26 ก.ค. 2021 เวลา 14:08 • การเมือง
ถอดบทเรียนภาคสนาม !?
ถึงเวลาปลดล็อกระบบราชการ - ดึงเอกชนเสริมทัพ รับมือวิกฤต
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า
กรณ์กล้า – นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า หลังเปิดโครงการ “กล้าหาเตียง” ระดมทีมอาสาพรรคกล้า 7 ทีมลุยงานเกือบ 24 ชั่วโมง
เพื่อช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด – 19 เคสผู้ป่วยหนักสีเหลือง สีแดงที่เพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นต้องพึ่งหมอ พยาบาล ทีมอาสาลงพื้นที่สนับสนุนทุกมาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยง และป้องกันไม่ให้บุคลากรด่านหน้าต้องติดเชื้อโควิดเสียเอง
เจอกับตัว “กรณ์กล้า” เปิดประสบการณ์ตรง !!
ช่วยผู้ป่วยให้มีโอกาสได้รับการรักษา การจะได้เตียงหรือไม่ได้นั้น หมายถึงความเป็น หรือความตายของผู้ป่วย
ซึ่งการทำงานของทีมอาสาแต่ละวัน พบปัญหาอุปสรรคมากมาย และเชื่อว่าภาระต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในระดับต่าง ๆ อิงจากสถิติการฉีดวัคซีนวันละ 250,000 โดส ถือว่ามากขึ้น!! เพราะฉีดให้กับประชาชนแล้ว 15 ล้านคน แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้
“ฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 64 เท่ากับ
160 วันที่เหลือ รัฐบาลต้องฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดส”
ปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข !?
1. ระบบการช่วยเหลือล้มเหลว – การตรวจในพื้นที่เสี่ยงต้องฟรี
ล่าสุดกลางดึกวันที่ 21 ก.ค.จากที่ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยท่านหนึ่ง เป็นผู้ป่วยสูงวัยมีโรคประจำตัวทั้งโรคไตและเบาหวาน
ทีมอาสาพรรคกล้าพยายามช่วยเต็มที่ แต่ถูกโรงพยาบาลประจำ
ของผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับดูแล
เราพยายามหาช่องทางอื่น และโทรเบอร์ 1669 ตามคำแนะนำของ
โรงพยาบาล แต่ถูกตัดสายทุก 4 นาที
ส่วนเบอร์ 02-2705685-9 ของกองทัพบกที่แจ้งว่าเปิดรับสาย
ตลอด 24 ชั่วโมง ก็โทรไม่เคยติด
วันต่อมาผู้ป่วยอาการผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจส่งรถ
ไปรับพาไปโรงพยาบาล แต่รถไปไม่ทัน จนเช้าตรู่วันที่ 23 ก.ค.
ทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตและฌาปนกิจในทันที สร้างความสลดหดหู่ใจ
ให้กลุ่มอาสา แต่ก็เทียบไม่ได้กับความรู้สึกของครอบครัวที่ต้อง
สูญเสียคนที่รัก
“ผมต่อสายไปคุยกับภรรยาผู้เสียชีวิต ท่านไม่ได้ติดใจกับระบบการช่วยเหลือ ท่านเข้าใจว่าเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤต
หากระบบดี ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้ป่วยยังคงมีชีวิตอยู่ เรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติที่เรารับทราบทุกวัน พวกเรามานั่งสุมหัวกัน เพื่อทบทวนถึงระบบระเบียบราชการ และขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคมากมาย
ที่อาจใช้ได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะวิกฤตควรจะปรับปรุง
โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีการตรวจ Rapid Antigen แล้วพบว่าติดโควิด หลังตรวจวัดค่าออกซิเจนแล้ว ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล
ในทันที ไม่ต้องมาตรวจ PCR ตามเงื่อนไขของทางราชการอีก
ตอนนี้การตรวจก็ยาก ผู้ตรวจออกไปหาพื้นที่ที่ต้องตรวจ นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่เดินทางมาตรวจด้วย
ตอนนี้การตรวจเริ่มผ่อนคลาย แต่ก็มีผลแค่การรู้เท่านั้น
แต่ยังไม่มีผลกับการใช้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
เรายังขอเรียกร้องว่าการตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต้องฟรี ”
เพจพรรคกล้า
2. ประสิทธิภาพของข้อมูล – ผู้มีอำนาจต้องลงมาดูด้วยตนเอง
การเข้าถึงระบบการรักษา ผ่านช่องทาง Call Center รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนผู้รับสาย เพิ่มข้อมูลให้กับผู้รับสายให้เขามีข้อมูลเพียงพอให้คำปรึกษากับผู้ป่วย เช่นเดียวกับประเด็นยาที่ยังถกเถียงกัน
ข้อเท็จจริงวันนี้ต้องยอมรับ !! ระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้ ผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ตามวัด ตามชุมชน จำนวนมากเข้าไม่ถึงยา
วันนี้รัฐบาลมีนโยบายแยกตัวผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยให้ สปสช. ดูแลเรื่องยา อาหารสามมื้อ และให้คำปรึกษาทางการแพทย์
 
แต่หลังจากตรวจสอบ พบว่า ผู้ที่เข้าระบบของเราแทบไม่เจอใครได้รับยา หรือรับการช่วยเหลือจากราชการตามนโยบายที่กำหนดไว้
นโยบายก็เรื่องหนึ่ง แต่ผลในทางปฏิบัติ เป็นหนังคนละม้วน!!
จึงขอให้ผู้มีอำนาจช่วยลงมาดูด้วยตัวเองว่า นโยบายของท่านนำไปสู่การปฏิบัติได้ไหม และที่ยังทำไม่ได้มันติดอะไร
สามารถปลดล็อค ปลดแอกได้ไหม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ท่านกำหนดให้โดยสะดวกมากขึ้น
3. เพิ่มศูนย์พักคอยตัดวงจรแพร่เชื้อ
พรรคกล้าได้ให้ความร่วมมือสร้างศูนย์พักคอย 2 แห่ง วิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อการตัดวงจรการแพร่เชื้อในชุมชนกัน เพราะส่วนใหญ่อยู่กันอย่างแออัดในครอบครัว จึงให้คำแนะนำกับชุมชนในการใช้พื้นที่ส่วนกลาง สร้างศูนย์พักคอย แยกตัวผู้ป่วยมาได้อย่างปลอดภัย แต่ศูนย์พักคอยที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
“ วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 150,000 คน ทั่วประเทศ รักษาหาย 7,500 คน ขณะที่เรามีผู้ป่วยต่อวันเกือบหมื่นคน ที่ต้องเข้ารับการรักษา จึงต้องเร่งสร้างศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้น กทม. ประกาศจะสร้างศูนย์พักคอยทั้ง 50 เขต จำนวน 5,000 เตียง มันไม่พออยู่แล้ว
เราต้องเผื่อไว้อย่างน้อย 100,000 เตียง คำนวณง่าย ๆ ในแต่ละวันมีผู้ป่วย 5,000 คน ใช้เวลารักษาฟื้นตัว 20 วัน ถึงจะออกไป และให้ผู้ป่วยท่านใหม่เข้ามาแทนที่ จำนวนเตียงที่ต้องเตรียมคือ 100,000 เตียง ”
4. ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกความสุข ดีอีเอสต้องสร้างอีโคซิสเต็ม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ล้มเหลวเรื่องระบบการจัดการข้อมูล
- วันนี้เราไม่รู้เลยว่าผู้ป่วยอยู่ไหน
- ใครอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกี่คน เขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน
- โรงพยาบาลมีเตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน
การบริหารจัดการที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ปรับปรุงระบบการจัดการ และนี่คือภาระสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงดีอีเอสต้องสร้างอีโคซิสเต็ม (ecosystem) ให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์
ต้องรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ไหน เตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน กลุ่มเสี่ยงรอการฉีดวัคซีนกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง ข้อมูลเหล่านี้รัฐต้องมีอยู่ในมือ และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
นอกจากนี้เรื่องการทำมาหากิน เศรษฐกิจ และการเยียวยา
ก็ต้องมีแพลตฟอร์มอีโคซิสเต็ม
“วันก่อนได้พูดคุยกับคุณเชาว์ - สมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ออกแบบแอปเป๋าตัง เวลานี้ประชาชนโหลดแอปเป๋าตังอยู่ในมือถือ 30 ล้านคน เป็นแพลตฟอร์มที่ควรจะขยายผลให้มีการจองวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องไปออกแบบแอปใหม่ให้ยุ่งยาก วันนี้ร้านอาหารที่ถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่อยู่ในระบบดิลิเวอรี่ เพราะเขาทำไม่เป็น กระทรวงดีอีเอสควรจะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้"
5. นายกฯ กล้าดึงเอกชนเสริมศักยภาพรัฐ
ท่านนายกฯ เชิญ 40 ซีอีโอ รวมถึงประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม เข้ามาพูดคุยปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันก่อน เป็นเรื่องที่ดี
แต่คิดว่าการพูดคุยทำมาแล้วหลายครั้ง เขาก็ฝากรัฐหลายครั้ง สุดท้ายรัฐก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง
พวกเราทุกคนที่อยู่หน้าด่าน!! พบขีดจำกัดของระบบราชการ
นายกฯ ควรมองข้ามระบบราชการ ไปสู่เครื่องมืออื่นที่มีอยู่ในประเทศว่า
มีภารกิจอะไรบ้างที่มอบให้หน่วยราชการไปทำ แต่ไม่สามารถทำได้ ??
ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะไปปรึกษาผู้ประกอบการว่า
เอกชนรับไปทำได้ไหม !?
ยกตัวอย่าง
- Call Center เบอร์ที่จัดมา หลักการมันดีอยู่แล้ว แต่ในความจริงไม่สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ ท่านก็ขอให้ AIS TRUE รับภาระไปได้ไหม
 
- ศูนย์พักคอย หน่วยราชการ อาจสร้างไม่ทัน ขอให้กลุ่ม เอสซีจี ทำได้ไหม เพราะเขาก็ทำเตียงกระดาษบริจาคให้รัฐอยู่แล้ว ลองดูทักษะการบริหารจัดการของเขา สามารถช่วยสมทบ หรือทำหน้าที่แทนระบบสาธารณสุขของรัฐได้แค่ไหน
- ประเด็นอาหาร ขอให้ซีพีเลยได้ไหม เพราะเซเว่นมี 10,000 สาขา ทั่วประเทศ เขามีอาหารอยู่แล้ว เขาสามารถจัดส่งได้ถึงมือผู้ป่วยได้ทันที
สถานการณ์วันนี้ต้องระดมผู้รู้ที่มีความสามารถ มีทรัพยากรในมือ เพื่อช่วยกันนำพาพวกเราผ่านด่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้
จากข้อเสนอข้างต้น “กรณ์กล้า” ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยราชการจะทำ แต่อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงแก้ไขได้ และต้องเร่งทำ
ส่วนพรรคกล้ายังเดินหน้าเป็นหน่วยประสานงานช่วยเหลือ
ผู้ป่วยโควิด -19 หาเตียง ต่อไป
สามารถติดต่อไปได้ที่ เพจ Kla party
จะมีกลุ่มอาสารอรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง //
1
เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นอย่างไรหรือข้อแนะนำอะไร
แลกเปลี่ยนกัน ส่งกำลังใจให้กันได้ใต้โพสต์เลยนะคะ
หรืออยากเข้าไปอ่านมุมสบาย ๆ ฅ.การเมือง
“กรณ์ จาติกวนิช" หล่อโย่งปรี๊ด! บนถนนสายการเมืองใหม่
แฟนคลับลีดส์ ยูไนเต็ด ทำไมปันใจทีมสิงโตน้ำเงิน
ไปหลงรักทีมนกยูงทอง (27 เม.ย. 2020)
ได้ตามลิงค์เลยนะคะ
ขอบคุณที่เข้ามาทักทายกัน
Credit : ภาพกล้าสู้โควิด
#WhoChillDay #กรณ์กล้า #กรณ์ จาติกวนิช
#พรรคกล้า #โควิด-19 #การเมือง
#ถอดบทเรียนทีมอาสากล้าหาเตียง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา