2 ก.ค. 2021 เวลา 11:52 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Fatherhood: โควิดบังคับให้หลายคนต้องกลายเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว...และพรากอนาคตที่ดีไปจากเด็ก
การเป็นพ่อแม่ของเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และมันยิ่งไม่ง่ายเลยสำหรับพ่อหรือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ซึ่ง แมทธิว โลกลิน หรือแมตต์ ก็เป็นหนึ่งในคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหานั้นเช่นกัน
หากใครกำลังมองหาหนังแนวดราม่าอบอุ่นใจไว้ดูกับครอบครัว Bnomics อยากจะขอแนะนำ Fatherhood ไว้สักเรื่อง หนังเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของ แมทธิว โลกลิน เจ้าของหนังสือที่ขายดีติดอันดับ New York Times best seller เรื่อง Two Kisses for Maddy: A Memoir of Loss and Love ซึ่งเป็นไดอารี่ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเขา ภรรยา และการเลี้ยงลูกสาวในขวบปีแรก
Matthew Logelin (แมทธิว โลกลิน) เจ้าของหนังสือที่ขายดีติดอันดับ New York Times best seller เรื่อง Two Kisses for Maddy: A Memoir of Loss and Love
สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าสนใจนั่นเป็นเพราะภรรยาของเขาเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดหลังจากคลอดลูกได้เพียง 27 ชั่วโมง ทิ้งให้แมตต์ได้กลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวแบบไม่ทันได้ตั้งตัวหลังจากที่เป็นคุณพ่อได้เพียงวันเดียว
พร้อมกับสายตาคนรอบข้างที่มองว่าเขาไม่น่าจะเลี้ยงลูกได้ดี ซึ่งในหนังจะฉายให้เราเห็นภาพความท้าทายมากมายที่แมตต์ต้องเผชิญจากการเลี้ยงลูกสาวคนเดียวพร้อมกับการทำงานที่บริษัทไปด้วย
ในสังคมที่คุณแม่ส่วนใหญ่เป็นคนเลี้ยงลูกเป็นหลัก อาจจะเป็นโชคดีของแมตต์ที่ยุคนั้นยังไม่มีโควิด-19 มิเช่นนั้นเขาคงเลี้ยงลูกด้วยความทุลักทุเลยิ่งขึ้นไปอีก
Liz Logelin (ลิซ โลกลิน) ภรรยาของแมทธิว
Maddy Logelin (แมดดี้ โลกลิน) ลูกสาวของแมทธิวและลิซ
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาชวนผู้อ่านไปดูผลกระทบของโควิดต่อเหล่าคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เวลาพูดถึงครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เรามักจะนึกถึงภาพคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเสียมากกว่า
จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกา
หากมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 100 ครอบครัว
จะพบคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 76 คน
และคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอยู่ราวๆ 24 คน
แต่จำนวนคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จาก 300,000 คนในปี 1960
เป็น กว่า 2.6 ล้านคน ในปี 2011
จากข้อมูลแล้ว
คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมักจะมีอายุน้อยกว่า มีการศึกษาน้อยกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับคุณพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีทั้งพ่อและแม่
และความแตกต่างนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงฐานะอีกด้วย
เมื่อพิจารณาฐานะทางการเงินของครอบครัว
โดยดูจากค่ากลางรายรับต่อปี ซึ่งปรับให้แสดงถึงครอบครัวที่มี 3 คน (Median Adjusted annual income)
เราจะพบว่าครัวเรือนคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่กัน 3 คน มีรายได้อยู่เพียง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
และ 24% ของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมีชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจน
อย่างไรก็ดี
ครัวเรือนของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวยังมีความเป็นอยู่ดีกว่า
คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีรายได้เพียง 26,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
และกว่า 43% อยู่ภายใต้เส้นความยากจน
คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 25% ต้องออกจากตลาดแรงงานในช่วง ที่เกิดโควิด
แน่นอนว่าการต้องเลี้ยงลูกคนเดียว นั่นหมายถึงว่า คุณจะต้องทำงานหาเงินไปพร้อม ๆ กับการดูแลเด็กทารกคนหนึ่งที่ต้องการคุณเกือบจะตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะบริหารจัดการมันได้ดีทั้งสองทาง
เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างการเลี้ยงลูกและการทำงานได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคนช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูลูก
ไม่ใช่ทุกคนที่นายจ้างจะอนุญาตให้เลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วย
เหมือนนายจ้างของแมตต์ที่อนุญาตให้เขาทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย
ในขณะที่ลูกของเขายังแบเบาะอยู่
ทำให้ท้ายที่สุดแล้วหลายคนมักจะต้องละทิ้งโอกาสทางการงานของตัวเองเพื่อมาดูแลลูก โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และคนที่มีลูกเล็ก ซึ่งไม่อาจปฏิเสธหรือยกภาระนี้ให้คนอื่นได้
งานวิจัยที่จัดทำโดย Brookings Institution
เผยให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อแรงงานแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ผู้หญิงที่มีลูก โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และคุณแม่ที่มีลูกเล็ก มักจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากที่สุด
โดยเฉลี่ยแล้วพบว่าคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวถึง 25% ที่ต้องออกจากตลาดแรงงานไปในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทั้งจากการตกงาน และการที่ต้องออกจากงานไปดูแลลูกระหว่างที่โรงเรียนปิด
งานวิจัยโดย Brookings Institution เผยให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อแรงงานแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน
คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 25% ต้องออกจากตลาดแรงงานในช่วง ที่เกิดโควิด
หลายคนที่ออกจากตลาดแรงงานไปก็ยากที่จะหาโอกาสกลับมา
หรือหากกลับมาก็มักจะประสบปัญหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
และส่งผลกระทบต่อรายได้ในระยะยาว จึงทำให้อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นลดลงไปราว ๆ 7.5 % และฟื้นตัวช้าที่สุด
โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ส่วนคุณพ่อดูจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากค่านิยมดั้งเดิมส่วนใหญ่ที่มักจะให้ผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงลูกเสียมากกว่า ดังที่เราจะเห็นในหนังว่าเวลาคนเจอแมตต์เลี้ยงลูกก็มักจะถามว่าแม่ของลูกไปไหน หรือสมาคมผู้ปกครองมือใหม่ที่มีแต่คุณแม่มาคุยกันโดยที่คุณพ่อไม่ค่อยจะเข้ามามีส่วนร่วมนัก
อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นลดลงไปราว ๆ 7.5 % และฟื้นตัวช้าที่สุดโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังคงพบผลกระทบในมิติของช่องว่างของการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายห่างที่ขึ้นไปอีกในช่วงที่เกิดโควิด
เนื่องจากผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% ในแรงงานภาคบริการ ส่งผลให้หลังจากที่โควิดระบาด
ในช่วงกลางเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงกว่า 5.7 ล้านคนตกงาน ในขณะที่ผู้ชายตกงานอยู่ที่ราว ๆ 3.2 ล้านคน
และน่าเศร้าที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรายได้น้อยที่หาเลี้ยงลูกด้วยอาชีพพนักงานบริการ คนทำความสะอาด และแม่ครัว
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก สสส.พบว่าในปี 2013
มีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 1.37 ล้านครัวเรือน และกว่า 80% เป็นครัวเรือนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว
ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการตกงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมักจะเป็นแรงงานที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับภาคบริการจึงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน
จริงอยู่ว่าการดูแลลูกนั้นเป็นความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อแม่
แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ หากรัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อาจส่งผลให้มีคุณพ่อหรือคุณแม่หลายคนต้องออกจากตลาดแรงงานมา
แล้วก็คงยากที่จะกลับไป ทำให้ทั้งครอบครัวนั้นต้องสูญเสียรายได้
และเด็กที่เกิดมาก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
อย่างในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้จึงประกาศว่าจะลงทุนในเรื่องของการดูแลเด็กมูลค่ากว่า 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้หญิงยังสามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระในการเลี้ยงลูก
โควิด-19 ได้ทำให้ใครหลายคนต้องออกจากงาน ซ้ำเติมให้ภาระหนี้สินของบางคนเพิ่มขึ้น
และหลายครั้งก็พรากสามีหรือภรรยาของใครสักคนไปจนทำให้อีกคนที่เหลือต้องกลายเป็นคุณพ่อ/คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างไม่ทันตั้งตัว
1
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยให้เห็นว่าในสหรัฐอเมริกา
โอกาสที่ผู้ปกครองจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าในสถานการณ์ปกติอยู่ที่ประมาณ 17.5 - 20.2 % และนั่นแปลว่าเด็กกว่า 43,000 คน อาจจะต้องสูญเสียพ่อหรือแม่ไปในช่วงที่เกิดโควิด
ในตอนท้ายของเรื่อง แม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้ยินภรรยาของแมตต์บอกว่าภูมิใจในตัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวคนนี้แค่ไหน แต่ลูกสาวของเขาที่เติบโตขึ้นมาอย่างดี คงเป็นคำตอบได้โดยไม่ต้องมีคำพูดใด ๆ ออกมาเลย
1
แมทธิวในชีวิตจริง กับ แมทธิวในภาพยนตร์ที่รับบทโดย Kevin Hart
แมทธิวในชีวิตจริง กับ แมทธิวในภาพยนตร์ที่รับบทโดย Kevin Hart
อย่างไรก็ดี ตอนจบในชีวิตจริงของหลายคนมันอาจไม่สวยงามเช่นนั้น เพราะเด็กหลายคนที่ต้องสูญเสียผู้ปกครองไปอย่างกะทันหัน
โดยเฉพาะในช่วงโควิด มันคงยากลำบากสำหรับผู้ปกครองคนที่เหลือที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกต่อเพียงลำพัง
ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยนักเช่นนี้
จึงอาจจะทำให้เด็กหลายคนไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น
พ่อแม่บางคนอาจตกงานกะทันหันทำให้ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้
ก็มีโอกาสที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปอีก
และเกิดปัญหาความยากจนวนเป็นวงจรไปเรื่อย ๆ
1
ดังนั้น นี่คงจะเป็นอีกโจทย์สำคัญที่รัฐไม่ควรมองข้าม ในการออกแบบสวัสดิการและความช่วยเหลือให้เข้าถึงคนเหล่านี้ไม่ให้ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
และช่วยเหลือเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไปเพราะโควิดอย่างเต็มกำลังทั้งทางด้านสุขภาพกายและใจ การศึกษา
และช่วยลดผลทางเศรษฐกิจที่ไปกระทบกับเด็กเหล่านี้อย่างยั่งยืน
1
อีกทั้งองค์กรต่าง ๆ ควรจะเริ่มกลับไปคิดทบทวนเรื่องการให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถบริหารเวลางานและเวลาสำหรับครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรเองก็ไม่ต้องเสียพนักงานที่มีคุณภาพจากการลาออกไปดูแลลูกอีกด้วย
สุดท้ายนี้ Bnomics ขอให้คุณพ่อและคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกคน สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ แม้วันนี้อาจจะดูมืดมน แต่เมื่อเวลาผ่านไปและคุณได้มองย้อนกลับมา คุณก็จะรู้สึกภูมิใจที่สามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตมาได้เป็นอย่างดี...ด้วยตัวคนเดียว
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา