2 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • สุขภาพ
โควิดสายพันธุ์ Epsilon มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งหนาม ทำให้สามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA ได้ แต่ไม่น่ากังวล
หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อสายพันธุ์นี้ เพราะยังไม่พบในประเทศไทย สายพันธุ์เอปไซลอนถูกพบครั้งแรกที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จัดว่าเป็น Variant of Interest (VOI) หรือ สายพันธุ์ที่ควรให้ความสนใจเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2021 ซึ่งถูกลดระดับลงมาจาก Variant of Concern (VOC) หรือ สายพันธุ์ที่ควรให้ความตระหนัก เนื่องจากถึงจะมีการกลายพันธุ์ที่สามารถลดการป้องกันของภูมิคุ้มกันได้ แต่ยังแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด
สายพันธุ์เอปไซลอน มีสองสายพันธุ์ย่อย ได้แก่
🦠 B.1.427
🦠 B.1.429
CDC รายงานว่า ทั้งสองสายพันธุ์ย่อย สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม ประมาณ 20%
DOI: 10.1126/science.abi7994
มีงานวิจัย Preprints ในวารสาร Science ทำการศึกษาเรื่องความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์เอปไซลอน (B.1.427/B.1.429) พบว่าทั้งสองสายพันธุ์ย่อย มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามตำแหน่งเดียวกัน คือ S13I ที่ signal peptide, W152C ที่ N-terminal domain และ L452R ที่ receptor-binding domain ซึ่งอาจเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ
ดังนั้น ทีมวิจัยได้แบ่งการทดลองออกเป็นสองส่วนใหญ่ อย่างแรกคือการนำพลาสมาของคนที่ได้ฉีดวัคซีน mRNA มาทดสอบกับอนุภาคเทียมของไวรัส (pseudovirus) อย่างที่สองคือ นำพลาสมาของคนที่ติดเชื้อโควิดและหายแล้ว มาทดสอบกับอนุภาคเทียมของไวรัส
อนุภาคเทียมของไวรัส หรือ pseudovirus คือการนำไวรัสไม่ก่อโรค มาใส่ชิ้นส่วนก่อโรคของไวรัสที่ต้องการทดสอบลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงการทดลองกับไวรัสจริงที่เป็นอันตรายและต้องทำในห้องแล็บที่มีการควบคุมระดับสูง
🔺 ทดลองกับพลาสมาของคนที่ได้ฉีดวัคซีน mRNA
แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 15 คน ได้ฉีดวัคซีนของ Moderna กลุ่มที่สอง 15 คน ได้ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNtech เก็บพลาสมาระหว่างวันที่ 7-27 วันหลังฉีดวัคซีนครบโดส เพื่อมาทดสอบกับ pseudovirus ของสายพันธุ์เอปไซลอน (B.1.427/B.1.429) เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ G614
*การที่ใช้สายพันธุ์ G614 เป็นตัวเปรียบเทียบ เพราะมีงานวิจัยตีพิมพ์ว่าการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง G614 ซึ่งเป็นตำแหน่งหนามของไวรัส ส่งผลให้ไวรัสดุร้ายขึ้น และทำให้ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
[ ผลการทดลอง ]
- ระดับภูมิคุ้มกันของกลุ่มตัวอย่างที่ฉีด Moderna ลดการป้องกันจากไวรัสสายพันธุ์เอปไซลอนลง 2.4 เท่า เทียบกับ G614
- ระดับภูมิคุ้มกันของกลุ่มตัวอย่างที่ฉีด Pfizer/BioNtech ลดการป้องกันจากไวรัสสายพันธุ์เอปไซลอนลง 2.3 เท่า เทียบกับ G614
1
หลังจากนั้นทีมวิจัยได้เพิ่มกลุ่มตัวอย่างอีก 18 คน ที่ฉีดวัคซีน Pfizer/BioNtech ครบโดสแล้วอย่างน้อย 14-28 วัน โดยที่ 5 ใน 18 คน เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ทำการทดสอบกับ pseudovirus ของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม ได้แก่ สายพันธุ์แอลฟ่า (B.1.1.7), สายพันธุ์เบต้า (B.1.351) และ สายพันธุ์แกมม่า (P.1) พบว่า สายพันธุ์เอปไซลอน ลดการป้องกันของระดับภูมิคุ้มกันได้ 2.9 เท่า ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบต้า (3.2 เท่า) ซึ่งลดได้มากกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า (1.3 เท่า) และ แกมม่า (1.7 เท่า)
🔺 ทดลองกับพลาสมาของคนที่ติดเชื้อโควิดและหายแล้ว
กลุ่มตัวอย่างจำนวน 9 คน ที่เคยติดเชื้อโควิดแบบแสดงอาการช่วงต้นปี 2020 ซึ่งน่าจะเป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม เก็บพลาสมาไว้ตั้งแต่หลังเริ่มมีอาการ 15-28 วัน
[ ผลการทดลอง ]
ระดับภูมิคุ้มกันของกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อโควิดและหายแล้ว ลดการป้องกันจากไวรัสสายพันธุ์เอปไซลอนลง 3.4 เท่า เทียบกับ G614 ซึ่งใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบต้าที่ลดลง 4.4 เท่า และ สายพันธุ์แกมม่าที่ลดลง 3.3 เท่า แต่สายพันธุ์แอลฟ่ายังสามารถป้องกันได้อยู่ เพราะลดลงเพียง 1.9 เท่า
[ สรุป ]
ผลการทดลองสรุปได้ว่าสายพันธุ์เอปไซลอน มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์ที่สามารถหนีระบบภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบต้า และลดประสิทธิภาพของวัคซีนลงด้วย
ถึงแม้จะไม่ใช่ Variant of Concern (VOC) หรือ สายพันธุ์ที่ควรให้ความตระหนัก เหมือนอย่างสายพันธุ์แอลฟ่า, เดลต้า, เบต้า ที่มีการแพร่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็น่าสนใจเพราะเป็นอีกสายพันธุ์ที่สามารถหลบหนีภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งการทราบตำแหน่งกลายพันธุ์ที่สำคัญ จะเป็นแนวทางการรับมือกับเชื้อโควิดต่อไปในอนาคต เพราะสงครามระหว่างเชื้อโรคกับมนุษย์ครั้งนี้ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ
🌸 ความเห็นส่วนตัว
เห็นคนแชร์เรื่องสายพันธุ์เอปไซลอนกันเยอะใน facebook เลยตามไปอ่านและสรุปมาให้ค่ะ เท่าที่อ่านดูยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ความสามารถในการแพร่กระจายไม่มากเท่าเดลต้า คงไม่ตีตั๋วมาเมืองไทยง่ายๆ
ช่วงนี้ติดตามข่าวโควิดให้เป็นความรู้เพื่อการป้องกันตัวและการรับมือนะคะ ด้วยความเป็นห่วง 💐
References >>
DOI: 10.1126/science.abi7994
DOI: 10.1111/ijcp.13525

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา