3 ก.ค. 2021 เวลา 05:30 • กีฬา
ฮีโร่ของชาติ : เบื้องหลังการเป็นกุนซือประวัติศาสตร์ทีมชาติยูเครนของ เชฟเชนโก้ | MAIN STAND
3
ยูเครน ไม่เคยประสบความสำเร็จในรายการระดับเมเจอร์เลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้กระทั่งยุคที่นำโดยนักเตะบัลลงดอร์อย่าง อังเดร เชฟเชนโก้ แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงรอบลึก ๆ ได้
อย่างไรก็ตามในยูโร 2020 นี้ ยูเครน ที่ไร้นักเตะดาวเด่นสตาร์ดังกลับสร้างประวัติศาสตร์เข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ ภายใต้การทำทีมของ "โค้ชเชว่า" ผู้ใช้วิชาครูพักลักจำขั้นเทพจนมาถึงตอนนี้
นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังว่าเหตุใด เชฟเชนโก้ ในฐานะโค้ชมือใหม่ จึงพาทีมไปได้ไกลกว่าสมัยที่เขาเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก ?
พบกับ "เชว่าสไตล์" ได้ที่ Main Stand
นักเตะดังกับการเป็นโค้ช
อังเดร เชฟเชโก้ คือดาวยิงผู้เคยคว้ารางวัลนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง บัลลงดอร์ มาแล้วในปี 2004 แต่เมื่อหันมารับงานโค้ช นี่คือโลกอีกใบที่เขาต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพราะนักเตะดังหลายคนเคยได้ลองหันไปทำอาชีพโค้ชฟุตบอลเมื่อพวกเขาแขวนสตั๊ดไปแล้ว แต่ผลที่ออกมานั้นย่ำแย่ ทีมของเขาแสดงผลงานออกมาได้ตรงกันข้ามกับในวันที่พวกเขาเคยเป็นยอดนักเตะ
Fox Business ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเหตุผลที่นักเตะระดับสตาร์ไม่สามารถทำผลงานได้ดีในฐานะโค้ชได้ นั่นเป็นเพราะพวกเขายังไม่เคยสัมผัสกับคำว่า "รับผิดชอบร่วมกัน"
นักเตะดังคือคนที่มีวินัยในการพัฒนาตัวเอง พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ทีมเป็นผู้ชนะ ผลักดันตัวเองให้ก้าวข้ามขีดจำกัด พวกเขาจะรับผิดชอบอยู่แค่กับหน้าที่ของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถทำได้คือการรับผิดชอบผลงานของผู้เล่นคนอื่น ๆ ในทีม ที่อาจจะส่งผลให้ต่อให้นักเตะดังพยายามแค่ไหน ผลงานของทีมก็ไม่สามารถดีได้แบบที่พวกเขาตั้งเป้าไว้
พวกเขาจะเหนื่อยล้า และไม่คุ้นชินกับสถานการณ์การเข็นครกขึ้นภูเขาในฐานะการต้องรับผิดชอบร่วมกัน พวกเขายังไม่มีประสบการณ์ในการ "สร้างทีมที่ดี" กล่าวคือการที่นักเตะทั้งทีมล้วนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน ไม่มีใครเป็นจุดอ่อน และทุกคนพร้อมจะกลายเป็นจุดแข็งของทีมได้นั่นเอง
1
เหตุผลที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ เพราะพวกเขาเป็นนักเตะระดับสตาร์ และใช้ชีวิตแบบนั้นมาทุกเมื่อเชื่อวัน และบางครั้งมันทำให้ขาดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในสายงานโค้ช เพราะเป้าหมายและหน้าที่ของ "นักเตะดัง" กับ "โค้ชที่ดี" นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ... การเป็นดารานำแบกทีมเมื่อลงสนามไม่เหมือนกับการโค้ชชิ่งอยู่ที่ม้านั่งสำรองและห้องแต่งตัว การรับคำสั่งและลงไปแข่งขัน แตกต่างกับการสอนนักเตะให้เชื่อมั่นและทำตามสิ่งที่ตัวเองบอกเพื่อผลการแข่งขันที่ต้องการ
มีนักเตะดังจำนวนไม่น้อยที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ชภายในไม่กี่ปีหลังแขวนสตั๊ดและล้มเหลว อันเดรีย ปีร์โล่ ล้มเหลวกับปีแรกในการเป็นกุนซือใหญ่ของ ยูเวนตุส, คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, ฟิลิปโป้ อินซากี้, เจนนาโร กัตตูโซ่, พอล สโคลส์, แกรี่ เนวิลล์ หรือแม้กระทั่ง แฟรงค์ แลมพาร์ด คือตัวอย่างที่ชัดเจน จากการทำงานของพวกเขาในปีแรก ๆ ในฐานะกุนซือ พวกเขาปรับตัวและรับมือกับเรื่องเหล่านี้ในทันทีไม่ทัน นักเตะดังที่กล่าวมาทั้งหมด ต่างจบงานแรก ๆ ในฐานะการเป็นโค้ชด้วยการถูกปลดทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะออกสตาร์ตด้วยความยากลำบาก แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเป็นจะเป็นโค้ชที่ไม่ได้เรื่องตลอดไป ของแบบนี้มันเกี่ยวกับเรื่องของประสบการณ์ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ในโลกของโค้ชนั้นมีความรับผิดชอบมากกว่าที่คิด การแตกฉานด้านเทคนิคและยุทธวิธีเพื่อทำให้ทีมเป็นผู้ชนะ การจมอยู่กับข้อมูล การจัดการ และการวางแผนวันละหลาย ๆ ชั่วโมง รวมไปถึงการรับมือกับความเกี่ยวพันระหว่างผลการแข่งขันกับธุรกิจ ทุกอย่างคือสิ่งที่เฮดโค้ชต้องทำงานต่อเนื่องแบบไม่หยุดพัก และนี่คือเหตุผลที่ อังเดร เชฟเชนโก้ กุนซือที่พาทีมชาติยูเครนสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2020 ครั้งนี้ เลือกปฏิเสธงานใหญ่โดยทันทีหลังจากที่เขาเพิ่งแขวนสตั๊ด
STEP BY STEP
เชฟเชนโก้ แขวนสตั๊ดเมื่อปี 2012 ด้วยวัย 36 ปี กับสโมสร ดินาโม เคียฟ ในบ้านเกิด ทีมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาในช่วงเริ่มต้น ก่อนจะกลายเป็นนักฟุตบอลที่ดีที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยูเครน เพิ่งลงแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ก่อนจะจบการแข่งขันด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่มไป มันถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากพอสมควรสำหรับทีมชาติยูเครน เพราะนักเตะรุ่นเก่า ๆ อย่าง เชฟเชนโก้, เซอร์เก เรบรอฟ, อนาโตลี ตีโมชุก และคนอื่น ๆ พร้อมใจประกาศเลิกเล่นทีมชาติ ทีมชาติยูเครนจึงยากจะประสบความสำเร็จในเร็ววัน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการสร้างทีมใหม่ด้วยกุนซือหนุ่มไฟแรง ซึ่ง ณ เวลานั้นบอร์ดของสหพันธ์ฟุตบอลยูเครน (FFU) ตัดสินใจมอบโอกาสครั้งสำคัญนี้ให้กับ เชฟเชนโก้ ด้วยการส่งจดหมายเชิญให้เขาเข้ามารับตำแหน่งกุนซือทีมชาติยูเครนในทันที
อนาโตลี คอนคอฟ บอสใหญ่ของสหพันธ์ฟุตบอลยูเครน มองว่าแม้เชฟเชนโก้จะไม่มีประสบการณ์การเป็นโค้ช แต่การที่เขาเคยร่วมงานกับกุนซือระดับตำนานของโลกมากมายหลายคนทั้ง วาเลรี่ โลบานอฟสกี (ดินาโม เคียฟ), คาร์โล อันเชล็อตติ (มิลาน) และ โชเซ่ มูรินโญ่ (เชลซี) น่าจะทำให้เขาได้เรียนรู้บางสิ่งจากยอดโค้ชเหล่านั้น
นอกจากนี้ในช่วงต้นยุค 2010s มันเป็นช่วงเวลาที่หลาย ๆ ทีมเริ่มให้โอกาสนักเตะในตำนานของตัวเองได้ก้าวขึ้นมาเป็นกุนซือ โดยมีเอฟเฟกต์สำคัญมาจากการที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เปลี่ยนเส้นทางจากยอดนักเตะกลายมาเป็นยอดโค้ชได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการพาสโมสร บาร์เซโลน่า กวาดทุกแชมป์อย่างไร้เทียมทาน
"เชฟเชนโก้ มีโอกาสพิเศษกว่าคนอื่น ๆ คือได้เรียนรู้จากโค้ชเก่ง ๆ มากมาย ผมเชื่อว่าเขาจะนำมันมาปรับใช้กับงานใหม่ของเขาได้ ผมไม่แปลกใจกับการที่เราเลือกเขา เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โค้ชหนุ่มไร้ประสบการณ์อย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยังสามารถพา บาร์เซโลน่า ประสบความสำเร็จได้ภายในเวลาไม่กี่ปี" คอนคอฟ ว่าไว้เช่นนั้น
กรณีของ เป๊ป ต่างจาก เชฟเชนโก้ มากกว่าที่ คอนคอฟ คิด เพราะ เป๊ป นั้นมีแววโค้ชมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเตะแล้ว เขาบ้าฟุตบอลเข้าเส้น เขาชอบศึกษาแทคติกต่าง ๆ อยู่ใกล้ ๆ โค้ชของทีมเสมอ นอกจากนี้ เป๊ป ยังเตรียมตัวจะเป็นโค้ชด้วยการสอบใบอนุญาตตั้งแต่ที่เขายังไม่แขวนสตั๊ด ขณะที่ เชฟเชนโก้ นั้น ทุกอย่างยังเป็น 0 ต่อให้เขาได้เรียนรู้จากนายเก่ามามากขนาดไหน แต่เขาก็ยังไม่รู้วิธีที่จะเอามาปรับใช้ในวันที่ตัวเองเป็นกุนซือใหญ่อยู่ดี
1
ดังนั้น เชฟเชนโก้ จึงปฏิเสธข้อเสนอจาก คอนคอฟ แบบไม่ลังเล เหตุผลคือเพราะเขารู้ว่ามันเป็นงานที่ยากและใหญ่เกินไปกว่าประสบการณ์ที่เขามี นี่คืองานที่รีบเร่งเกินไป และหากเขาตอบตกลง เขาก็รู้ว่าตอนจบคงจะไม่สวยงามเหมือนกับที่คนอื่น ๆ หวังจากเขาอย่างแน่นอน
"การคุมทีมชาติเป็นงานที่เร่งรัดตัวของผมมากเกินไป ผมขอขอบคุณ FFU ที่เห็นคุณค่าในตัวของผม แต่ผมหวังว่าทุกคนจะยอมรับการตัดสินใจของผมด้วยความเข้าใจ ผมขอโทษที่ต้องปฏิเสธตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้" เชฟเชนโก้ ว่าไว้เช่นนั้น และดูเหมือนว่าเขาจะคิดถูกที่ไม่รับเผือกร้อนโดยไม่จำเป็น
เก่งแค่ไหนหากไม่เรียนรู้ก่อนลงมือจริงก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ เชฟเชนโก้ ปฏิเสธการคุมทีมทุกระดับและเดินหน้าเข้าศึกษาหลักสูตรการเป็นโค้ชที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า เขาทำมันพร้อม ๆ กับการเดินทางไปดูการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงของสโมสรต่าง ๆ เพื่อเอาสิ่งที่เรียนมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก่อนจะพยายามดัดแปลงให้เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเองให้มากที่สุด
1
ยิ่งเรียน ยิ่งค้นคว้า เขากลับยิ่งชื่นชอบโลกของการเป็นโค้ชในแบบที่ไม่เคยได้รู้จัก เชฟเชนโก้ เข้าใจถึงวิธีการเป็นโค้ชเป็นอย่างดี เพราะนี่คือตำแหน่งที่ได้รับคำชมน้อยเมื่อทีมชนะ แต่เมื่อทีมเป็นฝ่ายแพ้โค้ชคือคนแรกที่ต้องรับผิดชอบแทนลูกทีมทุกคน มันคืองานที่เครียดกว่าที่เขาเคยเข้าใจและเขาคิดว่าบางทีอาจจะพร้อมแล้วสำหรับโลกใบใหม่นี้
"ผมพยายามมองหาความตึงเครียดในการใช้ชีวิตบ้าง ผมคิดว่าบางครั้งการอยู่สบาย ๆ ทำให้ร่างกายหมดไฟ เพราะคุณไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรเลย มันสบายเกินไป ซึ่งผมคิดว่านั่นไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของผม" เชฟเชนโก้ กล่าว
4 ปีเต็ม ๆ ที่ร่ำเรียนวิชาโค้ชและอยู่บนอัฒจันทร์เพื่อศึกษาฟุตบอลในฐานะ "นักวางกลยุทธ์" เชฟเชนโก้ คิดว่าเขาคงพร้อมแล้วสำหรับการเป็นโค้ช
งานแรกของเขาคือการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติยูเครน ในปี 2016 ที่ ณ ตอนนั้นมีกุนซือใหญ่ที่ชื่อว่า มิไคโล โฟเมนโก้ งานของเขาเริ่มต้นขึ้นในยูโร 2016 และผลงานของทีมชาติก็ออกมาไม่ค่อยดีนัก โฟเมนโก้ พาทีมตกรอบแรกในยูโร 2016 และเมื่อตำแหน่งว่าง FFU ได้สอบถามมายังเชฟเชนโก้อีกครั้งว่าเขาต้องการรับตำแหน่งสุดสำคัญนี้หรือไม่ ... หนนี้เขาตอบตกลง เขาอยากทำงาน และเอาความรู้ที่หอบมาเป็นกระบุงมาปรับใช้ในสถานการณ์จริงเสียที
ผสมออกมาเป็น "เชว่าสไตล์"
1
มุมมองและประสบการณ์ของ เชฟเชนโก้ ในครั้งนี้โตขึ้นมาก เขาเริ่มจากการแก้ไขหลังบ้านด้วยการของบประมาณจาก FFU เพื่อจ้างทีมงานคุณภาพที่เขาไว้ใจ เขาไม่ได้จ้างโค้ชยูเครนเหมือนกับที่ โฟเมนโก้ ทำ แต่ เชว่า ร้องขอทีมสตาฟมาจาก อิตาลี อย่าง เมาโร ทัสซ็อตติ อดีตมือขวาของ คาร์โล อันเชล็อตติ ผู้เคยร่วมงานกับเขาสมัยเป็นนักเตะที่ มิลาน นอกจากนี้ยังมี ราอูล ริอานโช่ และ อันเดรีย มัลเดร่า ที่เคยทำงานเป็นผู้ดูแลทีมเยาวชนของ มิลาน เช่นกัน
ข้อได้เปรียบของการเป็นนักเตะดังของ เชฟเชนโก้ คือเขามีคอนเน็คชั่นที่มีคุณภาพจากคนฟุตบอลฝีมือดีในอดีตที่เขาเคยร่วมงานมา แม้เขาจะไม่ได้มีประสบการณ์เป็นโค้ชใหญ่เหมือนกับกุนซือหลาย ๆ คนของยูเครนในอดีต แต่ก็แลกมาซึ่งมุมมองและวิธีคิดในแบบมืออาชีพ และล้ำสมัยมากกว่าที่เคยเป็น
เชฟเชนโก้ เอาวิธีของนายเก่าที่เคยร่วมงานกันมาผสมผสานจนออกมาเป็นสไตล์ของตัวเอง เขาจดจำวิธีการใช้ "ดาต้า" หรือข้อมูลทางตัวเลขและสถิติ ของ โลบานอฟสกี กุนซือผู้ได้ฉายาว่า "The Scientist" (นักวิทยาศาสตร์) มาใช้ในการทำทีมยูเครนของเขา
เชฟเชนโก้ ให้ความสำคัญมากกับการเจาะลึกลงไปในรายละเอียด เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกนำเข้ามาใช้ในแคมป์เก็บตัวทีมชาติยูเครน ทั้งการนำโดรนบินบันทึกภาพการซ้อมทั้งหมด เพื่อให้เห็นข้อผิดพลาดชัดขึ้นจากมุมมอง Bird Eye View นอกจากนี้ ยังนำเอาเครื่องไม้เครื่องมือระบบ GPS ขั้นสูงมาใช้กับนักฟุตบอลเพื่อวัดการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนที่ของนักเตะ เพื่อให้ได้รู้ถึงตัวเลขสถิติเชิงลึกกว่าที่เคย
1
เชฟเชนโก้ ยังขอให้ FFU อนุมัติงบประมาณในการจ้างทีมวิเคราะห์ด้านเทคนิคมาเพิ่ม มีการตัดต่อคลิปวีดีโอการซ้อมของผู้เล่นแต่ละคนโดยละเอียด เพื่อชี้ให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่นักเตะของเขาทำผิดพลาด และหาวิธีแก้ไขร่วมกัน
ส่วนเรื่องการวางแผนและแทคติกการเล่นนั้น เชฟเชนโก้ ก็ถือว่าเป็นกุนซือที่จับทางยากคนหนึ่ง ยูเครน ในมือของเขา ใช้ระบบการเล่นที่ไม่ตายตัว ยืดหยุ่นไปตามคู่แข่งที่เจอ พวกเขาใช้แผนการเล่นหลักในระบบ 4-3-3 แต่ในรายละเอียดเบื้องลึกนั้นซับซ้อนมาก เขาเคยบอกว่าทีมของเขาใช้ตำแหน่งผู้เล่นแปลกอย่าง ๆ "False 9" (กองหน้าตัวกลางยืนต่ำ), "Asymmetric wingers" (ปีกสองข้างยืนตำแหน่งไม่เท่ากัน) และอื่น ๆ อีกมากมาย
แนวทางที่ เชฟเชนโก้ ต้องการจะเห็นจากทีม คือพวกเขาจะต้องเป็นทีมที่มีพละกำลังแข็งแกร่ง รู้จักคุณภาพของตัวเองดีว่าไม่สามารถขึงเกมบุกใส่ใครได้ ทีมของเขาจึงต้องเล่นโต้กลับโดยใช้จังหวะการเล่นให้น้อยที่สุด
ครองบอลให้น้อย มีประสิทธิภาพให้มาก ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ ยูเครน ของเชฟเชนโก้ เคยใช้เกมสวนกลับเล่นงานคู่แข่งจนชนะ โปรตุเกส และ สเปน รวมถึงการยันเสมอแชมป์โลกอย่างฝรั่งเศสมาแล้ว
หากถามว่าเขาได้วิธีการเล่นแบบ "บอลรอง" มาจากใคร เชว่า อาจจะไม่ได้เฉลยโดยตรง แต่เขาก็ยอมรับว่าแม้ในช่วงเวลาที่เป็นลูกทีมของ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ เชลซี ตัวของเขาจะประสบความสำเร็จมาก แต่เขาก็ได้เรียนรู้ถึงกลยุทธ์ตีหัวเข้าบ้านมาจากกุนซือชาวโปรตุกีส ที่เคยพาทีมรองบ่อนอย่าง เอฟซี ปอร์โต้ คว้าแชมป์สโมสรยุโรปมาได้ 1 สมัย
นอกจากนี้ เชฟเชนโก้ ยังถือว่าเป็นอดีตนักเตะที่ดูแลร่างกายและรูปร่างของตัวเองได้ดีไม่ต่างกับตอนเป็นนักเตะอาชีพ เขาไม่ได้อ้วนฉุลงพุงเมื่อเลิกเล่น แต่กลับฟิตเหมือนกับตอนค้าแข้ง ซึ่งการทำเช่นนี้มีเหตุผล เพราะเขาต้องการให้ตัวเองเข้าไปเป็น 1 ในผู้เล่นในการซ้อมร่วมกับลูกทีมของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิ่งวอร์มในตอนเริ่มต้น การลงซ้อมทีมแบบ Small Size Game หรือกระทั่งการซ้อมเสมือนจริงแบบลงแข่ง 11 vs 11 เชว่า จะเอาตัวเองลงไปอยู่ในสนาม เพราะต้องการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบ 360 องศา
1
ขณะที่ส่วนสุดท้ายคือการ "ทำทีมให้เป็นทีม" เพราะงานสำคัญที่สุดของโค้ช โดยเฉพาะโค้ชระดับทีมชาตินั้นคือการทำให้ทีมมีความเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนเข้าใจจุดมุ่งหมาย และมีวิธีการที่ตรงกัน เพราะเมื่อทุกคนเกิดความรู้สึกเป็นทีมเมื่อไหร่ การทำงานของโค้ชก็จะง่ายขึ้น เขาสามารถใส่แทคติกและเทคนิคที่ตัวเองต้องการลงไปได้โดยที่นักเตะรับฟังและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
บรรยากาศในทีมชาติยูเครนยุคเชฟเชนโก้ ถูกบอกเล่าผ่าน โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ นักเตะชาวยูเครน ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่บอกว่านี่คือบรรยากาศของทีมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าตัวของ ซินเชนโก้ จะเพิ่งแพ้ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปี 2021 กับต้นสังกัด แต่เมื่อเข้าแคมป์เก็บตัวกับทีมชาติ บรรยากาศในทีมช่วยให้เขาฟื้นฟูภาวะทางจิตใจได้อย่างรวดเร็ว
กฎในการสร้างทีมเวิร์กของ เชฟเชนโก้ นั้นไม่ซับซ้อน เขามักจะสร้างบรรยากาศสบาย ๆ และให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเตะใหม่ที่ไม่เคยติดทีมชาติ หรือตัวเก๋าตัวดังที่เป็นความหวังของทีม
ในแคมป์เก็บตัวของ ยูเครน ในยูโร 2020 ไม่อนุญาตให้นักเตะใช้โทรศัพท์ในช่วงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น นอกจากนี้เขายังละลายพฤติกรรมของนักเตะในทีมเพื่อทำให้แนใจว่า 2 นักเตะจาก 2 สโมสรต่างขั้วอำนาจในประเทศอย่าง ดินาโม เคียฟ และ ชัคตาร์ โดเนตส์ค จะไม่สร้างกลุ่มคู่แข่งภายในแคมป์ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
"ที่นี่เป็นเหมือนครอบครัวที่สองของพวกเรา ผมอาจจะเคยมีช่วงเวลา 2-3 วันที่แย่ที่สุดในชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ แต่หลังจากผมได้รับบรรยากาศจากแคมป์ทีมชาติ มันก็ทำให้ผมกลับมาอยู่ในสภาพจิตใจที่ดีเยี่ยมได้อย่างรวดเร็ว ทุก ๆ คนช่วยเหลือผมไว้อย่างมาก" ซินเชนโก้ กล่าว
หากใครติดตามยูโร 2020 และได้ชมการเล่นของ ยูเครน ตลอด 4 เกมที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าพวกเขาเป็นทีมที่ครองบอลน้อย และใช้จังหวะการจบสกอร์ได้เฉียบขาด เหนือสิ่งอื่นใดคือพวกเขาไม่ใช่ทีมที่ถอดใจง่าย ๆ นัดแรกกับ เนเธอร์แลนด์ พวกเขาพยายามสุดฤทธิ์แม้จะโดนนำ 0-2 แต่ก็ยังไล่ตีเสมอได้ 2-2 ก่อนจะโดนประตูท้ายเกมและเป็นฝ่ายแพ้ไป
ขณะที่เกมกับ สวีเดน ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายนั้น ยูเครน กลายเป็นทีมที่ได้ประตูในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของการต่อเวลาพิเศษ ช่วงที่ใครหลายคนมองว่าการดวลจุดโทษจะต้องมาถึง แต่พวกเขาก็ได้ประตูตัดสินเกมในนาทีที่ 120+1
จริงอยู่ที่ตอนนี้เราคงพูดได้ไม่เต็มปากว่า เชฟเชนโก้ ได้กลายเป็นยอดโค้ชไปแล้ว เพราะยังเหลืออีกหลายสิ่งให้ต้องพิสูจน์ และเขาก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นอาชีพเท่านั้น
อย่างไรก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าเขาเป็นนักเตะดังที่มีแววดีหลังจากผันตัวมาทำงานโค้ช เขารู้จักเรื่องของเวลาในการรับงานที่เหมาะสม เขาอยู่กับความเป็นจริงในการประเมินความสามารถของตัวเอง และรู้ว่ายังต้องเรียนรู้อะไรอีกบ้าง และที่สำคัญที่สุดเขาเริ่มเข้าใจว่าการสร้างทีมที่ดี นอกจากจะต้องใช้วิธีการเล่นที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเตะที่มีแล้ว เขายังต้องใส่ความเชื่อให้ลูกทีมของเขาว่า ไม่ว่าคู่ต่อสู้แข็งแกร่งขนาดไหน โอกาสชนะก็มีอยู่เสมอ
นี่คือสไตล์ของ อังเดร เชฟเชนโก้ ไม่ว่าเขาจะพา ยูเครน ไปได้ไกลมากกว่ารอบ 8 ทีมหรือไม่ ช่วงเวลาที่เหลือในทางสายโค้ชของเขาคนนี้ยังน่าติดตาม ไม่แน่เขาอาจจะกลายเป็นทั้งยอดนักเตะ และยอดโค้ชเหมือนกับที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า หรือ ซีเนดีน ซีดาน นักเตะรุ่น ๆ เดียวกับเขาทำสำเร็จมาแล้วก็เป็นได้
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา