25 มิ.ย. 2021 เวลา 12:06 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Hospital Playlist : แหวกม่านสำรวจการกระจายตัวบุคลากรทางการแพทย์ในไทย
การกลับมาของซีรีส์เกาหลีแนวการแพทย์ภาคต่อ ที่หลายคนรอคอย ได้สร้างปรากฏการณ์เรตติ้งเปิดตัวตอนแรกของซีซัน 2 ทะลุ 10% ด้วยความที่ซีรีส์แนวการแพทย์ปกติจะใส่เนื้อหาหนักๆ
1
แต่สำหรับซีรีส์เรื่องนี้นอกจากเราจะได้เห็นมุมการทำงานอย่างทุ่มเทของบุคลากรการแพทย์แล้วเรายังได้เห็นมิตรภาพของกลุ่มคุณหมอที่เป็นเพื่อนสนิทกันกว่า 20 ปี ที่มักจะใช้เวลาหลังเลิกงานไปตั้งวงซ้อมดนตรีเหมือนตอนสมัยเรียน
อี อิก-จุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์คุณพ่อลูกหนึ่ง ด้านศัลยแพทย์ทั่วไป สอบเข้าและเรียนจบด้วยคะแนนอันดับ 1 ของประเทศ เป็นคนที่มีอัธยาศัยที่ดี ช่วยเหลืองานในโรงพยาบาลทุกแผนก
อัน จอง-วอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านกุมารศัลยศาสตร์ และผ่าตัดเด็ก เป็นคนที่มีจิตใจเปราะบางเขาจึงมีฉายาว่าพระพุทธเจ้า ในความเป็นจริงแล้วเขาเป็นลูกเศรษฐีแต่ปกปิดฐานะ
ซึ่งหากใครที่ชอบดูซีรีส์เกาหลีแนวอบอุ่นและเล่าถึงความธรรมดาที่แสนพิเศษคงจะคุ้นเคยกับชื่อผู้กำกับชินวอนโฮและลักษณะการเล่าเรื่องของเขาเป็นอย่างดี
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นภาพการทำงานในโรงพยาบาล โดยเล่าผ่านมิติของความสัมพันธ์ของกลุ่มหมอและคนไข้ จึงทำให้วันนี้ Bnomics อยากจะพาทุกคนไปสำรวจชีวิตของหมอและบุคลากรการแพทย์ในไทยดูบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสนุกเหมือนในซีรีส์เกาหลีเท่าไรนัก แล้วเราจะพบว่าใน 1 วันของพวกเขา อาจจะยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง…
คิม จุน-วาน รองศาสตราจารย์ ด้านศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ ฉายาหมอผ่าตัดไร้เทียมทาน เป็นคนมีนิสัยปากร้าย แต่ด้านการทำงานเขาทำได้ทุกอย่างเพื่อคนไข้
แช ซง-ฮวา รองศาสตราจารย์ ด้านประสาทศัลยศาสตร์ระบบประสาทและสมอง เป็นผู้หญิงคนเดียวในแก๊งค์ ฉายาว่าของเธอคือ ‘ผี’ เพราะทำทุกอย่างได้ดีเกินมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว วันหยุดเธอก็ไปปีนเขา แคมปิ้ง ได้ชิล ๆ วันต่อมาก็มาทำงานปกติไม่เคยสายเลย
ยัง ซอก-ฮยอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา พูดน้อย ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่เป็นคนอ่อนโยน คอยช่วยคนป่วย และคนในแผนกเสมอ
บุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าเราไม่สามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และในยุคนี้เองก็เป็นยุคที่ทั่วโลกกำลังพยายามพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal health coverage :UHC) หลายประเทศได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2030
การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยการวางแผนและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เหมาะสมกับงาน แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายๆ ครั้ง เรื่องนี้กลับได้รับความสนใจเป็นลำดับท้ายๆ
1
สำหรับประเทศไทย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทหรือที่ๆ ห่างไกล เป็นปัญหาสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ จึงได้มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมา เพื่อช่วยเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เหล่านี้
อาทิ การรับสมัครนักเรียนจากพื้นที่ชนบท การให้เงินสนับสนุนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในชนบท หรือการบังคับนักศึกษาแพทย์ให้ทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2508 โดยถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 2 (2510 - 2514) เพื่อหวังกระจายการพัฒนาไปสู่ชนบทและขยายการบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนในชนบทห่างไกล
ต่อมาในปี 2520 ได้มีการจัดตั้งระบบสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้มีศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาลระดับอำเภอ ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์นอกกรุงเทพฯ จึงทำให้จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ในช่วงเวลา 3 ทศวรรษ
จนกระทั่งในปี 2544 ประเทศไทยก็บรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “บัตรทอง”
อย่างไรก็ดี จำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นดูเหมือนจะไม่ได้กระจายไปในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมเท่าไรนัก มีงานวิจัยที่ใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติของ Worldbank ที่เรียกว่า “Concentration index” ซึ่งใช้สะท้อนความเที่ยงธรรมในการกระจายตัวของทรัพยากรทางสุขภาพโดยเปรียบเทียบกับความแตกต่างทางเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลรายงานทรัพยากรข้อมูลสาธารณสุขซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.04 คน ต่อประชากร 1,000 คน
1
โดยเมื่อมองย่อยลงไปอีกจะพบว่าโดยเฉลี่ยมีแพทย์ 0.27 คน พยาบาล 1.56 คน ทันตแพทย์ 0.08 คน และเภสัชกร 0.12 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ข้อมูลในงานวิจัยนี้ไม่รวมบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ และเอกชน)
จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร 1,000 คน
ทีนี้เมื่อเราเจาะลึกลงไปที่แพทย์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทแบบกว้างๆ คือแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง แล้วดูความกระจุกตัวของแพทย์โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ภูมิภาค (Gross regional product) เราจะพบว่าโรงพยาบาลระดับอำเภอในทุกภูมิภาค มีสัดส่วนของแพทย์ทั่วไปต่อจำนวนประชากร มากกว่าโรงพยาบาลในระดับจังหวัดและภูมิภาค
พอดูข้อมูลแบบนี้แล้วเราอาจจะรู้สึกว่าการกระจายตัวของแพทย์ทั่วไปในไทยนั้นดูเหมือนจะมีความเป็นธรรมอยู่พอสมควร ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นผลมาจาก
(1) การพัฒนาโครงสร้างสาธารณสุขพื้นฐานในชนบทระหว่างปี 2513 – 2542 จึงทำให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ในทุกๆ จังหวัด แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ที่ร่ำรวยอะไร
(2) นโยบายที่บังคับให้นักศึกษาแพทย์ต้องไปใช้ทุนในชนบทอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งต่อมาได้บังคับใช้ไปถึงทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีการให้เงินสนับสนุนพิเศษแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดาร
(3) การสร้างข้อกำหนดให้แพทย์ที่จะเรียนต่อเฉพาะทางต้องมีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐในระยะเวลาหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการกระจายตัวอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ในมิติอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลระดับภูมิภาค ส่วนใหญ่มักจะไปตั้งอยู่ในเขตที่เป็นเมือง และในที่ที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross provincial product) สูงกว่า ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้ก็จะเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษา จึงมีบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่มากกว่าในโรงพยาบาลระดับอำเภออีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากโรงพยาบาลระดับจังหวัดและภูมิภาคในภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งเป็น 2 ภูมิภาคที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ภูมิภาคสูงที่สุด มีสัดส่วนของแพทย์เฉพาะทางต่อประชากร 1,000 คน สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
สัดส่วนแพทย์เฉพาะทางต่อประชากร 1,000 คน
แม้ว่าในงานวิจัยนี้จะไม่ได้นำข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (แต่ไปสังกัดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กรมแพทย์ทหาร โรงพยาบาลจิตเวช) และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิดเป็น 36% ของโรงพยาบาลทั้งหมดในไทย
แต่ก็ยังเห็นภาพการกระจุกของแพทย์ในจังหวัดที่ร่ำรวยอยู่ดี ซึ่งหากรวมโรงพยาบาลนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปด้วย เราอาจเห็นภาพการกระจุกตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้แพทย์บางคน นอกจากจะทำงานเป็นแพทย์ประจำของโรงพยาบาลรัฐในเวลาราชการแล้ว ยังรับงานในโรงพยาบาลเอกชนนอกเวลาราชการ หรือเปิดคลินิกของตัวเองอีกด้วย ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นคิดเป็นกว่า 55% ของรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว
และยิ่งในช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัวในปี 2533 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มผุดขึ้นมามากขึ้น และได้นำพาแพทย์ออกจากระบบของรัฐไปถึง 1 ใน 3 ในปี 2540 เนื่องจากภาคเอกชนให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ารัฐมาก
1
ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่ประเด็นปัญหาคุณภาพการดูแลรักษาคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน การนำคนไข้ออกจากระบบไปเป็นคนไข้ในคลินิกส่วนตัว การโกงเวลาทำงานในโรงพยาบาลรัฐ และการใส่ซองให้แพทย์เพื่อแลกกับการดูแลที่ดีเป็นพิเศษ
ในปัจจุบัน ยังคงพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล บุคลากรทางการแพทย์ที่เหลืออยู่ในระบบของรัฐจึงต้องทำงานอย่างหนัก หลายคนต้องเข้าเวรติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้มีการลาออกอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนขึ้นไปอีก แล้วก็วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
1
โควิด-19 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นถึงความสามารถของบุคลากรการแพทย์ ในขณะเดียวกันก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความเปราะบางของระบบการวางแผนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ ที่หากมีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนติดโควิด หรือมีความเสี่ยงว่าจะติดโควิดแล้วคนที่ปฏิบัติงานด้วยต้องกักตัว จะแทบไม่เหลือเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานได้เลย
2
เช่น กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ติดเชื้อโควิดถึง 40 ราย แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มก็ตาม
บุคลากรทางการแพทย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับโควิด-19 ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นภาพบุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียสละอุทิศตนปฏิบัติงานอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่เสมอ
1
ซึ่งจริงอยู่ที่เราควรสรรเสริญในความเสียสละของพวกเขา แต่มันคงไม่เป็นผลดีทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์และต่อตัวคนไข้เองแน่หากระบบยังคงบีบให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้คำว่า “เสียสละ” โดยไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้างของระบบเช่นนี้
1
เพราะไม่ว่าหมอจะทุ่มเทเสียสละแค่ไหนก็สามารถรักษาชีวิตคนไข้ได้ทีละคน แต่หากแก้ที่โครงสร้างระบบสาธารณสุข ก็คงจะสามารถช่วยเหลือชีวิตคนไข้ได้อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนไม่ต้องจากไปเพียงเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทัน
1
ทางภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุข จึงควรมีทิศทางการวางแผนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่แน่ชัด กระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ มีมาตรการดึงดูดใจให้บุคลากรอยู่ในระบบของรัฐ
ผ่านการเพิ่มค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับภาระงาน และปรับชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์โดยคำนึงถึงสุขภาพกายและใจของของบุคลากรมากขึ้น มิเช่นนั้นในวันข้างหน้าอาจจะมีคนออกจากระบบไปเรื่อย ๆ จนทำให้โครงสร้างการประกันสุขภาพถ้วนหน้าพังทลายลง
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราตระหนักว่า บุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีครอบครัว มีชีวิตส่วนตัวไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่พวกเขาทำหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น
1
แต่ลึกๆ แล้ว พวกเขาก็ยังคงต้องการการพักผ่อน ได้ไปมีชีวิตส่วนตัวเหมือนคนอื่น ซึ่งหากภาครัฐได้รับฟังเสียงสะท้อนของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้และลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็คงจะสามารถตัดวงจรปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบ คนไข้ได้รับการรักษาไม่ทั่วถึง และการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ได้
1
บางทีมันคงถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่ดูแลคนไข้...ควรจะได้รับการดูแลใส่ใจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ บุคลลากรทางการแพทย์ทั้งคุณหมอ พยาบาล ต่างเสียสละ ทุ่มเทสรรพกำลัง เสี่ยงชีวิตเพื่อสู้ศึกโควิดให้กับทุกคน
2
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา