14 ก.ค. 2021 เวลา 23:08 • ประวัติศาสตร์
• ความเชื่อเรื่องการช่วยตัวเอง คอร์นเฟล็กส์ และยุควิกตอเรีย
1
ยุควิกตอเรียคือการจัดลำดับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียครองราชย์อยู่ ซึ่งกินเวลายาวนาน 60 ปีเศษ ตั้งแต่องค์ราชินีขึ้นครองราชย์ในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 1837 จนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 1901
ในห้วงเวลานี้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมาย แต่เรื่องที่จะนำมาเล่าในครั้งนี้คือความเชื่อเรื่องการช่วยตัวเองของคนในยุควิกตอเรีย ซึ่งออกจะผิดแผกแตกต่างไปจากความเข้าใจและบรรทัดฐานในยุคปัจจุบัน จนนำมาซึ่งการประดิษฐ์อาหารการกิน กรรมวิธี และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อจะมายับยั้งพฤติกรรมการช่วยตัวเองนี้
(Images: Wikipedia)
• ความเชื่อเรื่องการช่วยตัวเอง
ก่อนหน้านี้ในโลกตะวันตกการช่วยตัวเองถือว่าเป็นสิ่งผิดบาปตามความเชื่อทางศาสนามาเป็นเวลานมนานแล้ว พอล่วงมาถึงยุควิกตอเรียที่ขึ้นชื่อความเจ้าระเบียบและพยายามจัดระเบียบด้านความประพฤติให้อยู่ในศีลธรรมจรรยา การช่วยตัวเองจึงถูก ‘กด’ ไว้ โดยมีตำราที่ปูพื้นสร้างความเชื่อในเรื่องนี้ในเวลาต่อมา ที่สำคัญคือเรื่อง
- ‘การช่วยตัวเอง: หรือบาปอันน่าชังของการแปดเปื้อนตัวเองและผลลัพธ์อันน่าสะพรึง (Ononia: Or the Heinous Sin of Self-Pollution, and all its Frightful Consequences) ของนักเขียนนิรนาม
- ‘ตำราว่าด้วยโรคร้ายที่เกิดจากการช่วยตัวเอง’ (Treatise on the Diseases Produced by Onanism) ของแพทย์ชาวสวิสชื่อว่าแซมมวล ทิสโซต์ (Samuel Tissot) ซึ่งแพทย์ผู้นี้ระบุว่าการเสียน้ำกามจำนวน 1 ออนซ์ออกไปเท่ากับการเสียเลือดจำนวน 40 ออนซ์
ตำราสองเล่มนี้ทำให้การต่อต้านการช่วยตัวเองที่เคยจำกัดอยู่ในวงการศาสนาขยายตัวไปสู่วงการทางการแพทย์ด้วย ซึ่งการห้ามไม่ให้ช่วยตัวเองไม่ได้มีแค่ตำราที่ยกตัวอย่างมานี้เพียงเท่านั้น แพทย์ในยุควิกตอเรียต่างจรดปากกาเขียนตำราของผลร้ายจากการช่วยตัวเองมากมาย ซึ่งรวมถึงแพทย์ขององค์ราชินีวิกตอเรียด้วย
1
คำว่า Onanism หมายถึงการช่วยตัวเองนั่นเอง ซึ่งเป็นคำยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส โดยเริ่มมีการใช้คำนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ต่อมาก็มีคำว่า Masterbation เกิดขึ้นตามหลังไล่เลี่ยกันในศตวรรษเดียวกัน ดังนั้น การช่วยตัวเองตามทัศนะในยุควิกตอเรียนี้จึงเป็นสิ่งที่ผิดต่อทั้งหลักศีลธรรมและหลักทางการแพทย์
ในยุคนี้หมกมุ่นกับการควบคุมพฤติกรรมการช่วยตัวเองมาก โดยมีความเชื่อว่าหากไม่เอาเวลาไปหมกมุ่นเรื่องกามารมณ์แล้วก็จะมีเวลาไปอุทิศให้กิจกรรมทางสังคมมากมาย แถมการแพทย์ในยุคนั้นเชื่อว่าการช่วยตัวเองส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต และเกิดอาการอื่น ๆ ตามมาเป็นหางว่าว ยกตัวอย่างเบา ๆ เช่น
- ตาบอด
