1 ก.ค. 2021 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
ที่มาของชื่อเรียกเดือนกรกฎาคมที่มีมากกว่าการตั้งชื่อตามจูเลียส ซีซาร์
ต้อนรับวันแรกของเดือนกรกฎาคมที่พวกเราสามารถนำพาตัวเองผ่านครึ่งปีแรกมาได้ (อย่างสะบักสะบอม) ด้วยการเล่าที่มาสั้น ๆ ของเดือนนี้กัน
(Image: Pinterest)
• ชื่อเรียกเดิม
จากในรูปการ์ตูนด้านบนหาเจอกันไหมว่าเดือนกรกฎาคมอยู่ตรงไหนในปฏิทิน? ชาวโรมันยุคต้นเรียกเดือนกรกฎาคมว่า ‘Quintilis หรือ Quinctilis’ ซึ่งอ่านว่า ‘ควินทีลีส’ เพราะว่ามันเป็นเดือนที่ 5 ของปี ปฏิทินโรมันในตอนนั้นเดือนแรกของปีเป็นเดือนมีนาคม ดังนั้นเดือนนี้จึงถูกเรียกว่า ‘ควินทีลีส’ เพราะมาจากคำว่า quīntus ที่แปลว่า ห้า
ปฏิทินยุคแรกของชาวโรมันหยิบยืมมาจากกรีก และทั้งปีมี 10 เดือน 304 วัน โดยเชื่อกันว่าผู้สร้างปฏิทินนี้คือโรมิวลุส (Romulus) ผู้ปกครองกรุงโรมคนแรกตามตำนาน ซึ่งปฏิทินยุคแรกนี้จะเริ่มต้นด้วยเดือน Martius คือเดือนมีนาคม ต่อจากนั้นคือเดือน Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November, และ December ซึ่งชื่อของ 4 เดือนแรกมาจากเทพเจ้า ส่วน 6 เดือนสุดท้ายเรียกตามลำดับเลข คือเลข 5, 6, 7, 8, 9, และ 10
ควินทีลีส เป็นเดือนที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเทพเจ้าสูงสุดของโรมันคือจูปิเตอร์ (หรือกรีกเรียกว่า เทพเจ้าซุส) ซึ่งในเดือนนี้จะมีการบูชาเทพเจ้า คือ เทพเจ้าเนพจูนกับอะพอลโล เนื่องจากเป็นเดือนสำคัญที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ต่อมาเมื่อกรุงโรมพัฒนากลายเป็นเมืองมากขึ้นการเฉลิมฉลองทางการเกษตรในเดือนนี้จึงลดความสำคัญลง กลายเป็นเดือนที่มีการจัดการแข่งขันเพื่อสดุดีแก่เทพอะพอลโลแทน และมีการแข่งขันกีฬาเป็นเวลา 10 วันเมื่อช่วงสิ้นเดือนเพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์
เศษชิ้นส่วนของปฏิทินชาวโรมัน ซึ่งชาวโรมันจะสลักปฏิทินไว้บนหินอ่อนหรือหินทั่วไป แต่ส่วนใหญ่จะเขียนไว้บนผนังเพื่อเป็นการตกแต่ง (Image: Webexhibits.org)
• เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่
ประมาณ 713 ปีก่อนคริสต์ศักราช นูมา พอมพิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์องค์ที่ 2 ที่ปกครองกรุงโรม มีการเพิ่มเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์เข้ามา แต่ทั้งสองเดือนนี้เอาไว้ช่วงท้ายปี ปีหนึ่งจึงมี 12 เดือน 355 วัน
ต่อมาเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ถูกนำมาไว้ต้นปี จนกระทั่งราว 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช เดือนมกราคมจึงกลายเป็นเดือนแรกของปี ส่วนเดือนกรกฎาคมจึงกลายเป็นเดือนที่ 7 ของปี แต่ชื่อเรียกว่า ‘ควินทีลีส’ ก็ยังคงเดิมอยู่
จนกระทั่งเมื่อ 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ตอนที่เดินทางไปอียิปต์พบว่าปฏิทินของชาวอียิปต์มี 365 วัน เมื่อกลับมายังโรมจึงปรับปฏิทินเดิมให้สอดคล้องกับฤดูกาลและดาราศาสตร์ จึงกลายเป็นปฏิทินจูเลียน ดังนั้นในตอนที่จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ปรับปฏิทินนั้นมี 12 เดือนอยู่แล้ว
ในเวลาต่อมา ตรงกับ 44 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ได้สิ้นพระชนม์ลง ผู้ปกครองคนต่อมา คือ มาร์ก แอนโทนีจึงเปลี่ยนชื่อเดือนนี้เป็น ‘Iulius‘ (Julius) เพื่อให้เป็นเกียรติแก่เขา เพราะเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนเกิดของจักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์
ปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นเป็นปฏิทินเกร็กกอเรียน ซึ่งมาจากชื่อของพระสันตะปาปาเกร็กกอรีที่ 13
เศษปฏิทินเป็นเดือนกรกฏาคม เศษภาพโมเสกที่พบในประเทศตูนีเซียปัจจุบัน (Image: Wikimedia Commons)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา