30 มิ.ย. 2021 เวลา 11:00 • ความคิดเห็น
ก่อนมี Pfizer และ Moderna ย้อนประวัติศาสตร์ของวัคซีน mRNA ความหวังของโลกในการหยุดยั้งโควิด
2
HIGHLIGHTS
- การที่จะเกิด ‘ทหาร’ หรือภูมิคุ้มกัน ออกมาได้นั้น แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องรับเอา ‘เชื้อ’ นั้นๆ เข้ามาทั้งตัวก็ได้ เพราะที่จริงร่างกายเราฉลาดมาก มันไม่ได้จดจำศัตรูของร่างกายมากเท่าจดจำ ‘อาวุธ’ ที่ศัตรูใช้ ซึ่งในกรณีของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘แอนติเจน’ (Antigen) ถ้าเปรียบไปก็คือ ร่างกายเราแค่จดจำรูปร่างลักษณะของหอกดาบที่เชื้อโรคใช้ แล้วเราก็สร้าง ‘โล่’ ที่มีรูปร่างจำเพาะเจาะจงกับหอกดาบพวกนั้นมาคอยรับมือดักจับ ก็จะทำให้หอกดาบพวกนั้นสิ้นฤทธิ์ไปได้ในที่สุด
- ฟังดูเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องที่ว่า mRNA อาจนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ได้นี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1989 โน่นแล้ว คือมากกว่า 30 ปีที่แล้ว
4
- คนที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก mRNA วัคซีนคนแรกๆ ก็คือนักชีวเคมีหญิงชาวฮังการีชื่อ เคทลิน คาริโก โดยใช้ช่วง ‘ยุคเก้าศูนย์’ ทั้งทศวรรษ ในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากใครเลย เพราะในยุคนั้นแนวคิดเรื่องการใช้ mRNA มาต่อสู้กับเชื้อโรค ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าที่ใครจะตามทัน เรียกได้ว่าคาริโกนี่แหละคือนักบุกเบิกวัคซีน mRNA ตัวจริงผู้มาก่อนกาล!
1
หลายคนบอกว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นของใหม่ จึงอาจเกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงได้ในอนาคต
3
คำถามก็คือ แล้วอะไรคือเทคโนโลยี mRNA หรือ mRNA Vaccine คืออะไร มัน ‘ใหม่’ อย่างที่ว่ากันจริงหรือเปล่า
4
รู้จัก mRNA สร้าง ‘โล่’ คุ้มกันให้ร่างกายด้วยการจดจำ ‘อาวุธ’ ของเชื้อโรค
แน่นอน เรารู้กันอยู่แล้วว่าวัคซีนชนิดต่างๆ นั้นช่วยป้องกันคนนับล้านๆ จากอาการป่วย และช่วยรักษาชีวิตมนุษย์เอาไว้ได้มากมายมหาศาลในแต่ละปี การใช้วัคซีนกันอย่างกว้างขวางคือการ ‘ป้องกัน’ และสุดท้ายก็สามารถ ‘กำจัด’ (Eradicate) โรคบางโรคที่เคยเป็นโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ไปได้อย่างสิ้นเชิง อย่างเช่น โรคไข้ทรพิษ หรือ Smallpox ส่วนโรคอย่างโปลิโอและหัดที่สามารถป้องกันได้โดยใช้วัคซีน ปริมาณผู้ป่วยก็ลดลงอย่างมหาศาล
3
วัคซีนที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือวัคซีนประเภท ‘เชื้อตาย’ หรือ ‘เชื้ออ่อนแอ’ ซึ่งถูกนำเข้าไปสู่ร่างกายของเราเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้าง ‘ทหาร’ ออกมาต่อกรกับมันในรูปของแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีกลไกการสร้างซับซ้อน
1
อย่างไรก็ตาม การที่จะเกิดทหารออกมาได้นั้น แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องรับเอา ‘เชื้อ’ นั้นๆ เข้ามาทั้งตัวก็ได้ เพราะที่จริงร่างกายเราฉลาดมาก มันไม่ได้จดจำศัตรูของร่างกายมากเท่าจดจำ ‘อาวุธ’ ที่ศัตรูใช้ ซึ่งในกรณีของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘แอนติเจน’ (Antigen) อันได้แก่ โมเลกุลหรือโครงสร้างโมเลกุลที่ยื่นออกมาจากตัวเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ถ้าเปรียบไปก็คือ ร่างกายเราแค่จดจำรูปร่างลักษณะของ ‘หอกดาบ’ ที่เชื้อโรคใช้ แล้วเราก็สร้าง ‘โล่’ ที่มีรูปร่างจำเพาะเจาะจงกับหอกดาบพวกนั้นมาคอยรับมือดักจับ ก็จะทำให้หอกดาบพวกนั้นสิ้นฤทธิ์ไปได้ในที่สุด
5
ดังนั้น เอาเข้าจริงการที่จะกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมบางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องใส่เชื้อโรคนั้นๆ เข้าไปทั้งตัวเลย เราสามารถใส่เฉพาะหอกดาบเข้าไป ก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมาได้แล้ว
2
เทคโนโลยี mRNA เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่ว่านี้เป็นพื้นฐาน
คำว่า mRNA ย่อมาจาก Messenger RNA (คือ Ribonucleic acid) ซึ่งเจ้า RNA เป็นสารพันธุกรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นสายเดี่ยว ไม่เหมือนกับ DNA (Deoxyribonucleic acid) ที่มีลักษณะเป็นสายคู่บันไดเกลียวอย่างที่เรารู้จักมักคุ้นกันสมัยเรียนมัธยม ซึ่งสิ่งสำคัญมากๆ ของ DNA ก็คือ ‘ลำดับเบส’ ซึ่งครูหลายคนอาจสอนเราว่าคือ ‘ขั้นบันได’ ของสายคู่บันไดเกลียวที่ว่า
1
เจ้าลำดับเบสนี่แหละที่จะถูก ‘ถอดรหัส’ ออกมาเป็นโปรตีนชนิดต่างๆ ได้ โดยวิธีถอดรหัสของมันทำได้ด้วยการที่สายคู่แยกตัวออกจากกัน แล้วก็สร้างโปรตีนต่างๆ ขึ้นตามรหัสของลำดับเบสที่ว่า โดยให้ลองนึกภาพว่า DNA ที่เป็นเกลียวคู่ถูกแยกออกจากกันในบางช่วง (ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกันหมดทั้งเส้น) พูดง่ายๆ ก็คือ DNA มัน ‘เผยอ’ ออกมาให้เราเห็นสมบัติที่ซ่อนอยู่ข้างใน เหมือนการเปิดกระเป๋าสตางค์ออกมาเพื่อจะหยิบเงินในกระเป๋าส่งให้คนอื่น
1
แต่ปัญหาก็คือ DNA มันไม่มีมือ ต่อให้มีสมบัติซ่อนอยู่ก็หยิบไปให้ใครไม่ได้ ดังนั้น DNA จึงต้องการ ‘แมสเซนเจอร์’ แบบเดียวกับที่เราเรียกหาบริการ Grab หรือ LINE MAN ให้ไปส่งของให้นั่นแหละ ตรงนี้เองที่เป็นหน้าที่ของ mRNA ซึ่งมีชื่อตรงเป๊ะกับหน้าที่เลย นั่นคือเป็นแมสเซนเจอร์ RNA แต่มันทำหน้าที่ละเอียดกว่ารับส่งของธรรมดา เพราะมันไม่ได้แค่ขนส่งเท่านั้น แต่ยัง ‘จำลอง’ เอาลำดับเบสเข้ามาไว้ในตัวด้วย
4
นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่า เอ…ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็น่าจะสามารถใช้ mRNA ในการ ‘ถ่ายทอด’ (Convey) รหัสพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ แล้วให้เซลล์สร้างหอกดาบ (หรือแอนติเจน) ขึ้นมาเหมือนกับการเอาเชื้อโรคใส่เข้าไปไว้ในตัวก็ได้นี่
1
วัคซีนประเภท mRNA จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแนวคิดนี้ นั่นคือการใช้ ‘ก๊อบปี้’ หรือสำเนาของ mRNA ใส่เข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่ที่ล้ำไปกว่านั้นคือ mRNA ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเรามีเทคโนโลยีพันธุกรรมศาสตร์ที่ก้าวหน้ามาก จนสามารถสร้าง mRNA ขึ้นมาได้ตามที่เราต้องการ คือมีลำดับเบสที่จะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนที่มีหน้าตาเหมือนหอกดาบเป๊ะๆ เลย ร่างกายจึงเกิด ‘ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ’ หรือ Adaptive Immune System คือภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคขึ้นมา
3
ภูมิคุ้มกันในร่างกายเรานั้นล้ำเลิศมาก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ แบบจำเพาะเจาะจงอย่างที่ว่ามาแล้ว กับอีกแบบเรียกว่า Innate Immune Response ซึ่งถือเป็นด่านแรก คือพอเห็นข้าศึกศัตรูปุ๊บ ก็จะตอบสนองทันทีในเบื้องต้น ภูมิคุ้มกันแบบนี้ก็เหมือนทหารด่านหน้าที่เอามีดฟันดะไปหมด เช่น การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท Macrophage ที่จะมาคอย ‘กิน’ เชื้อโรคไปเลย เป็นต้น ซึ่งภูมิคุ้มกันแบบนี้จะไม่มีความจำเพาะ ดังนั้นมันจึงไม่ต้อง ‘จำ’ อะไร
1
แต่เจ้า Adaptive Immune System นั้นอาจจะมาช้ากว่า แต่มันเหมือนทหารเสนาธิการที่มีการวางแผนรับมือมาอย่างดี คือต้อง ‘รับรู้แอนติเจน’ หรือรู้แล้วว่าหอกดาบหน้าตาเป็นอย่างไร จะรับมือแบบไหน แล้วจึงสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อรับมือโดยตรง ซึ่งจะเกิดขึ้นในรูปของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า T Cell ซึ่งมีกลไกการทำงานที่ลึกลงไปอีกหลายแบบ
1
วัคซีนแบบ mRNA ก็คือการฉีด RNA เข้าไปในร่างกาย มันเป็นเหมือนการ ‘ฝึก’ ร่างกาย ทำให้เซลล์สร้างโปรตีนที่จำเพาะเจาะจงขึ้นมาต่อกรกับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ (อย่างเช่น เซลล์มะเร็ง) ได้ และยังทำให้ร่างกาย ‘จดจำ’ ศัตรูพวกนี้ได้ด้วย ดังนั้นคราวต่อไปเวลามีศัตรูบุกเข้ามาจริงๆ ก็จะเกิดการตอบสนองขึ้นมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดเชื้อทั้งตัวเข้าไปในร่างกาย
2
ย้อนประวัติศาสตร์ mRNA ที่คิดมาตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว
ฟังดูเป็นเทคโนโลยีใหม่เหลือเกินใช่ไหมครับ แต่แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องที่ว่า mRNA อาจนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ได้นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1989 โน่นแล้ว คือมากกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยนักวิจัยจากองค์กรสตาร์ทอัพทางชีววิทยาเทคโนโลยีชื่อ Vical คิดเรื่องนี้ขึ้น แล้วถัดมาก็ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน โดยฉีด mRNA ‘เปลือย’ คือมีแต่ตัว mRNA แต่ไม่มี ‘เปลือก’ มาหุ้ม เข้าไปในกล้ามเนื้อของหนู ซึ่งก็พบเป็นครั้งแรกว่า mRNA สามารถถ่ายทอด ‘ข้อมูลพันธุกรรม’ ให้หนู จนมันสร้างโปรตีนขึ้นมาได้
6
การทดลองนี้ทำให้เกิดแนวคิดต่อมาว่า อ้าว! ถ้าเกิดฉีด mRNA เข้าไปในกล้ามเนื้อแล้วทำให้หนูสร้างโปรตีนที่เราต้องการขึ้นมาได้ ก็น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องภูมิคุ้มกันกับวัคซีนได้ด้วยเหมือนกันนี่นา ซึ่งก็แน่นอนว่าแนวคิดนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ แล้วทำให้ mRNA สามารถกระตุ้นให้เกิด T Cell ตามที่ต้องการขึ้นมาได้ เช่นการ ‘ออกแบบ’ (Engineering) ให้ลำดับเบสใน mRNA ให้มันสามารถถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนที่ต้องการในแบบต่างๆ ได้มากขึ้น (เรียกว่ามีคุณสมบัติที่เรียกว่า Translatability มากขึ้น) รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงและไม่เป็นอันตราย ทั้งยังมีการคิดค้นสร้าง ‘ตัวพา’ mRNA เข้าสู่ร่างกายในรูปแบบต่างๆ ที่มีคุณสมบัติดีขึ้น เพื่อให้วัคซีนมีการทำงานยาวนานขึ้น โดยคนที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก mRNA วัคซีนคนแรกๆ ก็คือนักชีวเคมีหญิงชาวฮังการีชื่อ เคทลิน คาริโก โดยใช้ช่วง ‘ยุคเก้าศูนย์’ ทั้งทศวรรษในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากใครเลย เพราะในยุคนั้นแนวคิดเรื่องการใช้ mRNA มาต่อสู้กับเชื้อโรค ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าที่ใครจะตามทัน จึงไม่มีการให้ทุนทั้งจากรัฐบาล จากบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง
7
เรียกได้ว่าคาริโกนี่แหละคือนักบุกเบิกวัคซีน mRNA ตัวจริงผู้มาก่อนกาล!
1
ในปี 1990 เธอเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เธอพยายามจะขอทุนมาศึกษาเรื่อง mRNA ที่ใช้ในการรักษาโรค และได้ทุนก้อนเล็กๆ ก้อนแรกมา ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นงานวิจัยหลักในชีวิตของเธอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้ทุนก้อนต่อๆ มาตามที่หวัง งานของเธอก้าวล้ำนำหน้าจนไม่มีใครคาดคิดว่าในอีกราว 2 ทศวรรษถัดมา มันจะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์
5
ในปี 1995 เธอถึงขั้นถูกลดความสำคัญในการทำงานด้วยซ้ำ ตอนนั้นเธอกำลังไต่เต้าในตำแหน่งทางวิชาการเพื่อขึ้นไปเป็นศาสตราจารย์ แต่เพราะไม่ได้รับเงินทุนมากพอท่ีจะทำงานและนำเสนองานออกมา เธอจึงไม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการนั้น เธอบอกว่า ปกติแล้วถ้าใครเจอสถานการณ์แบบเธอ ก็คงจะ ‘เซย์กู๊ดบาย’ แล้วก็เลิกทำงานนี้แล้ว แต่เธอไม่
2
ที่จริงแล้ว ปี 1995 คือปียากลำบากของเธอ สามีของเธอยังติดอยู่ที่ฮังการี ยังไม่สามารถย้ายตามเธอมาอเมริกาได้ เพราะมีปัญหาเรื่องวีซ่า แถมเธอยังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งด้วย แต่เธอก็ยังทุ่มเททำงานที่เธอเชื่อมั่น
2
แล้วในปี 1997 เธอก็ได้พบกับนักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวอเมริกันอย่าง ดรูว์ ไวส์แมน ซึ่งได้ร่วมงานกันพัฒนาเรื่องภูมิคุ้มกันอย่างจริงจัง โดยใช้ความรู้ของทั้งคู่มาผสมผสานกัน ความยากในงานของเธอกับไวส์แมนก็คือ ต้องพยายามคิดค้นวิธีการที่จะทำให้ mRNA ‘แอบ’ เข้าไปในเซลล์ได้ โดยที่ร่างกายไม่แตกตื่นคิดว่านั่นเป็นศัตรูเสียก่อน แล้วเธอก็ทำสำเร็จ ในปี 2005 มีการตีพิมพ์รายงานออกมาหลายครั้ง และมีการจดสิทธิบัตรการค้นพบในการศึกษา mRNA ที่ใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหลายเรื่อง ซึ่งแม้คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจงานของเธอเลย แต่งานของเธอก็ยังไปสร้างความสนใจให้ใครคนหนึ่ง
1
คนคนนั้นคือ เดอร์ริก รอสซี ซึ่งทำงานด้านชีววิทยาสเต็มเซลล์อยู่ที่สแตนฟอร์ด เขาได้อ่านงานของคาริโกและไวส์แมน และคิดว่างานนี้มันยิ่งใหญ่มากจนควรจะได้รางวัลโนเบล นั่นทำให้รอสซีหันมาสนใจงานด้าน mRNA แล้วความสำเร็จในงานของเขาก็นำทางไปเจอกับนักวิชาการอีก 2-3 คน เช่น ทิโมธี สปริงเกอร์ จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด รวมถึง โรเบิร์ต แลงเกอร์ ซึ่งเป็นคนสำคัญมากในสาขาไบโอเทคโนโลยี และเป็นแลงเกอร์นี่เองที่นำทางรอสซีเข้าไปหาบริษัทชื่อ Flagship Pioneering ซึ่งเป็นบริษัท Venture Capital หรือบริษัทให้ทุนสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง
4
ไม่กี่เดือนถัดมา ในปี 2010 รอสซี แลงเกอร์ และคนอื่นๆ อีกหลาย ก็ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
บริษัทนั้นมีชื่อว่า Moderna
2
ที่น่าเจ็บใจอย่างยิ่งสำหรับคาริโกก็คือ Flagship Pioneering ได้ติดต่อเธอเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์การค้นพบของคาริโก เพื่อจะได้นำการค้นพบของเธอไปใช้ แต่คาริโกไม่มีจะขายให้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของทุนเพิ่งจะขายทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นไปให้คนอื่น คาริโกจึงไม่มีอะไรจะขายให้
2
ครั้นพอถึงปี 2013 คาริโกพบว่า Moderna ได้ทำสัญญาร่วมกับ AstraZeneca เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี mRNA แบบหนึ่งขึ้นมา สัญญาที่ว่ามีมูลค่าสูงลิบถึง 240 ล้านดอลลาร์ นั่นทำให้คาริโกตระหนักถึง ‘มูลค่า’ ที่เกิดจากการทำงานของตัวเอง
ที่อีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก ในเยอรมนีมีบริษัทใหม่อีกบริษัทหนึ่งเกิดขึ้นจากการให้กำเนิดของ อูเกอร์ ซาฮิน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนตุรกี ทว่า ย้ายมาอยู่ที่เยอรมนี เขากับภรรยาเป็นแพทย์ที่สนใจงานด้านการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ซึ่งในตอนแรกเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็งก่อน แต่ต่อมาก็เกิดความสนใจในทางธุรกิจ จึงก่อตั้งบริษัทไบโอเทคโนโลยีแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยมีการร่วมทุนกับ โธมัส และ แอนเดรียส สตรึงแมนน์ เพื่อทำงานในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านมะเร็งโดยใช้เทคโนโลยี mRNA
1
บริษัทนั้นต่อมามีชื่อว่า BioNTech
1
แล้วในปี 2013 BioNTech ก็ทำให้คาริโกตัดสินใจโบกมืออำลาจากการทำงานในมหาวิทยาลัย เพื่อหันมารับตำแหน่ง Senior Vice President ของ BioNTech
1
แล้วศึกระหว่าง Moderna กับ BioNTech ก็เริ่มต้นขึ้นเงียบๆ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิดขึ้น ทันใดนั้นทั้งสองบริษัทก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่า
1
ทั้ง Moderna และ BioNTech เห็นว่านี่คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อต่อต้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสองบริษัทรู้ในทันทีว่าโรคนี้จะกลายเป็นโรคระบาดระดับโลก และเทคโนโลยีวัคซีน mRNA อาจเป็นคำตอบได้ เพราะมันผลิตได้เร็วกว่าวัคซีนเชื้อตายมาก ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ที่โลกกำลังต้องการวัคซีนนับพันล้านโดสพอดี นั่นทำให้ BioNTech ต้องการพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมา จึงเกิดการเจรจากับ Pfizer อันเป็นบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ เพื่อมาเป็น ‘ทุนใหญ่’ ให้กับ BioNTech
1
เมื่อการร่วมทุนเกิดขึ้น วัคซีน mRNA ที่เราเรียกกันจนคุ้นหูว่า ‘ไฟเซอร์’ และ ‘โมเดอร์นา’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยไฟเซอร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่อายุ 171 ปี ต้องมาแข่งกับโมเดอร์นา บริษัทที่มีอายุแค่ 10 ปี ที่สำคัญโรงงานของทั้งสองบริษัทอยู่ในเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตส์ โดยอยู่ห่างกันเพียง 23 ไมล์เท่านั้นเอง
2
ถึงวันนี้แม้ว่าจะยังไม่มี ‘คนทั่วไป’ ในประเทศไทยคนไหนได้สัมผัสกับวัคซีนเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่เราก็คุ้นหูกับเทคโนโลยีวัคซีน mRNA จากทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นากันเป็นอย่างดีแล้ว
1
หากใครได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ก็อย่าลืมนึกถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ในยามที่ไม่มีใครแลเธอด้วยก็แล้วกัน
เธอชื่อ เคทลิน คาริโก
1
อ่านเพิ่มเติม:
เรื่อง: โตมร ศุขปรีชา
โฆษณา