- ไร้สมรรถภาพ
- อ่อนเพลียเรื้อรังเป็นอัมพาต
- เป็นลมบ้าหมู
- เป็นบ้า
- ตายก่อนวัย ฯลฯ
2
การช่วยตัวเองจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นแต่เพียงความล้มเหลวทางศีลธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นความป่วยไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ต้องหาวิธีป้องกันและรักษา ความเชื่อเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอังกฤษ แต่ยังแพร่ไปสู่อีกฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกคืออเมริกาด้วย
1
ภาพวาดอาการผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ป่วยจากการช่วยตัวเอง ในหนังสือ The Secret Companion: A Medical Work on Onanism or Self-Pollution โดย R J Brodie ตีพิมพ์เมื่อปี 1845 (Image: Wellcome Library)
• อาหารการกินกับการช่วยตัวเอง
คอร์นเฟล็กซ์เป็นอาหารเช้าที่คนนิยมทั่วโลก ซึ่งที่มาของอาหารชนิดนี้เกิดขึ้นในยุควิกตอเรีย และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยไม่ให้คนช่วยตัวเอง แต่ข้อมูลนี้นั้นมีการโต้แย้งว่าไม่จริง บางแหล่งข้อมูลซึ่งมีเพียงส่วนน้อยโต้แย้งว่าอาหารประเภทนี้ถูกทำขึ้นเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อจะได้ย่อยอาหารได้ง่าย ๆ ต่างหาก ซึ่งก็เป็นเรื่องโต้แย้งทางประวัติศาสตร์กันไป แต่เราเอาข้อมูลมาอ่านกันเอาเพลินและใช้วิจารณญาณกัน
1
จอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อกก์ (John Harvey Kellogg) คือผู้คิดค้นคอร์นเฟล็กซ์ขึ้น เขาเป็นคนอเมริกันชาวเมืองมิชิแกน เกิดเมื่อปี 1852 ซึ่งตรงกับยุควิกตอเรีย
อาชีพของมิสเตอร์เคลล็อกก์คือเป็นนายแพทย์ เขาเป็นพวกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ที่เข้มงวดซึ่งพากันเชื่อว่าพระคริสต์จะกลับมายังดินแดนมนุษย์โลกเป็นครั้งที่ 2 และนายแพทย์ผู้นี้มีความเชื่ออย่างแน่วแน่แข็งขันเรื่องการถือครองพรหมจรรย์และเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ผิดหลักศีลธรรมและผิดหลักอนามัย
1
สำหรับมิสเตอร์เคลล็อกก์ เพศสัมพันธ์ทำลายทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพจิตวิญญาณ ดังนั้นถึงแม้จะแต่งงานมีภรรยาแล้ว แต่เขาแยกห้องนอนกับภรรยาและไม่เคยมีอะไรกัน โดยรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงแทน เมื่อเห็นว่าการมีอะไรกันกับภรรยาเป็นสิ่งที่ผิด การช่วยตัวเองสำหรับเขาก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองแปดเปื้อนเช่นกัน เป็นอาชญากรรมที่น่ารังเกียจ และเป็นเรื่องผิดบาป
เมื่อเชื่อเช่นนั้นมิสเตอร์เคลล็อกก์ก็เลยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Plain Facts for Old and Young: Embracing the Natural History and Hygiene of Organic Life โดยเขียนลิสต์อาการอันตรายอันยาวเหยียดที่เกิดจากการช่วยตัวเองทั้งสิ้น 39 อาการ ยกตัวอย่างเช่น มีอารมณ์แปรปรวน บุคลิกแย่ เป็นลมบ้าหมู ตัวสั่นระริก ข้อฝืด ชอบกินอาหารรสจัด และเป็นสิว
มิสเตอร์เคลล็อกก์เชื่อว่า เนื้อ อาหารที่มีรสชาติ และเครื่องปรุงรส เพิ่มความต้องการทางเพศให้สูงขึ้น ส่วนอาหารอย่างธัญพืชและถั่วช่วยควบคุมความต้องการทางเพศได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงผลิตนวัตกรรมด้านอาหารการกินขึ้นมา
ในตอนแรก เขาทำอาหารที่ชื่อว่า ‘กรานูล่า-granula’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นข้าวโอ๊ตบดผสมกับข้าวโพดบดแล้วนำไปอบเหมือนบิสกิต จากนั้นนำมาตีให้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่เนื่องจากว่ามีคนคิดค้นอาหารชื่อนี้มาจำหน่ายแล้วโดยมิสเตอร์เจมส์ เคเล็บ แจ็คสัน (James Caleb Jackson) ซึ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เขาจึงเรียกชื่อมันใหม่ว่า ‘กราโนล่า-granola’
มิสเตอร์เคลล็อกก์ไม่ได้หยุดการพัฒนาอาหารไว้แค่นั้น เขาพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาได้ผลิตคอร์นเฟล็กส์ขึ้นมาเมื่อปี 1878 ด้วยความหวังว่าจะหยุดไม่ให้คนช่วยตัวเอง มันเป็นอาหารเช้าที่ผลิตจากธัญพืชเปล่าที่มีรสชาติจืดชืด เขาร่วมหุ้นกับน้องชายชื่อว่าวิล คีธ เคลล็อกก์ (Will Keith Kellogg) เพื่อผลิตมันออกขาย แต่วิลเห็นว่าผลิตภัณฑ์เช่นนี้จะขายไม่ได้เพราะมันไร้รสชาติ วิลอยากให้เติมน้ำตาลเพื่อให้มีรสหวานจะได้น่ารับประทานมากขึ้น แต่มิสเตอร์เคลล็อกก์ไม่ยอม วิลจึงไปทำขายเองจนก่อร่างสร้างบริษัทที่ชื่อว่าเคลล็อกก์ขึ้นมาเมื่อปี 1906 จึงกลายเป็นศึกระหว่างพี่กับน้องนานหลายทศวรรษจนกระทั่งมิสเตอร์เคลล็อกก์สิ้นชีพ
1
สองพี่น้องตระกูลเคลล็อกก์ (Image: NPR.ORG)
ใบปิดโฆษณาคอร์นเฟล็กส์ของเคลล็อกส์ (Image: History Today)
• อุปกรณ์เพื่อยับยั้งการช่วยตัวเอง
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหารการกินเพียงอย่างเดียว ความพยายามที่จะยับยั้งไม่ให้มีการช่วยตัวเองลามไปถึงกรรมวิธีอื่น ๆ มิสเตอร์เคลล็อกก์ก็ได้แนะนำวิธีการที่ช่วยไม่ให้เกิดพฤติกรรมชอบช่วยตัวเองที่น่ารังเกียจนี้ขึ้นในคนวัยแรกรุ่น เพราะมันจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
สำหรับเด็กชายเขาแนะนำให้ร้อยเส้นเงินเข้าไปในหนังหุ้มลึงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มันชูชันขึ้นและทำให้เกิดการระคายเคืองตรงอวัยวะนั้น กรรมวิธีเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องแนะนำ มิสเตอร์เคลล็อกก์นำเอาวิธีการเช่นนี้ไปรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลโรคเรื้อรังที่เขาทำงานอยู่ด้วย
ข้อแนะนำจากแพทย์ในยุควิกตอเรียคนอื่น ๆ ที่ช่วยระงับความอยากช่วยตัวเองยังมีการเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกาย และสวดมนต์ โดยนายแพทย์วิลเลียม แอคตัน (William Acton) แนะนำวิธีการระงับความกำหนัดในยามค่ำคืนของบรรดาสุภาพบุรุษว่า “ให้นอนแผ่กอดอกเหมือนนอนในโลงศพ ให้คิดถึงวันข้างหน้าว่าตนเองก็จะได้มานอนเสียชีวิตเช่นนี้ ซึ่งถ้าหากวิธีนี้ยังไม่สามารถขับไล่จินตนาการชั่วร้ายออกไปได้ ก็ให้ลุกจากเตียงไปนอนบนพื้นแทน”
1
เท่านั้นยังไม่พอ มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ป้องกันการช่วยตัวเองอีกด้วย ยุควิกตอเรียจึงมีอุปกรณ์จำนวนมากหลากหลายรูปแบบที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งชายและหญิงสามารถช่วยตัวเองได้ โดยแพทย์แนะนำให้เลิกพฤติกรรมช่วยตัวเองทันทีที่เริ่มจะทำเช่นนั้น มิฉะนั้นก็จะป่วยมีอาการดังเช่นอรรถาธิบายไปในเบื้องต้น
เรามาดูตัวอย่างอุปกรณ์เหล่านี้กันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง รูปต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันการช่วยตัวเอง ยังมีสิ่งประดิษฐ์เพื่อการนี้ที่ดูประหลาดสำหรับมาตรฐานคนรุ่นเรามากกว่านี้ แต่ไม่เอามาลงเพราะจะดูแรงไป แถมหลายชิ้นน่าจะเป็นเครื่องทรมานมากกว่าเครื่องป้องกัน
- อุปกรณ์ป้องกันการช่วยตัวเองสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง ดังรูป
อุปกรณ์ชิ้นนี้น่าทำขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 (Image: Supplied)
- เข็มขัดพรหมจรรย์ (chastity belt) ใช้สำหรับผู้หญิง ซึ่งเคยถูกเข้าใจว่ามันทำขึ้นมาเพื่อไม่ให้ผู้หญิงไปมีชู้ในยุคกลาง แต่จริง ๆ แล้วอุปกรณ์เช่นนี้ประดิษฐ์ขึ้นในยุควิคตอเรียเพื่อป้องกันการถูกข่มขืนหรือไม่ให้ช่วยตัวเองได้ ดังรูป
ตัวอย่างเข็มขัดพรหมจรรย์ที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ (Image: Wikipedia)
- เข็มขัดพรหมจรรย์ใช้สำหรับผู้ชาย เพื่อป้องกันการช่วยตัวเอง ดังรูป
เข็มขัดพรหมจรรย์ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันการช่วยตัวเองสำหรับท่านชาย อายุน่าจะอยู่ในช่วงปี 1871–1930 (Image: Wellcome Collection)
- อุปกรณ์ที่เรียกว่า Jugum penis ทำขึ้นช่วงปี 1880-1920 ทำไว้ให้ท่านชายสวมใส่เพื่อป้องกันไม่ให้ฝันเปียกหรือเกิดอารมณ์ทางเพศจนอวัยวะตั้งชูชันแล้วอยากช่วยตัวเอง โดยให้สวมอุปกรณ์ชิ้นนี้ไว้ตรงฐานอวัยวะเพศ หากมันชูชันขึ้นมาปลายโลหะแหลมแบบฟันปลาที่อยู่โดยรอบก็จะทิ่มให้เจ็บปวดจนหมดอารมณ์ทางเพศเลยทีเดียว ดังรูป
1
Jugum penis นี้ทำจากโลหะ (Image: Supplied)
- อุปกรณ์ที่เรียกว่าเกราะป้องกันการช่วยตัวเอง ประดิษฐ์ขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1880 ดังรูป
1
(Image: Wellcome Collection)
- ชุดคอร์เช็ตป้องกันการช่วยตัวเองสำหรับชายหนุ่ม ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1830
ชุดป้องกันการช่วยตัวเองแบบสวมสำหรับเด็กหนุ่ม (Image: Whores of Yore)
• การรักษาและอุปกรณ์การรักษาโรคช่วยตัวเอง
สำหรับรายที่เสพติดการช่วยตัวเองอย่างหนักและหมดหนทางป้องกัน เยียวยา และบำบัดแล้ว แพทย์บางคน เช่น มิสเตอร์เคลล็อกก์ ได้แนะนำวิธีให้ขลิบเอาหนังหุ้มลึงค์ออก แถมยังแนะนำไม่ให้ใช้ยาชาอีกด้วย นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์รักษาขั้นสุดดังต่อไปนี้
- อุปกรณ์ช็อตอวัยวะสืบพันธุ์โดยไฟฟ้า หน้าตาดังรูป
อุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อรักษาอาการช่วยตัวเอง ปี 1887 (Image: Wellcome Library)
- อุปกรณ์ที่เอาไว้สวมอวัยวะสืบพันธุ์ เรียกว่า Four Pointed Urethral Ring หน้าตาดังรูป
อุปกรณ์ที่เอาไว้สวมเพื่อรักษาอาการช่วยตัวเอง ปี 1887 (Image: Wellcome Library)
อนึ่ง สำหรับสุภาพสตรีในยุควิกตอเรียก็ไม่ให้ช่วยตัวเองเช่นเดียวกัน ในยุคนั้นเชื่อกันว่าผู้หญิงที่ช่วยตัวเองมักจะมีอาการเป็นโรคฮิสทีเรีย วิธีการรักษาเพื่อไม่ให้เหล่าผู้หญิงช่วยตัวเองของแพทย์บางคนนั้นคือการตัดเอาคลิตอริสออก
ในรายของมิสเตอร์เคลล็อกก์ เขามีข้อแนะนำสำหรับเด็กผู้หญิงว่า ให้ใช้กรดคาร์บอลิกทาไปที่คลิตอริสเพื่อให้มันไหม้จะได้ทำให้เด็กสาวไม่ไปสัมผัสมัน (แค่จินตนาการก็ทั้งเจ็บและแสบอย่างหฤโหดแล้ว)
• ส่งท้าย
1
ความเชื่อเรื่องการช่วยตัวเองเปลี่ยนไปเมื่อการแพทย์มีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้น โดยในช่วงทศวรรษที่ 1940-50 นายแพทย์อัลเฟรด คินซีย์ ออกมาอธิบายว่าการช่วยตัวเองนั้นเป็นกิจกรรมปกติธรรมดาสำหรับคนที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ และนับตั้งแต่ตอนนั้น กิจกรรมการช่วยตัวเองจึงไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องป่วยไข้แต่อย่างใด แต่ยังดีสำหรับสุขภาพอีกด้วย โดยเฉพาะกับท่านชาย เพราะกิจกรรมนี้ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากลง
มีใครชอบวิธีการหรืออุปกรณ์ยับยั้งการช่วยตัวเองอย่างไหนเป็นพิเศษบ้างหรือไม่ ชาวกรีกและโรมันผู้มาก่อนหากมองชนรุ่นหลังในยุควิกตอเรียคงจะปรามาสว่าไร้ซึ่งความสุนทรีย์ในการดำเนินชีวิตเสียสิ้นดีเลยเป็นแน่แท้
ความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับผลต่อสุขภาพจากการช่วยตัวเองในยุควิกตอเรียยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เช่น อาการเมื่อยล้าหมดแรง หรือเป็นสิว ความเชื่ออย่างหลังนี้คนเล่าเรื่องนี้ก็เคยได้ยินในตอนเรียนมัธยมที่เพื่อน ๆ ชอบล้อคนที่เป็นสิวมาก ๆ ว่าเป็นเพราะชอบช่วยตัวเอง ไม่รู้ว่าใครเคยได้ยินเรื่องแบบนี้บ้างไหม
โดยส่วนตัวคนเขียนไม่นิยมอาหารฝรั่ง แถมโตมาจากบ้านนอกคอกนาในชนบทที่ห่างไกลวัยเด็กจึงไม่เคยได้ลิ้มลองอาหารเช้าอย่างคอร์นเฟล็กส์ ซึ่งเป็นอาหารที่ไกลตัวมาก ๆ พอโตมาก็นิยมแต่อาหารอีสานบ้านเฮาและอาหารไทยอื่น ๆ เคยทานคอร์นเฟล็กส์อยู่ครั้งสองครั้งแล้วรู้สึกว่ามันหวานเลยไม่ทานอีกเลย เพราะรู้สึกว่ามันไม่อร่อย จึงไม่ทราบว่าคอร์นเฟล็กส์ลดความต้องการทางเพศจนอยากจะช่วยตัวเองได้จริงไหม มีใครชอบกินคอร์นเฟล็กส์แล้วรู้สึกว่าตัวเองตายด้านบ้างมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นะคะ 😉
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา