16 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
อักขระที่เลือนหาย
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ภาษาคือสายลม ภาษาคือสายน้ำ มันเคลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตลอดทางยาวนานหลายร้อยปีของวิวัฒนาการภาษาไทย มันเปลี่ยนไปมากพอสมควร หลายคำหายไปจากคลังคำปัจจุบันแล้ว
3
ลองอ่านข้อความต่อไปนี้ ดูว่าเข้าใจแค่ไหน
เขาเดินทางมาจากต่างประเทศ พ่อ แม่ และป้าไปรับที่สนามบิน เขาส้วมกอดพ่อแม่
1
เขาบอกป้าว่า “อุแม่เจ้าโว้ย ทำไมป้าแต่งตัวเปิ่นมาก เหมือนยายเพิ้ง พยายามทำท่าทางก๋ากั่น”
2
ป้ารู้สึกฉิว ร้องว่า “อกอีแป้นแตก”
9
แม่ว่า “ทำไมลูกพูดอย่างนี้?”
เขาเดินไปที่รถยนต์ บอกพ่อว่า “ทำไมพ่อยังขับรถบุโรทั่งคันนี้ เชยมาก”
1
พ่อบอกว่า “อุวะ พ่อส่งเสียลูกไปเรียนนอก กลับมาเป็นพวกโก๋ ปากไม่ดี นิสัยเส็งเคร็งแบบนี้ไม่เหมาะ ลางทีไม่ควรกลับมาเลย พับผ่า!”
3
ใครที่อ่านรู้เรื่องหรือรู้คำศัพท์ทั้งหมดนี้ น่าจะมีวัยเกิน 50 ขึ้นไป
9
ลองมาสำรวจคำเก่าแก่เหล่านี้ดู
เริ่มที่ ‘ส้วมกอด’
เราย่อมรู้ดีว่าส้วมเป็นสถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่าย มักทำเป็นห้อง แต่หากเรานั่งยานเวลาย้อนไปในอดีต จะไม่พบห้องสุขาใดเรียกว่า ส้วมกอด
เพราะเวลานั้นส้วมกอดเป็นคำกริยา แปลว่าการโอบแขนทั้ง สองข้างรัดเข้าไว้ในวงแขน
ใช่ มันก็คือ ‘สวมกอด’
เขาส้วมกอดพ่อแม่ = เขาสวมกอดพ่อแม่
ในสมัยก่อน ส กับ ซ ก็มักใช้แทนกัน
‘ส้อน’ = ซ่อน
‘อุแม่เจ้าโว้ย’ เป็นคำอุทาน เป็นเชิงแปลกใจ
1
‘อุบ๊ะ’ = คำที่เปล่งออกมาแสดงความไม่พอใจ บางทีก็เรียก บ๊ะ ระวังอย่าสับสนกับ ‘อุบะ’ ที่แปลว่าดอกไม้ที่ร้อยเป็นสายเข้าพวง
2
คำใกล้ ๆ กัน ก็คือ ‘อุวะ’ = คำที่เปล่งออกมาแสดงอารมณ์ผิดคาดหรือผิดหวัง
1
‘อุเหม่’ = คำที่เปล่งออกมาแสดงความโกรธ บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า เหม่ หรือ เหม่ ๆ
‘ชิชะ’ = คำที่เปล่งตอนโกรธหรือไม่ชอบใจ
1
เราย่อมรู้จักคำว่า ‘ฉิว’ ในความหมายว่าไปเรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย เช่น ลมพัดฉิว รถแล่นฉิว
1
แต่คำนี้ยังมีอีกความหมายหนึ่ง แปลว่ารู้สึกไม่พอใจ โกรธวูบ
1
ส่วน ‘อกอีแป้นแตก’ หรือ ‘อกอีปุกแตก’ เป็นคำพูดที่เปล่งออกมาเมื่อตกใจ ส่วนมากผู้หญิงใช้
‘พับผ่า’ เป็นคำสบถแบบเก่า เช่น “พับผ่า! ทำไมหล่อนจึงไปกับคนที่ผมเกลียด”
2
‘เปิ่น’ = การแสดงกิริยาอาการที่แปลกจากจารีตนิยม หรือไม่ทันสมัย
2
แต่งตัวเปิ่น = แต่งตัวไม่ทันสมัย
1
ทำท่าเปิ่น = ทำท่าแปลก (ในเชิงล้าสมัย)
1
มีอีกคำหนึ่งที่หมายถึงไม่ทันสมัย คือ ‘เชย’ เชื่อว่าคำนี้มีที่มาจากตัวละคร ‘ลุงเชย’ ในนิยายชุดสามเกลอ ของ ป. อินทรปาลิต ที่โด่งดังมาก ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482-2511 กว่าพันตอน
1
ลุงเชย ชื่อเต็มคือ เชย พัชราภรณ์ เป็นลุงของ พล พัชราภรณ์ บุตรชายของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ (ประสิทธิ์ พัชราภรณ์) ลุงเชยเป็นพ่อค้าฟืนที่อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ฐานะดีแต่ขี้เหนียวอย่างที่สุด
เมื่อมีลุงเชย ก็ต้องมียายเพิ้ง
คำว่า ‘เพิ้ง’ หมายถึงผู้หญิงที่ไม่ทันสมัย เชย ๆ มักใช้ว่า ยายเพิ้ง เช่น แต่งตัวเป็นยายเพิ้งไปได้
2
คำนี้น่าจะไม่ใช้กันเแล้ว ไม่พบในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
1
‘ก๋ากั่น’ = อวดกล้า มักใช้กับผู้หญิง
2
ถ้าใช้ ก๋า เฉย ๆ ก็แปลว่าอาการที่ทำท่าว่าเก่ง เช่น ยืนก๋า เต้นก๋า
1
‘เส็งเคร็ง’ = เลว ไม่ดี ไม่มีค่า เช่น สมบัติของเขาไม่มีใครอยากได้ มีแต่ของเส็งเคร็ง
1
ป่านี้ไม่เหลือไม้ดี มีแต่ไม้เส็งเคร็ง
‘บุโรทั่ง’ = เก่า ทรุดโทรม เช่น มันเป็นรถบุโรทั่ง แปลว่ามันเป็นรถเก่าโทรม
ส่วน ‘ลางที’ ใช้ทีไรก็มีคนสงสัยว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า
‘ลาง’ ในภาษาไทยเก่าก็คือ ‘บาง’ นั่นเอง
ลางทีก็คือบางที ตัวอย่างที่ยังใช้อยู่จนวันนี้คือสำนวน ลางเนื้อชอบลางยา
ตอนนี้เราไม่ใช้ ‘ลาง’ ในความหมาย ‘บาง’ กันแล้ว
‘โก๋’ กร่อนมาจาก ‘จิ๊กโก๋’ มาจากคำว่า gigolo หมายถึงชายหนุ่มที่รับจ้างเต้นรำกับหญิงสูงวัย
2
เมื่อกร่อนมาเป็นโก๋ ก็หมายถึงหนุ่มวัยรุ่นแต่งตัวเฉี่ยว ล้ำสมัย หากนึกภาพไม่ออก ก็ให้นึกถึงนักร้อง เอลวิส เพรสลีย์ หรือตัวละครในหนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง
2
ยุคนั้นคนหนุ่มนิยมทาน้ำมันใส่ผมหนาจนลมพัด เส้นผมไม่กระดิก ชอบชุมนุมเป็นกลุ่ม ที่ขึ้นชื่อคือโก๋หลังวัง
1
สมัยผมเป็นเด็ก มีโก๋หรือจิ๊กโก๋มากมาย ความหมายไม่ค่อยเป็นเชิงบวกเท่าไร
คำว่า โก๋ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่าหลง ๆ ลืม ๆ อย่างคนแก่ ดังนั้นคนแก่สมัยนั้นก็เป็นโก๋เหมือนกัน
1
ตอนนี้เราใช้โก๋เป็นชื่อขนมอย่างเดียว คือแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลที่อัดใส่พิมพ์รูปต่าง ๆ
1
เอาละ ลองอ่านท่อนต่อไป :
พ่อจัดงานเลี้ยงต้อนรับลูกชาย มีเพื่อนนักธุรกิจของพ่อหลายคนมาร่วมงาน แต่ละคนพูดจ๋อย
1
พ่อว่า “ลูกชายผมเพิ่งเรียนจบเอนชะเนียมาจากอีหรอบ ได้ดิปโลมาสองใบ”
3
เพื่อนพ่อกล่าวว่า “จบจากอีหรอบหรือ? ไม่เลวเลย จะมาทำงานอะไร? อยากรับราชการไหม?”
1
ลูกชายตอบว่า “ผมไม่คิดรับราชการครับ จะทำธุรกิจ”
“ธุรกิจใด?”
“จะเป็นเอเชนต์ นำโทรภาพนำเบอร์ 1 มาขาย”
1
“ดีอย่างไร?”
1
“ยี่ห้อที่ผมจะนำมาขายนี้ทนชะมัดยาด นอกจากนี้จะนำกล้องจุลทรรศน์มาจำหน่าย”
2
“ใช้ประโยชน์อะไร?”
“สามารถดูบักเตรีได้”
2
‘โทรภาพ’ ก็คือโทรทัศน์
‘จ๋อย’ เป็นคำที่มีหลายความหมาย ถ้าใช้เป็นคำขยาย เช่น เหลืองจ๋อย หวานจ๋อย หมายถึงเหลืองมากหรือหวานมาก
1
ยังมีความหมายว่าคล่อง เช่น พูดจ๋อย = พูดคล่อง ในความหมายนี้สามารถใช้ จ้อย ได้ด้วย คือพูดจ้อย
1
แต่ที่เราคุ้นกันมักเป็นความหมายของหงอยเหงา เช่น หน้าจ๋อย
ชะมัด เป็นคำเก่าที่ยังใช้กันอยู่ แปลว่า มาก ยิ่ง เช่น เก่งชะมัด บางทีก็ใช้ว่า ชะมัดยาด
2
ทนชะมัดยาด = ทนมาก
ในสมัยที่ไทยเริ่มติดต่อกับต่างชาติ ฝรั่งนำสินค้า อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ดังนั้นหลายอย่างก็ต้องเรียกด้วยคำทับศัพท์ บ่อยครั้งทับศัพท์แบบเพี้ยนไปบ้าง
1
‘ดิปโลมา’ ไม่ใช่ชื่อโลมา แต่เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ diploma แปลว่า ประกาศนียบัตร ใบอนุญาต
2
นักเรียนสมัย 40-50 ปีก่อนคงคุ้นกับคำว่า ‘บักเตรี’ หรือ ‘บัคเตรี’ ทับศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส bactérie ก็คือแบคทีเรีย
2
การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศบางครั้งก็แปลก ๆ เช่น คำว่ายุโรป (Europe) คนไทยในอดีตทับศัพท์ว่า ‘อีหรอบ’
3
นอกจากชื่อทวีปแล้ว อีหรอบยังมีความหมายว่า ‘ฝรั่ง’ เช่น ‘ดินอีหรอบ’ แปลว่าดินปืนของฝรั่ง
2
‘เข้าอีหรอบ’ = ทำตามแบบฝรั่ง
2
มาถึงยุคปัจจุบัน เราไม่ใช้คำนี้ในความหมายของยุโรป แต่ใช้เป็นความหมายของทำนองหรือแบบ เช่น ‘อีหรอบเดียวกัน’ = ทำนองเดียวกัน
5
นอกจากนี้ก็มีคำทับศัพท์อื่น ๆ เช่น
1
‘เอเชนต์’ (agent) = ตัวแทน
‘เอนชะเนีย’ (engineer) = วิศวกร
3
‘นำเบอร์’ (number) = หมายเลข ลำดับที่
การมองย้อนอดีตของการใช้ภาษาไทยในยุคก่อน ทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภาษา และวันหนึ่งในอนาคต ลูกหลานของเราอาจมองย้อนดูภาษาที่เราใช้กันในวันนี้ แล้วบอกว่า อ่านไม่รู้เรื่อง
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา