใจเข้าประชุม แต่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าห้องประชุม (ยกเว้นนักข่าวหญิงคนเดียว) สมาชิกส่วนใหญ่มาร่วมประชุม ที่มามีด้วยกัน 58 คน ผู้ได้รับ 30 เสียงโหวตเป็นผู้ชนะ
โหวตยกแรก Branly ได้รับ 29 เสียง มารี 28 เสียง อีกหนึ่งเสียงได้แก่ มาร์แซล บรียูอา (Marcel Brillounin)
โหวตยกที่สอง Branly ได้รับ 30 เสียง มารี 28 เสียง Branly ชนะ
มารีตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่ามีความสัมพันธ์ลับๆ กับพอล แลงจ์แวง
ครอบครัวคูรีสนิทสนมกับครอบครัวแลงจ์แวงมานาน ตั้งแต่ครั้งปิแอร์ยังมีชีวิตอยู่ พอลเป็นศิษย์ของปิแอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เป็นเพื่อนอาจารย์นักวิจัยอยู่ในวงการวิจัยเดียวกัน ทำงานร่วมกับปิแอร์ และมารีมาตลอด พอลแต่งงานกับภรรยาที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 มีลูกด้วยกันสี่คน เป็นที่รู้กันดีในระหว่างกลุ่มเพื่อนสนิทของครอบครัวทั้งสองว่า พอลกับภรรยามีเรื่องระหองระแหงไม่ลงรอยกันมานานแล้ว สาเหตุมาจากภรรยาไม่พอใจกับการที่พอลเลือกทำงานสอนกับวิจัยแทนที่จะทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้เงินเดือนมากกว่า พอลไม่ค่อยอยู่บ้านมักไปขลุกอยู่ที่ห้องทดลอง ทุ่มเทเวลากับงานวิจัย ไปประชุมหรือร่วมวิจัยวิชาการที่ยุโรปบ่อยๆ
พอล แลงจ์แวง (Paul Langevin) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Langevin
พอลเล่าถึงความขัดแย้ง ความอารมณ์ร้ายของภรรยา (บางครั้งถึงขั้นลงมือขว้างปาข้าวของ) ให้มารีฟังโดยตลอด ครั้งหนึ่งถึงขั้นเกือบแตกหัก พอลพาลูกชายสองคนไปอยู่ที่อื่น ถึงขั้นจะหย่ากัน มารีเข้าใจและเห็นใจพอลมาก คอยให้กำลังใจ และบางครั้งยังให้พอลยืมเงินด้วย ทั้งคู่มีความสนิทสนม พบปะกันสองต่อสองและเขียนจดหมาย โต้ตอบกันในระยะนั้น
เมื่อภรรยาของพอลทำให้ข่าวความสนิทสนมนี้แพร่ไปถึงหนังสือพิมพ์ในปลายปี พ.ศ. 2453 นั้น ประจวบกับการที่เธอมีชื่อเข้าร่วมแข่งขันชิงตำแหน่งสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงประโคมข่าวนี้ เน้นในแง่ว่าเธอเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำลายสถาบันครอบครัวฝรั่งเศส บางฉบับถึงกับเขียนว่าเธอมีเชื้อสายเป็นยิวด้วย หากพอล แลงจ์แวง มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น หรือหากมารีเป็นศิลปินนักแสดง สังคมฝรั่งเศสถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเกี่ยวกับมารีซึ่งได้กลายเป็นเซเลบ ข่าวเกี่ยวกับเธอย่อม ‘ขาย’ ได้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับจึงลงข่าว มีการติดตามเขียนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องภรรยาของพอลให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์อ้างว่าค้นพบจดหมายจากมารีถึงพอล กล่าวหาว่ามารีสนับสนุนให้พอลเลิกกับเธอ นักข่าวหนังสือพิมพ์วิจารณ์เธอว่าไม่มีศีลธรรมจรรยา เรื่องนี้ลงเป็นข่าวต่อเนื่องกันหลายเดือน พอลได้ออกข่าวคัดค้านว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวของเขา มารีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ลูกศิษย์ ตลอดจนผู้ร่วมงานซึ่งรู้จักมารี รู้อุปนิสัย กิจวัตร และความประพฤติของมารีเข้าข้างเธอตลอด พวกเขาเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ตอบโต้ว่าละเมิดสิทธิส่วนตัวของมารี เธอต้องจ้างทนายความและเขียนชี้แจงแก้ข้อมูลผิดๆ ว่าบางช่วงที่ถูกกล่าวหานั้น เธอมีหลักฐานว่าเธอไม่อยู่ในปารีส ไปประชุมวิชาการที่ต่างประเทศ พร้อมให้ชื่อผู้ร่วมประชุม หรืออีกช่วงหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่กับพอล เธอไปพักร้อนกับลูกๆ ที่โปแลนด์ (เธอไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาถึงความสัมพันธ์) ลงท้ายว่าเธอจะดำเนินการทางกฎหมายต่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ข้อหาละเมิดสิทธิส่วนตัวทำให้เธอเสียชื่อเสียง
เพื่อป้องกันเกียรติยศของตนเองและของมารี พอลได้ท้าดวลกับคอลัมนิสต์ที่เขียนโจมตีเขาว่าเป็นผู้ชายขี้ขลาดตาขาว ยอมให้ภรรยาตัวเอง แม่ของลูก ถูกข่มขู่จากฝ่ายสนับสนุนมารี แต่เมื่อวันดวลปืนมาถึง ทั้งคู่เริ่มตั้งหลักเตรียมพร้อม พอกรรมการนับถึงสามออกคำสั่งให้ยิง พอลยกปืนขึ้นแต่อีกฝ่ายไม่ขยับ จึงเลิกล้มไป สมัยนั้นการท้าดวลเป็นที่นิยมมากกว่าการขึ้นศาล มีนักหนังสือพิมพ์บางคนที่อยู่ข้างมารี เขียนโต้ตอบกับฝ่ายกล่าวหาอย่างดุเดือด ถึงขั้นท้าดวลกันเพื่อให้สิ้นสุดกันไป
1
เรื่องนี้ทำให้มารีเครียด อัปยศ เป็นห่วงถึงผลกระทบต่อลูกๆ มาก สุขภาพทรุดโทรม ป่วยหนัก เธอเอ่ยถึงอยากฆ่าตัวตายในจดหมายถึงเพื่อนด้วย
ภาพจาก https://www.nobelprize.org/prizes/chemistry/1911/marie-curie/diploma/
เดือนพฤศจิกายน ที่สวีเดน ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวในฝรั่งเศส ทางกรรมการรางวัลโนเบลได้พิจารณาเห็นสมควรให้มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี จากผลงานค้นพบเรเดียมและโปโลเนียม* เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก แต่ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสน้อยมาก ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อหนังสือพิมพ์ลงพิมพ์จดหมายที่ภรรยาของพอลอ้างว่าเป็นจดหมายจากมารีถึงพอล กรรมการรางวัลโนเบลบางคนผู้เคยสนับสนุนเธอเริ่มคลอนแคลน แนะนำให้เธอเลื่อนการรับรางวัลไปจนกว่าเรื่องนี้จะสิ้นสุด มารียืนกรานว่ารางวัลที่ได้เป็นผลงานทางวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวของเธอแต่อย่างใด
เรื่องอื้อฉาวนี้สงบลงได้ เมื่อพอลตัดสินใจออมชอมตามข้อเรียกร้องที่ฝ่ายภรรยาเสนอในที่สุด เพราะไม่อยากให้ เรื่องยืดยาวไปถึงศาล
ในเดือนธันวาคมมารีเดินทางไปรับรางวัลที่สต็อกโฮล์ม ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยสบาย มีบรอเนียกับไอรีนเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย เธอเตรียมเลกเชอร์ที่จะเสนอในที่ประชุมเป็นทางการและเตรียมสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง กล่าวถึงประวัติการค้นพบและการศึกษาสารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสี เธอให้เครดิตแก่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่เกี่ยวข้อง (Becquerel, Rutherford, Soddy, Ramsay, Debierne) แต่สำหรับงานสกัดสารประกอบเรเดียมบริสุทธิ์ งานศึกษาแหล่งกำเนิดการแผ่รังสี (ว่ามาจากภายในอะตอม) ซึ่งนำไปสู่การแปลงธาตุ (วิธีผลิตธาตุใหม่) นั้น เป็นผลงานของเธอคนเดียว เธอคงต้องการย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์หญิงอย่างเธอมีความคิดริเริ่ม มีความสามารถทัดเทียมนักวิทยาศาสตร์ชาย ไม่ใช่เป็นได้เพียงผู้ช่วยงานเท่านั้น
ทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อมารีทั้งกายและใจ ในปลายเดือนธันวาคม เธอเจ็บหนักเกือบเอาชีวิตไม่รอดด้วยโรคไต ถูกหามส่งโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน พบว่าไตเสียหายมาก หมอแนะนำให้ผ่าตัดทันที แต่เธอขอเลื่อนไปเป็นเดือน มีนาคม เพราะเธอต้องการไปร่วมประชุมสมาคมนักฟิสิกส์ที่เบลเยียมตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์
หลังผ่าตัดไต มารีอ่อนแอมากแทบทรงตัวไม่ได้ ต้องพักผ่อนฟื้นตัวอยู่หลายเดือน เธอไม่อยากเป็นข่าวในเรื่องนี้ เธอกับลูกๆ ออกไปเช่าบ้านอยู่นอกเมืองปารีส เก็บตัวเงียบๆ ภายใต้ชื่อสมมุติ เธอย้ายที่พักฟื้นหลายแห่งภายในหกเดือน เธอเขียนถึงเพื่อนอาจารย์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมว่าสุขภาพเริ่มดีขึ้น แต่ยังอ่อนเพลีย ยังไม่ถึงขั้นทำงานตามปกติได้
เธอได้พักผ่อนอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อไปพักร้อนอยู่กับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ เฮอร์ทา ไอร์ทอน (Hertha Ayrton) ที่อังกฤษ ทั้งคู่ต่างนับถือและเข้าใจกันและกัน ด้วยมีประวัติส่วนตัวคล้ายๆ กัน เฮอร์ทาแต่งงานกับนักวิทยาศาสตร์ เธอถูกปฏิเสธเข้าเป็นสมาชิกในสถาบันวิทยาศาสตร์อังกฤษ (Royal Society) เพราะไม่ใช่คนโสด เธอมีลูกสาวสองคนเหมือนมารี เฮอร์ทาเช่าบ้านเก่าๆใกล้ๆ ทะเล ใน Hampshire ติดกับ New Forest มีแค่สวนป่าคั่นระหว่างบ้านกับทะเล เด็กๆ ได้รับการดูแลโดยพี่เลี้ยงชาวอังกฤษ ลูกๆ ของมารีได้ผลประโยชน์ทั้งทางสุขภาพและภาษาอังกฤษ แต่ตัวมารีเองยังล้มหมอนนอนเสื่อหลังจากกลับปารีสในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น
สรุปได้ว่า ตลอดปี พ.ศ. 2454-2455 เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ต่อสู้รักษาชื่อเสียงและฟื้นฟูสุขภาพกายและใจมากกว่าทำงานวิชาการหรือทำงานในห้องแล็บ
มารีเป็นผู้เตรียมสารประกอบเรเดียมคลอไรด์บริสุทธิ์ เพื่อใช้เป็นหน่วยวัด ปริมาณเรเดียมมาตรฐานนานาชาติ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 เมื่อสุขภาพกายของมารีเริ่มดีขึ้น เธอกับอ็องเดร เดอบีแยน (Andre Debierne) นำหลอดแก้วบรรจุเรเดียมคลอไรด์บริสุทธิ์ไปมอบให้แก่ Bureau of Weights and Measures ที่เซฟเรส เพื่อเก็บรักษาและใช้เป็นมาตรฐานการวัดเรเดียมนานาชาติ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
สำหรับความก้าวหน้าทางทฤษฎีโครงสร้างอะตอม ในปี พ.ศ. 2456 นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก นีลส์ โบร์ (Neils Bohr) ทำงานอยู่ที่อังกฤษ เขียนบทความทางวิชาการภายใต้หัวข้อ On the Constitution of Atoms and Molecules สนับสนุนโมเดลโครงสร้างอะตอมของรัทเทอร์ฟอร์ด โบร์อธิบายว่าแรงดึงดูดระหว่างโปรตอนกับอิเล็กตรอนในอะตอมคือแรงสู่ศูนย์กลางนั่นเอง นีลส์ โบร์ ใช้โมเดลนี้ประกอบกับทฤษฎี quantum radiation ของพลังค์(Max Planck) อธิบายเส้นสเปกตรัมต่างๆ ของอะตอมไฮโดรเจนได้ค่อนข้างถูกต้อง
