14 ก.ค. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
People of the week : สุศรุต บิดาแห่งการแพทย์อินเดีย ศัลยแพทย์ผู้คิดค้นการศัลยกรรมจมูก
สุศรุต / สุศรุตะ (Sushruta) บิดาแห่งการแพทย์ และศัลยกรรมของอินเดีย ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศัลยแพทย์คนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่สามารถศัลยกรรมจมูกได้สำเร็จ ตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,600 ปีก่อนเลยทีเดียว
ช่วง 1,000-600 BCE เพื่อให้นึกภาพออกว่าเป็นยุคไหนของโลก ก็พอจะยกตัวอย่างได้ว่า จะเป็นช่วงที่สวนลอยแห่งบาบิโลนคาดว่าถูกสร้าง ช้างแมมมอธพึ่งสูญพันธุ์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเอาชนะกรีก เปอร์เซีย อียิปต์ และตอนเหนือของอินเดีย และอีกหลายอารยธรรมของโลกพึ่งจะก่อตัวขึ้น
สุศรุตอาศัยอยู่ที่แคว้นกาสี อาณาจักรโบราณของอินเดีย ซึ่งมีเมืองหลวงคือ เมืองพาราณสี ริมแม่น้ำคงคา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียในปัจจุบัน
ประวัติส่วนตัว ความเป็นมาของสุศรุตนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด เราเพียงแต่ทราบว่าเขามีชื่อเสียงในการรักษาโรค เป็นอาจารย์อยู่ในแคว้นกาสี และได้เขียนตำราที่เกี่ยวกับการแพทย์ ที่ชื่อว่า สุศรุตะ สัมหิตา (Sushruta Samhita) เป็นคัมภีร์ทางการแพทย์ในภาษาสันสกฤต ที่รวบรวมเทคนิคการรักษาโรคของอินเดียโบราณเอาไว้ รวมถึงเขายังได้วาดภาพประกอบเครื่องมือทางการแพทย์สมัยนั้นด้วย เป็นจุดเริ่มต้นองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการผ่าตัดให้กับปัจจุบัน
ในคัมภีร์ สุศรุตะ สัมหิตา รวบรวมเทคนิคการผ่าตัดไว้มากถึง 300 วิธี มีการสาธิตเครื่องมือที่ใช้กว่า 120 ชิ้น มีโรคที่ถูกกล่าวถึงกว่า 1,200 โรค รวมถึงอธิบายลักษณะของโรค อาการเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ยังระบุแนวทางในการรักษา สมุนไพรอีกกว่า 700 ชนิดที่ใช้ทางการแพทย์สมัยนั้น
คัมภีร์สุศรุตะ สัมหิตา (Sushruta Samhita)(Credit: https://en.wikipedia.org/wiki/File:The_Susruta-Samhita_or_Sahottara-Tantra_(A_Treatise_on_Ayurvedic_Medicine)_LACMA_M.87.271a-g_(1_of_8).jpg)
เทคนิคการผ่าตัดที่ไม่น่าเชื่อว่ามีมากว่า 2,600 ปีของสุศรุต เช่น การทำศัลยกรรมจมูกโดยใช้เนื้อส่วนอื่นมาเย็บติด การผ่าตัดคลอด (Caesarian Operation) การถอนฟัน การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก การรักษาเลือดออกในอวัยวะภายใน การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก เป็นต้น
