14 ก.ค. 2021 เวลา 10:00 • หนังสือ
สรุปหนังสือ “ฉลาดกว่า AI” ทำไม AI ยังไม่มีทางครองโลกได้ในเร็ววัน
“เอไอกำลังจะครองโลก” “เอไอกำลังจะแย่งงานมนุษย์” นี่คือคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งมากในทศวรรษที่ผ่านมา คำพูดเหล่านี้ทำให้บางคนอาจเกิดความกลัวและต่อต้านเอไอและเทคโนโลยีเอไอไปโดยปริยาย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อที่ว่าเอไอจะมีความสามารถเหนือมนุษย์และครองโลกได้นั้น เป็นความเชื่อที่ออกจะเกินจริงไปหน่อย และยังไม่มีทางเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ทำไมน่ะหรือ? คำตอบอยู่ในหนังสือ “ฉลาดกว่า AI” ที่เขียนโดยอาราอิ โนริโกะ (Arai Noriko) นักคณิตศาสตร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้
หนังสือเล่มนี้จะมาช่วยแก้ความเข้าใจผิด และอธิบายกับเราว่าข้อจำกัดที่ทำให้เอไอยังไม่สามารถเก่งเหนือมนุษย์ได้คืออะไร เอไอมีความสามารถมากแค่ไหน และจะแทนที่เราในสาขาอาชีพประเภทไหน รวมถึงทักษะอะไรที่มนุษย์เราต้องมีจึงจะอยู่รอดได้
วันนี้ Sertis ขออาสาสรุปสาระสำคัญจากหนังสือ “ฉลาดกว่า AI” มาให้ทุกคนอ่านกันแบบย่อยง่าย ใช้เวลาน้อย และเข้าใจทันที หากใครอ่านสรุปของเราแล้วรู้สึกสนใจลองไปอ่านฉบับเต็มแล้วมาคอมเมนต์คุยกันได้นะครับ
คำว่า ‘AI’ (Artificial Intelligence) ที่เราเรียกกันอย่างติดปากทุกวันนี้จริง ๆ แล้วมีการใช้อยู่ 2 ความหมาย
2
ความหมายแรกคือความหมายที่แปลแบบตรงตัวได้แก่ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ซึ่งหมายถึงการที่เอไอสามารถจำลองสติปัญญาของมนุษย์เรา และพัฒนาจนเทียบเท่าหรือเหนือกว่า รวมถึงสามารถสร้างเอไออีกตัว หรือสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง แม้เอไอที่ล้ำสมัยที่สุดในเวลานี้ก็ยังไม่สามารถมีสติปัญญาที่เหมือนมนุษย์ได้
ความหมายที่สองคือ ‘เทคโนโลยีเอไอ’ ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่เรากำลังพัฒนากันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Machine Learning, Image Recognition หรือ Natural Language Processing กล่าวคือเป็นเสมือนการสร้างอวัยวะที่ให้ความสามารถต่าง ๆ กับเอไอ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจนำไปสู่การสร้างเอไอแบบปัญญาประดิษฐ์ด้านบนได้
ดังนั้นคำว่า ‘เอไอ’ ที่เราพูดถึงกันทุกวันนี้เป็นการพูดถึงเทคโนโลยีเอไอแบบความหมายที่สอง แต่เรามักใช้ปะปนและเข้าใจผิดว่าเอไอที่ว่าคือปัญญาประดิษฐ์แบบความหมายแรก และเข้าใจไปเองว่าเอไอมีความสามารถเทียบเทียมเราแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องเอไอจะครองโลกขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้วยังไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่นิด
อาราอิ โนริโกะได้พยายามแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอไอ และช่วยให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าเอไอทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง โดยเธอได้สร้างเอไอชื่อ ‘โทโรโบคุง’ และทำโปรเจ็กต์ในการฝึกฝนโทโรโบคุงให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่นให้ได้
จากความพยายามในการทดลองและพัฒนามาตลอด 10 ปี เธอพบว่าในที่สุดก็สามารถทำให้โทโรโบคุงทำคะแนนได้ดีในวิชาประวัติศาสตร์ โดยได้คะแนน 75 เปอร์เซ็นต์ และคณิตศาสตร์ โดยทำคะแนนได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก
ในการทำข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์จะใช้วิธีเช็คความถูกต้องของตัวเลือกในโจทย์ด้วยการค้นหาคีย์เวิร์ดหลาย ๆ คีย์เวิร์ด และดูสถิติของคีย์เวิร์ดว่าปรากฏบนเนื้อหาส่วนไหนของเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วจึงตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลือกกับเนื้อหาจริง และทำข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์โดยการใช้ Deep Learning และ Machine Learning แปลงโจทย์เป็นสมการ และแก้โจทย์ด้วยพีชคณิตคอมพิวเตอร์
สำหรับวิชาที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้นแทบไม่มีความก้าวหน้าเลย ได้แก่วิชาภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งทำคะแนนได้ไม่ถึงครึ่ง โจทย์ด้านภาษานั้นประกอบไปด้วยข้อสอบไวยากรณ์ คำศัพท์ บทสนทนา และถามตอบจากบทความ แม้ด้านไวยากรณ์และคำศัพท์จะกำหนดเงื่อนไขในการประมวลผล และให้เอไอท่องจำได้ แต่สำหรับบทสนทนาและการทำความเข้าใจบทความที่ต้องใช้สามัญสำนึกและความเข้าใจในภาษานั้น โทโรโบคุงทำไม่ได้เลย
สรุปได้ว่าข้อจำกัดหลักของเอไอคือไม่เข้าใจความหมาย และไม่มีสามัญสำนึกนั่นเอง
หลังจากเราได้ข้อสรุปจากกรณีของโทโรโบคุงแล้วว่า เอไอไม่เข้าใจความหมายและไม่มีสามัญสำนึก เราอาจเกิดคำถามกันในใจว่า แล้ว Google และ Siri ที่พูดคุยโต้ตอบ และตอบคำถามของเราได้นั้นทำงานอย่างไร?
คำตอบคือใช้การเดาคีย์เวิร์ดจากคำถามเรา หาข้อมูล คำนวณความถูกต้องของข้อมูลจากสถิติใน Search Engine แล้วจึงตอบคำถามเรา เช่น ถ้าเราให้ Siri หา ‘ร้านอาหารอิตาเลียนที่อร่อย’ ก็จะหาได้เลยง่าย ๆ แต่ถ้าให้หา ‘ร้านอาหารอิตาเลียนที่ไม่อร่อย’ ผลลัพธ์ที่แสดงก็จะคล้ายกับให้หาร้านที่อร่อย เพราะ Siri เดาจากคีย์เวิร์ดเรา และตามสถิติไม่ค่อยมีคนค้นหาร้านที่ไม่อร่อย เลยไม่สามารถแสดงผลได้
แล้ว Google Translate ล่ะ แปลได้ไง? คำตอบคือ ใช้ Language Model และข้อมูลเชิงสถิติมหาศาลเพื่อเรียนรู้ที่จะเลือกคำที่น่าจะเหมาะสม และฝึกฝนเพื่อแกล้งแปลให้ได้ใกล้เคียงกับภาษาธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นว่าในระบบ ผู้ใช้สามารถกดแนะนำคำแปลที่ถูกได้หากโปรแกรมแปลผิด Google Translate จะใช้การเรียนรู้การแปลของผู้ใช้เพื่อสอนตัวเองให้แปลได้แม่นยำขึ้น โดยที่ไม่ได้เข้าใจภาษาของเราเลย
งั้นเอไอที่เขียนบทความหรือแต่งเพลงได้ล่ะ? ความสามารถเหล่านั้นก็มาจากการที่มนุษย์เราให้เอไอเรียนรู้ข้อมูลเพลงและบทความจำนวนมาก จากนั้นเอไอจึงใช้ระบบสุ่ม เลียนแบบมาจากข้อมูลที่เราป้อนเพื่อสร้างเป็นเพลงใหม่หรือบทความใหม่นั่นเอง
ระบบ Machine Learning, Deep Learning และ Image Recognition ก็เช่นกัน ล้วนมาจากการเรียนรู้ข้อมูล Training data ที่เราป้อน และจดจำทางสถิติจากสิ่งที่เคยเห็น แล้วถ้าให้ประมวลสิ่งที่ยังไม่เคยเห็นล่ะ คำตอบคือ ‘ทำไม่ได้’
ตอนนี้เราคงพอเห็นภาพกันแล้วว่า เอไอไม่สามารถทำอะไรได้ไปมากกว่าการคำนวณและจดจำ นั่นก็เพราะจากความสามารถของเอไอทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าภาษาที่เอไอเข้าใจ มีแค่ภาษาเชิงคณิตศาสตร์ได้แก่ ภาษาเชิงตรรกะ (ถ้า A=B B=C) ความน่าจะเป็น (ทอยลูกเต๋า 1 ครั้ง โอกาสได้ 1 คือ 1 ใน 6) และสถิติ (คาดการณ์จากข้อมูลในอดีต)
หากอะไรที่คำนวณเป็นคณิตศาสตร์ไม่ได้ เอไอจะไม่เข้าใจ ประโยคง่าย ๆ อย่าง “ฉันรักคุณ” ก็ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขหรือแสดงภาพได้แล้ว เอไอจึงไม่มีทางเข้าใจประโยคนี้ แสดงให้เห็นว่าเอไอทำงานโดยมีพื้นฐานจากการคำนวณล้วน ๆ
สมองของมนุษย์เรามีการทำงานที่ซับซ้อนมาก และดำเนินไปแต่ละวันด้วยการทำความเข้าใจและการใช้สามัญสำนึก การจะให้เอไอจำลองสมองของเราได้นั่นหมายความว่าต้องคำนวณสามัญสำนึกออกมาเป็นคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นเอไอ ที่จะเก่งกว่าเราและครองโลก ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีเอไอ และคณิตศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถฝ่ากำแพงของสามัญสำนึกได้
ฟังข่าวดีกันมาแล้ว ทีนี้ลองมาฟังข่าวร้ายกันบ้าง แม้เราจะพบว่าเอไอสู้เราไม่ได้ในเรื่องสามัญสำนึกและการทำความเข้าใจ แต่ในด้านการคำนวณ เอไอแทบจะชนะขาดลอย
คะแนนการสอบด้านการคำนวณของโทโรโบคุง ทำให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นกว่า 70% ได้แล้ว รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายาก นอกจากนี้ คนที่ทำคะแนนได้เหนือกว่าโทโรโบคุงมีเพียงแค่ 20% เท่านั้นหมายความว่าความสามารถของเอไออย่างโทโรโบคุง อาจเทียบเท่าคน 80%
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่างานในตลาดที่ใช้ความสามารถด้านการคำนวณจดจำ หรืองานทางสถิติเป็นหลัก หรือกล่าวคือ งานที่มีสูตรสำเร็จ เช่น งานวิเคราะห์สินเชื่อหลักประกัน หรืองานกรอกข้อมูล อาจถูกแทนที่ด้วยเอไอเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำ
คนบางกลุ่มอาจเถียงว่าถ้าถูกเอไอแย่งงาน ก็สร้างงานขึ้นมาใหม่ที่เอไอทำไม่ได้สิ ข่าวร้ายคือ ทักษะที่เอไอไม่มีคือสามัญสำนึก การคิดอย่างยืดหยุ่น และการทำความเข้าใจ สามัญสำนึกอาจรอด แต่สองอย่างหลังนั้นก็เป็นสิ่งที่คนหลายคนไม่มีเช่นกัน
ผลการทำ Reading Test Skill ซึ่งเป็นบททดสอบว่านักเรียนสามารถทำความเข้าใจข้อความง่าย ๆ เช่นข้อความในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตำราเรียนได้มากแค่ไหน พบว่านักเรียนมัธยมในญี่ปุ่นมีเพียงแค่ 30-50% เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านทำความเข้าใจที่ดี เนื่องจากนักเรียนส่วนมากเน้นการท่องจำแบบที่ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ เรียกได้ว่ามีความสามารถเทียบเท่ากับเอไอเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถทำงานที่เอไอทำไม่ได้
คำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไรเมื่อถูกเอไอแย่งงาน? คำตอบไม่ได้ยากเลย เพียงแค่ให้หันกลับมาพัฒนาทักษะพื้นฐานที่เอไอทำไม่ได้ อย่างการอ่านทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นทักษะที่เรามักมองข้ามไป
มนุษย์เรามีดีที่สามัญสำนึก สามารถทำความเข้าใจกับเรื่องต่าง ๆ ได้ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่น
ต่างกับเอไอที่ทำได้แค่งานที่ถูกมนุษย์ป้อนกรอบและกฎให้คำนวณ ไม่สามารถทำความเข้าใจและคิดค้นสิ่งใหม่ได้
ดังนั้นในยุคที่เอไอแย่งงานเราไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราควรทำเพื่ออยู่รอดคือ ใช้ทักษะการทำความเข้าใจในการคิดทบทวน ทำความเข้าใจสภาพสังคม และปัญหาที่ผู้คนประสบ ค้นหางานที่เน้นแก้ปัญหาให้กับสังคมอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Product และ Service ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหา หรือเน้นทำงานที่เน้นการสื่อสารคุณค่าของความเข้าใจและความเป็นมนุษย์ เช่น งานด้านจิตวิทยา รวมถึงเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวอย่างยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
บทความโดย: ทีม Sertis
โฆษณา