การค้นพบนี้เป็นพื้นฐานนำไปสู่วิชาฟิสิกส์ควอนตัม (quantum physics)
พูดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างมารีกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใกล้ๆ กัน มารีกับไอน์สไตน์รู้จักสนิทสนมกันดี มีการเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่างๆ มารีเป็นผู้เขียนจดหมายสนับสนุนให้ไอน์สไตน์ได้งานทำในซูริก ไอน์สไตน์ชื่นชมและถูกอัธยาศัยกับมารีมาก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 ไอน์สไตน์กับภรรยามาเยี่ยมมารีที่อพาร์ตเมนต์ในปารีส ครอบครัวทั้งสองได้ไปพักร้อนด้วยกันเป็นกลุ่ม ร่วมทำกิจกรรม เดินป่า ปีนเขา แถบอัลไพน์ (Alpine) ในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยกัน อีฟเล่าถึงความทรงจำนี้ว่า ไอน์สไตน์ค่อนข้างใจลอย หมกมุ่นถึงปัญหาฟิสิกส์ที่เขากำลังคิดค้างอยู่ ครั้งหนึ่งระหว่างปืนป่าย เขาถามโพล่งขึ้นมาว่า “ผมสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่อยู่ในลิฟต์ ถ้าอยู่ๆ สายเคเบิลลิฟต์เกิดขาดขึ้นมา” คำถามนี้ต่อมานำไปสู่การเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
สถาบันเรเดียม กรุงวอร์ซอ ภาพจาก https://artsandculture.google.com/
สมาคมวิทยาศาสตร์กรุงวอร์ซอแต่งตั้งมารีให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ในปี พ.ศ. 2454 สมาคมได้จัดสร้างสถานปฏิบัติการกัมมันตรังสีชื่อ สถาบันเรเดียม ขี้นที่กรุงวอร์ซอ และเสนอให้เธอเป็นผู้อำนวยการ เปิดโอกาสให้มารีย้ายกลับไปอยู่โปแลนด์ แต่เธอตัดสินใจไม่ไป เพราะต้องดูแลการก่อสร้างสถาบันเรเดียมที่ปารีส (และต้องการอยู่ปกป้องชื่อเสียง) เธอรับเป็นผู้อำนวยการสถาบันเรเดียมแห่งกรุงวอร์ซอ แต่แต่งตั้งให้ผู้ช่วยชาวโปลสองคนเป็นผู้บริหารแทนเธอ
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2456 มารีเดินทางไปเปิดสถาบันเรเดียมที่กรุงวอร์ซอ ได้กลับมาเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ในอดีต เช่น Museum of Industry and Agriculture สถานที่เธอใช้ทำแล็บเคมีเป็นครั้งแรก ไปเยี่ยมสุสานของตระกูล ได้เห็น แม่น้ำวิสทูลาอีกครั้ง ได้อยู่ท่ามกลางญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ครู อาจารย์ที่รู้จักเธอมาตั้งแต่เด็ก เธอได้รำลึกความหลังครั้งเยาว์วัย รู้สึกภูมิใจที่ได้นำความก้าวหน้าสู่โปแลนด์ แต่หดหู่ใจที่โปแลนด์ยังไม่เป็นอิสระจากการปกครองของรัสเซีย
มารีได้เดินทางไปอังกฤษเพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก University of Birmingham เธอประทับใจในสีสันและแบบของเสื้อครุยปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยและพิธีการรับปริญญาของอังกฤษมาก
สถาบันทดลองคูรีต่อมาได้ชื่อว่า สถาบันเรเดียม (Institute of radium) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 โดยเงินทุนของซอร์บอนน์ร่วมกับสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ในบริเวณที่ดินที่รัฐจัดให้บนถนนให้ชื่อว่า rue Pierre Curie นั้น ตามแผนจะแล้วเสร็จในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2456 สถาบันนี้แบ่งออกเป็นสองหน่วยงานอิสระ คือ หน่วยปฏิบัติการทางกัมมันตภาพรังสี มีมารีเป็นผู้อำนวยการ อีกส่วนหนึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยทางชีวภาพ และการบำบัดรักษาโดยการฉายรังสี หน่วยนี้ทำวิจัยด้านมะเร็งและรักษาคนไข้โรคมะเร็ง มีศาสตราจารย์โกลด รีกูด์ (Claude Regaud) เป็นผู้บริหาร
มารีทุ่มเทเวลาให้กับสถาบันนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก เธอมีส่วนในการออกแบบก่อสร้างอาคาร ตกแต่งสวน และบริเวณรอบๆ เธอเลือกซื้อต้นไม้และดูแลการปลูกด้วยตัวเอง โดยตั้งใจให้ต้นไม้เริ่มออกดอกเมื่อสถาบันเปิดทำงาน สถาบันนี้สร้างเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457
ไอรีน กูรี
ปีที่ปิแอร์ถึงแก่กรรม ไอรีนมีอายุประมาณ 9 ขวบ อีฟยังเป็นเด็กน้อยอายุประมาณ 2 ขวบ ทั้งคู่เติบโตมาในความดูแลของมารี มารีใช้หลักการสังเกตและบันทึกแบบวิทยาศาสตร์ในการเลี้ยงลูก เธอจดบันทึกรายละเอียดการเติบโต น้ำหนัก ความสูง วัดเส้นรอบวงศีรษะ ความก้าวหน้าทางกายภาพ สมรรถภาพของลูกๆ ทุกระยะ เมื่อมารีตกเป็นข่าวอื้อฉาวนั้น ไอรีนอายุ 14-15 ปี เริ่มเก็บตัว ทำตัวห่างจากแม่และน้อง เริ่มสนใจเรียนรู้เรื่องราว ประวัติทางตระกูลของพ่อมากขึ้น เริ่มเป็นผู้ใหญ่ เรียนรู้ จัดการ แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่นในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2455 ช่วงที่มารีหลบหน้าหลบตาจากสังคมปารีสนั้น ไอรีนนั่งรถไฟไปเยี่ยมลุงฌักและครอบครัวที่ Montpellier ด้วยตัวเอง เธอนั่งเลยไปหนึ่งสถานี แต่แก้ปัญหาได้โดยโทรเลขไปบอกฌักแล้วรอนั่งรถไฟเที่ยวกลับ
ตลอดสองอาทิตย์ที่อยู่ Montpellier ไอรีนได้คุ้นเคยกับสมาชิกและบรรยากาศสิ่งแวดล้อมกับครอบครัวฝ่ายพ่อ ที่แตกต่างจากปารีส ได้ขี่จักรยานเที่ยวกับโมริส กูรี (Maurice Curie) ลูกพี่ลูกน้องซึ่งอายุแก่กว่า 8 ปี ได้ไปสำรวจเมืองที่อยู่ไกลออกไปถึงสองวันติดต่อกัน ทั้งสองเขียนจดหมายถึงกันและกัน (และต่อมาได้เป็นเพื่อนร่วมงานกันที่สถาบันเรเดียม) บางช่วงที่พักร้อนอยู่ต่างประเทศ ไอรีนวางแผนขี่จักรยานทางไกลโดยใช้แผนที่ช่วยโดยไม่หลงทาง นอกจากนั้น บางครั้งเธอต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านต้อนรับแขกหรือเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมช่วงที่มารีไปประชุมต่างประเทศ
ไอรีนสอบผ่านระดับเตรียมอุดมในฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2457 ขณะอายุ 17 ปี มีแผนจะเข้าเรียนที่ซอร์บอนน์ เธอช่วยดูแลบ้านช่องและจัดการเรื่องการเรียนของอีฟ มารียอมรับความเป็นผู้ใหญ่เกินตัวของไอรีน ถือเสมือนว่าไอรีนเป็นเพื่อนและผู้ร่วมงานคนหนึ่ง
ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันเร็วกว่าที่คาด เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นในปลายฤดูร้อนปี พ.ศ. 2457
ไอรีน มารี และอีฟ ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Eve,_Marie,_Irene_Curie_1908.jpg
* ชื่อธาตุ Polonium ในภาษาไทยอ้างอิงตามราชบัณฑิตยสภาคือ “พอโลเนียม” แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนขอทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “โปโลเนียม” เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกชื่อประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อธาตุนี้
โฆษณา