14 พ.ค. 2022 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
“ปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)” จุดกำเนิดอุดมการณ์แบบอเมริกันชน
2
เรายึดถือข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมาเท่าเทียมกัน…
United States Declaration of Independence 1776
"ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข" เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ภาวะของโลกที่จักรวรรดินิยมกำลังต่อสู้กับความเท่าเทียม...
2
ภาวะของโลกที่กำลังตั้งคำถามกับสิทธิของความเป็นมนุษย์...
และภาวะของโลกที่กำลังค้นหาความหมายของคำว่าประเทศและรัฐชาติ...
การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เกิดเรื่องราวในดินแดนแห่งหนึ่งบนทวีปที่มีชื่อว่าอเมริกา
ดินแดนที่ถูกค้นพบโดยมหาอำนาจจากอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร...
2
ดินแดนที่ถูกมหาอำนาจนั้นเข้าครอบครอง และส่งคนอพยพเข้ามาสร้างสรรค์วัฒนธรรม...
1
วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนนี้มีความเหมือนกับมหาอำนาจที่เข้ามาครอบครอง...
แต่แล้ว มหาอำนาจนั้นกลับมองวัฒนธรรมในดินแดนนี้แตกต่างจากตัวเอง...
มุมมองของมหาอำนาจ ก็ทำให้ดินแดนนี้เริ่มมองตัวเองแตกต่างเช่นเดียวกัน...
ความแตกต่างที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามที่เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล...
การสำรวจทางทะเล...
การค้นพบโลกใหม่...
จักรวรรดิอังกฤษ...
13 อาณานิคม...
งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน...
การประกาศอิสรภาพ...
ความขัดแย้ง...
ความแตกต่าง...
จุดแตกหัก...
และนี่ คือเรื่องราว “ปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)” จุดกำเนิดอุดมการณ์แบบอเมริกันชน
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก Total wars และ 123RF
ย้อนกลับไปประมาณ 20,000 ปีที่แล้ว ผืนทวีปยักษ์ใหญ่อย่างเอเชียมีจุดที่เชื่อมกับอีกแผ่นทวีปที่อยู่ทางตะวันออก ซึ่งจุดนี้ในปัจจุบันเราจะเรียกว่า "ช่องแคบแบริ่ง"
จุดที่เชื่อมต่อกันนี้มีฝูงสัตว์สัญจรข้ามไปข้ามมาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะข้ามจากเอเชียไปอีกแผ่นทวีปหนึ่ง ทำให้มนุษย์ที่เป็นนักล่าจากเอเชียก็เดินทางตามล่าฝูงสัตว์จนเข้าสู่อีกทวีปหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้สะพานข้ามทวีปนี้ได้จมหายไปใต้ทะเล ตัดขาดทั้งสองทวีปออกจากกันอย่างถาวร
มนุษย์ที่ข้ามไปอีกทวีปถึงแม้จะหน้าตาแบบเอเชีย แต่การถูกตัดขาดก็ทำให้มีการสร้างสรรค์อารยธรรมของตัวเองที่แตกต่างจากเอเชียขึ้นมาทั่วทั้งทวีป
1
โดยเฉพาะทางตอนกลางและตอนใต้ลงไปที่มีอากาศอบอุ่น คนก็จะกระจุกตัวกันเยอะสร้างความเจริญแซงหน้ากลุ่มอื่นๆ โดยที่โดดเด่นมีอยู่ 3 พวกด้วยกัน คือ มายา อินคา และแอซเท็ก
1
ส่วนพวกที่อยู่ทางเหนือซึ่งอากาศหนาวหน่อย ก็จะมีคนอยู่แบบเบาบางและกระจายตัวเป็นเผ่าต่างๆ กว่า 1,000 เผ่า
กลุ่มคนเหล่านี้ทั้งทางเหนือ ทางตอนกลาง และทางใต้ต่างก็ใช้ชีวิตตามแบบวัฒนธรรมของตัวเองยาวนานกว่า 6,000 ปี
1
แต่แล้ว คลื่นความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มซัดมาถึง เมื่อมีกองเรือปริศนาจากอีกฟากของมหาสมุทรด้านตะวันออกได้เดินทางมาถึงส่วนหนึ่งของแผ่นทวีปที่พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่
1
กองเรือเหล่านั้นอยู่ใต้ธงที่เป็นของอาณาจักรสเปน และนำโดยกัปตันที่ชื่อว่า "คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส"
ภาพจาก National Park Services (สะพานเชื่อมสองทวีปเมื่อ 20,000 ปีที่แล้ว)
พื้นที่อารยธรรมแอซเท็ก มายา และอินคา
ภาพจาก The US (คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสและกองเรือสเปน)
คราวนี้ผมขอเล่าถึงที่มาก่อนว่าทำไมสเปนต้องเดินทางมาที่ทวีปแห่งนี้?
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณของยุโรป มีอารยธรรมคือกรีกโบราณ ซึ่งสร้างวิทยาการล้ำหน้าต่างๆ แล้วถ่ายทอดสู่โรมัน
1
และในช่วงโรมันก็เกิดเส้นทางการค้าทางบกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เส้นทางสายไหม (Silk Road)" ซึ่งเชื่อมการค้าของยุโรปกับเอเชีย...
แต่พอโรมันตะวันตกล่มสลายลงไป ยุโรปก็เข้าสู่ยุคกลางที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลควบคุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ด้วยอิทธิพลทางความเชื่อที่สูงปรี๊ด ทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาเกณฑ์คนยุโรปไปรบกับมุสลิมเพื่อแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เกิดเป็นสงครามครูเสดขึ้นมา
1
แต่ในท้ายที่สุด ฝ่ายที่ชนะคือเหล่ามุสลิม และผลลัพธ์นี้ก็ทำให้เส้นทางการค้าทางบกจากยุโรปไปเอเชียถูกบล็อกสนิท...
ยุโรปต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปมหาศาล อีกทั้งไม่สามารถซื้อสินค้ายอดนิยมอย่างพวกเครื่องเทศได้ (ถึงหาซื้อได้แต่ก็แพงมาก) ทำให้อาณาจักรต่างๆ ก็ต่างเริ่มคิดแล้วว่า "หากไปทางบกไม่ได้ เราก็ต้องลองไปทางน้ำดู"
2
คราวนี้ ก็เกิดการพัฒนาวิทยาการการเดินเรือแบบจริงจังโดยมีโปรตุเกสเป็นผู้บุกเบิกพยายามเดินเรือลงใต้อ้อมทวีปแอฟริกาหาทางไปอินเดียและจีน
ซึ่งระหว่างที่โปรตุเกสกำลังเดินเรืออ้อมแอฟริกา ก็มีชายชาวอิตาลีชื่อว่า "คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส" เสนอแผนการเดินเรือของตัวเองกับกษัตริย์สเปนว่า "เราไม่จำเป็นต้องเดินเรือตามโปรตุเกส แต่เราจะใช้เส้นทางใหม่คือเดินเรือไปทางตะวันตกซึ่งสามารถไปถึงจีนและอินเดียได้เหมือนกัน"
โดยความคิดของโคลัมบัสถือว่าบ้ามากในยุคนั้น เพราะคนต่างมีความเชื่อฝังหัวว่า "โลกนี้มันแบน ถ้าเดินเรือไปทางตะวันตกเรื่อยๆ จะทำให้ตกขอบโลกได้!"
แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้โปรตุเกสนำหน้าไปไกล สเปนก็ต้องทำอะไรซักอย่าง เลยตัดสินใจยอมให้โคลัมบัสนำกองเรือไปทางตะวันตก (แต่ก็ไม่ได้มั่นใจซักเท่าไหร่)
โคลัมบัสล่องเรืออยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกนาน 3 เดือน จนพบแผ่นดินในที่สุด และโคลัมบัสก็เข้าใจไปเองว่า "แผ่นดินที่พบคือเอเชีย" อีกทั้งยังเรียกชนพื้นเมืองที่อยู่บนแผ่นดินนั้นว่า "อินเดียน" อีกด้วย
การค้นพบของโคลัมบัสถือเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมไปทั่วยุโรป แต่พอสเปนส่งคนไปสำรวจเรื่อยๆ ก็กลับไม่พบวี่แววของจีนหรืออินเดียเลยซักนิดเดียว ทำให้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า "แผ่นดินที่โคลัมบัสพบมันใช่เอเชียจริงๆ หรือเปล่า?"
1
แต่โคลัมบัสที่เข้าไปสำรวจอีก 3 ครั้งก็ยังยืนยันหัวชนฝาว่า “นี่คือเอเชียจริงๆ!” จน ค.ศ.1506 ที่โคลัมบัสเสียชีวิต ก็ยังเข้าใจว่าแผ่นดินตรงนี้คือเอเชีย...
2
และแล้วในเวลาต่อมา ก็มีนักสำรวจที่ชื่อ "อเมริโก เวชปุชชี่" เข้าไปสำรวจแล้วยืนยันว่า "แผ่นดินนี้ไม่ใช่เอเชีย แต่เป็นทวีปใหม่ที่พวกเราชาวยุโรปพึ่งค้นพบแน่นอน 100%"
1
แล้วคำยืนยันนี้ก็ถูกตีพิมพ์ ทำให้คนยุโรปเริ่มเข้าใจว่าแผ่นดินนี้คือโลกใหม่สำหรับพวกเขา และให้ชื่อของทวีปตามชื่อของอเมริโกว่า "อเมริกา (America)" นั่นเอง
1
ภาพจาก Wikipedia (การเดินเรือของโคลัมบัสทั้ง 4 ครั้ง)
ภาพจาก Wikimedia Commons (อเมริโก เวชปุชชี่)
และแล้ว การเข้าใจว่านี่คือทวีปใหม่สำหรับยุโรปก็เกิดการสำรวจแบบจริงจังกว่าเดิม จนได้รู้ว่าในอเมริกามีอารยธรรมที่เจริญอยู่แล้วอย่างมายา อินคา และแอซเท็ก
2
ในตอนแรกนั้นคนยุโรปก็พยายามผูกมิตรกับชนพื้นเมืองเหล่านี้อย่างดิบดี แต่ในเวลาต่อมาดันพบว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้มีขุมทรัพย์มหาศาลที่เรียกว่าทองอยู่ในอาณาจักรเต็มไปหมด
1
การรับรู้นี้ ทำให้ดึงดูดทั้งนักแสวงโชคและทหารรับจ้างเข้ามาถล่มอาณาจักรเหล่านี้จนย่อยยับในเวลาไม่ถึง 100 ปีเลยล่ะครับ...
2
ทางตอนกลางและตอนใต้ ของทวีปก็ถูกสเปนเข้ายึดอย่างรวดเร็ว มีการอพยพทั้งคนยุโรปและทาสผิวดำเข้าสู่อเมริกาอย่างมหาศาล
1
ดูเหมือนว่าพื้นที่ในส่วนอารยธรรมของทวีปนั้นเริ่มถูกสำรวจและเข้ายึดครองจนพรุนไปหมดแล้ว แต่ทางด้านเหนือขึ้นไปนั้นกลับมีการสำรวจน้อยมากเพราะอากาศหนาวและไม่มีสิ่งดึงดูดเช่นทองเหมือนกับทางตอนกลางและตอนใต้
การสำรวจทางเหนือนั้นในตอนแรกก็เป็นการตามหาทองเช่นเดียวกัน โดยใน ค.ศ.1513 พอน เดอซ์ ลิออง นำเรือสเปนออกตามหาน้ำพุแห่งความเยาว์วัย ซึ่งเป็นตำนานที่ได้ยินมาจากชนพื้นเมือง ว่าเป็นน้ำพุที่สามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด และรอบๆ น้ำพุก็มีทั้งทองและเพชรนิลจินดากองอยู่
โดยพอน เดอซ์ ลิออง ก็ล่องเรือหาน้ำพุในตำนานแล้วก็ไปพบกับแผ่นดินเข้า (แต่ไม่พบน้ำพุ) ซึ่งแผ่นดินที่ว่านี้คือฟลอริดาในปัจจุบันนั่นเอง
2
หรือใน ค.ศ.1541 เด โซโต ก็เริ่มสำรวจทางเหนือเพื่อค้นหานครแห่งทองคำทั้งเจ็ด จนล่องเข้าไปในแม่น้ำสายยาว (ในเวลาต่อมารู้จักในชื่อแม่น้ำมิสซิสซิปปี) แต่ล่องไปได้ไม่ไกลก็ถูกชนพื้นเมืองโจมตีอย่างหนักจนเด โซโต ถูกฆ่าตายแบบที่ไม่เห็นนครทองคำซักเสี้ยวเดียว...
1
หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน โคโรนาโด นำกองเรือสเปนตามหานครทองคำเหมือนกัน แล้วก็ไปพบกับแม่น้ำสายหนึ่งที่นำพาคณะไปพบกับภูมิประเทศอันพิศวง (ในเวลาต่อมารู้จักในชื่อแม่น้ำโคโลราโด และภูมิประเทศที่เรียกว่าแกรนด์แคนยอน) ความผิดหวังของคณะสำรวจทำให้ต้องตัดใจเดินทางกลับในที่สุด...
จะเห็นได้ว่าการสำรวจของสเปนในทางเหนือนั้นมักตามกลิ่นของทองมากกว่าเข้าไปบุกเบิกดินแดนแบบจริงๆ จังๆ แต่ยังไงก็ตามการครอบครองทั้งตอนกลางและตอนใต้ก็มากพอที่ทำให้สเปนเป็นมหาเศรษฐีของโลก
แต่แล้วในเวลาไม่นาน ก็เกิดคู่แข่งมากหน้าหลายตาทั้งดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษเข้ามาสำรวจอเมริกาเช่นเดียวกันกับสเปน โดยเจาะทางด้านเหนือที่สเปนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่...
อย่างฝรั่งเศสก็เข้าสำรวจแล้วยึดดินแดน พร้อมตั้งอาณานิคมของตัวเองที่ชื่อว่า "นิวฟรานซ์ (New France)" โดยมีเมืองควิเบกเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันอยู่ในแคนาดา) และเข้าสำรวจแม่น้ำมิสซิสซิปปียึดดินแดนที่พบพร้อมตั้งชื่อว่าลุยเซียนา
หรืออังกฤษที่เริ่มสนใจอเมริกาเหนือเหมือนกันก็พยายามเข้ามาสำรวจ แต่ด้วยความที่อังกฤษเข้ามาช้ากว่าเพื่อน ทำให้ถูกกีดกันจากทั้งสเปนและฝรั่งเศสอย่างดุเดือด
2
อังกฤษพยายามสร้างอาณานิคมของตัวเองที่นิวฟันแลนด์และเกาะโรน็อค แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะถูกทั้งสเปนและชนพื้นเมืองขวางคออยู่...
1
แต่จุดเปลี่ยนเกมก็มาถึงในช่วงควีนอลิซาเบธที่ 1 ของอังกฤษ ที่ความขัดแย้งของอังกฤษกับสเปนถึงจุดปรอทแตก จนเกิดเป็นยุทธนาวีครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "สงครามอาร์มาดา (Spanish Armada)"
และสงครามนี้ก็ทำให้โลกตะลึงไปตามๆ กัน เพราะใครจะคิดล่ะครับว่ามหาอำนาจทางทะเลอย่างสเปนจะรบแพ้อังกฤษแบบยับเยิน...
ชัยชนะในอาร์มาดา ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลแทนที่สเปนในทันที รวมถึงเป็นการกำจัดก้างชิ้นใหญ่อย่างสเปนให้ออกไปจากโปรเจกต์การสร้างอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนืออย่างเด็ดขาด...
ภาพจาก ThingLink (การสำรวจอเมริกาเหนือของยุโรป)
ภาพจาก WallpaperSafari (Spanish Armada)
ภาพจาก Mary Klann (แผนที่อาณานิคมในอเมริกาเหนือ ค.ศ.1750)
คราวนี้เราลองมาดูเหตุผลกันว่า ทำไมอังกฤษต้องดึงดันในการสร้างอาณานิคมบนอเมริกาขนาดนั้น
2
แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องทองที่ดึงดูดอังกฤษ เพราะในอเมริกาเหนือที่สำรวจในตอนนั้น อย่าว่าแต่เมืองทองคำเลยครับ แค่ทองคำธรรมดายังหาได้ยากมากๆ (ตอนนั้นยังไม่พบขุมทองในแคลิฟอเนียร์)
เหตุผลจริงๆ คืออังกฤษมีการเติบโตเร็วแบบพรวดพราด โดยเฉพาะจำนวนประชากรที่แทบล้นเมือง ทำให้รัฐบาลต้องหาพื้นที่ทำกินใหม่ๆ ให้ประชาชน ซึ่งอเมริกาเหนือนี่แหละเหมาะที่สุด
1
ทำให้หลังศึกอาร์มาดา อังกฤษก็สำรวจอเมริกาเหนือแบบจริงจังว่ามีจุดไหนบ้างที่พอจะสร้างที่ทำมาหากินได้
และแล้วก็พบดินแดนที่อยู่ชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่ โดยอังกฤษตั้งชื่อว่าแม่น้ำเจมส์ และตั้งชื่อดินแดนว่า เวอร์จิเนีย (Virginia) พร้อมอพยพคนเข้ามาตั้งรกรากสร้างเมืองที่ชื่อว่าเจมส์ทาวน์ขึ้นมาจนกลายเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษในอเมริกาเหนือ
1
และในเวลาต่อมาก็อพยพคนเข้ามาอีก พร้อมกับขนทาสผิวดำมาใช้แรงงานแบบครบวงจร ทำให้เวอร์จิเนียเติบโตอย่างรวดเร็ว
อาณานิคมในอเมริกาของอังกฤษได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด มีประชากรที่อยากอพยพเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินในอังกฤษ...
หรือนักแสวงโชคที่ต้องการแสวงหาทอง...
นักผจญภัยที่ต้องการความตื่นเต้นเร้าใจ...
พ่อค้าที่หวังความร่ำรวยในอเมริกา...
หรือแม้กระทั่งพวกที่เบื่อการปกครองและกฎที่เข้มงวดในอังกฤษ อยากมีชีวิตที่อิสระเสรี (พวกนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่จะเป็นหัวหอกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอนาคต)
ความต้องการอพยพไปอาณานิคมที่สูงเกินคาดนี้ ทำให้อังกฤษเร่งบุกเบิกดินแดนและสร้างอาณานิคมเพิ่มในเวลาไล่เลี่ยกันจนขยายไปอีก 12 อาณานิคม ซึ่งเรียงยาวอยู่ตลอดชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือ
หากรวมกับเวอร์จิเนีย อาณานิคมของอังกฤษก็จะมี 13 อาณานิคม โดยมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน...
กล่มที่ 1 จะอยู่ตอนเหนือ เรียกว่า "นิวอิงแลนด์ (New England)" ประกอบไปด้วย แมสซาชูเซตส์ โรดไอแลนด์ คอนเนกติคัต และนิวแฮมเชียร์
กลุ่มที่ 2 จะอยู่ตอนกลาง ได้แก่ นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี เพนซิลเวเนีย และเดลาแวร์
1
กลุ่มที่ 3 จะอยู่ตอนใต้ ได้แก่ เวอร์จิเนีย แมรีแลนด์ นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา และจอร์เจีย
2
แน่นอนว่าประชากรรุ่นแรกที่อยู่ในอาณานิคมส่วนใหญ่นั้นเป็นคนที่มาจากอังกฤษ ทำให้มีวัฒนธรรมแบบอังกฤษตามไปด้วย
แต่ประชากรในเจนต่อๆ มาที่ไม่ได้มีความผูกพันกับอังกฤษ เพราะเกิดที่ 13 อาณานิคม ก็เริ่มเห็นแล้วว่า อังกฤษไม่ได้มอง 13 อาณานิคมเป็นดินแดนที่เท่าเทียมกับอังกฤษ
อีกทั้งอังกฤษยังมักเอาเปรียบในเรื่องการค้าและการเก็บภาษี ทำให้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มเกิดรอยร้าวเล็กๆ ระหว่างอังกฤษกับ 13 อาณานิคมขึ้นมา...
ภาพจาก Britannica (13 อาณานิคม)
ในช่วงศตวรรษที่ 18 กระแสที่เรียกว่า พาณิชยนิยม (Mercantilism) กำลังมาแรงในยุโรป โดยเป็นลักษณะนโยบายที่ชาติต่างๆ ต้องแข่งกันค้าขายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของตัวเอง แล้วนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนากองทัพ เพื่อใช้ขยายดินแดนค้าขายของตัวเองออกไปอีกที
1
ซึ่งพื้นที่การค้าและตัวสร้างเม็ดเงินที่สำคัญให้กับอังกฤษคงไม่พ้น 13 อาณานิคม โดยมีลักษณะ 3 in 1 ที่เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบ แหล่งผลิตสินค้า และตลาด ทำให้อังกฤษมีการออกกฎหมายควบคุมต่างๆ นานา
ไม่ว่าจะเป็นการห้าม 13 อาณานิคมค้าขายกับชาติอื่นนอกจากอังกฤษ...
บังคับให้ชาวอาณานิคมซื้อสินค้าจากอังกฤษ ทั้งที่บางสิ่งบางอย่างไม่ใช่สินค้าที่ชาวอาณานิคมต้องการ...
หรือแม้กระทั่งบล็อกสินค้าจากชาติอื่นไม่ให้ไหลเข้ามาใน 13 อาณานิคม...
ในช่วงแรกๆ นั้นชาวอาณานิคมก็ยังพอทนได้ แต่ในเวลาต่อมา อังกฤษก็กดราคาสินค้าของอาณานิคมแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เงินที่ชาวอาณานิคมได้ก็ไม่สมเหตุสมผลกับแรงที่ใช้ไป ทำให้มีการลักลอบขายสินค้ากับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศส
คราวนี้เลยทำให้อังกฤษเริ่มเพ่งเล็งฝรั่งเศสว่าจะขยายอิทธิพลของตัวเองเข้ามาในอาณานิคมของอังกฤษ อีกทั้งอังกฤษก็อยากขยายอาณานิคมของตัวเองเข้าไปทางตอนในของทวีป แต่ดันมีนิวฟรานซ์กับลุยเซียนาของฝรั่งเศสบล็อกทางเอาไว้อยู่
ความตึงเครียดทำให้เกิดการปะทะกันประปรายระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือ และพุ่งสู่จุดพีคใน ค.ศ.1754
โดยเริ่มที่ฝรั่งเศสเข้าฮุบดินแดนซึ่งเป็นหุบเขาโอไฮโอ แต่อังกฤษดันบอกว่า "ดินแดนตรงนี้อังกฤษเคลมเอาไว้ตั้งนานแล้วนะ!"
ว่าแล้วอังกฤษก็ส่งกองกำลังของชาวอาณานิคมที่นำโดยชายที่ชื่อว่า "จอร์จ วอชิงตัน" และกองกำลังของตัวเองที่นำโดย "เอ็ดเวิร์ด แบรดด็อก" เข้าไปบวกกับฝรั่งเศส
แต่ฝรั่งเศสที่วางแผนไว้อย่างดีมีการจับมือกับชนพื้นเมือง แล้วลอบโจมตีทัพของวอชิงตันกับแบรดด็อกกลางทาง ทำให้ทัพผสมแตกกระเจิงไม่เป็นท่าและแบรดด็อกถูกลูกปืนยิงจนตาย...
1
การแพ้อย่างยับเยินของอังกฤษ ทำให้ชนพื้นเมืองที่ร่วมมือกับฝรั่งเศสก็เข้าไปปั่นป่วน 13 อาณานิคม ทั้งดักปล้นและรุมทำร้าย
1
แต่เหมือนความโกรธแค้นของชาวอาณานิคมจะไม่ได้อยู่กับฝรั่งเศสหรือชนพื้นเมือง แต่กลับไปตกอยู่ที่อังกฤษแล้วเริ่มโจมตีรัฐบาลอังกฤษอย่าง
หนักว่า "พวกเราจ่ายภาษีไปตั้งเยอะ แต่อังกฤษดันปกป้องคุ้มครองเราไม่ได้เลยซักนิดเดียว!"
2
คราวนี้ทำให้อังกฤษเลยต้องวางแผนแบบจริงจังส่งกองกำลังจากแผ่นดินแม่เข้ายึดป้อมต่างๆ ของฝรั่งเศสในนิวฟรานซ์ แล้วอีกฟากหนึ่งก็เข้าบวกกับฝรั่งเศสในหุบเขาโอไฮโอในปี 1759
1
ฝรั่งเศสที่เริ่มเสียเปรียบก็ไปคุยกับสเปนว่า "มาช่วยหน่อย!" ซึ่งอังกฤษนั้นรู้อยู่แล้วเลยรีบปิดเกม ส่งทัพเรือเข้าถล่มควิเบกของฝรั่งเศส แล้วส่งอีกทัพเข้าถล่มคิวบาที่เป็นของสเปน ทำให้ใน ค.ศ.1763 สงครามก็ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ ซึ่งเหมือนเป็นการตอกย้ำว่าในตอนนี้ อังกฤษคือมหาอำนาจอันดับหนึ่งของยุโรปจริงๆ
ความพ่ายแพ้ทำให้ฝรั่งเศสถูกถีบออกไปจากอเมริกาเหนือ หมดอำนาจในนิวฟรานซ์แบบถาวร...
และอังกฤษก็ได้พิสูจน์ให้ 13 อาณานิคมเห็นว่าตัวเองสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับชาวอาณานิคมได้ และภาษีที่จ่ายมาคุ้มค่าอย่างแน่นอน...
1
เครดิตความเชื่อมั่นเริ่มกลับคืนมา แต่ศัตรูสำคัญอีกกลุ่มอย่างชนพื้นเมืองยังไม่ถูกจัดการ ในปี 1763 เหล่าชนพื้นเมืองที่ไม่อยากให้คนขาวขยายดินแดนเลยพื้นที่ทำกินของตัวเองก็เข้าโจมตีชายแดนของ 13 อาณานิคมอย่างต่อเนื่อง
อังกฤษที่ไม่อยากให้ปัญหาลุกลามยุ่งยากเลยออกกฎห้ามไม่ให้ชาวอาณานิคมขยายดินแดนลุกล้ำเข้าไปในเขตชนพื้นเมือง...
คราวนี้เหมือนความต้องการของ 13 อาณานิคมและอังกฤษมาถึงจุดที่สวนทางกันอย่างเด็ดขาด
2
ชาวอาณานิคมเริ่มตั้งคำถามว่า "ทำไมเราไม่มีสิทธิ์ขยายดินแดนของตัวเองได้ตามใจชอบ"
หรือ "ทำไมต้องมีคนที่มาคอยบงการเรา ทั้งที่คนนั้นเอารัดเอาเปรียบเราอยู่ตลอดเวลา"
ภาวะความไม่พอใจที่เกิดขึ้น อังกฤษก็ไม่ได้สนใจแก้ไขแบบจริงจัง รอยร้าวที่ปริออกก็เริ่มขยายใหญ่โตขึ้นจนพร้อมจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ...
ภาพจาก Pittsburgh Tribune-review (การตายของแบรดด็อก)
ภาพจาก The Heritage Post (การบุกควิเบกของอังกฤษ)
ภาพจาก PBS (การโจมตีของชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านการขยายดินแดนของคนขาว)
สงครามที่ยาวนานถึง 9 ปีกับฝรั่งเศส ทำให้อังกฤษเสียเงินไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว อังกฤษเลยต้องเร่งหาเงินชดเชยในส่วนที่เสียไป ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเก็บภาษีชาวอาณานิคมเพิ่ม
เหมือนเป็นการราดน้ำมันใส่กองไฟ ชาวอาณานิคมที่ไม่พอใจอังกฤษอยู่แล้วก็เดือดยิ่งกว่าเดิม! อังกฤษที่เห็นท่าไม่ดีก็เริ่มส่งกองกำลังทหารเข้าแทรกแซงเมืองต่างๆ และสั่งลาดตระเวนอยู่ตลอดเวลา
หลังจากนั้นก็ออกกฎหมายอย่างรัวๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายน้ำตาลที่เก็บภาษีอ้อยและกากน้ำตาล...
กฎหมายเลี้ยงดูทหารอังกฤษ ที่เก็บเงินชาวอาณานิคมมาเลี้ยงกองทัพที่เข้ามาลาดตระเวนจับตาดูชาวอาณานิคมเองนั่นแหละ...
และที่หนักสุดคือกฎหมายอากรสแตมป์ ที่ให้ชาวอาณานิคมติดอากรสแตมป์ในสินค้าทุกชนิด ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะต้องเสียเงินซื้อสแตมป์ (แต่ราคาสินค้าของชาวอาณานิคมก็ยังถูกกดให้ต่ำเหมือนเดิม)
คราวนี้แหละครับ ชาวอาณานิคมต่างคิดว่ามันชักจะมากเกินไปหน่อย! เมืองต่างๆ เริ่มก่อม๊อบประท้วงต่อต้านกฎหมายเหล่านี้ พร้อมเรียกร้องว่า "ให้ชาวอาณานิคมมีผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาอังกฤษด้วย เพื่อให้การออกกฎหมายยุติธรรมต่อชาวอาณานิคม"
1
พร้อมมีการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า "หากไม่มีผู้แทน เราจะไม่ยอมเสียภาษีเด็ดขาด!"
อีกทั้งยังมีกลุ่มหัวรุนแรงที่ชื่อว่า "Son of Liberty" สร้างความวุ่นวายทั้งเผาอากรสแตมป์ และล่าแม่มดกระทืบคนที่เข้าข้างอังกฤษ
1
เหล่าพ่อค้าที่เสียประโยชน์จากอากรสแตมป์ก็ต่างพร้อมใจกันคว่ำบาตรสินค้าจากอังกฤษ
1
การต่อต้านที่หนักหน่วงทำให้อังกฤษยกเลิกกฎหมายอากรสแตมป์ในที่สุด การต่อต้านเลยเริ่มซาลงไปบ้างในปี 1765
2
แต่ในปีต่อมาก็ออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มอีก ทั้งกระดาษ แก้ว สี ตะกั่ว และใบชา ซึ่งก็เกิดการต่อต้านอยู่บ้างแต่ไม่หนักเท่าอากรสแตมป์...
1
จนในปี 1770 ดันเกิดเหตุการณ์ขึ้นในบอสตันที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งปาหิมะใส่ทหารอังกฤษแบบขำๆ แต่ทหารอังกฤษไม่ได้ขำด้วยและคิดว่าถูกลอบทำร้ายเลยตะโกนบอกเพื่อนทหารคนอื่นๆ แต่ทหารคนอื่นดันได้ยินผิดว่าเป็นการสั่งยิง เลยบรรจุกระสุนระดมยิงชาวบ้านตายไป 5 คน และสาหัสอีก 3 คน...
2
คราวนี้แหละครับ เหมือนเป็นการสั่นระฆังเวทีมวย การนองเลือดได้เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด ชาวอาณานิคมในบอสตันเดือดเป็นไฟและก่อม๊อบเข้าปะทะขับไล่ทหารอังกฤษออกจากบอสตัน...
2
อีกทั้งในเรื่องของการค้าก็ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อสินค้ายอดฮิตอย่างใบชาแพงเกินไปเพราะภาษี ชาวอาณานิคมเลยแอบไปซื้อใบชาจากดัตช์
ทำให้ในปี 1773 อังกฤษออกกฎหมายใบชา เพื่อให้อังกฤษนำใบชาเข้ามาในอาณานิคมโดยไม่ต้องเสียภาษี และบังคับให้ชาวอาณานิคมซื้อใบชาของตัวเอง
1
การบังคับขู่เข็ญพร่ำเพรื่อ ทำให้ชาวอาณานิคมคว่ำบาตรใบชาของอังกฤษ และกลุ่ม Son of Liberty ก็ปลอมตัวเป็นชนพื้นเมืองยึดเรือขนใบชาที่อยู่ในบอสตัน แล้วโยนหีบชาทิ้งลงทะเลกว่า 342 หีบ โดยเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party)" ซึ่งทำให้อังกฤษเสียทั้งหน้าเสียทั้งเงิน
2
อังกฤษที่โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงจึงสั่งปิดท่าเรือบอสตัน แล้วส่งทหารเข้าไปควานหาหัวโจกโยนหีบชา พร้อมกับเพิ่มกองกำลังของตัวเองเข้าไปในทุกอาณานิคม (ซึ่งแน่นอนว่าค่าบำรุงทหารก็ต้องเพิ่มขึ้น)
ทำให้ในปี 1774 ชาวอาณานิคมจึงต้องส่งผู้แทน 55 คน มาประชุมกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เพื่อหาทางออกว่า "เราควรทำยังไงต่อไป?"
1
ซึ่งผลคือชาวอาณานิคมเรียกร้องให้อังกฤษยกเลิกการปิดท่าเรือ และยกโทษให้พวกที่โยนหีบชา...
7
แต่อังกฤษที่เลือดขึ้นหน้าก็ไม่สนใจ อีกทั้งยังเพิ่มทหารพร้อมเรือรบเข้ามากดดันอาณานิคมต่างๆ
คราวนี้แหละครับ ชาวอาณานิคมต่างเริ่มได้กลิ่นเค้าของสงคราม เลยจัดตั้งกองกำลังอาสาฝึกรบและใช้อาวุธเพื่อเตรียมบวกกับอังกฤษตลอดเวลา
อีกด้านหนึ่งผู้แทนของอาณานิคมก็เริ่มแอบเจรจากับมหาอำนาจอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส ดัตช์ และสเปนเพื่อขอสปอนเซอร์หากต้องรบกับอังกฤษจริงๆ
และแล้วเหมือนความขัดแย้งและความไม่พอใจที่ยาวนานสะสมมาถึงจุดที่ต้องระเบิดออกมาในปี 1775 กองกำลังอาณานิคมปะทะกับกองกำลังของอังกฤษที่เมืองเล็กซิงตัน เป็นการเริ่มต้นสงครามอย่างแท้จริง
ทำให้ชาวอาณานิคมต่างคิดตรงกันแล้วว่า สถานการณ์ได้พามาถึงจุดที่ไม่สามารถอยู่รวมกับอังกฤษได้อีกต่อไป...
1
ภาพจาก History (การสังหารหมู่ในบอสตัน)
ภาพจาก Philadelphia Tribune (การต่อต้านทหารอังกฤษในบอสตัน)
ภาพจาก Poseidon Nevigation Services (Boston Tea Party)
ภาพจาก Regina Acadamies (การปะทะที่เล็กซิงตัน)
การเริ่มสงคราม ทำให้มีการประชุมกันของผู้แทนอาณานิคมและตกลงกันว่า "เราจะแยกตัวออกจากอังกฤษ!" แล้วระดมทุนจากอาณานิคมต่างๆ ตั้งกองกำลังแห่งทวีปเพื่อทำสงครามปฏิวัติ โดยผู้นำกองทัพที่ถูกเลือกขึ้นมาคือจอร์จ วอชิงตัน
ความโกรธแค้นอังกฤษมาอย่างยาวนาน ทำให้มีคนเข้ามาสมัครเป็นทหารไม่หยุดหย่อน ซึ่งกองกำลังปฏิวัติใช้การต่อสู้แบบกองโจรซุ่มโจมตีอังกฤษเป็นหลัก
แต่ความเก๋าเกมของอังกฤษทำให้ฐานของกองกำลังปฏิวัติถูกถล่มไปไม่น้อย และเริ่มเสียเปรียบลงเรื่อยๆ
ชาวอาณานิคมที่เริ่มหมดหวังหน่อยๆ ก็ต่างเฝ้ารอความช่วยเหลือของมหาอำนาจอื่นที่ติดต่อไปก่อนหน้านี้...
แต่ดูเหมือนว่ามหาอำนาจในยุโรปต่างก็เคยโดนอังกฤษตบร่วงกันแทบทั้งนั้น ทำให้เข็ดไม่อยากเข้าไปยุ่งอีกแล้ว...
มีเพียงคู่กัดตลอดกาลอย่างฝรั่งเศสที่แอบส่งซิกมาว่า "อาจจะช่วยเหลือ" ซึ่งถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่ได้ยืนยัน 100% ว่าจะช่วย แต่แค่นี้ก็สร้างความหวังชั้นดีให้ชาวอาณานิคมเลยทีเดียว
แล้วในปี 1776 วอชิงตันก็นำกองกำลังปฏิวัติเข้าโจมตีศูนย์บัญชาการหลักของอังกฤษในบอสตัน มีการขุดสนามเพลาะและระดมยิงปืนใหญ่อัดใส่เมือง...
2
การโจมตีฉับพลันทำให้อังกฤษต้องถอนทัพออกจากเมือง คณะปฏิวัติยึดบอสตันและขยายพื้นที่ของตัวเองควบคุมนิวอิงแลนด์ได้ในที่สุด
และชัยชนะอย่างสวยงามในบอสตัน ทำให้เหล่า 13 อาณานิคมก็ตัดสินใจประกาศอิสรภาพซึ่งมีการร่างข้อความโดยโทมัส เจฟเฟอร์สัน โดยเหมือนเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจของชาวอาณานิคม
ทั้งในเรื่องของพื้นฐานการปกครองที่ทุกคนต้องมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกัน...
และเรื่องความไม่พอใจกษัตริย์และรัฐบาลอังกฤษที่ทำต่อชาวอาณานิคม...
คำประกาศอิสรภาพที่เกิดขึ้นเลยถือว่า 13 อาณานิคมได้ตัดสายสัมพันธ์กับอังกฤษลงอย่างเป็นทางการ
1
ภาพจาก New York Post (จอร์จ วอชิงตัน)
ภาพจาก Salon (การประกาศอิสรภาพในปี 1776)
ภาพจาก Wikipedia (คำประกาศอิสรภาพ)
หลังประกาศอิสรภาพ คณะปฏิวัติก็ต้องรบกับอังกฤษให้รู้ผลแพ้ชนะแบบเด็ดขาด โดยหลังจากยึดนิวอิงแลนด์ได้แล้ว ก็ยกทัพเข้าบุกอาณานิคมตอนกลางและตอนใต้
อังกฤษที่ไม่ยอมถอยเหมือนกันก็ส่งกองทัพเข้ายันอย่างดุเดือด ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่หลายครั้งทำให้สงครามลากยาวยืดเยื้อ
แต่แล้วฝรั่งเศสที่ในตอนแรกยังสองจิตสองใจ แต่เมื่อฝ่ายปฏิวัติเริ่มได้เปรียบก็เข้าซัพพอร์ตเต็มตัว ส่งกองทัพเข้ามาช่วยแบบเต็มที่!
อีกทั้งดัตช์และสเปนก็ส่งเงินเข้าสนับสนุนอีกด้านหนึ่ง ทำให้กองกำลังปฏิวัติที่มีท่อน้ำเลี้ยงแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมรุกคืบยึดป้อมต่างๆ ของอังกฤษอย่างรวดเร็ว
5
สปอนเซอร์ที่หลั่งไหลเข้ามาช่วยคณะปฏิวัติแบบไม่หยุดหย่อนทำให้อังกฤษเสียดินแดนเกือบทุกสมรภูมิ จนสุดท้ายในปี 1781 กองกำลังปฏิวัติก็ชนะอังกฤษแบบเด็ดขาด ซึ่งเป็นการสิ้นสุดสงครามปฏิวัติอันยาวนานกว่า 6 ปี...
เหล่า 13 อาณานิคมก็ได้กลายเป็นประเทศอิสระที่ในเวลาต่อมารู้จักกันในชื่อของ "สหรัฐอเมริกา (United States of America)"
เรียกได้ว่า ถึงแม้ 13 อาณานิคม จะเกิดจากการสรรค์สร้างของอังกฤษ แต่อังกฤษกลับหล่อหลอมตัวตนใหม่ของ 13 อาณานิคมซึ่งแตกต่างจากอังกฤษอย่างสิ้นเชิง...
1
อิสรภาพและเสรีภาพ...
ความเท่าเทียม...
สิทธิ์ในการใช้ชีวิตของตัวเอง...
สิทธิ์ในการเสาะแสวงหาความสุขของตนเอง...
อุดมการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับชาวอาณานิคมจากน้ำมือของอังกฤษเองแบบไม่รู้ตัว...
1
อุดมการณ์เหล่านี้ก็ได้สร้างความเป็นอเมริกันชนขึ้นมา ซึ่งแสดงออกได้อย่างชัดเจนบนคำประกาศอิสรภาพที่เกิดขึ้นในปี 1776
และคำประกาศอิสรภาพนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น...
จุดเริ่มต้นที่อุดมการณ์ตามคำประกาศจะกลายเป็นชิ้นส่วนหลักในการขับเคลื่อนโลกทั้งใบในอีก 200 ปีข้างหน้า...
1
และนี่ คือเรื่องราว “ปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)” จุดกำเนิดอุดมการณ์แบบอเมริกันชน
1
ภาพจาก Unsplash
References
Captivating History. American History: A Captivating Guide to the History of the United States of America, American Revolution, Civil War, Chicago, Roaring Twenties, Great Depression, Pearl Harbor, and Gulf War. Captivating History, 2020.
1
Fisher, Hackett David. Washington's Crossing (Pivotal Moments in American History). Oxford University Press : Oxford, 2006.
Taylor, Alan. American Colonies: The Settling of North America. London : Penguin Books, 2002.
Zinn, Howard. A People's History of the United States. New York : Harper Perennial Modern Classics, 2015.
โฆษณา