2 ก.ค. 2021 เวลา 13:10 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน Bitcoin แห่งศตวรรษที่ 17 เมื่อดอกทิวลิปราคาแพงกว่าบ้าน
2
ภาพ "A Satire of Tulip Mania" วาดโดยจิตรกรชาวดัทช์นามว่า Jan Brueghel the Younger ในปี 1640 (Source: Wikipedia)
ถ้าทุกคนลองสังเกตภาพด้านบนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ ทุกคนน่าจะเห็นภาพวาดภาพหนึ่งที่เต็มไปด้วยลิง ซึ่งกำลังทำกิจกรรมอะไรบางอย่างอยู่ เริ่มจากด้านซ้ายเราจะเห็นลิงตัวหนึ่งที่กำลังใช้ไม้ชี้ไปที่ดอกทิวลิป โดยมีลิงอีกตัวนึงกำลังจูงมือลิงอีกตัวที่คาดดาบไว้ที่เอว เหมือนกำลังเชิญชวนทำอะไรบางอย่าง ถัดมาจะมีลิงอีกตัวที่ถือกระดาษ เขียนอะไรบางอย่างอยู่พร้อมกับมีนกฮูกเกาะอยู่ที่ไหล่ และอีกตัวที่กำลังชูดอกทิวลิปในมือซ้ายกับถุงเงินในมือขวาขึ้นไว้เหนือหัว ถัดมาจะเป็นลิงที่เหมือนแบกถุงอะไรบางอย่าง กำลังเดินไปยังโต๊ะอาหารที่ลิงสองคนกำลังทานข้าว สังสรรค์กันอยู่ ส่วนด้านขวาจะเป็นภาพของลิงถือผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา มีลิงบางตัวเหมือนอยู่ในศาล และทางมุมล่างขวาสุดก็จะเป็นลิงที่กำลังปัสสาวะราดลงไปบนดอกทิวลิป
1
แต่ก่อนที่จะไปดูว่าภาพวาดนี้ต้องการสื่อถึงอะไร ขออนุญาตอุบไว้ไปเฉลยในตอนท้ายของบทความนะครับ รับรองว่าถ้าทุกคนอ่านจนจบแล้วมาดูภาพนี้อีกครั้ง ทุกคนจะเข้าใจถึงสิ่งที่จิตรกรต้องการจะสื่ออย่างแน่นอน
เกริ่นกันก่อน
ตอนนี้คงไม่มีสินค้าตัวไหนที่จะฮอทฮิตไปกว่า Bitcoin แล้วนะครับ จากราคาที่กระโดดขึ้นไปอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีกว่า 2 ล้านบาทต่อเหรียญ ส่งผลให้เกิด Cryto Currency ขึ้นมาหลากหลายสกุลมาก และนักเก็งกำไรก็สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการลงทุน แต่มาถึงตอนนี้ราคาของ Bitcoin เคยตกลงมาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเหรียญแล้วในเวลาเพียงไม่กี่เดือน และราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านกว่าบาทต่อเหรียญ
ฺBitcoin การลงทุนที่ได้รับความนิยมสูงมากในต้นปี 2021 ที่ผ่านมา (Source: https://brandinside.asia/bitcoin-back-to-9000)
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การเก็งกำไรในตลาดหุ้น กองทุน พันธบัตรรัฐบาล และสินค้าอื่น ๆ เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก สินค้าหลายอย่างถูกเก็งกำไรจนมูลค่าซื้อขายเกินกว่ามูลค่าจริงไปมาก ซึ่งการกระทำแบบนี้ จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “Economic Bubble” หรือ ภาวะฟองสบู่ เมื่อใดก็ตามที่ฟองสบู่ขยายใหญ่ขึ้นจนแตกโพละ เมื่อนั้นทุกคนก็จะรู้ว่าภายในฟองสบู่นั้น จริง ๆ แล้วมีแต่ความกลวงโบ๋ และแน่นอนว่าจะต้องมีคนหลายคนที่ “เจ็บตัว” จากการลงทุนอย่างแน่นอน
เหตุการณ์ฟองสบู่แตกในประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 1997 หรือที่เราเรียกกันว่าวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ตอนนั้นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก ธนาคารต่างปล่อยกู้โดยที่ไม่มีความรัดกุมเพียงพอ ราคาอสังหาถูกประเมินสูงกว่าความเป็นจริง และเมื่อมีผู้ที่เริ่มไม่มั่นใจในมูลค่าที่แท้จริงของอสังหา ประกอบกับเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้สุดท้ายจึงเกิดภาวะฟองสบู่แตก และเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นนั่นเอง
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 1997 ที่เริ่มจากประเทศไทย แล้วลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Source: posttoday.com)
ว่าแต่ทราบหรือไม่ครับว่าการเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร เหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 400 ปีก่อน ในปี 1636-1637 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ครับ และเกิดขึ้นกับสินค้าอย่างหนึ่งที่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมาก สินค้านั้นคือดอกทิวลิปนั่นเอง
ดอกไม้แสนสวย รูปร่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะมาเทียบกับ Bitcoin ได้ยังไง วันนี้ Kang’s Journal จะพาทุกคนไปรู้จักกับเหตุการณ์นี้กันครับ Tulip Mania : Bitcoin แห่งศตวรรษที่ 17 เมื่อดอกทิวลิปราคาแพงกว่าบ้าน
*ขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ความรู้ทางการเงินมากนักนะครับ การเขียนอธิบายทุกอย่างในนี้เป็นความเข้าใจและความเห็นส่วนตัว ถ้ามีอะไรผิดพลาดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ*
1
ทิวลิป ดอกไม้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก (Source: https://www.thespruce.com)
เหตุการณ์ก่อนหน้า
เรื่องราวของเหตุการณ์ Tulip Mania เกิดขึ้นในยุคสมัยของเนเธอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า “Dutch Golden Age” ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์เฟื่องฟูถึงขีดสุด มีการเดินเรือไปติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากมายผ่านทางบริษัท Dutch East Indies บริษัทข้ามชาติแห่งแรกของโลก และเป็นบริษัทแรกที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้น และ Dutch West Indies ที่มีเป้าหมายแอบแฝงคือการล่าอาณานิคมทั่วโลก
นอกจากนั้นด้วยภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการที่เนเธอร์แลนด์มีคูคลองมากมาย ทำให้การส่งสินค้าสามารถทำได้อย่างคล่องตัว และเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติคกับทะเลบอลติกพอดี ประกอบกับตอนนั้นประเทศอื่น ๆ ในยุโรปกำลังวุ่นวายกัยการทำสงครามอยู่ ยิ่งทำให้เนเธอร์แลนด์กลายมาเป็นศุนย์กลางการค้าของยุโรปไปโดยปริยาย
1
เรือสินค้ามากมายเข้าเทียบท่าจามเมืองต่าง ๆ ของเนเธอร์แลนด์ในยุค Dutch Golden Age (Source: holland.com)
ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตเหนือชาติอื่น ๆ ในยุโรป ทำให้เนเธอร์แลนด์มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ มีการคิดค้นการระดุมทุนผ่านทางการออกหุ้นกู้ ซึ่งสุดท้ายได้รับการพัฒนามาเป็นตลาดหุ้นแห่งแรกของโลก มีการคิดค้นบริษัทประกันภัยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อลดความเสี่ยงในการขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าหายากมากมายเดินทางเข้ามาผ่านทางท่าเรือของเนเธอร์แลนด์ ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สามารถเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำ
หนึ่งในสินค้าที่มีการค้าขายกันก็คือดอกทิวลิปนั่นเอง โดยคาดว่าบุคคลแรกที่นำดอกทิวลิปเข้ามาในประเทศเนเธอร์แลนด์คือ ฑูตเนเธอร์แลนด์ประจำอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งเป็นผู้ส่งหัวและเมล็ดของดอกทิวลิปชุดแรกเข้ามายังเวียนนาในปี 1554
ทิวลิป เป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรออตโตมันมานานแล้ว (Source: Pinterest)
ในตอนนั้นการล่าอาณานิคมกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง ชาวยุโรปต่างตื่นตาตื่นใจกับพืชพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีการนำเข้ามาจากทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ต่างอยากได้เมล็ดพันธุ์ของพืชเหล่านี้ เพื่อนำมาเพาะปลูกในเรือนกระจกของตน พืชที่ดูธรรมดา ๆ ในปัจจุบันอย่างมันฝรั่ง มะเขือเทศ พริกไทย ต่างถูกกระจายไปทั่วทวีปยุโรป รวมไปถึงดอกทิวลิปด้วย
มีการบันทึกถึงการปลูกทิวลิปครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1593 โดยนักพฤกษศาสตร์นามว่า Carolus Clusius ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะพฤกษศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย Leiden เขาคือคนแรกที่ได้ลองปลูกดอกทิวลิปและพบว่าทิวลิปสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่แบบลุ่มต่ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ทิวลิปก็เริ่มกลายมาเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยม
Carolus Clusius นักพฤกษศาสตร์ที่นำทิวลิปเข้ามาเพาะพันธุ์จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ (Source: Wikipedia)
ทิวลิป ดอกไม้ที่แตกต่าง
ถ้าถามว่าทำไมดอกทิวลิปถึงเป็นที่นิยมของชาวเนเธอร์แลนด์ ก็ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มจากสีสันของดอกทิวลิปที่มีความสดใสไม่เหมือนใคร พูดง่าย ๆ ก็คือเหลืองก็เหลืองจัด แดงก็แดงจัด ม่วงก็ม่วงจัด ไม่เหมือนกับดอกไม้พื้นถิ่นของยุโรปที่มักจะมีสีค่อนข้างหม่น และอ่อน ต่อมาก็เห็นจะเป็นความแปลกของตัวต้นทิวลิปเอง ที่มีลักษณะแปลกตา เป็นก้านตั้งตรง พร้อมใบไม่กี่ใบด้านล่าง ทำให้ตัวดอกไม้ดูโดดเด่น สวยงามกว่าดอกไม้ชนิดอื่น
สีสันสดใสของดอกทิวลิป ที่ทำให้ดอกไม้ชนิดนี้แตกต่างจากดอกไม้ชนิดอื่น (Source: businessinsider.com)
แต่สาเหตุที่ทำให้ทิวลิปเป็นที่นิยมมากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นการที่มันเป็นของแปลกนั่นเอง เพราะทิวลิปเป็นพืชพื้นถิ่นของเอเชียกลาง แถบตุรกี และอิหร่าน โดยคำว่า Tulip น่าจะมาจากคำว่า Turban ซึ่งเป็นหมวกที่ชาวพื้นเมืองแถบเอเชียกลางชอบสวมใส่นั่นเอง และในเมื่อมันเป็นของแปลก หายาก ก็ทำให้ทุกคนที่อยากดูเก๋ มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร ย่อมอยากได้มาครอบครอง อารมณ์เหมือนกับ “ก็ของมันต้องมีอะ”
1
นอกจากนี้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ทำให้เกิดชนชั้นพ่อค้าที่มีความร่ำรวย สามารถสรรหาของสะสมแปลก ๆ จากทั่วโลกมาประดับบารมี และโอ้อวดความร่ำรวยของตนเองได้ ว่ากันว่าสินค้าจากเอเชียพวกเครื่องเทศ สามารถทำกำไรได้สูงสุดถึง 400% เลยทีเดียว ดอกทิวลิปก็คือหนึ่งในดอกไม้ที่สวนของผู้มีอันจะกินทุกคน จะต้องมีประดับเอาไว้
กองเรือของดัทช์ที่ออกเดินทางไปค้าขายทั่วโลก ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าขายของยุโรป (Source: https://www.economist.com)
ดอกทิวลิปในตอนนั้นถูกแบ่งแยกออกเป็น “เกรด” เกรดแรกคือ Couleren ก็คือดอกทิวลิปที่มีสีเดียว ต่อมาคือ Rosen ดอกทิวลิปสีแดงหรือชมพู ที่มีลายสีขาวแทรกอยู่ และ Violetten ดอกทิวลิปสีม่วงที่มีลายสีขาวแทรก
และเกรดที่แพงที่สุดและหายากที่สุดคือ Bizarden เพราะเป็นทิวลิปที่มีลวดลายต่าง ๆ บนตัว ลวดลายเหล่านี้ถูกเปรียบเสมือนกับเปลวไฟที่คลึงอยู่บนกลีบของดอก ทำให้ดอกไม้ยิ่งดูแปลกตา น่าค้นหา และดอกทิวลิปประเภทนี้นี่เองที่มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในตอนนั้นทิวลิปที่แพงที่สุด คือพันธุ์ที่มีชื่อว่า Semper Augustus
ทิวลิปพันธุ์ Semper Augustus ที่มีราคาสูงที่สุดในบรรดาดอกทิวลิปทั้งหมด (Source: Wikipedia)
แต่ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันแล้วว่าลวดลายบนดอกทิวลิปเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากพันธุ์ หรือการตัดแต่งพันธุกรรมแต่อย่างใด แต่เกิดจากไวรัสดอกทิวลิปชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Tulip Breaking Virus” ซึ่งชื่อของไวรัสชนิดนี้มีคำว่า “Break” เพราะไวรัสตัวนี้ จะทำให้เกิดการแตกของสีที่ไม่กลืนกันเป็นผืนเดียวนั่นเอง เช่นจากดอกไม้สีแดงล้วน ก็กลายเป็นแดงที่มีสีขาวเข้ามาแซม เป็นต้น
อย่างที่บอกไปว่าตอนนั้น เนเธอร์แลนด์คือศูนย์กลางของการค้าขาย ดังนั้นสินค้าต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายกัน ถ้ามีการโปรโมทดีดี หรือทำให้เห็นว่ามีความแตกต่างจากสินค้าชนิดอื่น ก็ย่อมที่จะส่งผลให้สินค้าชิ้นนั้นดูดี มีราคา และน่าซื้อขึ้นไปอีก ดอกทิวลิปก็คือหนึ่งในสินค้าเหล่านั้น มีการตั้งชื่อดอกทิวลิปอย่างสวยงาม อลังการณ์มากมาย เช่น Admiral van der Eijick, Alexander the Great, Generals of Generals เป็นต้น และมีการสร้างเรื่องราวถึงความหายากของดอกทิวลิปแต่ละสายพันธุ์ ทำให้ราคายิ่งถูกปั่นสูงขึ้นไปอีก และถ้าใครที่ทำงานด้านธุรกิจมาก่อนจะทราบดีว่า นี่คือพื้นฐานของการทำ Marketing นั่นเอง
ทิวลิปพันธุ์ Viceroy หนึ่งในทิวลิปที่มีราคาแพงอีกพันธุ์หนึ่ง (Source: Pinterest)
อีกอย่างที่มีการจัดทำในตอนนั้นคือการจัดทำแค็ตตาล็อคดอกทิวลิป เพราะสิ่งที่มีการซื้อขายกันคือหัวทิวลิป ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อโตขึ้นมาจะให้ดอกไม้แบบไหน สีอะไร ดังนั้นนักค้าขายทิวลิปจึงมีการสั่งทำแค็ตตาล็อคดอกทิวลิปขึ้นมา เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็น Virtual Marketing อีกแบบหนึ่ง คือผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริง ๆ แต่ซื้อเพราะเชื่อว่าหัวทิวลิปนั้นจะสามารถให้ดอกไม้ตามแบบในรูปได้ และแค็ตตาล็อคดอกทิวลิปนี้ถือเป็นแค็ตตาล็อคทางการค้าเล่มแรก ๆ ของโลกเลยทีเดียว
ดอกทิวลิปสายพันธุ์ต่าง ๆ ในแค็ตตาล็อคดอกทิวลิป (Source: https://planthumor.com)
ทิวลิป ไม่ได้ยากแต่ใช้เวลา
อีกอย่างที่ทำให้ดอกทิวลิปมีราคาสูงนั้น นอกจากจะเป็นที่เสาะหาของคนร่ำคนรวยแล้ว ยังมีเรื่องของระยะเวลาการปลูกอีก ปกติแล้วดอกทิวลิปจะปลูกจากหัว (Bulb) และจะออกดอกในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน จนถึงเดือนมิถุนายน แต่ก่อนจะมาเป็นหัว พืชชนิดนี้เป็นเมล็ดมาก่อน และถ้าใช้เมล็ดในการปลูก จะต้องใช้เวลานานถึง 7-12 ปีเลยทีเดียว กว่าที่เมล็ดจะกลายมาเป็นหัวที่สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นต้นได้
เมล็ดทิวลิป ที่ต้องใช้เวลานานถึง 7-12 ปีกว่าจะกลายมาเป็นหัวที่สามารถให้ดอกได้ (Source: Pinterest)
ทีนี้พอดอกทิวลิปแห้งเหี่ยวไปแล้ว หัวที่ขึ้นเป็นต้นนั้นก็จะตายไปด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ทิ้งไว้คือหัวใหม่อีก 2-4 หัว ซึ่งถ้าเอาไปปลูก ก็จะได้ต้นที่มีลักษณะเหมือนกับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เลยในปีต่อไป ซึ่งถ้าเป็นดอกทิวลิปที่เป็นพื้นสีเดียวเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา
ปัญหาอยู่ที่ทิวลิปที่มีลวดลาย หรือทิวลิปที่ติดไวรัสนั่นเองและเป็นที่ต้องการของตลาดนั่นเอง ความยากก็คือไวรัสที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดลวดลายบนดอกทิวลิป สามารถแพร่กระจายผ่านหัวใหม่ได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ 100% และมิหนำซ้ำถ้าต้นไหนที่มีเชื้อไวรัส ก็จะผลิตหัวออกมาน้อยกว่าทิวลิปปกติ ยิ่งทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของหายาก และต้อง “ลุ้น” เข้าไปอีกว่าหัวที่ได้ไป จะออกดอกที่มีลวดลายหรือไม่
หัวทิวลิปที่จะนำไปปลูกลงดินในฤดูหนาว เพื่อที่จะได้ดอกทิวลิปในเดือนเมษายนปีหน้า (Source: https://www.tulipdaytours.com)
กำเนิด Futures
โดยปกติเมื่อดอกทิวลิปเริ่มแห้งเหี่ยวไป จนเหลือเพียงแต่หัว ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ก็จะเกิดการซื้อขายหัวทิวลิปขึ้น เพื่อที่จะนำไปเก็บรักษาและนำมาปลูกเพื่อให้ดอกบานสะพรั่งอีกครั้งในฤดูร้อนปีถัดไป
ภาพจากแค็ตตาล็อคดอกทิวลิป (Source: history.com)
เมื่อเวลาผ่านไป และความนิยมของดอกทิวลิปพุ่งขึ้นถึงขีดสุด จึงเกิดการซื้อขายสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาล่วงหน้า” ขึ้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือถ้าสถานการณ์ปกติ สมมุติว่าในปี 1631 นาย A ขายหัวทิวลิปให้นาย B ดอกทิวลิปของนาย B ก็จะบานในปี 1632 เมื่อดอกทิวลิปเหี่ยวและตายไป นาย B ก็จะเอาหัวดอกทิวลิปใหม่มาขายต่อให้ใครก็ได้ สมมุติว่าเป็นนาย C ในปี 1632 เพื่อให้นาย C เอาไปปลูกในปี 1633 ต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เงินและสินค้าจะก็เกิดการเปลี่ยนมือขึ้นทันที
1
การซื้อขายดอกทิวลิป ที่จะมีการชั่งน้ำหนักของหัวทิวลิปก่อนการขาย (Source: https://www.bbc.com)
แต่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าคือ ในปี 1631 นาย A ขายหัวทิวลิปให้นาย B ดอกทิวลิปของนาย B ก็จะบานในปี 1632 แต่นาย C อยากจะจองหัวดอกทิวลิปของนาย B ไว้เลยตั้งแต่ในปี 1631 เพื่อเป็นการการันตีว่าเขาจะเป็นเจ้าของหัวทิวลิปของนาย B อย่างแน่นอน เมื่อฤดูปลูกทิวลิปสิ้นสุดลง ดังนั้นจึงเกิดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ตอนนี้สิ่งที่ถูกนำมาซื้อขายคือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินค้า โดยที่สินค้าจริง ๆ ไม่เกิดการเปลี่ยนมือแต่อย่างใด และในสัญญาจะมีการระบุวัน เวลา และราคาไว้เสร็จสรรพ ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกสัญญาซื้อขายเหล่านี้ว่า Futures นั่นเอง
แล้วทำไมคนถึงต้องซื้อ Futures นั่นเป็นเพราะว่า นาย C ต้องการล้อคราคาของหัวทิวลิปนั้นเอาไว้เช่น ในปี 1631 หัวทิวลิปหัวละ 100 บาท นาย C คิดว่าในปี 1632 หัวทิวลิปจะมีราคาหัวละ 200 บาท ดังนั้นนาย C จึงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับนาย B ไว้เลยว่าในปี 1632 เมื่อหมดฤดูปลูกทิวลิป จะขอสัญญาว่าจะซื้อหัวทิวลิปด้วยราคา หัวละ 150 บาทต่อหัวจากนาย B ซึ่งถ้าหัวทิวลิปในปี 1632 ราคาหัวละ 200 บาทจริง นาย C ก็จะได้กำไร 50 บาททันที
ภาพวาดของ Michiel Jansz van Mierevelt ที่มีดอกทิวลิปและหัวทิวลิป แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของดอกไม้ชนิดนี้ (Source: Wikipedia)
จากกลไกแบบนี้ ทำให้เกิดการเก็งกำไรกันขึ้น Future ถูกนำมาขายทอดต่อไปเรื่อย ๆ (เช่นนาย C เอาสัญญาไปขายต่อให้นาย D) เป็นลูกโซ่ ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่าสัญญาซื้อขายบางฉบับมีการเปลี่ยนมือถึง 10 ครั้งเลยทีเดียว
ในตอนแรก Futures เหล่านี้ เหมือนเป็นสัญญาที่กระทำกันระหว่างคนสองคน ไม่มีรัฐบาลหรือองค์กรใดใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหา เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดผิดสัญญาขึ้นมา ดังนั้นสมาคมผู้ค้าทิวลิปจึงคิดค้นตลาดซื้อขาย Futures ขึ้นมา โดยทุกอาทิตย์ ผู้ที่มีหัวทิวลิปจะมาพบกันใน Tavern หรือร้านเหล้า เพื่อจะมาซื้อขายหัวทิวลิป หรือ Futures กัน โดยทุก ๆ การซื้อขายจะต้องมีการวางเงินมัดจำ 2.5% ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า Wine Money แต่สุดท้ายแล้วสัญญาก็เป็นการทำตกลงกันระหว่างสองฝ่ายอยู่ดี ทางสมาคมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดใดทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นผู้รับรองสัญญาเท่านั้น ซึ่งชาวดัชท์ในสมัยนั้นเรียกการค้าขายแบบนี้ว่า “ซื้อลม” หรือ “Wind Trade”
นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อกันว่าจากการที่การซื้อขายนั้นถูกจัดขึ้นในร้านเหล้า ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ความคึกคะนองต่าง ๆ รวมถึงบรรยากาศภายในร้าน มีส่วนในการทำให้เหล่าบรรดาผู้ซื้อขายทั้งหลาย "ใจถึง" และตัดสินใจโดยที่ไม่ได้ใช้หลักเหตุผลมากนัก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาทิวลิปยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ภาพของ Tavern หรือโรงเหล้าในศตวรรษที่ 17 สถานที่ที่นักค้าทิวลิปมักจะมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน (Source: Wikipedia)
ราคาทิวลิป
ในตอนนั้นหน่วยเงินของเนเธอร์แลนด์คือหน่วย Guilder ซึ่งในตอนแรกก่อนปี 1600 หัวทิวลิป 1 หัวมีราคาประมาณ 1 Guilder (ถ้าเทียบกับราคาปัจจุบันก็คือประมาณ 1,800 บาท) ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพงเอาเรื่อง ถ้าเทียบว่าในตอนนั้นรายได้ต่อหัวของคนงานชาวเนเธอร์แลนด์จะอยู่ที่ประมาณ 150-350 Guilders ต่อปีเท่านั้น
ในปี 1623 ประมาณ 15 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก มีการบันทึกไว้ว่ามีการเสนอเงินสูงถึง 12,000 Guilder (720,000 ดอลล่าร์ หรือ 21.6 ล้านบาทในเงินปัจจุบัน) เพื่อซื้อหัวทิวลิปพันธุ์ Semper Augustus 10 หัว ทิวลิปที่หายากที่สุด ซึ่งเงินจำนวนนี้ในสมัยนั้นสามารถซื้อตึกแถวหรูหราใจกลางเมือง Amsterdam ได้สบาย ๆ หรือเพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวชาวดัชท์ทั่วไปได้นานถึง 50 ปีเลยทีเดียว ซึ่งน่าตกใจว่าข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธไป
ใจกลางเมือง Amsterdam ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งราคาของทิวลิป 1 หัว อาจจะมีราคาสูงเท่ากับราคาบ้านใจกลางเมืองเลยทีเดียว (Source: Wikipedia)
แต่การปฏิเสธนั้นก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ 2 ปีต่อมาในปี 1625 ราคาต่อหัวของทิวลิป Semper Augustus นั้นขยับขึ้นเป็น 3,000 Guilders และ 1 ทศวรรษต่อมาในปี 1933 มูลค่าก็สูงถึง 5,500 Guilders ต่อหัว ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าใครซื้อหัวทิวลิปพันธุ์นี้มาได้ปี 1923 ด้วยราคา 1,200 Guilders จะสามารถทำกำไรได้สูงถึง 660% เลยทีเดียว
2
ต่อมาอีก 3 ปี ในปี 1936 มีการบันทึกไว้ว่ามีคนเสนอขายที่ดิน 30 ไร่ เพื่อแลกกับหัวทิวลิปพันธุ์นี้เพียงหัวเดียว และมิหนำซ้ำในเดือนมกราคมปี 1637 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกเพียงเดือนเดียว ราคาก็พุ่งขึ้นไปสูงถึง 10,000 Guilders ต่อหัว ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างรายปีให้กับคนงานได้ถึง 40 คนเลยทีเดียว
ดัชนีราคาทิวลิปตั้งแต่ปี 1634-1637 จะเห็นว่าราคาในช่วงต้นปี 1637 เป็นช่วงที่ราคาทิวลิปสูงที่สุด (Source: Pinterest)
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงทิวลิปพันธุ์ Semper Augustus ที่มีการเก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง ทิวลิปพันธุ์อื่นก็ถูกปั่นราคากันขึ้นไปเช่นกัน ทิวลิปพันธุ์ Viceroy ถูกซื้อขายกันในตลาดในราคาหัวละ 2,500 Guilders ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปซื้อแม่วัวพันธุ์ดีได้ถึง 20 ตัว หรือแกะได้ถึง 250 ตัวเลยทีเดียว ในขณะที่ทิวลิปพันธุ์อื่น ๆ ก็จะมีราคาลดหลั่นกันลงมา
ราคาของทิวลิปสูงมากจนกระทั่งหัวทิวลิปถูกใช้เป็นเงินสินสอดที่เจ้าบ่าวจะใช้ขอเจ้าสาว และบ้านเรือนต่าง ๆ ที่มีสวนทิวลิปต้องติดตั้งกระดิ่งไว้รอบ ๆ สวนเพื่อป้องกันขโมย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพ่อค้าหัวใสที่พยายามเอาหัวทิวลิปไปแช่ในไวน์แดง เพื่อหลอกคนซื้อว่าหัวทิวลิปนั้นเป็นพันธุ์ที่หายาก
ภาพของทิวลิป Semper Augustus ที่เคยมีราคาขึ้นไปสูงถึง 100,000 Guilders ต่อหัวเลยทีเดียว (Source: The Guardian)
ในเมื่อกำไรสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ก็เกิดการพูดปากต่อปาก ทำให้ชาวดัชท์หลายคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างก็อยากมีส่วนร่วมในการเก็งกำไรครั้งนี้ ผู้คนทุกหย่อมหญ้าไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีเจ้าของธุรกิจ พ่อค้าทั่วไป ไปจนถึงช่างไม้หรือคนรับใช้ตามบ้าน ต่างก็เข้ามาซื้อขายทิวลิปกันอย่างคึกคัก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับทิวลิป และไม่ได้สนใจดอกทิวลิปเลยด้วยซ้ำ พวกเขามีความหวังเพียงว่าวันหนึ่งจะสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนยอมขายสมบัติส่วนตัว หรือไปกู้หนี้ยืมสินมา เพื่อมาลงทุนในหัวทิวลิป พร้อมกับวาดฝันไว้ว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นเศรษฐีและมีชีวิตสุขสบายในอนาคต
แผ่นพับเกี่ยวกับ Tulip Mania ที่พยายามเตือนประชาชนทั่วไป ถึงความอันตรายของการลงทุนในดอกทิวลิป (Source: Wikipedia)
พังครืน
หลายคนคงจะเดาได้ไม่ยากว่าเกิดอะไรขึ้น ในเดือนมกราคมปี 1637 ราคาของทิวลิปสูงเป็นประวัติการณ์ จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางบรรยากาศอันหนาวเหน็บ มีการจัดการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของทิวลิป หรือ Futures รวมไปถึงหัวทิวลิปจริง ๆ อีกครั้งที่ร้านเหล้าตามปกติที่เมืองชื่อ Harleem
ผู้ขายรายหนึ่งหยิบหัวทิวลิปขึ้นมา พร้อมกับบรรยายสรรพคุณ และประกาศราคาต่อหน้าทุกคน เขามั่นใจมากกว่าวันนี้เขาจะต้องทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน แต่ทุกอย่างกลับผิดคาด เพราะเมื่อเขาพูดจบกลับไม่มีใครที่เสนอซื้อหัวทิวลิปของเขาเลยแม้แต่คนเดียว บรรยากาศเงียบ อึมทึม เริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ร้านเหล้า และสุดท้ายเขาก็ถูกบังคับให้ขายทิวลิปหัวนั้นในราคาที่ต่ำกว่าที่เขาซื้อมา
เมือง Harleem ในศควรรษที่ 17 เมืองที่ราคาดอกทิวลิปตกลงมาเป็นที่แรก (Source: https://www.magnoliabox.com)
จากคนขายรายที่หนึ่ง คนขายรายที่สอง สาม สี่ก็ประสบปัญหาเดียวกัน ไม่มีใครยอมซื้อหัวทิวลิปราคาแพงลิบลิ่วอีกต่อไปแล้ว ทำให้ราคาหัวทิวลิปตกลงทันที สร้างความตื่นตระหนกให้กับเจ้าของหัวทิวลิป และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นอย่างมาก
จากความตื่นตระหนกนี้เอง ทำให้ทุกคนต่างปล่อยขายหัวทิวลิป และสัญญาซื้อขายออกสู่ตลาด หลายคนรีบขี่ม้าออกจากเมือง Harleem เพื่อรีบไปขายหัวทิวลิปที่เมืองอื่น ก่อนที่ข่าวจะลามไปถึง ทำให้ราคาของทิวลิปยิ่งดำดิ่งลงเหวไปอีก และนี่คือฟองสบู่ครั้งแรกของโลกที่แตกดังโพละ และหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ปี 1637 ไม่มีการบันทึกราคาของหัวทิวลิปไว้อีกเลย
ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธุ์ 1637 ฟองสบู่ดอกทิวลิปก็แตก ทำให้ราคาของทิวลิปดำดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว (Source: https://www.stocksy.com)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายคนที่ขายบ้าน ขายเครื่องมือทำกิน หรือไปกู้เงินมาลงทุนในดอกทิวลิปต่างสิ้นเนื้อประดาตัวกันในชั่วข้ามคืน ความฝันที่จะเป็นเศรษฐีอนาคตมลายหายไป พร้อมกับหนี้สินพะรุงพะรังที่เกิดขึ้น เกิดการทะเลาะวิวาทกันไปทั่วเพราะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ซื้อไม่มีปัญญาจ่าย ส่วนผู้ขายก็ไม่ได้รับเงิน
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการออกกฎว่า สัญญาซื้อขายหัวทิวลิปล่วงหน้านั้นสามารถยกเลิกได้ด้วยการจ่ายเงิน 10% ของมูลค่าสัญญา ซึ่งนี่ก็คือต้นกำเนิดของ Option สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถยกเลิกได้ ด้วยการจ่ายเงินกึ่งหนึ่งของมูลค่าสัญญาตามที่มีการตกลงไว้นั่นเอง
ภาพ "Tulip Folly" ในภาพจะเห็นทหารที่กำลังเหยียบย่ำไปบนดอกทิวลิป เพราะราคาที่ตกต่ำลงถึงขีดสุด ในขณะที่เศรษฐีคนหนึ่ง ยังคงยืนปกป้องดอกทิวลิปของเขาอยู่ เป็นภาพที่วาดโดย Jean-Léon Gérôme เพื่อล้อเลียนเหตุการณ์ Tulip Mania (Source: Wikipedia)
แต่ในกรณีของหัวทิวลิปนั้น เนื่องจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเหล่านี้เป็นการทำข้อตกลงระหว่างคนสองคน ดังนั้นกฎเหล่านี้ของรัฐบาลจึงไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นมากนัก และราคาของทิวลิปก็ตกต่ำลงมากจนสุดท้ายมีมูลค่าเพียง 1-2% ของมูลค่าเริ่มต้นเท่านั้น
จากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกของดอกทิวลิป หรือ Tulip Mania ในครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ได้รับความเสียหาย และเกิดผลกระทบไปในวงกว้าง คนหลายคนต้องมาสิ้นเนื้อประดาตัว และ Tulip Mania เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น เริ่มสั่นคลอนและถดถอยลงในเวลาต่อมา
ภาพ "Flora's crazy wagon" โดย Hendrik Gerritsz Pot ซึ่งเป็นการล้อเลียนเหตุการณ์ Tulip Mania ในภาพจะมีเทพธิดาแห่งดอกไม้ กำลังควบคุมรถคันหนึ่ง โดยมีคนเมาอยู่บนรถ และคนทั่วไปเดินตามมากมาย ซึ่งรถกำลังมุ่งหน้าไปสู่ทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นลมและมหันตภัยร้าย (Source: Wikipedia)
ข้อโต้แย้ง
จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ Tulip Mania ส่วนมากจะเป็นข้อมูลจากหนังสือของนักเขียนคนหนึ่งที่มีนามว่า Chales Mackay ซึ่งเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds ซึ่งกล่าวถึงความบ้าคลั่งของคนในการลงทุน จนทำให้มูลค่าของสินค้าถูกปั่นขึ้นไปจนสูงเกินจริง และเมื่อความจริงปรากฏขึ้น หรือฟองสบู่แตก ระบบทุกอย่างก็จะพังลง
Chales Mackay ผู้ที่ทำให้เหตุการณ์ Tulip Mania กลายมาเป็นที่รู้จัก (Source: https://www.dittobooks.co.uk)
แต่จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มีคนแย้งว่ามีคนได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ Tulip Mania จริง แต่ความเสียหายนั้นถูกจำกัดไว้ในวงแคบ ๆ และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเสียหายมากอย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นด้วยคือเหตุการณ์ Tulip Mania คือเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลกที่มีการบันทึกเอาไว้อยู่ดี
ซ้ำรอย
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กับ Tulip Mania อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นกับดอกไฮยาซิน ดอกไม้ที่มาจากแถบตุรกีอีกเช่นกัน ด้วยรูปร่างที่แปลก และสีสันสดใส ราคาของดอกไฮยาซินก็ถูกปั่นขึ้นไปสูงมาก จนกระทั่งเมื่อถึงจุดหนึ่งราคาก็ตกลงมาเหมือนกับดอกทิวลิปเช่นกัน โดยลดลงมาถึง 90% เลยทีเดียว
ดอกไฮยาซินที่เคยมีราคาที่สูงมาก เนื่องจากความแปลกใหม่และสีสันที่สวยงาม (Source: https://www.gardeningknowhow.com)
แล้วถามว่ามนุษย์เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนี้หรือไม่ คำตอบก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วจากเหตุการณ์ตลาดหุ่นร่วง (Stock Market Crash) หลาย ๆ ครั้งในศตวรรษที่ 19 หรือถ้าเร็ว ๆ นี้ก็เห็นจะเป็นเหตุการณ์ Dot-Com Bust ช่วงปี 1995-2001 ที่หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนท มีราคาสูงมาก จนกระทั่งมีมูลค่าเกินจริง และเมื่อนักลงทุนเห็นว่าหุ้นเหล่านั้นไม่ได้มีมูลค่ามากขนาดนั้น ก็เกิดการเทขายทำให้ตลาดหุ้นอเมริการ่วงลงมาอย่างหนัก รวมถึงเหตุการณ์ Sub-Prime Mortgage ในปี 2007-2010 ที่ราคาอสังหาของอเมริกาเกิดภาวะฟองสบู่แตกเพราะราคาที่สูงเกินไป คนอเมริกันหลายคนไม่มีเงินพอมาผ่อนบ้าน กองทุนที่ลงทุนในอสังหาพังไม่เป็นท่า จนมีผลกระทบไปทั่วโลก ส่วนสำหรับในไทย เหตุการณ์คล้าย ๆ กันก็คือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่กล่าวไปตอนต้นนั่นเอง
เหตุการณ์ dot-com bust ในปี 2001 หลังจากที่ฟองสบู่ของหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนทเกิดแตกขึ้นมา (Source: http://sanbhaskaran.com)
และในปีนี้ ปี 2021 ยุคที่หลายคนพูดถึงแต่ Bitcoin หรือ Crypto Currency เหตุการณ์ก็ดูเหมือนจะซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อต้นปี Bitcoin 1 เหรียญ มีราคาพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท สามารถซื้อบ้านหรู ๆ หรือรถราคาแพง ๆ ได้สบาย ๆ ส่งผลให้เงินสกุลอื่นในตลาด Crypto ต่างก็ได้รับอานิสงส์ ราคาพุ่งขึ้นไปตาม ๆ กัน ใครที่เข้าไปในตลาด Crypto สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น หรือกองทุนใดใดที่เคยเป็นมา
แต่จากคำพูดของคนบางคน และนโยบายของรัฐบาลบางประเทศ ทำให้ราคา Bit coin ตกลงมาต่ำกว่า 1 ล้านบาทเพียงในช่วงเวลาไม่นาน หลายคนที่เข้าไปลงทุนในตลาด Crypto ต่างเจ็บตัวกันไปตาม ๆ กัน ซึ่งตอนนี้เราก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าอนาคต Bitcoin และ Crypto Currency นั้นจะเป็นอย่างไร
Crypto Currency ซึ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่าในอนาคต จะเป็นอย่างไร (Source: https://blog.wazirx.com)
ต้องขอบอกก่อนว่า Bitcoin กับทิวลิปคงไม่สามารถเทียบกันตรง ๆ ได้ ด้วยตัวสินค้า วิธีซื้อขาย หรือมูลค่าในตัวมันเองที่แตกต่างกันมาก แต่หลักการของการเกิดฟองสบู่นั้นก็ยังคงเหมือนเดิม สุดท้ายแล้วสินค้าชนิดหนึ่งย่อมที่จะถูกซื้อขายด้วยราคาที่เหมาะสม และแสดงถึงมูลค่าของตัวมันจริง ๆ ถ้าราคาของสินคานั้นถูกปั่นจนสูงเกินไป ซักวันราคาของสินค้านั้นก็ย่อมที่จะตกลงมา ซึ่งในตอนนี้ราคาที่แท้จริงของ Bitcoin ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่
บทสรุป
สรุปแล้วเหตุการณ์ Tulip Mania ถือเป็น Case Study ที่มักจะนำมาใช้อธิบายเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในยุคปัจจุบันนะครับ จะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมากว่า 400 ปีแล้ว เหตุการณ์ก็ยังเหมือนเดิม มนุษย์ยังคงมีความโลภ มนุษย์ยังคงอยากแสวงหากำไรแบบง่าย ๆ อยู่ ดังนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เหตุการณ์แบบนี้ก็ยังคงต้องเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
กราฟที่แสดงถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ในการเกิด Tulip Mania ซึ่งภาวะฟองสบู่ในปัจจุบัน ก็มีช่วงเวลาคล้าย ๆ กันแบบนี้ (Source: https://tulipflowerfestival.blogspot.com)
แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้เหตุการณ์ซ้ำรอยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของดอกทิวลิปมากกว่า เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าทิวลิปกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เทศกาลดอกทิวลิปที่สวน Keukenhof กลายมาเป็นเทศกาลที่ผู้คนทั่วโลกต่างอยากมาเยี่ยมชม ส่วนเนเธอร์แลนด์เองก็กลายมาเป็นศูนย์กลางค้าขายดอกไม้โลก ตลาดประมูลดอกไม้ของ Amsterdam กลายมาเป็นสถานที่ที่ดอกไม้ถูกเปลี่ยนมือกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมีมูลค่ามากถึง 4,800 ล้านยูโรในปี 2019 หรือประมาณ 18,200 ล้านบาทเลยทีเดียว
สวน Keukenhof ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Source: Pinterest)n
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือในปัจจุบันดอกทิวลิปจะถูกนำมาประมูลแบบ Dutch Auction อีกนวัตกรรมการค้าขายที่เกิดจากดอกทิวลิป ถ้าใครสนใจสามารถลองดูวีดีโอได้นะครับ เพราะดอกทิวลิปและดอกไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย ดังนั้นเวลาประมูลถ้าไล่จากราคาต่ำสุดไปถึงสูงสุดแบบการประมูลทั่วไปจะเสียเวลา ดังนั้นชาวดัทช์จึงคิดค้น Dutch Auction ขึ้นมา โดยให้ราคาเริ่มจากราคาตั้งต้นที่สูงมาก แล้วราคาจะค่อย ๆ ลดลงมา ใครที่กดยอมรับราคาที่ลดลงมาก่อนจะได้ดอกไม้ลอทนั้นไป ถือเป็นเกมส์จิตวิทยาอย่างหนึ่งที่สนุกมาก เพราะเวลาจะรวดเร็วและถ้ากดไม่ไวพอ คุณอาจจะเสียดอกไม้ที่คุณต้องการไป หรือถ้ากดเร็วไป ก็อาจจะได้ดอกไม้ในราคาแพงเกินไปนั่นเอง
การประมูลดอกไม้แบบ Dutch Auction ที่เนเธอร์แลนด์ (Source: Medium.com)
ในบรรดาดอกไม้เหล่านั้น มูลค่าการส่งออกดอกทิวลิปคิดเป็น 215 ล้านยูโร และดอกทิวลิป 80% ของโลกก็มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จากพื้นที่ปลูกดอกทิวลิปกว่า 900,000 ไร่ ดอกไม้ที่เคยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เกือบต้องพังไม่เป็นท่า สุดท้ายแล้วก็กลับมาเป็นสิ่งที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล และทั้งหมดนี้ก็คือตำนานที่ดอกทิวลิปทิ้งไว้ให้กับชาวเนเธอร์แลนด์นั่นเอง
ปัจจุบัน 80% ของทิวลิปที่ขายทั่วโลกมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ (Source: https://www.afar.com)
กลับมาที่รูปอีกครั้ง
เป็นยังไงกันบ้างครับหลังจากอ่านบทความนี้จบ พอเดาความหมายที่จิตรกรต้องการสื่อถึงในรูปได้มั้ยครับ
อย่างแรกเลยก็เห็นจะเป็นการเปรียบเทียบมนุษย์กับลิง เพราะลิงคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ฉลาดเท่ามนุษย์ ทำอะไรโดยไม่ใช้เหตุผล หรือไต่ตรองให้ดีก่อน เหมือนกับที่หลายคนต่างเข้าไปซื้อหัวทิวลิปหรือสัญญาล่วงหน้า โดยที่ไม่ได้ศึกษาตลาดให้ดีแต่ต้น
ส่วนหนึ่งของภาพ "A Satire of Tulip Mania" วาดโดยจิตรกรชาวดัทช์นามว่า Jan Brueghel the Younger ในปี 1640 (Source: Wikipedia)
ทางด้านซ้ายของภาพที่ขยายมาด้านบน จะเห็นลิงใส่ชุดสีเขียวกำลังใช้ไม้ชี้ดอกทิวลิปอยู่ ลิงตัวนี้คือตัวแทนผู้ขายทิวลิป และมีลิงตัวหนึ่งกำลังเชิญชวนลิงคาดดาบอีกตัวให้ซื้อ ลิงคาดดาบก็เปรียบเสมือนชนชั้นสูงที่อยากโลภ ทำกำไรง่าย ๆ จากสินค้าที่ตัวเองยังไม่มีความรู้ที่ดีพอ
ส่วนลิงอีกตัวใส่ชุดสีน้ำตาลมอซอ ก็คือชนชั้นแรงงานที่เข้ามาร่วมวงซื้อขายทิวลิปกับเค้าด้วย โดยมือซ้ายชูทิวลิป และมือขวาชูถุงเงินทำสีหน้าดีใจว่า "ฉันจะรวยแล้ว" ส่วนลิงสีทองด้านหน้าก็กำลังเขียนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีนกฮูกสัญลักษณ์แห่งความโฉดเขลาเกาะอยู่ที่บริเวณไหล่
ส่วนหนึ่งของภาพ "A Satire of Tulip Mania" วาดโดยจิตรกรชาวดัทช์นามว่า Jan Brueghel the Younger ในปี 1640 (Source: Wikipedia)
มาทางด้านขวาของภาพกันบ้าง เริ่มจากลิงที่แบกถุงเงินบนหลัง เพราะตอนนี้ทิวลิป 1 หัว ราคาสูงมากแล้ว ถุงเงินนั้นกำลังจะนำมาส่งให้กับลิงสองตัวที่โต๊ะอาหาร ที่กำลังกินเลี้ยงสังสรรค์ พร้อมกับนับเงินที่เกิดจากการซื้อขายทิวลิปอยู่ ส่วนลิงด้านหน้าโต๊ะอาหารก็กำลังชั่งน้ำหนักหัวทิวลิปอยู่
แต่สุดท้ายทุกอย่างก็พังลง ลิงตัวเมียใส่ชุดดำกำลังเงื้อไม้ฟาดลงไปบนลิงตัวผู้ เพราะความโง่เขลาที่สามีตัวเองเอาเงินเก็บไปลงทุนจนหมด มีลิงอีกตัวนั่งอยู่ในชั้นศาลกำลังร้องไห้ เพราะถูกฟ้องร้องจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และที่เด็ดที่สุดคือลิงตัวขวาสุดที่ปัสสาวะรดลงไปบนทิวลิปที่ตอนนี้แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย
ถ้าใครช่างสังเกตก็จะเห็นว่าทางด้านหลังมีขบวนศพของคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
ภาพ "A Satire of Tulip Mania" วาดโดยจิตรกรชาวดัทช์นามว่า Jan Brueghel the Younger ในปี 1640 (Source: Wikipedia)
และนี่คือคำอธิบายของภาพวาดภาพนี้ หวังว่าทุกคนจะสนุกกับเรื่องราวของ Tulip Mania กันนะครับ ครั้งหน้า Kang's Journal จะมีเรื่องอะไรน่าสนใจมาแนะนำอีก ฝากติดตามด้วยนะครับ
Black Tulip ที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีนักเพาะพันธุ์ทิวลิปคนไหนสามารถทำได้สีดำสนิทจริง ๆ ส่วนมากจะเป็นสีม่วงเข้มมากกว่า ซึ่งถ้าผู้ใดทำได้น่าจะกลายมาเป็นทิวลิปที่ราคาแพงมากอีกพันธุ์หนึ่ง (Source: Pinterest)
Youtube:
ถ้าใครชอบสารคดีที่มีการจำลองเหตุการณ์ แนะนำอันนี้เลยครับ
ส่วนที่เหลือจะเป็นแนวเล่าเรื่องครับ
อันนี้เป็นภาษาไทยครับ จากช่อง Point of View และ ฺBitcast
Podcast:
- Stuff You Missed in History Class Classics: How Tulip Mania Worked

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา