25 มิ.ย. 2021 เวลา 11:56 • การตลาด
Me - Too Marketing กลยุทธ์การตลาด ที่เห็นคนอื่นทำแล้ว (ขอ) ทำตามด้วยคน
2
ในยุคที่ใคร ๆ ต่างมองว่า การสร้างความแตกต่าง หรือ Differentiate
คือ หนึ่งในหัวใจสำคัญ ของการปั้นแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ
1
เหมือนอย่างที่ Apple เจ้าของสโลแกน Think Different ทำ
จนสามารถพลิกโฉมโลกของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสาร ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่ก็ต้องยอมรับว่า บนโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เลือกปูทางธุรกิจ ด้วยการสร้างความแตกต่าง
หลายแบรนด์เลือกฉีกกฎ ใช้ทางลัดในการปั้นแบรนด์
ด้วยการออกสินค้าให้มีหน้าตา, คุณสมบัติ คล้ายหรือใกล้เคียงกับผู้นำตลาด หรือ แบรนด์ที่มีจุดเด่นอยู่ในตลาด
กลยุทธ์การตลาดแบบที่ว่านี้ เรียกว่า Me - Too Marketing
หรือ กลยุทธ์การตลาด ที่เห็นคนอื่นทำ แล้ว (ขอ) ทำตามด้วยคน
ซึ่งเป็นกลยุทธ์คลาสสิกที่มีมาช้านาน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ไม่ว่าจะเป็นแชมพูสระผม สบู่ เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไปจนถึงสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว
1
และปัจจุบันลามมาถึง ธุรกิจที่ล้ำกว่านั้นอย่าง เทคโนโลยี, สมาร์ตโฟน, แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย, อีคอมเมิร์ซ และสตรีมมิง
ซึ่งหลายครั้งที่ผู้บริโภคเอง ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียหาย
หรือ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับแบรนด์ ที่ใช้กลยุทธ์นี้เสมอไป
แต่กลับคุ้นชินด้วยซ้ำ กับการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันหรือมีคุณสมบัติเหมือนกัน มากมายเป็นตัวเลือก
ลองนึกภาพเวลาไปซูเปอร์มาร์เกต เพื่อซื้อปลากระป๋อง หรือ น้ำมันสักขวด
จะเห็นว่า ชั้นวางเรียงรายไปด้วยสินค้าชนิดเดียวกันมากมาย
แถมบางแบรนด์ ยังใช้กลยุทธ์ออกแบบแพกเกจจิงให้หน้าตาคล้าย ๆ กับแบรนด์ยอดนิยม
แต่ขายในราคาถูกกว่า จนถ้าไม่สังเกตให้ดี อาจเผลอหยิบผิด..
1
หรือถ้าในโลกโซเชียลมีเดีย ฟีเชอร์ Story หรือ ฟีเชอร์อัดและแชร์คลิปวิดีโอสั้น ที่มีจุดกำเนิดมาจากแอปใดแอปหนึ่ง
ตอนนี้กลับกลายเป็นฟีเชอร์พื้นฐาน ที่หลายแพลตฟอร์มมองว่า อาจต้องมีติดไว้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, YouTube, Instagram ฯลฯ
 
ถามว่า ทำไมบางแบรนด์ ถึงเลือกที่ใช้กลยุทธ์ Me - Too เป็นทางลัด
มี 2 เหตุผลหลัก ๆ ด้วยกัน
1
1. การทำตามย่อมง่ายกว่าทำเอง
อย่าลืมว่าการจะพัฒนาสินค้าหรือฟีเชอร์ใหม่แต่ละครั้ง นอกจากจะต้องตั้งต้นจากการหา Pain Point หรือ ความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงให้เจอ
ยังต้องวัดดวงด้วยว่า สินค้า บริการ หรือฟีเชอร์นั้น จะเป็นที่ถูกใจของตลาดหรือเปล่า
ยกตัวอย่าง ธุรกิจสตรีมมิง ถ้าย้อนไป 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครเชื่อว่า
วันนี้ เราจะเข้าถึงคลังข้อมูลความบันเทิงมหาศาลแค่ปลายนิ้ว
สามารถชมหนัง-ซีรีส์ที่ถูกลิขสิทธิ์อย่างไม่จำกัด ด้วยการจ่ายค่าบริการรายเดือนหลักร้อย
1
แต่หลังจาก Netflix เป็นเจ้าแรก ๆ ที่มาบุกตลาดจนประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันมีฐานผู้ชมทั่วโลกกว่า 207 ล้านบัญชี
ก็มีผู้ให้บริการสตริมมิงมากมาย ตบเท้าเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด
อาทิ Disney+, WeTV, IQIYI เป็นต้น
1
2. เจาะตลาดได้ง่ายกว่า
เพราะอย่างน้อย ๆ ก็เห็นแล้วว่า สินค้าหรือบริการแบบไหน ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด
ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเลือกออกสินค้าหรือบริการ ที่กำลังฮิตหรือเป็นที่ต้องการในตลาด
นอกจากจะไม่ต้องเทงบการตลาดไปกับการให้ความรู้และสร้าง Brand Awareness โอกาสเสี่ยงหรือเจ็บตัวก็น้อยลง
2
เหมือนช่วงที่กระแสชาเขียวมาแรง ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาเจาะตลาดนี้ เพราะเห็นว่ามีดีมานด์
หรือปัจจุบัน น้ำดื่มผสมวิตามิน เป็นตลาดที่กำลังร้อนแรง หลายแบรนด์ก็ต่างเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด จนตอนนี้ ถ้าเดินเข้าไปตามร้านสะดวกซื้อจะเห็นว่า มีตัวเลือกมากมาย จนหลายคนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว
2
ซึ่งบางแบรนด์ ต้องงัดสารพัดกิมมิกเพื่อแก้เกม
ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้พรีเซนเตอร์เพื่อสร้างการจดจำ อัดงบโปรโมต หรือ ใช้กลยุทธ์ในการทำราคาที่ต่ำกว่า เพื่อสู้กับแบรนด์คู่แข่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า กลยุทธ์ Me - Too Marketing มีข้อดีอย่างไร
คำตอบ คือ ดีกับตลาดและผู้บริโภคอย่างเรา ๆ
เพราะยิ่งมีการแข่งขันในตลาดมากเท่าไร หมายความว่า แต่ละแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ต้นตำรับหรือแบรนด์ที่ขอยืมไอเดียแบรนด์อื่นมาทำให้ใกล้เคียง ก็หยุดนิ่งไม่ได้
ต้องขยันพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ให้ยิ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด อยู่ตลอดเวลา
1
ที่สำคัญ การที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเรื่อย ๆ ก็ทำให้ตลาดยิ่งคึกคัก
ซึ่งสุดท้าย ผลดีก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภค ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย
สามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ตรงใจ ในราคาที่เข้าถึงได้
1
ส่วนข้อเสียของกลยุทธ์ Me - Too
แน่นอนว่า หากแบรนด์คู่แข่งใช้กลยุทธ์นี้ ย่อมสร้างความหนักใจให้กับคนที่เป็นผู้ริเริ่มและสร้างไอเดีย
เพราะแม้ การเป็นแบรนด์ที่มาก่อน จะทำให้เกิดภาพจำในใจลูกค้า
หรือ บางแบรนด์ อาจจะมีโอกาสครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ได้ก็จริง
แต่ก็ต้องเหนื่อยกับการต่อยอดจุดแข็ง ของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ยากจะลอกเลียนแบบ
หรือ คิดหารูปแบบการตลาดที่ทำให้ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้
ซึ่งอาจทำให้บั่นทอนกำลังใจในการทำธุรกิจ และรู้สึกว่า จะทุ่มเทสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปทำไม เดียวก็มีคนอื่นทำตามอยู่ดี
สู้รอทำตามคู่แข่งไปเลย อาจคุ้มค่ากว่า เสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งถ้าทุกคนกลัวและคิดอย่างนี้ นวัตกรรมก็อาจไม่เกิดขึ้นกับวงการนั้น ๆ
1
ส่วนในมุมของแบรนด์ที่เลือกเป็นผู้ตาม แม้เส้นทางการเข้าสู่ธุรกิจจะมีทางลัดก็จริง
แต่ถ้าอยากจะสลัดภาพแบรนด์ที่มาทีหลัง เป็นได้แค่ผู้ตาม
ก็ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเอง ติดกับดักความสำเร็จที่อาศัยรากฐานจากแบรนด์อื่น
แล้วอาศัยแค่กลยุทธ์การทำราคาที่ถูกกว่า หรือ การจัดโปรโมชันเพื่อสร้างยอดขาย
เพราะจะไม่เป็นการดีต่อการสร้างแบรนด์ในระยะยาว
ในทางกลับกัน​ แบรนด์อาจจะต้องศึกษา Know-How
แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาสินค้าหรือบริการ ที่มีเอกลักษณ์หรือจุดแข็งเฉพาะตัว ของตัวเองในอนาคต
มาถึงตรงนี้ คงพอสรุปได้ว่า กลยุทธ์ Me - Too Marketing ก็เหมือนเหรียญที่มีทั้งสองด้าน
มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับใคร จะมองมุมไหน
อย่างน้อยตราบที่โลก ยังมีแบรนด์ที่เป็นผู้นำและผู้ตามอย่างสมดุล ก็คงไม่ใช่ปัญหา
แต่หากวันใด ทุกแบรนด์หันมาใช้กลยุทธ์นี้ โลกใบนี้คงจะน่าเบื่อ
เพราะไม่มีใครริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนโลก หรือ อัปเกรดชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้คนให้ดีขึ้น..
2
โฆษณา