7 ก.ค. 2021 เวลา 14:00 • ข่าว
แพทย์จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด ‘COVID-19 SCAN’ แม่นยำสูง 98% เตรียมระดมทุนผลิตนำไปใช้จริงเพิ่มการตรวจเชิงรุก
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ไมโคร อินเจคชั่น จำกัด พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด ‘COVID-19 SCAN’ สำหรับตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิดแบบคัดกรองในราคาที่ถูกลงกว่าเครื่องตรวจแบบ Real-time PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อให้โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลในชนบทสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ที่จะนำไปสู่การควบคุมการระบาดของเชื้อโรคได้
โดยชุดตรวจคัดกรองโควิดนี้ใช้วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมที่มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาการตรวจเพียง 1.30-2 ชั่วโมงเท่านั้น และยังมีประสิทธิภาพความแม่นยำถึง 98% จากการทดลองใช้ที่หน่วยไต โรงพยาบาลจุฬาฯ และหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง ด้วยกลุ่มตัวอย่าง 164 คน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเครื่องตรวจชนิดนี้ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการใช้เครื่องมีความซับซ้อน แต่จะสามารถให้ผลที่มีความแม่นยำสูง เพื่อที่จะเป็นการคัดกรองก่อนเข้ารับการตรวจยืนยันอีกครั้งจากเครื่อง Real-time PCR ที่สามารถใช้ยืนยันผลในการเข้ารับการรักษาได้
ทีมผู้วิจัยแจ้งว่า ในอนาคตอาจพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างน้ำลายของตนเองจากที่บ้าน เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีบุคลากรสามารถใช้งานชุดตรวจคัดกรองโควิดนี้ได้ และรายงานผลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ รองรับประชาชนที่อยากตรวจโควิดแต่ไม่มีอาการ ในการกักตัวตามแนวทาง Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้านที่กำลังจะถูกนำมาปรับใช้ในอนาคต
2
ในขณะนี้ ชุดตรวจคัดกรองโควิดได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการพัฒนา อยู่ระหว่างการระดมทุนและพร้อมนำไปใช้จริง โดยผลิตแล้วประมาณ 15,000 ชุด มีอายุการใช้งานต่อชุดที่ 1 เดือน
โครงการพัฒนาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยปฏิบัติการวิจัยจุลชีววิทยาเชิงระบบ, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านชีววิทยาเชิงระบบ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภาคเอกชน และเงินบริจาคจากภาคประชาชนผ่านโครงการเทใจดอทคอม
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
เรื่อง: เกศนคร พจนวรพงษ์
โฆษณา