9 ก.ค. 2021 เวลา 05:27 • ธุรกิจ
กระเป๋า Hermès ทำจากเห็ด: แนวคิด Circular Economy ที่พลิกโฉมวงการแฟชั่นเครื่องหนัง
Cr. Photo from TheRichest
ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้อ่านบางท่านที่ติดตามแวดวงแฟชั่นเครื่องหนัง น่าจะได้ทราบข่าวฮือฮาจากแบรนด์แฟชั่นระดับ Hi-end ของโลกนั่นคือ Hermès ที่ประกาศเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ของกระเป๋าหนังรุ่นคลาสสิคอย่างรุ่น Victoria ใช้หนังที่ทำจากเห็ด วางแผนจะจำหน่ายจริงในช่วงปลายปี 2564 นี้ หากผู้อ่านท่านใดยังไม่เคยทราบมาก่อน น่าจะรู้สึกทึ่งพร้อมกับมีหลาย ๆ คำถามที่อยากรู้ Future Perfect เองไม่ได้สันทัดในเรื่องแฟชั่น แต่ก็อดไม่ได้ที่ยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับผู้อ่านทุกท่าน เพราะช่วยยกตัวอย่างประเด็นจากบทความที่ Future Perfect แชร์ในครั้งที่แล้วให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
จากบทความตอนที่แล้วที่กล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ถ้าฟังจากชื่อแบบผิวเผิน ภาพที่ผุดขึ้นมาน่าจะอยู่แนว ๆ การเก็บขวดพลาสติกกลับไปรีไซเคิล ถามว่าเรื่องกระเป๋าหนังที่ทำจากเห็ดมัน Circular ยังไง มันหมุนเวียนตรงไหน อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความที่แล้วว่า Circular Economy ไม่ใช่แค่รีไซเคิล ดังนั้นกรณีศึกษาของการใช้เห็ดเป็นวัสดุตั้งต้น (Input) สำหรับทำกระเป๋าสุดหรูของ Hermès ก็คือการเลือกที่จะใช้ทรัพยากรต้นทาง (Input) ที่ส่งผลกระทบไปถึงการลดของเสีย (Waste) ที่ปลายทาง (Output) ด้วย การเลือกใช้วัสดุชีวภาพ (Bio-based Material) ถือว่าเป็นหนึ่งในหลักการของ Circular Economy ตามที่กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้ว - เอะอะก็รีไซเคิล มันคือเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือไม่? (ตอนที่ 1) ทุกท่านสามารถย้อนกลับไปอ่านในรายละเอียดได้
เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องหนัง โดยธรรมชาติแล้วมักจะมีการใช้ทรัพยากร และก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลกในระดับสูงโดยไม่ตั้งใจ เนื่องด้วยต้องมีคอลเล็คชั่น หรือดีไซน์รูปแบบใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ หนังทั่วไปที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบมีอยู่ 2 ประเภทคือ หนังแท้ และหนังเทียม โดยหนังแท้ ก็คือหนังที่ผลิตมาจากสัตว์ เช่น วัว แกะ จระเข้ ส่วนหนังเทียม คือหนังสังเคราะห์ที่ผลิตออกมาเลียนแบบให้เหมือนหนังแท้ และถ้าเป็นหนังเทียมที่ไม่มีหนังสัตว์เป็นส่วนผสมเลย ก็จะเรียกว่าเป็นหนังมังสวิรัติ หรือ "Vegan Leather"
Cr. iStock by Getty Images, Photo by haveseen
การใช้หนังแท้ในการผลิตเครื่องหนัง ก่อให้เกิดการปล่อยของเสียและก๊าซเรือนกระจกออกมามากมาย เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ที่ไว้ใช้ผลิตหนัง ใช้เวลาหลายปี ใช้พื้นที่ในการเลี้ยง เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายป่าเพื่อมาทำเป็นพื้นที่ปศุสัตว์ ว่ากันว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในแถบละตินอเมริกา ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำลายความสมบูรณ์ของป่าอเมซอน ซึ่งถือเป็นปอดใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง อีกทั้งการผลิตหนังแท้ยังถือเป็นการเบียดเบียนสัตว์อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการผลิตและฟอกย้อมหนังแท้นั้น แม้กระทั่งกระบวนการที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างมลภาวะจากกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งพลังงานและสารเคมีต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว หากเราทำการผลิตและฟอกย้อมหนังสัตว์ 1 ตัน จะทำให้เกิดน้ำเสียที่ก่อให้เกิดมลพิษ 20-80 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่รวมถึงน้ำเสียในช่วงเตรียมการ และน้ำยาฆ่าเชื้อราที่ต้องใช้ในระหว่างการขนส่งด้วย และใช่ว่าหนังสัตว์ที่ได้มานั้น จะสามารถนำไปใช้ในการผลิตเครื่องหนังได้ทั้งหมด เพราะว่าในหนังสัตว์แท้ 1 ผืน จะมีส่วนที่ดีและสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องหนังได้โดยไม่มีตำหนิเลยเพียง 55 – 80% เท่านั้น
หนังเทียมล่ะครับ เป็นอย่างไร หนังเทียมที่ใช้สำหรับผลิตสินค้าเกรดพรีเมี่ยม จะนิยมผลิตจากพลาสติกที่รู้จักกันดีคือ โพลียูรีเทน หรือ PU (มักเรียกกันว่าหนัง PU และแยกย่อยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีกตามส่วนผสมทางเคมี) มีคุณสมบัติที่ให้สัมผัสเหมือนกับหนังแท้และดีกว่าหนังเทียมแบบอื่น ๆ ถ้าเป็นเกรดดีที่สุดก็คงต้องยกให้หนังเทียมชนิดไมโครไฟเบอร์ ซึ่งใช้วัตถุดิบคือ โพลียูรีเทน ที่ผสมเข้ากับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ โดยสามารถพัฒนาคุณสมบัติให้ดีได้ไม่แพ้หนังแท้เลย อีกทั้งในแง่ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่ากระบวนการผลิตไม่ได้ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับการฟอกหนังสัตว์ อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าเป็นพลาสติก วัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญในการนำมาผลิตก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เมื่อหันกลับไปดูที่ปลายทางของหนังเทียมที่ทำจากพลาสติกนี้ยิ่งน่าหนักใจ เมื่อสินค้าที่ผลิตจากหนังเทียม PU หมดประโยชน์หรือกลายเป็นขยะแล้ว จะย่อยสลายทางชีวภาพได้ยากมาก โดยใช้เวลานานหลายศตวรรษ (สำหรับโพลียูรีเทน ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 300-1,000 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) อีกทั้งยังปล่อยสารพิษต่าง ๆ ที่เจือปนอยู่ เช่น กาว สารเติมแต่ง สารปรับปรุงคุณสมบัติ ออกสู่ธรรมชาติได้อีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหนังแท้ และหนังเทียมแบบเดิม ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น ทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องหนัง จึงหันมาสนใจวัสดุชีวภาพเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นหนังเทียม ซึ่งมาจากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น สับปะรด แอปเปิล องุ่น กระบองเพชร รวมไปจนถึงเห็ดด้วย หนังเทียมประเภทนี้ สามารถเรียกได้เต็มปากว่าเป็น หนังมังสวิรัติ หรือ Vegan Leather อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับหนังเทียมอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนผสมของหนังสัตว์อยู่เลย
Cr. VegNews
ว่าแต่ หนังเทียมที่ผลิตมาจากเห็ด เหตุใดจึงน่าสนใจถึงขนาดที่แบรนด์ดัง ๆ หลายแบรนด์ พาเหรดเข้ามาเลือกใช้เป็นวัสดุหลักของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าของ Hermès รองเท้า Adidas รุ่น Stan Smith Mylo รวมไปจนถึงแบรนด์ด้านเสื้อผ้า และชุดออกกำลังกายที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ แบรนด์ ส่วนประกอบสำคัญของเห็ดที่นำมาใช้ผลิตเป็นหนังก็คือ โครงสร้างของรากเห็ดที่เป็นลักษณะเส้นใยอยู่ใต้ดิน ซึ่งเรียกว่า “ไมซีเลียม” (Mycelium) การเพาะเส้นใยนี้ ใช้พื้นที่ไม่มาก และใช้เวลานานไม่ถึงสัปดาห์ ก็จะได้เส้นใยที่จับตัวเป็นก้อนหนา สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหนังเทียมชีวภาพด้วยการนำไปตากและผ่านกระบวนการขึ้นรูป ในกรณีของ Hermès ใช้เวลากว่า 3 ปี พัฒนานวัตกรรมหนังชีวภาพแบบพรีเมียมร่วมกับสตาร์ทอัพที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชื่อ MycoWorks และเรียกชื่อหนังชนิดนี้ว่า "Sylvania" โดย MycoWorks เป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวและนำไปจดสิทธิบัตรแล้วคือ "Fine Mycelium" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตวัสดุไมซีเลียมในแบบพรีเมียมและมีคุณสมบัติเหนือกว่าวัสดุไมซีเลียมทั่ว ๆ ไป โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "Reishi" และ Reishi Mycelium นี่เองที่ MycoWorks ได้นำไปร่วมพัฒนากับ Hermès เพื่อผลิตออกมาเป็นหนังที่มีชื่อว่า Sylvania
ในปัจจุบันยังมีสตาร์ทอัพอีกบริษัทหนึ่งคือ Bolt Threads ที่พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตหนังจากเห็ดด้วยเช่นกัน โดยใช้ชื่อวัสดุว่า "Mylo" หนึ่งในผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังที่ร่วมพัฒนากับสตาร์ทอัพรายนี้ และเพิ่งเผยโฉมผลิตภัณฑ์เป็นคอนเซ็ปต์ไอเดียก็คือ รองเท้า Adidas รุ่น Stan Smith Mylo ที่วางแผนว่าจะจำหน่ายจริงในเร็ว ๆ นี้
รองเท้าคอนเซ็ปต์ไอเดีย Adidas รุ่น Stan Smith Mylo, Cr. Adidas.com
เมื่อลองพิจารณาเปรียบเทียบคุณสมบัติของหนังเทียมที่ผลิตจากเห็ด กับหนังแท้แล้ว พบว่าแทบไม่ต่างกันเลย ทั้งเรื่องสัมผัสที่นุ่ม ความทนทาน ความแข็งแรง สามารถนำไปย้อมสีธรรมชาติ นำไปปั๊มลายนูนได้ และประยุกต์สำหรับทำเครื่องหนังได้หลายรูปแบบ ไม่ว่ากระเป๋า สายนาฬิกา และรองเท้า เป็นต้น จุดเด่นเพิ่มเติมที่หนังเทียมจากเห็ด มีคุณสมบัติเหนือกว่าหนังแท้ และหนังเทียมจากพลาสติกก็คือ
1) เวลาในการผลิตหนังที่สั้นมาก (ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บรวบรวมเส้นใยได้แล้ว)
2) ใช้พลังงานและสารเคมีในกระบวนการน้อยกว่าการผลิตหนังแท้
3) สามารถควบคุมคุณสมบัติที่ต้องการได้ง่ายกว่า เช่น ผิวสัมผัส ความแข็งแรง การยืดของวัสดุ การระบายอากาศ เป็นต้น
4) สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหนือกว่าหนังเทียมจากพลาสติกอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยคุณสมบัติของวัสดุไมซีเลียมที่กล่าวมานั้น จึงมีความน่าสนใจมาก และน่าจับตาในการนำไปเป็นวัสดุทดแทน ที่ช่วยส่งเสริม Circular Economy ได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำไปสร้างสรรค์ไอเดียสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจหลาย ๆ อย่าง นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายแฟชั่น เช่น แพ็คเกจจิ้งชีวภาพย่อยสลายได้ง่าย (Biodegradable Packaging) เนื้อสัตว์เทียม เป็นต้น ซึ่ง Future Perfect จะได้นำมาแชร์ให้ผู้อ่านทุกท่านในโอกาสต่อไป
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Dmytro_Ostapenko
แน่นอนว่า ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะมีคำถามนี้อยู่ในใจ นั่นก็คือ ราคากระเป๋าหนังเทียมจากเห็ดมันจะแพงกว่ารุ่นที่ใช้วัสดุหนังแบบเดิม ๆ มากไหม แล้วมันจะขายได้ไหม จะมีคนซื้อหรือไม่ ตลาดเครื่องหนังที่ผลิตจากเส้นใยชีวภาพจะขยายตัวและเติบโตได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียง Gimmick ที่แบรนด์ดังพยายามโหนกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น คำถามเหล่านี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะฟันธงได้ แต่หากถามว่าลูกค้าอยากจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากมุมมองด้านหน้าที่ใช้สอย (Function) ของวัสดุและตัวผลิตภัณฑ์ ถือว่าน่าจะสอบผ่านฉลุย จากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าเป็นมุมมองด้านสุนทรียภาพ (Emotion) ของผู้ใช้งานคงต้องลองมาดูกันยาว ๆ ว่าจะสร้างการยอมรับจากลูกค้าได้หรือไม่ เปลี่ยนทัศนคติของผู้ใช้งานได้หรือไม่ และผลิตภัณฑ์นี้จะสร้าง Story ให้เกิดกระแสแฟชั่นรักษ์โลกขึ้นมาได้หรือไม่ (ด้วยเงื่อนไขที่ว่าสินค้ารักษ์โลกไม่ได้มีราคาแพงกว่าสินค้าโมเดลปกติมากอย่างมีนัยสำคัญ)
ต้นทุนของผู้ผลิตเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าเทคโนโลยีไมซีเลียมที่เข้าสู่ตลาดครั้งแรก เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตหนังแบบดั้งเดิม เฉกเช่นนวัตกรรมทั่ว ๆ ไป ส่งผลให้ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ซื้อก็จะสูงตามไปด้วย (โดยทั่วไปจึงอาจไม่ค่อยมีใครอยากจ่ายแพงกว่าเพื่อรักษ์โลก)
แต่จริง ๆ แล้ว กุญแจสำคัญของ Circular Economy อยู่ที่ความร่วมมือ (Collaboration) ของแต่ละภาคส่วน และการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้รองรับ เพื่อขยายตลาด โดยใช้กลไกในแต่ละภาคส่วนเข้าช่วย หากทำได้สำเร็จ ก็จะมีลูกค้าเข้ามาใช้สินค้ามากขึ้น (เริ่มมี Adoption Rate สูงขึ้น) สิ่งที่จะตามมาก็คือ การลดต้นทุนจากการผลิตในปริมาณมาก (Economies of Scale) และทำให้ต้นทุนของเทคโนโลยีลดลงอย่างรวดเร็ว จนมีต้นทุนที่ถูกกว่าต้นทุนของเทคโนโลยีแบบเดิมได้ในที่สุด
กุญแจสำคัญที่ว่านั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร มีกรณีศึกษาใดบ้างที่น่าสนใจ ทั้งในนวัตกรรมทั่วไป และนวัตกรรมรักษ์โลก สามารถติดตามจาก Future Perfect ได้ในตอนต่อ ๆ ไป
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) ไมซีเลียม หรือวัสดุชีวภาพจากเห็ด ตัวอย่างกรณีศึกษาของการใช้วัสดุทดแทน เป็นวัสดุนำเข้า (Input) ตามหลักการอย่างหนึ่งของ Circular Economy
2) สตาร์ทอัพสามารถมองปัญหาของโลก เพื่อตั้งโจทย์ในการแก้ปัญหาได้ และโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องมาจากองค์กรใหญ่ หรือแบรนด์ดัง หรือทำเพื่อเป็น CSR เท่านั้น
3) ธุรกิจที่รักษ์โลก ก็เกิดขึ้นจริงได้ เรื่องสิ่งแวดล้อม กับเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่เส้นขนานอีกต่อไป
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้ #CircularEconomy #bio-fabric #MushroomLeather
โฆษณา