13 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 7
หนังพากย์ : ตัวแปรทางรสนิยมของผู้ชมภาพยนตร์ไทย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 ขณะที่ผู้ชมชาวไทยกำลังตื่นเต้นกับภาพยนตร์เสียงที่คณะฉายภาพยนตร์จากสิงค์โปร์เข้ามาฉายนั้น
ข้างฝ่ายคณะบริหารของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร ซึ่งครองตลาดหนังเงียบอยู่ ก็เริ่มตระหนักถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของภาพยนตร์เงียบ โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรกับหนังเงียบที่ยังเหลือค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก
▶ เกร็ด :: ในยุคหนังเงียบที่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษคั่นเป็นระยะ เคยมีผู้ริเริ่มจัดพิมพ์เรื่องย่อของหนังตั้งแต่ต้นจนจบ ให้นักดูหนังชาวไทยยุคที่ยังไม่กลัวการสปอยล์ ซื้อไปอ่านเพื่อเข้าใจเรื่อง
นายสิน สีบุญเรือง (ทิดเขียว) และ นายต่วน ยาวะประภาษ
ครั้งหนึ่ง นายต่วน ยาวะประภาษ เจ้าหน้าที่ของบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร ได้เสนอให้มีคนมายืนแปลคำบรรยายขณะฉายภาพยนตร์ แต่ได้ถูกปฏิเสธไป เพราะเห็นว่ายังไม่จำเป็น
มาคราวนี้คณะผู้บริหารจึงหยิบยกข้อเสนอนั้นมาพิจารณาอีกครั้ง ทางบริษัทจึงเปิดโอกาสให้นายต่วนดำเนินการ แต่มีข้อแม้ว่านายต่วนจะต้องพากย์เอง
และได้ให้เริ่มทดลองใช้วิธีการดังกล่าวกับภาพยนตร์เรื่อง ค่าแห่งความรัก (His Lady) เป็นเรื่องแรก โดยให้นายต่วนนั่งอยู่บนเวทีหน้าจอ ถือโทรโข่งอ่านบทพูดและบทบรรยายเรื่องที่เตรียมมาให้เข้ากับภาพที่ปรากฏบนจอ
ผลจากการพากย์ครั้งแรกของภาพยนตร์ในสยาม แม้จะไม่ค่อยได้อารมณ์และความสมบูรณ์ตามความคิดของนายต่วน เพราะเป็นงานใหม่และเป็นของใหม่
แต่ทว่ามันเป็นที่แปลกใหม่ของคนดู ความสนใจใหม่เกี่ยวกับหนังของคนดูจึงเริ่มขึ้น
บริษัทจึงยอมให้นายต่วนจัดกิจกรรมแบบนี้ต่อไปอีกเป็นครั้งคราว
นายต่วนพากย์หนังอยู่ 4-5 วัน เพื่อนคนหนึ่งของเขา ชื่อว่า สิน สีบุญเรือง หนึ่งในกองบรรณาธิการหนังสือ “ภาพยนตร์สยาม” เจ้าของนามปากกา “ทิดเขียว” อาสารับหน้าที่พากย์หนังแทนนายต่วน
ด้วยว่านายสินเป็นคนชอบการเจรจา ชอบพูดตลกโปกฮาให้คนหัวเราะอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะการพูดเล่นพูดจริงสลับกับการพูดสองแง่สองง่ามอย่างน่าฟัง เป็นที่ยอมรับของพรรคพวกที่รู้จักดีอยู่แล้ว
โดยเฉพาะ ต่วน ยาวะประภาษ ผู้ให้นายสินพากย์หนังในนาม “ทิดเขียว” เพราะเชื่อว่าคนดูจะต้องจดจำติดตาติดปากและติดใจในรสพากย์ของหนุ่มผมน้อยและหลากคารมผู้นี้
เข้าสู่ช่วงกลางทศวรรษที่ 2470 ในช่วงเวลานี้หนังเสียงได้เข้ามาแทนหนังเงียบอย่างเต็มตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ข้อจำกัดทางภาษา ช่วงเวลานั้นหนังพูดฝรั่งยังไม่มีการจัดทำคำบรรยายภาษาไทย
การพากย์หนัง จึงเป็นทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้
นายสิน สีบุญเรือง ซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้จักของผู้ชมในชื่อ ทิดเขียว แล้วก็ได้ผันตัวเองไปเป็นนักพากย์หนังพูดด้วย
โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่นายสินทดลองพากย์เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่อง อาบูหะซัน
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทิดเขียวเหมาพากย์ทั้งเสียงผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนแก่ รวมทั้งร้องเพลงในบางฉากด้วย ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ส่งผลให้การพากย์เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยความคึกคักของกิจการภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์ไทยนี่เอง ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยบางรายซึ่งไม่มีทุนรอนมากนักเริ่มมองเห็นทางที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงทุนมากมาย
วิธีดังกล่าวคือ ลงมือถ่ายทำโดยไม่บันทึกเสียงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ หลังจากนั้นจึงเชิญนักพากย์ฝีมือดีมาบรรเลงเพลงพากย์ในภายหลัง
ผู้ที่เริ่มบุกเบิกวีธีดังกล่าวคือบริษัทสร้างภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทบูรพาภาพยนตร์ และบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ ซึ่งได้ทดลองสร้างหนังพากย์เรื่อง "อำนาจความรัก" และ "สาวเครือฟ้า" ตามลำดับ
ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง จึงทำให้เกิดผู้สร้างรายเล็กรายใหญ่ตามมาหลายราย เช่น บริษัท น.น ภาพยนตร์ บริษัทบูรพศิลป์ภาพยนตร์ บริษัทละโว้ภาพยนตร์
หรือแม้แต่ 'ทิดเขียว' ซึ่งต่อมาได้สร้างหนังพากย์ขึ้นเอง 2 เรื่อง ได้แก่ จันทร์เจ้าขา (พ.ศ. 2479) และ ชายสองโบสถ์ (พ.ศ. 2483)
นอกจากได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกพากย์หนังภาษาต่างประเทศแล้ว นายสิน สีบุญเรือง ก็ยังได้ชื่อเป็นผู้บุกเบิกการพากย์หนังไทยอีกด้วย
สำหรับกิจการการสร้างหนังไทยในช่วงเวลานั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ หนังพูดซึ่งบันทึกเสียงระหว่างถ่ายทำ และหนังไทยพากย์ซึ่งสร้างโดยถ่ายเป็นหนังเงียบแล้วใช้นักพากย์มาพากย์สดขณะฉายในโรงภาพยนตร์
ความนิยมในตัวทิดเขียวมีมากถึงขนาดในโฆษณาหนังแต่ละเรื่องที่ "ทิดเขียว" พากย์จะต้องมีชื่อทิดเขียวปะอยู่ข้างชื่อหนัง เพื่อประกันความสำเร็จอยู่เสมอ
▶ เกร็ด :: แผลเก่า น่าจะเป็นนวนิยายไทยเรื่องที่สอง(ของไทย) ที่ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์, เรื่องแรกคือ ลูกกำพร้า ภาค ๑-๒ (พ.ศ. 2481) จากบทประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต
เหตุที่หนังพากย์เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมนั้น นอกจากลีลาการพากย์ภาพยนตร์ที่ดึงดูดผู้ชมตั้งแต่หนังยังไม่เริ่มฉายแล้ว
เนื้อเรื่องของนักพากย์เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ชมชื่นชอบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวที่เกี่ยวกับผีสางเทวดา หรือแม้แต่เรื่องราวผัวๆ เมียๆ
ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ชมหนังพากย์ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านร้านตลาดที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับมหรสพพื้นบ้านอย่างลิเก ละครนอก ซึ่งเนื้อหาของมหรสพเหล่านี้มักหนีไม่พ้นเรื่องราวดังกล่าว
ดังนั้นเมื่อเรื่องราวจากมหรสพพื้นบ้านถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อที่ทันสมัยที่สุดแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมกลุ่มนี้จะตามไปดูด้วยความตื่นเต้น แม้ว่าเรื่องบางเรื่องจะเคยดูมาหลายรอบแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุนี้หนังพากย์จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ไทยอย่างชัดเจน
จากเดิมที่กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เคยเป็นกลุ่มเดียวกันตลอดมา นับตั้งแต่มีภาพยนตร์เข้ามาฉายในสยาม ก็เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงกลุ่มหนึ่งและกลุ่มผู้ชมหนังพากย์อีกกลุ่มหนึ่ง
โดยกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงจะเป็นผู้มีการศึกษา และนิยมในวัฒนธรรมต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ชมหนังพากย์เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความผูกพันในวัฒนธรรมท้องถิ่น
ความแตกต่างของกลุ่มผู้ชมทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และภาพยนตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในความบันเทิงเริ่มขาดแคลน
ผู้ชมไม่มีทางเลือกเหมือนสมัยก่อนสงคราม จึงต้องกลับมารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกันอีกครั้ง
▶ โปรดติดตาม EP. 8 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
โฆษณา