แม้ว่าศาสตร์ด้านการแพทย์ของอินเดียมีมานานแล้วก่อนหน้าสุศรุต แต่ก็ยังไม่เคยก้าวหน้ามากถึงขึ้นมีการผ่าตัด เพราะชาวอินเดียโบราณจะหลีกเลี่ยงการผ่าตัด หรือ อะไรก็ตามที่ต้องใช้มีดเฉือนลงผิวหนังมนุษย์
แต่สุศรุตเชื่อว่าการศัลยกรรมผ่าตัด จะช่วยให้มนุษย์หายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วที่สุด ถ้าการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่สามารถช่วยพวกเขาได้แล้ว เขาจึงได้พัฒนาเทคนิคในการศัลยกรรมจมูก ใบหูส่วนล่าง และองคชาต ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาจากเขา มักเป็นผู้ที่โดนลงโทษจากการทำผิดศาสนา ก่ออาชญากรรม หรือโดนทางการลงโทษ ซึ่งการลงโทษส่วนใหญ่มักจะตัดจมูก ตัดหู ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะโดนตัดองคชาต
การตัดจมูกเป็นสัญลักษณ์ว่า คนที่ถูกลงโทษนั้นเคยเป็นคนมีความผิดมาก่อน เชื่อถือไม่ได้ มีตราบาป และสำหรับผู้หญิงที่โดนตัดจมูก จะหมายถึง ผู้หญิงคนนั้นทำผิดประเวณี ลักลอบเป็นชู้ หรือ ได้เสียกับผู้ชายก่อนที่จะแต่งงาน แม้ว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิดหรือไม่ผิดก็ตาม
ก่อนการผ่าตัด สุศรุตจะให้ไวน์แก่ผู้รับการผ่าตัดก่อน ให้เขาดื่มจนเมามายไม่ได้สติ จะได้ไม่รู้ตัวและเจ็บปวดมากตอนที่ผ่าตัด จากนั้นจึงมัดไว้กับโต๊ะไม้ หรือให้มีคนจับไว้ ไม่ให้ดิ้นระหว่างการผ่าตัด การให้ผู้ป่วยเมาด้วยไวน์ เป็นแนวทางให้กับการใช้แอลกออล์หรือกัญชา มาเป็นยาสลบ ในสมัยหลัง
Credit: https://hekint.org/2017/01/22/sushruta-the-ancient-indian-surgeon/
สุศรุตขึ้นชื่อเรื่องการผ่าตัดศัลยกรรม ในคัมภีร์เขาได้อธิบายขั้นตอนการผ่าตัด สรุปมาคร่าวๆได้ว่า เขาได้ใช้เทคนิคนำเนื้อจากแก้มมาเติมหูส่วนล่างที่ขาดหายจากการตัด เทคนิคนี้เป็นการนำผิวหนังจากส่วนอื่นๆของร่างกายมาปลูกถ่ายเย็บเข้ากับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายที่ขาดหายไป
ในส่วนของการทำจมูกก็เช่นเดียวกัน เขาได้ใช้ชิ้นส่วนของหน้าผากที่เรียกว่า Pedicle มาประกอบเป็นโครงสร้างใหม่สำหรับจมูก
แม้ว่าการผ่าตัดศัลกรรมจมูกของสุศรุต เป็นไปเพื่อคืนโครงสร้างเดิม มากกว่าเป็นการทำเพื่อความสวยงาม เพราะการโดนตัดจมูกไป ในบางครั้งทำให้ผู้นั้นหายใจลำบาก ในภายหลังผู้คนที่ได้รับการลงโทษเช่นนี้ ก็นิยมมาทำมากขึ้น เพราะไม่อยากให้มีตราบาปเช่นนี้ติดอยู่บนใบหน้า
สุศรุต ยังจดบันทึกในคัมภีร์เกี่ยวกัยการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedics) ไว้ด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย
ที่สำคัญ สุศรุต ยังเป็นคนแรกอาจารย์คนแรกของโลกที่กำหนดว่า ศิษย์แพทย์ของเขาทุกคน ต้องศึกษาเรียนรู้การรักษาคนอย่างน้อย 6 ปี ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง และจะต้องเรียนรู้กายภาพของมนุษย์ ศึกษาชิ้นส่วนอวัยวะแต่ละส่วนของมนุษย์ก่อนที่จะลงมือรักษาหรือผ่าตัดจริง โดยเขาแนะนำให้ศึกษาจากอาจารย์ใหญ่ หรือ ร่างของมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วนั่นเอง
ศิษย์ของเขาจะต้องกล่าวคำปฏิญาณว่า พวกเขาจะใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยคนอื่น ไม่ใช่เพื่อทำร้ายผู้อื่น เมื่อสุศรุตรับพวกเขามาเป็นศิษย์แล้ว เขาจะสอนทุกอย่างตั้งแต่การใช้สมุนไพร การศึกษาจากกายภาพของสัตว์ และถึงเริ่มศึกษาจากอาจารย์ใหญ่
1
ในสมัยนั้นยังไม่มีฟอร์มาลีนสำหรับดองศพ เขาจึงใช้วิธีใส่ร่างลงในกรง เพื่อป้องกันสัตว์มากัดแทะ และนำไปแช่ไว้ในน้ำเย็นให้ศพแข็งตัว ในแม่น้ำหรือลำธารใกล้ๆ และให้เล่าศิษย์ไปสังเกตการเน่าสลายของร่างกาย ที่จะเผยชั้นผิวหนังแต่ละชั้น มัดกล้ามเนื้อ และสุดท้ายถึงจะเห็นอวัยวะภายในร่างกาย ว่าอยู่ส่วนไหน ทำหน้าที่อะไรบ้าง รวมถึงโครงกระดูกแต่ละส่วน
มากกว่านั้น สุศรุตยังได้สอนเหล่าศิษย์ด้วยว่า การรักษาที่ดีไม่เพียงแต่ทำในด้านของกายภาพเท่านั้น แพทย์ที่ดี นอกจากเก่งในการใช้สมุนไพร ใช้เครื่องมือผ่าตัดแล้ว ต้องรู้จักสังเกตด้วย โรคหรืออาการในบางครั้งไม่ได้เกิดเป็นบาดแผลภายนอกให้เราเห็น แต่แพทย์จะต้องศึกษา สังเกต ทั้งสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้ที่อาจส่งผลให้พวกเขาเจ็บป่วยด้วย
ดังนั้นสุศรุตจึงแนะนำให้แพทย์ซักประวัติ สอบถามผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดก่อนเริ่มการรักษา
คัมภีร์สุศรุตะ สัมหิตา นับได้ว่าเปิดโลกวงการการแพทย์สมัยใหม่มาก น่าเหลือเชื่อว่าศาสตร์เหล่านี้มีมาตั้งแต่กว่า 2,600 ปีที่แล้วที่อินเดีย
คัมภีร์นี้ได้รับการแปลครั้งแรกเป็นภาษาอาราบิก โดย อัล มันศูร (Caliph Mansur) แห่งจักรวรรดิแบกแดด ในช่วงปี ค.ศ. 753-774
1
และกว่าที่ศาสตร์นี้จะเป็นที่รับรู้ของชาวตะวันตก ก็ปาเข้าไปในช่วงปลายของคริสศตวรรษที่ 19 แล้ว ซึ่งในตอนนั้นโลกตะวันตกก็ได้ยกย่องฮิปโปเครติสเป็นบิดาแห่งการแพทย์ของโลก ไปเรียบร้อยแล้ว
แนวทางการรักษาของแพทย์สมัยใหม่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ พึ่งจะมาปฏิบัติกันในโลกตะวันตกเมื่อคริสศตวรรษที่ 20 นี่เอง แต่ในอินเดีย ศาสตร์เหล่านี้ สุศรุตได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ 2,600 กว่าปีที่แล้ว
สุศรุต นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น่ายกย่อง และควรค่าที่คนรุ่นใหม่อย่างพวกเราจะศึกษาต่อไปจริงๆ
เขียนและเรียบเรียงโดยทีมงานคิดก่อน ไม่อนุญาตให้ดัดแปลง แก้ไข และคัดลอก โดยไม่ได้รับอนุญาต
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา