21 ก.ค. 2021 เวลา 13:57 • นิยาย เรื่องสั้น
#เรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา,
#ก่อนเหตุการณ์ปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์พม่าในสมัยพระเจ้ามินดง,
สวัสดีครับ เพื่อนๆ,
วันนี้ ผมขออนุญาตลงเรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านจันทร์เจ้าขาในตอนต่อไปนะครับ..
ในสองตอนที่แล้ว จะเป็นเรื่องราวของโกเซยะหนุ่ม (สมิงไพรหนุ่ม) โบตูระศิษย์พี่..รวมถึงเกริ่นถึง ตัวละครมะซานดา ,อู้พาเฒ่า และองค์หญิงผกันคยี ในช่วงปียุคสมัยอันรุ่งเรืองของพระเจ้ามินดง..ในราชวงศ์
โก้นบอง ..
#ในยุคต้นแห่งความรุ่งเรือง,
พระเจ้ามินดงทรงมีพระปรีชาสามารถในการคัดสรรเหล่าเสนาบดีที่มีความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชกิจ ในสภาลุตอ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เจ้าชายกะนอง พระอนุชา
ผู้ทรงเป็นนักบริหารที่มีความสามารถและเป็นพระอนุชาที่พระเจ้ามินดง โปรดปราน รวมถึงเป็นผู้ที่ได้รับชื่นชมของประชาชนชาวพม่าอย่างที่สุด.. จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาทตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2396 แทนพระราชบุตรทุกพระองค์..
เจ้าชายกะนองเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเป็นผู้นำการปฏิรูปร่วมกับพระเชษฐาโดยการส่งราชบัณฑิตในราชสำนักไปศึกษายังประเทศตะวันตก
และริเริ่มก่อตั้งอุตสาหกรรมสรรพาวุธในพม่า เจ้าชายกะนองเข้าพระทัยดีว่า การที่พม่ารบแพ้อังกฤษ ก็เพราะความทันสมัยของยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษ
ดังนั้นพระองค์จึงทรงปฏิรูปกองทัพและสรรพาวุธให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่
แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความขัดเคือง และหวาดหวั่นต่อ อังกฤษ..เป็นอย่างยิ่ง..
จึงเป็นเหตุแห่งการสนับสนุนจากอังกฤษ ให้พระราชบุตรลุกขึ้นก่อการกบฏ..
#ในยุคกลางแห่งความขัดแย้ง และคลื่นแห่งภัยพิบัติในราชสำนัก
เจ้าชายกะนอง ได้ทรงสิ้นพระชนม์ทันทีพร้อมกับพระโอรสอีก 3 พระองค์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2409 กลางที่ประชุมสภาขุนนาง ในระหว่างการก่อกบฏภายใต้การนำของ เจ้าชายมยิ่นกุน และ เจ้าชายมยิ่นกุนเดง พระราชโอรสของพระเจ้ามินดงที่ประสูติแต่ พระสนมเอกตองชเวเยที่ 1
1
แต่พระราชโอรสทั้งสองกลับพบกับ ความล้มเหลวในการก่อกบฏ เพราะไม่สามารถสังหารพระเจ้ามินดงได้ อันเนื่องมาจากกลุ่มผู้จงรักภักดี..ได้ช่วยให้พระเจ้ามินดงทรงหลบหนีไปได้..
จึงทำให้เจ้าชายทั้งสองทรงถูกต่อต้าน และต้องหลบหนีไปยังดินแดนพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรและทรงได้รับสถานะลี้ภัยจากอังกฤษ
ในที่สุด พระเจ้ามินดงก็ได้ทรงเสด็จกลับมายังพระราชวังหลวงโดยได้รับชัยชนะ ..ต่อบรรดาเหล่ากบฏ..
แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ ก็ต้องทรงพบกับสูญเสียพระอนุชาผู้เป็นที่รัก เจ้าชายกะนองและเสนาบดีที่เป็นกำลังในการปฏิรูปหลายคน ..ส่งผลให้การปฏิรูปให้ทันสมัยของพม่าเป็นไปอย่างมีอุปสรรค และพระองค์ก็ทรงเริ่มประชวรนับแต่นั้นมา..
#เสนาบดีผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ปลงพระชนม์หมู่พระราชวงศ์พม่าในสมัยพระเจ้ามินดง,
สภาลุตอมีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนการรัฐประหาร และเสนาบดีในสภาลุตอที่มีความสามารถก็ล้วนถูกสังหารในคราวกบฎเจ้าชายมินกุนและเจ้าชายมินกุนเดง
ดังนั้นเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลในสภาลุตอในเวลาต่อมาจึงมีแต่เพียง กินหวุ่นมิงจี้และแตงดาหวุ่นจี้ ซึ่งทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารวังหลวงในปี พ.ศ. 2421 - 2422
แตงดาหวุ่นจี้ เป็นผู้มีอุดมการณ์ชาตินิยม คลั่งชาติ เกลียดชังชาวอังกฤษ
เขาเป็นผู้นำของพวกหัวเก่าที่ยังคงเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพม่า ดังนั้น การเลือกองค์รัชทายาทที่จะมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปย่อมสำคัญสำหรับเขา
พระนางสิ่งผยูมะฉิ่ง จึงทรงใช้โอกาสในช่วงพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรในการสั่งสมอำนาจและสร้างพันธมิตรกับเหล่าเสนาบดีในสภาลุตอ ทำให้พระนางทรงอิทธิพลใหญ่หลวงในปลายรัชกาล
พระนางสิ่งผยูมะฉิ่งทรงต้องการครองอำนาจหลังบัลลงก์ยิ่งกว่าตัวผู้ครองบัลลังก์เอง
ดังนั้นทรงต้องการกำหนดผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้ามินดง และยกพระราชธิดาของพระนางขึ้นเป็นพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ..พระนางสิ่งผยูมะฉิ่งทรงเลือกเจ้าชายธีบอในฐานะตัวเลือกที่เหมาะสม
เนื่องจากพระอุปนิสัยของเจ้าชายเป็นคนที่ไม่ทะเยอทะยาน เชื่อฟัง ซึ่งพระนางมองว่าน่าจะถูกชักจูงได้ง่าย และเจ้าชายเป็นผู้คงแก่เรียน โดยเป็นเจ้าชายเพียงพระองค์เดียวที่ผ่านการสอบธรรมวินัยขั้นสูงสุด
พระนางทรงมองว่าการเลือกเจ้าชายธีบอขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะช่วยให้เกิดความสมัครสมานระหว่างผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาด้วยกันได้เป็นอย่างดี และจะทำให้พระนางทรงได้รับการสนับสนุนด้วยเช่นกัน อีกทั้งเจ้าชายยังทรงมีเลือดขัตติยะทางฝ่ายพระราชมารดาที่เป็นเจ้าหญิงเมืองฉาน จึงมีความเหมาะสมกว่าเจ้าชายองค์อื่นที่มีมารดาเป็นสามัญชน
นอกจากนั้น เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทรงเลือกเจ้าชายธีบอ คือ เจ้าชายไม่ทรงมีผู้สนับสนุนจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย แม้กระทั่งญาติทางฝ่ายมารดาก็ไม่มีอิทธิพลใด ๆ จึงทำให้พระนางเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนแต่เพียงกลุ่มเดียว ..
1
#สายใยพระเจ้าธีบอ
พระเจ้าธีบอ ทรงเป็นราชบุตรของพระเจ้ามินดง ที่ประสูติกับพระนางแลซา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงเมืองฉาน
พระราชมารดาของพระองค์มีเหตุถูกพระเจ้ามินดงทรงเนรเทศออกจากราชสำนัก แล้วบวชเป็นตี่ละฉิ่น
ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ พระนางทรงใช้ชีวิตในวัดหลวง อย่างสงบ กับพระราชธิดา ผู้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง..
เจ้าชายธีบอ ทรงมีพระโสทรภคินี พระองค์หนึ่ง พระนามว่า “ผกันคยี”..
..
..
..
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงเรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา
(T.Mon)
21/7/2021
ข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง:
(มิคกี้ ฮาร์ท). "โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้". กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2559, หน้า 190;
"ราชันผู้ผลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง". กรุงเทพฯ : มติชน, 2557, หน้า 45;

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา