#จุดเริ่มต้น
.
คุณทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ คุณพ่อต้องการปลูกฝังให้เขาพึ่งพาตัวเองและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงส่งเขาไปเรียนมัธยมที่ประเทศนิวซีแลนด์ ณ เมืองแฮมิลตัน
ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ มีประชากรเพียงแสนคนเศษ
.
ชีวิตการเรียนที่นิวซีแลนด์แตกต่างกับชีวิตการเรียนที่กรุงเทพอย่างสิ้นเชิง จากเมื่อก่อนหลังเลิกเรียนสามารถไปเล่นเกม เล่นกีฬากับเพื่อนฝูง แต่เมื่อย้ายไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ เขาต้องทำงานหารายได้เสริมอย่างการเก็บสตอเบอรรี่ รับจ้างพาสุนัขไปเดินเล่น และทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหาร
.
ชีวิตชนบทที่แวดล้อมไปด้วยป่าและภูเขา อาจไม่ได้หวือหวาเท่าชีวิตในเมือง แต่ยังมีข้อดีแฝงอยู่บ้าง มันทำให้เขาเป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต
.
.
#ก้าวแรก
.
หลังเรียนจบมัธยมที่นิวซีแลนด์ คุณพิธาเดินทางกลับประเทศไทย ณ ตอนนั้น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เขาสนใจเข้าศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะหลงไหลเรื่องฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ แต่คุณพ่ออยากให้เรียนด้านบริหารธุรกิจ เพื่อมารับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน สุดท้ายเขาจึงเข้าศึกษาต่อที่
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
แม้ว่าไม่ใช่คณะอันดับหนึ่งในดวงใจ แต่เขาสามารถจบมาพร้อมเกียรตินิยมอันดับ 1 เอกการเงิน ทำให้มีโอกาสมากมายเรียงรอเขาอยู่ในอนาคต แต่แล้ววิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งก็เกิดขึ้นปีที่เขาเรียนจบพอดี
เขาส่งใบสมัครงานไปมากกว่า 50 ใบ ก่อนจะได้การตอบรับจากบริษัท Boston Consulting Group (BCG) ในตำแหน่งที่ปรึกษาธุรกิจ
.
.
#BCG
.
เมื่อเข้ามาสู่วงการที่ปรึกษาธุรกิจ แน่นอนว่าการแข่งขันค่อนข้างสูง เพื่อนร่วมงานล้วนจบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก คุณพิธาต้องทำงานหนัก นำเสนองานให้โดดเด่น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใหญ่เห็นถึงศักยภาพ เขามองว่าทักษะสำคัญในการทำงานที่ทุกคนควรมีคือ การวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical Skill) และการสื่อสาร (Communication Skill)
.
“ถ้าคุณวิเคราะห์ข้อมูลเป็นแต่สื่อสารออกมาไม่ได้ หรือถ้าคุณสื่อสารได้ดีแต่วิเคราะห์ข้อมูลไม่เห็นภาพ
มันก็เท่านั้นไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้”
.
.
#ชิมลาง
.
ครั้งทำงานอยู่ที่ BCG คุณพิธาได้รับโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาภาครัฐ ในการสร้างยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ปี 2547
.
“มันเป็นการเปิดโลกอีกใบ จากที่เคยทำงานให้บริษัทเอกชน แค่คิดวิธีทำกำไรให้ได้มากที่สุด พอมาทำงานกับภาครัฐ เราต้องทำความเข้าใจใหม่ สร้างกำไรให้ได้มากที่สุด ไปพร้อมๆ กับการรักษาสมดุลเรื่องปากท้องของประชาชน” - คุณพิธากล่าว
.
การเข้ามาทำงานในภาครัฐทำให้เขาได้เจอกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เขาได้รับการเชิญชวนให้ไปอยู่ทีมที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง นับเป็นการเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวในตำแหน่งข้าราชการ
.
.
#ปณิธาน
.
การเข้ามาทำงานในภาครัฐ ทำให้คุณพิธามีโอกาสได้ตัดสินใจ ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน เขาเข้าใจว่าอำนาจเป็นดาบสองคม หากใช้อย่างถูกต้องจะช่วยให้ประเทศก้าวหน้า แต่หากใช้ในทางที่ผิด มันอาจหมายถึงปากท้องของประชาชน
.
ตั้งแต่นั้น เขาตั้งปณิธานไว้เมื่อปี 2005 ถึงการเป็นนักการเมือง เมื่อครบวาระการทำงานเป็นทีมที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี เขาจึงถือโอกาสเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา
ด้านการเมือง การปกครองที่ Harvard University และด้านบริหารธุรกิจที่ MIT
.
.
#ก้าวไกล
.
หลังจากใช้เวลาเตรียมตัวสั่งสมประสบการณ์ทั้งด้านการศึกษาและภาคธุรกิจมาร่วมทศวรรษ ในปี 2018 เขาได้รับการเชิญชวนจากคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เข้าร่วมเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่
ถือเป็นการกลับสู่เส้นทางการเมืองของเขาอีกครั้งในรอบ 13 ปี
.
แม้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่บทบาทใหม่ของเขา ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล “Move Forward Party” สานต่ออุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็ก เป็นความหวังในการนำพาประเทศกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
.
.
#Takeaway
.
“สองคำที่อยู่ในชีวิตเสมอคือความสำเร็จ (Successful) และความพึงพอใจ (Satisfied)”
.
ณ ช่วงวัยหนึ่งของคุณพิธา เขาอยากประสบความสำเร็จ อยากเป็นที่หนึ่งในทุกอย่าง เรียนก็ต้องเป็นที่หนึ่ง ทำงานก็ต้องเป็นที่หนึ่ง แต่เมื่อคิดว่าต้องประสบความสำเร็จ หลายๆ ครั้งมันคือการตัวเองไปเปรียบเทียบบนมาตรฐานของคนอื่น ในทางกลับกันหากคิดแค่การได้รับความพึงพอใจ มันคือการทำในสิ่งที่ตัวเองรักบนมาตราฐานของตัวเอง มันก็จะเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งเช่นกัน
.
“การประสบความสำเร็จและมีความพึงพอใจในตนเองอาจเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน แต่ส่วนใหญ่แล้วชีวิตมักต้องเลือกระหว่าง Successful กับ Satisfied ซึ่งมันไม่มีถูกไม่มีผิดอยู่ที่ว่าคุณจะเลือกเส้นทางไหนให้กับชีวิตของตัวเอง” - คุณพิธากล่าว
.
.
#ชีวิตหลังเส้นทางการเมือง
.
สุดท้ายนี้ Career Fact ได้ถามคุณพิธาว่า “มองชีวิตหลังเส้นทางการเมืองไว้เป็นอย่างไร?”
.
“เป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าของผม คือการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนแรกของประเทศไทย”
.
คุณพิธาวางเป้าหมายชีวิตที่เหลือไว้อย่างชัดเจน ทั้งการเป็นเลขาสหประชาชาติ การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนถึงบั้นปลายชีวิตที่ต้องการกลับไปสู่ชนบท เรียบง่าย
.
เลือกเดินในทางที่เขาเชื่อ เดินหน้าทำตามความฝันเหมือนที่เขาเคยตั้งปฏิภาณในการเข้ามาสู่แวดวงการเมือง จนสุดท้ายเขาสามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา