28 มิ.ย. 2021 เวลา 07:30 • ไลฟ์สไตล์
ถึงเวลาปรับระบบ "ประกันบำนาญ" เกษียณสำราญ มีเงินใช้ไม่ขัดสน
การวางแผนเกษียณ ดูจะเป็นคำไกลตัวของเหล่าเยาวรุ่น แต่หากเป็นวัยกลางคนแบบ "เศรษฐินีศรีราชา" การวางแผนเกษียณนั้นไม่ใช่เรื่องไกลเสียแล้ว เพราะหายใจเข้า หายใจออก แป๊บเดียวก็หมดปี หันซ้าย หันขวา อ้าวเห็นหลักสี่อยู่ไม่ไกล พอใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ นั่นไง เลข 6 มาแล้ว เตรียมแซยิดได้เลย
ลองคิดเล่นๆ ชีวิตของสาวโสด วัยกลางคน เป็นมนุษย์เงินเดือน บ้านต้องผ่อน พ่อแม่ต้องดูแล เธอจะต้องเก็บเงินเท่าไรถึงจะมีชีวิตที่สุขสำราญในวันที่ไม่ได้ทำงาน แต่มีเงินให้ใช้จ่ายทุกวัน ที่สำคัญต้องไม่ขัดสน
แน่นอนว่า การฝากเงินในธนาคารอย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์ เพราะเงินเฟ้อเอาไปหมด เช่น วันนี้กินข้าวแกงไข่พะโล้กับผัดผักรวมมิตร 50 บาท แต่อีก 20 ปีข้างหน้าข้าวแกงที่ว่าอาจจะราคา 100 บาทก็เป็นได้ นั่นก็หมายความว่า เงินที่มีอยู่อาจใช้ไม่พอนั่นเอง
เมื่อการฝากเงินไม่ใช่จุดหมายปลายทางของเรา การลงทุนเพื่อการเกษียณ จึงเป็นเครื่องมือที่พาเราไปถึงจุดหมายได้ ซึ่งการลงทุนนั่นจะมีทั้ง
- กองทุนรวม
- กองทุน RMF
- กองทุน SSF
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หรือการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือบางคนก็เลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นเสือนอนกิน หรือบางคนก็เลือกซื้อประกันชีวิต ทั้งแบบประกันออมทรัพย์ ประกันควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ รวมไปถึงประกันบำนาญ
ในส่วนของประกันบำนาญนั้น หลายคนอาจจะมองว่าไม่ตอบโจทย์ เพราะเงินที่ได้รับหลังเกษียณอาจไม่เพียงพอ และไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ หรือบางคนก็มองว่า ต้องเสียชีวิตถึงจะได้เงินก้อนใหญ่ แล้วคนโสดอย่างฉันล่ะ ไร้ทายาท และอยากมีเงินใช้ตอนที่ยังไม่ตาย
ประเด็นนี้ สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL และนายกสมาคมประกันชีวิตไทย บอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging society ปัจจจุบันเราจะเห็นว่า 18-20% ของประชากรไทยส่วนใหญ่เป็นคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และถ้ามองไปข้างหน้าอีก 10 ปี เราจะได้เห็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า เฉลี่ย 28-30%
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจประกันเองมีฐานข้อมูลจากตารางมรณกรรมเห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำ ตัวเลขประชากรไม่เติบโต และคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เหล่านี้จึงเป็นที่มาว่า เราจะทำอย่างไรให้มีประกันบำนาญที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ ไม่ใช่มีแต่คำว่า บำนาญ แต่ไม่มีส่วนประกอบคำนั้นมาช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างเต็มรูปแบบเลย
ในสมัยหนึ่งเราจะเคยได้ยินประกันแบบวันฟอร์ออล หรือ One For All ที่เชื่อกันว่าตอบโจทย์ได้เกือบทุกรูปแบบ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่แบบนั้น ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การคุ้มครองหากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ก็จะเห็นผลิตภัณฑ์ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) ประกันแบบโพรเท็กชัน รวมไปถึงประกันคุ้มครองตลอดชีพ หรือ Whole life ให้ได้เลือกกัน
แต่อีกด้านหนึ่ง ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนหลายประเทศที่ผู้สูงวัย และมีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้ และไม่ล้อไปกับการมีอายุยืนยาว ซึ่งถ้าเรามองในมุมของประกันชีวิตที่นำเสนอในเรื่องของประกันบำนาญนั้น สิ่งที่น่ากังวล คือ การมีอายุยืนยาว แต่ไม่มีเงินที่จะดำรงชีวิต
ฉะนั้นแบบประกันบำนาญที่รองรับสังคมผู้สูงอายุนั้น ไม่ควรจะเป็นแบบวันฟอร์ออล แต่ควรจะเป็นเรื่องของบำนาญ ที่อยู่ได้แท้จริงไม่ใช่ว่าหากเสียชีวิตแล้วจะได้ทุนเป็นเยอะๆ ซึ่งถ้าเราต้องการความคุ้มครองเช่นนี้ ก็ควรจะไปซื้อประกันคุ้มครองตลอดชีพน่าจะเหมาะสมกว่า แต่หากต้องการบำนาญจริงๆ ก็ต้องคิดว่าหากเกษียณแล้วจะมีเงินไว้ใช้เท่าไร
"ผมเคยทำสถิติดูว่าควรจะมีเงินใช้หลังเกษียณสักกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 50-70% หรือ 100% ของเงินเดือนสุดท้าย ผมถึงจะอยู่ได้ นั่นหมายความว่าผมจะดำรงชีพต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าผมแก่ปุ๊บเกษียณแล้ว ผมจะต้องปรับตัวใหม่เพื่อมีชีวิตอยู่อีกแบบหนึ่ง นั่นก็หมายความว่า ผมต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ต้องมีแบบประกันที่ใช่ และตอบโจทย์หลังเกษียณด้วย"
สาระ ทิ้งท้ายว่า ในเรื่องนี้เราจึงมีการหารือและพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ. และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับให้ "ประกันบำนาญ" ตอบโจทย์คำว่า "บำนาญ" ได้อย่างแท้จริง
เอาเป็นว่าหากมีการปรับระบบประกันบำนาญเสร็จสิ้นเมื่อไร คนที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงก็คือ พวกเราที่อยากเกษียณสำราญ มีความสุขในบั้นปลายชีวิต แน่นอนว่า "เศรษฐินีศรีราชา" ก็ฝันเช่นนั้น ทำงานเหนื่อยมาทั้งชีวิต เงินที่ได้มาก็อยากใช้แบบมีความสุข ใช้แบบไม่ต้องคิดอะไร ใช้เพราะอยากใช้ ก่อนที่จะไม่ได้ใช้....
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
โฆษณา