27 ก.ค. 2021 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พบไวรัสโบราณ 33 สายพันธุ์ อายุ 15,000 ปีในธารน้ำแข็งทิเบตที่กำลังละลาย
1
การค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Microbiome เป็นทีมวิจัยที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัย Ohio State University ได้นำก้อนน้ำแข็งจากยอดน้ำแข็ง Guliya ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 22,000 ฟุต หรือ 6.7 กิโลเมตร มาทำการศึกษา
1
โดยได้ตัดน้ำแข็งออกเป็นแผ่นบางหลายๆชิ้น เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ, ส่วนประกอบภายใน และ เพาะเชื้อจากน้ำแข็งที่เก็บมา เพื่อศึกษาว่ามีจุลินทรีย์อยู่หรือไม่ เพราะชั้นน้ำแข็งก็เหมือนชั้นดิน ชั้นหิน ที่เป็นพิมพ์เขียวเก็บบันทึกทุกๆการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและสภาพอากาศของโลกใบนี้มาเนิ่นนาน เพียงแต่ชั้นน้ำแข็งจะมีความพิเศษกว่าตรงที่ความเย็นสามารถเก็บรักษาเนื้อเยื่อและโมเลกุลทางชีวเคมีในเซลล์ไว้ได้ บางครั้งจึงสามารถคืนชีพจุลชีพต่างๆได้จากชั้นน้ำแข็ง เช่น มอสอายุหลายร้อยปี สามารถเติบโตได้อีกครั้งเมื่อเจออุณหภูมิที่อุ่นขึ้น หรือ หนอนตัวกลมอายุ 42,000 ปี ที่สามารถขยายพันธ์ุใหม่ได้ เป็นต้น
sciencealert.com
หลังจากการทดลอง ทีมวิจัยสามารถแยกไวรัสออกมาได้ 33 สายพันธุ์ จึงทำการตรวจสอบพันธุกรรมจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีรหัสพันธุกรรมถูกบันทึกไว้ถึง 28 สายพันธุ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นไวรัสที่อาศัยอยู่ในดินหรือตามรากพืช เพราะตรวจพบฝุ่นคล้ายดินในน้ำแข็ง และยังมีชุดยีนบางส่วนที่ทำให้ไวรัสนี้สามารถก่อโรคในแบคทีเรีย Methylobacterium ซึ่งเป็นตระกูลแบคทีเรียที่มีบทบาทใน methane cycle อาศัยอยู่ในดินและรากต้นไม้
ซึ่งยังต้องทำการศึกษาต่อไป เพราะดูเหมือนว่าไวรัสเหล่านี้จะมีชุดยีนที่ทำให้อยู่รอดในสภาวะหนาวเย็นสุดขั้วอย่างธารน้ำแข็งได้ยาวนาน ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การค้นพบสิ่งมีชีวิตโบราณใหม่ๆในธารน้ำแข็งที่กำลังละลายเป็นเหมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อันตรายก็ดีไป แต่ใครจะไปรู้ อาจมีสิ่งมีชีวิตโบราณสุดอันตรายที่รอคอยการฟื้นคืนชีพอยู่ใต้ธารน้ำแข็งในอนาคตก็เป็นได้
1
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา