7 ส.ค. 2021 เวลา 12:30 • หนังสือ
สรุปหนังสือ “ตำราพิชัยสงครามซุนวู”
4 ปัจจัยนำไปสู่ชัยชนะ
รู้เขา รู้เรา
เข้าใจบุุคคล
การสงครามเบื้องต้น
กลแห่งการศึก
ผู้เขียน: Sun Wu
สรุปโดย นักเรียน สรุปให้ รุ่นที่ 5 คุณ Jittapat Khanoknaiyakarn
=====================
ไม่พลาดสรุปหนังสือดี ๆ กดติดตาม เพจสรุปให้
#ไม่พลาดโปรดีๆติดตามที่ Line: @saroophai
Concept ของตำราพิชัยสงครามของซุนวู สามารถนำมารวมแล้วแบ่งประเภทได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. รู้เขา รู้เรา คือ ความเข้าใจในหลักการเปรียบเทียบ ระหว่างเรากับเขาก็ออกรบ พิจารณาความได้เปรียบ ข้อมูลสำคัญรวมถึงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศนั้น 2. เข้าใจบุคคล คือ มีความเข้าในส่วนของบุคคลที่มีความสำคัญกับกองทัพ อันได้แก่ แม่ทัพ และจารชน 3. การสงครามเบื้องต้น คือ องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญกับการรบ เช่น การสัประยุทธ์ อะไรคือกลยุทธิ์ การกรีธาทัพ เป็นต้น 4. กลแห่งการศึก คือ การรวมองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญกับการรบเข้าด้วยกัน แล้วนำไปพลิกแพลงร่วมกับเทคนิคขั้นสูงเพื่อให้มีสมรรถภาพในการรบที่สูงขึ้น
(1) รู้เขา รู้เรา – การที่จะเพิ่มโอกาสในการนำชัยชนะมาสู่ตนนั้น ต้องอาศัยข้อมูลเป็นพื้นฐาน ซึ่งข้อมูลที่มีความสำคัญได้แก่ 1-A ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างแคว้นเราและแคว้นข้าศึก 1-B ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับภูมิประเทศที่เราจะไป และลักษณะภูมิประเทศต่างๆ เพื่อให้สามารถกำหนดแผนการเดินทัพ ตั้งค่ายให้อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบคู่ต่อสู้
(1-A) เงื่อนไข 5 ข้อที่ต้องเปรียบเทียบระหว่างเราและข้าศึกมีดังนี้ คือ 1.ผู้ครองแคว้นฝั่งใดดีกว่ากัน 2.ดิน ฟ้า อากาศ ฝั่งใดเหมาะสมหรือเอื้ออำนวยอย่างไรต่อกัน 3.ยุทธภูมิมีความได้เปรียบเสีย/เสียเปรียบต่างกันอย่างไร 4.แม่ทัพนายกองและกำลังพลฝั่งใดเข้มแข็งกว่ากัน 5.ทหารของฝั่งใดมีระเบียบวินัยมากกว่ากัน เมื่อพิจารณาทั้ง 5 ข้อ แล้ว หากเราไม่เหนือกว่าครบทั้ง 5 ข้อ ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะไปรบกับแคว้นนั้น เพราะมีโอกาสที่เราจะพ่ายแพ้ได้ แต่ถ้าเมื่อใดเราเหนือกว่าในทั้ง 5 ข้อ เรียกได้ว่าเราแทบจะกุมโอกาสชนะไว้ได้ทั้งหมด
(1-B) ลักษณะภูมิประเทศ มี 6 ลักษณะ ซึ่งแต่ละลักษณะจะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันดังนี้ ที่โล่ง : การเดินทัพให้ปีกขวาเดินอยู่บนเนินและอิงหลังไว้กับเนินเป็นหลัก เพื่อให้ได้เปรียบถ้าเกิดการรบพุ่งกับข้าศึก ที่ลาดชัน : เป็นพื้นที่ที่ยากจะยึดไว้ให้มั่น ในการที่จะบุกขึ้นที่ลาดชัน จะบุกก็ต่อเมื่อเรามั่นใจที่จะชนะเท่านั้น เพราะผู้ที่อยู่เหนือที่ลาดชันนั้นจะเป็นผู้ได้เปรียบ ที่ยัน : เป็นพื้นที่รก ทุรกันดาน ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำได้แค่ตั้งทัพยันและดูเชิงกันไว้เท่านั้น ที่แคบ : พื้นที่แคบเป็นพื้นที่อันตรายที่เสี่ยงต่อการถูกซุ่มโจมตีได้ ซึ่งการซุ่มโจมตีนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทหารมากก็ทำให้ทัพที่เคลื่อนผ่านเข้าไปเสียหายมหาศาลได้ มี 2 กรณี กรณีแรกคือไม่บุกเข้าไป ถ้าคิดว่าจะยึดได้ ส่วนกรณีที่สองคือ บุกเข้าไปโดยปิดทางออกไว้ เพื่อเป็นการบีบให้ทหารฝั่งเราจำเป็นต้องสู้ตาย ที่คับขัน : พื้นที่คับขันเป็นพื้นที่ที่ต้องแย่งชิง ใครสามารถเดินทัพไปถึงแล้วยึดที่สูงได้ก่อน จะเป็นการบีบให้ฝั่งตรงข้ามต้องถอยในทันที ที่ไกล : เป็นพื้นที่ที่เราและข้าศึกอยู่ห่างไกลกันไป การชักจูงให้เกิดนการรบรังจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ ข้อมูลลักษณะภูมิประเทศทั้ง 6 นี้ หากมีความเข้าใจถ่องแท้ เราวางกลยุทธ์รุกรับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มโอกาสชนะได้
พื้นภูมิ 9 ประการตามหลักยุทธศาสตร์ พื้นภูมิทั้ง 9 ประการเป็นการควบรวมระหว่างภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์เข้าด้วยกัน เกิดการตัดสินใจและข้อควรปฏิบัติในภูมิ ๆ นั้น โดยมีทั้งหมดดังนี้ 1. ภูมิขวัญเสีย หมายถึง การที่ต้องตั้งรับข้าศึกในดินแดนของตนเอง - เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรรบ 2. ภูมิหลบหนีง่าย หมายถึง การที่เราบุกเข้าไปในดินแดนของข้าศึกแต่ยังไม่ลึกเท่าใด – เป็นพื้นที่ที่เราไม่ควรจะหยุดทัพ ให้บุกไปต่อ 3. ภูมิช่วงชิง หมายถึง ดินแดนที่ฝั่งใดสามารถยึดได้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ – ให้รีบบุกยึดครองก่อนข้าศึก จากนั้นค่อยโจมตีข้าศึกในภายหลัง 4. ภูมิโล่ง หมายถึง ดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนพลได้สะดวก – ต้องจัดขบวนทัพให้เป็นสายต่อเนื่องกัน และระวังไม่ให้ข้าศึกมาท้ารบ 5. ภูมิไมตรี หมายถึง ดินแดนที่มีทางเชื่อมต่อกับอาณาจักรอื่น ใครยึดครองได้ย่อมผูกสัมพันธ์หาพันธมิตรเพิ่มได้ – ควรรีบดำเนินการทางการต่างประเทศ ผูกสัมพันธ์ให้ไวที่สุด 6. ภูมิความเป็นความตาย หมายถึง ดินแดนของข้าศึกที่เราบุกไปยึดได้แต่อยู่ลึกเข้าไปในใจกลางแดนข้าศึก – ต้องเก็บเสบียงจากเมืองข้าศึกที่ตีได้ตามรายทางก่อนจะถึงใจกลาง แล้วเก็บสะสมไว้ 7. ภูมิอันตราย หมายถึง ดินแดนที่ง่ายต่อการถูกซุ่มโจมตี เป็นหุบเขา ลำเนาไพร - ต้องรีบเดินทัพผ่านไปให้ไวที่สุด 8. ภูมิล้อมโอบ หมายถึง ดินแดนที่ปากทางเข้าแคบ ทางถอยก็ไกลและวกวนข้าศึกใช้คนน้อยก็ซุ่มโจมตีได้ - ต้องพลิกแพลงกลยุทธ์เพื่อหาทาออกให้ได้ 9. ภูมิมรณะ หมายถึง ดินแดนที่ต้องรีบเผด็จศึกอย่างรวดเร็ว ฝั่งไหนทำได้ก่อนการันตีโอกาสชนะ - ต้องทุ่มกำลังเข้ารบอย่างเต็มที่เพื่อความอยู่รอด
(2) เข้าใจบุคคล : เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยบุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญในกองทัพ คือแม่ทัพ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกองทัพ สั่งการ ดำเนินแผนให้เป็นไปดังกลอุบาย และจารชน ผู้ซึ่งทำหน้าที่หาข้อมูลในเชิงลึกมาให้แก่กองทัพ เพื่อให้สามารถวางแผนและกลยุทธ์ดักทางข้าศึกได้ โดยจะกล่าวแบ่งเป็น 2 หัวข้อคือ (2-A) ลักษณะอันดีของแม่ทัพและจารชน และ (2-B) ความเกี่ยวโยงกันระหว่างแม่ทัพและจารชน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการชนะศึก
(2-A) ลักษณะอันดีของแม่ทัพและจารชน แม่ทัพที่ดีต้องมี LEADERS : ต้องมีความเป็นผู้นำ(Leadership) มีศรัทธาและความเชื่อมั่นอันแรงกล้า(Enthusiast) ทั้งต่อตนเองและบริวาร มีความสามารถ(Ability)และทัศนคติ(Attitude)ที่เหมาะสมเพียงพอที่จะเป็นผู้นำบุคคลไปสู่สมรภูมิ มีความกล้าหาญ(Dauntless) แต่ก็ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ(Empathy) ตั้งมั่นใจกฎ(Rule) รวมถึงมีร่างกายและจิตใจอันเข้มแข้ง(Strength in both body and mind) แม่ทัพที่มีลักษณะนี้ จะไม่ถูกทำให้ไขว้เขวโดยคำสั่งที่ไม่รอบคอบหรือไม่ถูกต้องของผู้ปกครอง ไม่ทำให้ลูกน้องเสียนำใจจนขาดความเคารพ เป็นผู้ที่สามารถนำพาชัยชนะมาสู่กองทัพได้ แม้จะมีราชโองการมา แต่โอกาสชนะอยู่ตรงหน้าก็ต้องกล้าที่จะขัดโองการนั้น เนื่องจากแม่ทัพ คือผู้ถือสิทธิ์ขาดในการบัญชากองทัพในสังกัดตน จารชนที่ดีต้องมี CLEVERS : ต้องเป็นบุคคลที่มีความฉลาดปราดเปรื่อง(Clever) มีความภักดี(Loyalty) ต่อแคว้นอย่างสุดใจ พร้อมที่จะอดทน(Endurance) ต่ออุปสรรคและปรับตัวตามสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ(Variability) มีความพร้อม(Readiness) ที่จะทำงานให้เป็นงานที่มีประสิทธิภาพ(Efficient work) เก็บความลับได้(Secret) และพร้อมที่จะสละชีวิต(Sacrifice) ตัวเองหากมีความจำเป็น จารชนที่มีลักษณะเหล่านี้จะเปรียบได้ดั่งผู้ไม่มีสังกัดและตัวตน เป็นผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง แม้สุดท้ายอาจจะต้องตายด้วยน้ำมือของแคว้นตนก็ยังพร้อมที่จะทำ
(2-B) ความเกี่ยวโยงกันระหว่างแม่ทัพและจารชน ในกองทัพ ยากที่จะหาใครสนิทและเป็นที่ไว้ใจต่อแม่ทัพที่ได้เทียบเท่ากับจารชน ถึงแม้จารชนจะมีสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับแม่ทัพ ทำหน้าที่สืบและส่งข้อมูลสำคัญให้ แต่เมื่อถึงคราวเคราะห์ ก็มีข้อที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน 3 ประการคือ C, I, และ A 1.เก็บความลับไว้ไว้ใจกันแค่ 2 คน (Confidentiality) ความลับในที่นี้รวมถึงความจริงที่ว่าจารชนคือคนสนิทของแม่ทัพเช่นกัน 2.จารชนจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิด (Intimacy) กับแม่ทัพที่สุด ดังนั้นจึงต้องตระหนักถึงความจริงข้อถัดไปไว้อยู่เสมอ 3.เขาต้องเป็นผู้ไร้ตัวตน (Anonymous) ไม่ว่าจะเพื่อการปฏิบัติงาน หรือเพื่อนแง่ของการเสียสละชีวิตตนเองเพื่อชาติก็ดี
(3) การสงครามเบื้องต้น เป็นส่วนที่กล่าวถึงส่วนประกอบสำคัญของการรบ อันได้แก่ (3-A) หลักพื้นฐานในการรบ ซึ่งจะอธิบายเกี่ยวกับการโจมตีศัตรูให้ได้ผลที่สุด (3-B) การกรีธาทัพ ซึ่งจะอธิบายถึงวิธีในการเตลื่อนพล โดยต้องอาศัยความรู้ทางภูมิประเทศและพื้นภูมิตามหลักยุทธศาสตร์
(3-A) หลักพื้นฐานในการรบ ประกอบด้วย ข้อสำคัญ 2 ประการคือ 1.การเข้าปะทะ/การเข้าประจัญบาน และ 2.กลยุทธ์ โดย 1.การเข้าปะทะ/การเข้าประจัญบานกับข้าศึก จะมีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.1 เมื่อจะเข้าปะทะ/ประจัญบานให้กระทำโดยตรง (Direct Action) 1.2 ต้องเคลื่อนเข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว (Move Fast) 1.3 และต้องเข้าจู่โจมอย่างรุนแรง (Strike Hard) 2. กลยุทธ์ จะใช้ประกอบกับการเข้าปะทะ โดยจะอาศัยความสามารถของแม่ทัพนายกองในการพลิกแพลงตามสถานการณ์การรบที่เปลี่ยนไป เพื่อนำมาสู่ชัยชนะ ในการรบการเข้าประจัญบานและการใช้กลยุทธ์ประกอบการเข้าประจัญบานจะเป็นเช่นเดียวกับการผสมสี เรามีสีต่างๆ ก็ย่อมผสมได้สีที่มากมายหลายหลาก เมื่อผสมการประจัญบานและกลุยุทธ์ที่มีการพลิกแพลงแปรผันตลอดเวลาเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้ให้เกิดรูปแบบการรบอันหลากหลายไม่จำกัด
(3-B) การกรีธาทัพ มีพื้นที่ 4 ประเภทที่จำเป็นต้องกรีธาทัพผ่าน ได้แก่ ขุนเขา ลำน้ำ ที่ราบ ที่กันดาร ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการเคลื่อนพลที่แตกต่างกัน 1. กรีธาทัพตามขุนเขา – การเคลื่อนทัพต้องให้กำลังพลอิงไปกับหุบเขา และเมื่อจะพักตั้งค่ายก็ต้องตั้งค่ายบริเวณที่สูงของขุนเขา เพื่อให้ทัศนวิสัยที่ดีกว่าข้าศึก 2. การกรีธาทัพตามล้ำ – การเคลื่อนพลจะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างกำลังผลกับแม่น้ำไว้ เพื่อป้องกันการโดนข้าศึกโจมตี โดยการบุกข้ามแม่น้ำมา และหากข้าศึกบุกมาจริง ก็ให้ปล่อยให้ข้าศึกขึ้นฝั่งมาบริเวณที่เว้นไว้แล้วค่อยโจมตี ไม่บุกลงน้ำไปสู้ และเมื่อพักตั้งค่าย ก็ต้องตั้งค่ายในบริเวณที่เหนือกว่าระดับน้ำที่ข้าศึกจะปล่อยให้มาท่วมทำลายค่ายได้ 3. กรีธาทัพตามแดนกันดาน – ในพื้นที่กันดาร รกชัฏ ซึ่งอาจถูกซุ่มโจมตีได้ง่าย ตอบโต้ยาก ให้รีบนำกำลังพลเคลื่อนผ่านบริเวณดังกล่าวให้ไว และหากถูกโจมตีจริงๆ ให้พยายามจัดกระบวนทัพให้ชิดกับป่าและแหล่งน้ำไว้ 4. กรีธาทัพตามที่ราบ – กำลังพลส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ไปเป็นปกติตามที่ราบแต่เน้นว่าจำเป็นต้องเดินทัพในลักษณะที่ภูมิประเทศด้านหลังสูงกว่าภูมิประเทศด้านหน้า และกำลังพลปีกขวาต้องชะลอและอิงกับเนินไว้ เพื่อคงความได้เปรียบหากข้าศึกเกิดเข้าโจมตีขณะกำลังเคลื่อนทัพ
(4) กลแห่งการศึก เมื่อได้ทราบหลักการรบเบื้องต้นไปแล้ว ถัดไปจะเป็นรายละเอียดสำคัญที่จะช่วยให้โอกาสในการคว้าชัยชนะสูงขึ้น อันได้แก่ 1.สร้างความได้เปรียบจากภูมิประเทศ 2. แบ่งแยกจู่โจม 3. โรมรันสัประยุทธ์ 4.พลิกแพลงกุศโลบาย 5.กระจายสัญญาณ
1.สร้างความได้เปรียบจากภูมิประเทศ – เป็นข้อที่พัฒนามาจากความรู้ด้านภูมิประเทศและพื้นภูมิต่างๆ จะแบ่งได้เป็น 1.1 การเข้าตี : เราต้องศึกษาภูมิประเทศให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้กำหนดการเข้าตีให้เหมาะสม เช่น 1.1.1 หากข้าศึกอยู่บนเขา เราจะไม่บุกขึ้นไป เพราะเป็นการเสียเปรียบเนื่องจากกำลังพลต้องใช้แรงมากกว่าปกติในการยึดเอาชัย 1.1.2 ต้องไม่ทำข้าศึกรู้สึกจนตรอก มิฉะนั้นสถานการณ์จะบีบบังคับให้ข้าศึกเกิดแรงฮึด อันจะส่งผลเสียต่อเรา 1.1.3 ต้องไม่ตกหลุมพรางที่ข้าศึกวางไว้ เช่น การล่อให้เข้านบริเวณทางแคบ เพื่อการซุ่มโจมตี 1.1.4 เมื่อข้าศึกแตกทัพแล้ว เป็นได้ไม่ควรติดตามตีต่อ เนื่องจากอาจมีการซ้อนกลอุบายเพื่อล่อกองทัพเราได้ ทางที่ดีควรทำลายข้าศึก ตรงหน้าให้หนักที่สุดก่อนที่จะเริ่มแตกทัพที่ไป 1.2 ข้อควรรู้ : ต้องรู้สถานที่อันจะเป็นสมรภูมิให้แน่ชัดว่าเป็นที่ใด ลักษณะภูมิประเทศเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดเส้นทางเดินทัพที่ปลอดภัย พร้อม ล่อหลอกให้ข้าศึกฉงน รวมถึงต้องสามารถกำหนดเวลาถึงที่หมายได้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผิดไปจากแผนการ 2. แบ่งแยกจู่โจม – ในการรบกับข้าศึก หากเรามีกำลังมากกว่าข้าศึกถึง 10 เท่า เราจะใช้การล้อมข้าศึก หากมีกำลังมากกว่าข้าศึก 5 เท่า เราจะเข้าโจมตี แต่ถ้าหากเรามีกำลังเท่ากันหรือน้อยกว่าข้าศึก เราจำเป็นจะต้องดำเนินกลยุทธ์แบ่งทัพข้าศึกให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ก่อนทำการเข้าเผด็จศึก 3. โรมรันสัประยุทธ์ 3.1 การสัประยุทธ์เข้าตี : เมื่อเข้าโจมตี จะต้องเข้าโจมตีโดยไม่พะวักพะวง โจมตีให้สุด 3.2 การสัประยุทธ์ตั้งรับ : เมื่อป้องกัน ก็ต้องรักษาความสุขุมรอบคอบไว้ให้ได้ 3.3 การเดินทัพเพื่อสัประยุทธ์ : เราต้องวางแผนการเดินทัพให้วกวน ซับซ้อน เพื่ออำพรางแผนจากศัตรู 4.พลิกแพลงกุศโลบาย – ประกอบด้วยการปั่นป่วนข้าศึก ทั้งทางกายภาพและจิตวิทยา โดยที่มีการเตรียมพร้อมกองทัพไว้สำหรับกรณีที่ต้องเข้าประจัญบาญ 5.กระจายสัญญาณ – ในการทำสงคราม ระเบียบวินัยและการจัดทัพเป็นสิ่งสำคัญ ในการรบ ธงสัญญาณต่าง ๆ จะสับสนอลหม่านไปหมด แต่หากมีการให้สัญญาณที่ดี ย่อมทำให้เกิดความเป็นระเบียบ อันทำให้เกิดความได้เปรียบกับข้าศึก โดยส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณไฟ แต่หากเป็นการรบในเวลากลางคืน ใหใช้สัญญาณกลอง
โฆษณา