5 ก.ค. 2021 เวลา 10:30 • ข่าว
ระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เทียบ TNT 200 เท่า สารเคมีฟุ้ง-แมสก์เอาไม่อยู่!
9
เรียกว่าต้องอพยพกันทั้งเมือง สำหรับ เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใน ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนจะระเบิดครั้งใหญ่ ในช่วงเวลา 03.00 น. (วันที่ 5 ก.ค.64) ส่งคลื่นแรงดันอากาศไปทำลายบ้านเรือนประชาชนในชุมชนใกล้เคียงถึง 500 เมตร
2
นอกจากนี้ ในพื้นที่ใกล้เคียงยังเกิดมลพิษเกิดขึ้น จนต้องคำสั่ง อพยพประชาชนรัศมี 5 กิโลเมตร.... คำถามคือ สารเคมีที่ฟุ้งกระจายอันตรายแค่ไหน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ "อาจารย์อ๊อด" หรือ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า
3
สารเคมี โรงงานกิ่งแก้ว เป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ที่มีสารตั้งต้นหลายตัว ซึ่งสารประกอบหลักๆ คือ สไตรีน (Styrene) เพราะเป็นโรงงานที่ทำ ฟองน้ำ โฟม นอกจากนี้ ยังมีสาร พอลิสไตรีน (Polystyrene) โดยมีสไตรีนเป็นสารตั้งต้น และยังมีสารที่อยู่ในกลุ่มตัวทำละลาย เช่น
6
คาร์บอน เตตระคลอไรด์ (carbon tetrachloride) โทลูอีน (Toluene) สารเคมีที่เป็นตัวชะล้างทำความสะอาด ซึ่งเป็นสารประกอบ ฮาโลเจน (Halogen) ซึ่งโดยรวมแล้ว จะเรียกว่าเป็นสารเคมีที่ไม่เป็นมิตรต่อมนุษย์ คือ สารที่เหนียวนำที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต เพราะแบบนี้จึงใช้งานในอุตสาหกรรมระบบปิด ไม่ค่อยจะหลุดรอดออกมา
10
อาจารย์อ๊อด กล่าวต่อว่า สารสไตรีน เอง ก็มีสารประกอบอื่นๆ เช่น เบนซิน ซึ่งก็แปลว่าทุกอย่างในสารประกอบมีความ "ไวไฟ" ทั้งหมด อีกทั้งตอนเกิดเหตุ เกิดกลางดึก ซึ่งเวลานี้ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่แน่ๆ คือ โรงงานไม่สามารถยับยั้งเหตุได้ทันท่วงที ส่งผลให้เพลิงไหม้เกิดลุกลามใหญ่โต ไฟจึงไปถึงสถานที่เก็บเคมีเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดแรงระเบิดมหาศาล
"ที่แน่ชัดเลย สารเคมีเหล่านี้แม้จะ "ไวไฟ" แต่ใช่ว่าจะติดได้เร็ว เพราะถังที่บรรจุสารเคมีเหล่านี้จะมีระบบป้องกันความร้อนในตัว พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราเอาไฟแช็กไปจุด หรือ เอากองเพลิงไปวางจุด ก็ใช่ว่าจะระเบิดได้ง่ายๆ มันต้องนานพอสมควร...จึงจะระเบิด"
2
อาจารย์ภาควิชาเคมี ม.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเป็นตัวแปรชี้วัดว่า ระเบิด รุนแรงหรือไม่ ให้ดูจากรัศมีผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าบ้านเรือนประชาชนในรัศมี 500 เมตร ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยทะลุกระจก ทะลุแล้วทะลุอีก นอกจากนี้ เรายังมองเห็นเปลวเพลิงในรัศมี 1 กิโลเมตร แสดงว่า "ระเบิดครั้งนี้ใหญ่โตมาก"
4
ซึ่งแปลว่า อาจจะมาจากถังสารเคมีขนาดใหญ่ที่เก็บ สไตรีน หรือ โทลูอีน หรือ ออร์แกนิกโซเวต (Organic Solvents) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มทำละลายอินทรีย์
3
"เมื่อมีการระเบิด สารเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็น ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) พูดง่ายๆ คือ จะกลายเป็นฝุ่นละออง PM 2.5 แต่มันจะมีสะสารเคมีเหล่านี้ปะปนอยู่ นอกจากนี้ มันอาจจะลอยไปสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นไอน้ำ เมื่อมีแรงลมพัดพาไปที่ไหน มันก็จะกระจายไปที่นั่น ฉะนั้น กรมควบคุมมลพิษ จึงต้องตรวจสอบ ดังนั้น การอพยพคนออกในรัศมี 5 กิโลเมตร ถือว่าทำถูกต้องแล้ว" อาจารย์อ๊อด กล่าว
8
สำหรับเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ อาจารย์อ๊อด แนะนำสำหรับผู้เผชิญเหตุ อย่าง นักผจญเพลิง คือ ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะสารเคมีเหล่านี้ระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อบุตา ระบบทางเดินหายใจ ถ้าสูดเข้าร่างกายเยอะๆ จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว อย่าลืม...สารเหล่านี้คือ ตัวเหนียวนำที่ทำให้เกิดมะเร็งทั้งหมด ซึ่งมันจะไม่ป่วยเวลานี้ แต่จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว
6
ฉะนั้น บุคคลที่จะเข้าพื้นที่ต้องสวมหน้ากากแบบ Full Face Mask หรือ หน้ากากแบบเต็มหน้า ใส่เสื้อคลุม ถุงมือ ถ้ามีถังออกซิเจน ก็ให้สะพายหลังไปเลย ส่วนหน่วยควบคุมมลพิษ ต้องนำเครื่องมือไปตรวจวัดอากาศด้วยว่ามีสารเคมีตกค้างมากน้อยแค่ไหน มลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่ มิเช่นนั้น "ผู้ปฏิบัติงาน" แนวหน้าจะอันตราย
4
"เพราะในพื้นที่สารเคมีเหล่านี้จะเปียกชุ่มไปทั้งบริเวณ ฉะนั้น การเข้าพื้นที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ถ้าได้รับกลิ่นฉุน ถือว่ามีสารเคมีมาก จะใส่แค่หน้ากากอนามัย เอาไม่อยู่นะครับ"
1
นอกจากนี้ ดร.วีรชัย ยังฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประเมินทิศทางลมด้วย เพราะหากลมมลพิษได้พัดหอบไปทางไหน ถ้าไปเจอหมู่บ้าน แล้วลมกดลงมาพอดี หมู่บ้านเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบ
6
"อาจารย์อ๊อด" หรือ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
แม้สารนี้จะอันตราย แต่ยังดีที่ไม่ใช่สารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น ก๊าซคลอรีน ไข่เน่า หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่จะทำให้สลบและเสียชีวิตได้ แต่...สารที่กระจายอยู่ก็จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว
1
แรงระเบิด ดังกล่าว เทียบเท่าขนาดไหน... อ.อ๊อด นิ่งไปสักครู่ ก่อนตอบว่า การระเบิดดังกล่าวมันเกิดจากเหตุเพลิงไหม้ แล้วระเบิด จากนั้นได้เกิด Wave หรือ แรงดันอากาศ ดังนั้นเราจะเห็นว่าบ้านเรือนที่พัง เกิดจาก Wave ที่ผลักออกไปรอบทิศ
3
"หากเปรียบเทียบแรงระเบิดคาดว่า อาจจะรุนแรงกว่าเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ 100 เท่า พูดง่ายๆ คือ การระเบิดราชประสงค์ เป็นการระเบิดรุนแรงแรง TNT 2 เท่า แต่ครั้งนี้ อาจจะเทียบเท่า TNT 200 เท่า แรงระเบิดมหาศาล เพราะบ้านเรือนเละมาก เรียกว่าขนาดมีบ้านกั้นแล้ว ยังกระจกแตกทะลุๆ บ้านเรือนหลายๆ หลัง เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก"
5
เมื่อถามว่า โรงงานสารเคมีอันตรายเหล่านี้ อยู่ใกล้ชุมชนหรือไม่ หรือแท้ที่จริงแล้ว บ้านเรือนประชาชนต่างหาก ที่ขยับเข้ามาใกล้โรงงาน ดร.วีรชัย กล่าวว่า สมัยก่อนการจัดการผังเมืองไม่ดี โรงงานเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว เพราะถือเป็นพื้นที่สีม่วง ชุมชนต่างหากที่ขยายออกไป
4
ประเด็นสำคัญ คือ การครอบครองวัตถุอันตราย ไม่ทราบว่าเกินขนาดหรือไม่ ก.อุตสาหกรรมต้องไปตรวจสอบย้อนหลัง ว่ามีการลักลอบสต๊อกเพิ่มหรือไม่
เมื่อถามว่า โรงงานแบบนี้ ใกล้ชุมชนแบบนี้ มีเยอะหรือ อ.อ๊อด ตอบสั้นๆ ว่า "เพียบ!..."
สิ่งที่เสียใจที่สุด คือ เราเห็นนักผจญเพลิง เสียชีวิต คือ เขาพยายามจะดับไฟ แต่ดับไม่สำเร็จ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องระมัดระวังสูงสุด คือ การเข้าพื้นที่ เพราะยังมีสารเคมีจำนวนมากอยู่.
3
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา