20 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 8 (จบ)
สงครามโลกครั้งที่ 2 :
จุดสิ้นสุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิก และจุดเริ่มต้นของยุคหนัง 16
ในช่วงปี พ.ศ. 2483 ความเจริญรุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์เสียงซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2470 มีอันต้องสะดุดลง
เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง เพราะได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. อย่างฉับพลัน
เนื่องจากประเทศผู้ผลิตฟิล์มส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปซึ่งกำลังประสบกับภาวะสงครามโดยตรง ส่งผลให้ภาพยนตร์เสียงซึ่งเคยเฟื่องฟูมากในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย
ภาพยนตร์เสียงเพียงเรื่องเดียวที่สร้างในปี พ.ศ. 2483 ก็คือ พระเจ้าช้างเผือก ภาพยนตร์ไทยพูดภาษาอังกฤษ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่สร้างโดย ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศ และแสดงเจตนารมณ์ว่าคนไทยกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับลัทธิชาตินิยมของผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้น ที่กำลังนำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อรูปการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้สร้างภาพยนตร์บางรายพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ดังกล่าว
และความสำเร็จของภาพยนตร์พากย์เรื่อง สามปอยหลวง ของบริษัทไตรภูมิภาพยนตร์ ที่ออกฉายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ก็คือตัวอย่างอันดีของความพยายามครั้งนี้
ภาพยนตร์ดังกล่าวทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 34,000 บาท
และสำหรับเหล่าผู้สร้างภาพยนตร์ ความน่าสนใจของ สามปอยหลวง อยู่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาด 16 มม. ซึ่งแต่เดิมมักใช้เฉพาะในหมู่ช่างถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น หรือใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ข่าวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ทันที่ผู้สร้างเหล่านั้นจะลงมือสานต่อความสำเร็จตามภาพยนตร์เรื่อง สามปอยหลวง ก็มีเหตุให้ต้องหยุดพักโครงการไปก่อน
เมื่อไฟแห่งสงครามได้ลุกลามมายังประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484
กิจการสร้างภาพยนตร์ในช่วงสงครามโลกโดยเฉพาะภาพยนตร์ 35 มม. นั้นค่อนข้างซบเซา เพราะมีการสร้างออกมาเพียง 4 เรื่องเท่านั้น และ 3 ใน 4 ก็ตกอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อกิจการโรงถ่ายไทยฟิล์มที่ทุ่งมหาเมฆ ให้กองทัพอากาศดำเนินการภายใต้ชื่อ “กองภาพยนตร์ทหารอากาศ” ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล และได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ออกฉายในปี พ.ศ. 2485
จากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารแล็บล้างฟิล์มและที่เก็บฟิล์มของโรงถ่าย จนต้องยุติการดำเนินงาน ส่งผลให้ฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์ของไทยฟิล์มและกองภาพยนตร์ทหารอากาศสูญเสียไปหมดสิ้น
ถึงแม้ว่าผลกกระทบของสงครามจะทำให้วงการหนังพากย์สะบักสะบอมไม่แพ้ภาพยนตร์เสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิจการหนังพากย์จะล่มสลายตามภาพยนตร์เสียงไปด้วย
การณ์กลับตรงข้าม เมื่อกิจการหนังพากย์สามารถยืนหยัดจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ด้วยการหันมาใช้ฟิล์ม 16 มม. ซึ่งยังพอหาได้จากท้องตลาด
ดังนั้นตลอดเวลาที่เกิดสงครามจึงมีหนังพากย์ 16 มม. ออกฉายโดยตลอด แม้จะไม่ต่อเนื่องก็ตาม
และจากการที่กลุ่มผู้สร้างหนังพากย์ 16 มม. ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 กิจการหนังพากย์จึงค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ
จากเดิมที่มีเพียงไม่กี่รายในระยะแรก ได้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในช่วงต้นปี พ.ศ. 2490 โดยเฉพาะแรงหนุนจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2492
ทำให้กิจการหนังพากย์เจริญเติบโตถึงขีดสุด และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมต่อมา นานกว่า 2 ทศวรรษ จนทำให้หลายคนเรียกขานยุคแห่งความเจริญของหนังพากย์นี้ว่า ยุคหนัง 16
ในทางกลับกัน เมื่อย้อนกลับไปดูชะตากรรมของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ก็จะพบว่าหลังจากบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงยุติบทบาทการสร้างภาพยนตร์ลงเมื่อเสร็จสิ้นการสร้างภาพยนตร์เรื่อง น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ในปี พ.ศ. 2485 ก็ไม่ได้สร้างภาพยนตร์อีกเลยเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ
โดยได้เปลี่ยนกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงไปเป็นโรงภาพยนตร์แทน และเปลี่ยนจากบริษัทสร้างภาพยนตร์เป็นบริษัทผลิตแผ่นเสียงแทน
การปิดตัวเองลงของบริษัทเสียงศรีกรุงในครั้งนั้น จึงนับเป็นจุดสิ้นสุดความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิกไปโดยปริยาย
ประวัติศาสตร์มีไว้ให้จำ..อดีตมีไว้ให้ทบทวน..แต่ก็อย่าถึงขั้นกับหลงหรือจมอยู่กับอดีตจนลืมมองอนาคตนะครับ..ทำมันควบคู่กันไป
ชีวิตเราก็จะวิเศษกว่าคนที่มุ่งไปอนาคตโดยไม่เหลียวแลอดีตหรือประวัติศาสตร์..
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
โฆษณา