29 ก.ค. 2021 เวลา 02:54 • ประวัติศาสตร์
กลุ่มดาวปู ที่มาของเดือนกรกฎาคม
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในดินแดนกรีกโบราณ มีชายคนหนึ่งชื่อ เฮราคลีส (Heracles) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า เฮอร์คิวลีส (Hercules) เขาได้รับพระบัญชาจากพระราชายูรีสเทียส (Eurystheus) แห่งเมืองทีรีนส์ (Tiryns) ให้ทำภารกิจ 12 ประการ
ภาพเฮราคลีสและไอโอลาอุสสู้กับไฮดรา วาดบนหม้อดินเผาศิลปะกรีก ประมาณ 525 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,546 ปีมาแล้ว ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Lernaean_Hydra
หนึ่งในภารกิจนั้นคือ สังหารไฮดรา (Hydra) งู 9 หัว ที่อยู่ในทะเลสาบเลอร์นา (Lerna) ไฮดราคือมีลมหายใจและเลือดเป็นพิษ เฮราคลีสจึงต้องใช้ผ้าปิดปากและจมูกป้องกัน
ภาพเฮราคลีสสู้กับไฮดรา วาดโดย Antonio del Pollaiolo จิตรกรชาวอิตาลี ประมาณปี ค.ศ. 1475 ที่มา Wikipedia
นอกจากนั้นหัวของไฮดราหากถูกตัดขาดไป 1 หัว จะมีหัวงอกขึ้นมาใหม่ 2 หัว เฮราคลีสต่อสู้กับไฮดราอยู่นานก็ไม่สามารถเอาชนะไฮดราได้
เฮราคลีสจึงเรียกหลานชายคือ ไอโอลาอุส (Iolaus) ให้มาช่วย ไอโอลาอุสจึงออกความคิดว่า ให้เฮราคลีสตัดหัวไฮดราทีละหัว แล้วไอโอลาอุสจะรีบเอาไฟเผาที่คอของไฮดรา เพื่อไม่ให้มีหัวใหม่งอกขึ้นมาได้อีก ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผล
ขณะที่เฮราคลีสกำลังจะชนะไฮดรานั้น เทพีเฮรา (Hera) ทรงส่งปูยักษ์มาแกล้งรบกวนสมาธิของเฮราคลีส แต่กลับโดนเฮราคลีสใช้เท้ากระทืบตาย
เทพีเฮราจึงนำปูและไฮดราไปไว้บนท้องฟ้า เกิดเป็นกลุ่มดาวปู (Cancer) และกลุ่มดาวงูไฮดรา ส่วนเฮราคลีสภายหลังก็ได้เป็นกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส
กลุ่มดาวปูเป็นที่มาของชื่อเดือนกรกฎาคม (อ่านได้ 2 แบบคือ กะระกะดาคม หรือ กะรักกะดาคม) คำว่า “กรกฎาคม” มาจากคำว่า “กรกฎ” แปลว่า ปู กับคำว่า “อาคม” แปลว่า มาถึง ดังนั้นกรกฎาคมจึงหมายถึงดวงอาทิตย์ได้เดินทางมาถึงกลุ่มดาวปูหรือราศีกรกฎ
ภาพจำลองดวงอาทิตย์ตกวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 18:48 น. ที่กรุงเทพฯ จะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวปู ที่มา แอป Celestron SkyPortal
ในทางดาราศาสตร์ปี 2564 นี้ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวปูวันที่ 21 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม จะเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต
ชื่อกลุ่มดาวปูภาษาอังกฤษคือ cancer (แคนเซอร์) ยังแปลว่า มะเร็ง (เนื้องอกชนิดร้าย) มีที่มาจากแพทย์ชาวกรีกคือ ฮีปปอคราทีส (Hippocrates ประมาณ 460-370 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,391-2,481 ปีมาแล้ว ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์) ได้สังเกตว่าเนื้องอกที่มีเส้นเลือดบวมนั้นดูคล้ายปู
ภาพวาดกลุ่มดาวปู ในการ์ดชุด Urania’s Mirror โดย Jehoshaphat Aspin ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประมาณปี ค.ศ. 1825 ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Cancer_(constellation)
นอกจากนี้ยังมีคำว่า Tropic of Cancer (ทรอปิกออฟแคนเซอร์) อาจแปลว่า เส้นเขตร้อนแห่งกลุ่มดาวปู เป็นเส้นละติจูดที่ 23.4365 องศาเหนือ หรือ 23°26’11.4” (23 องศา 26 ลิปดา 11.4 พิลิปดา เหนือเส้นศูนย์สูตร) เท่ากับความเอียงของแกนโลก เป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือมากที่สุด จะเห็นดวงอาทิตย์อยู่กลางหัวในวันครีษมายัน (อ่านว่า ครีดสะมายัน)หรืออุตตรายัน (summer solstice ซัมเมอร์ ซอลสติซ หรือ June solstice จูน ซอลสติซ) ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน
เมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีก่อน ในวันครีษมายันดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวปู ปัจจุบันเนื่องจากการส่ายของแกนโลก ทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) แต่เราไม่ได้เปลี่ยนชื่อเส้นนี้ว่า Tropic of Taurus ยังคงใช้ว่า Tropic of Cancer
ตรงข้ามกันคือเส้น Tropic of Capricorn (ทรอปิกออฟแคปริคอร์น) หรืออาจแปลว่า เส้นเขตร้อนแห่งกลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) เป็นเส้นที่ดวงอาทิตย์ลงใต้มากที่สุด เห็นดวงอาทิตย์กลางหัวในวันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) หรือ ทักษิณายัน (winter solstice วินเทอร์ ซอลซติซ หรือ December solstice ดีเซมเบอร์ ซอลสติซ) วันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม (แล้วแต่ปี เช่น ปี 2564 จะเป็นวันที่ เช่น ปี 2564 จะเป็นวันที่ 21 ธันวาคม ปีหน้า 2565 จะเป็นวันที่ 22 ธันวาคม)
ภาพจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ที่มาของชื่อเดือน July (กรกฎาคม) แกะสลักด้วยหินอ่อน ประมาณ 50-40 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,071-2061 ปีมาแล้ว ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Julius_Caesar
ภาษาอังกฤษเดือนกรกฎาคมคือ July มาจากชื่อจักรพรรดิโรมันคือ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้ทรงเริ่มปรับปรุงปฏิทินเมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 2,067 ปีมาแล้ว เรียกว่าปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) เดิมชื่อเดือนกรกฎาคมของโรมันคือ Quintilis (ควินติลิส) แปลว่าเดือน 5 (เดือนแรกของโรมันคือเดือนมีนาคม)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1582 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII) ทรงปรับปรุงปฏิทินจูเลียนเพิ่มเติมจนกลายเป็นปฏิทินแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar)
กลุ่มดาวปูไม่มีดาวสว่างให้สังเกตง่ายเหมือนกลุ่มดาวจักรราศีอื่น ๆ ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวปูสว่างเพียง 3.5 ไม่สามารถมองเห็นในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ (เห็นได้ไม่เกิน 3) แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่ที่มืดสนิท ไกลจากแสงรบกวนของเมือง
ภาพกระจุกดาวรังผึ้ง ที่มา Wikipedia
วัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มดาวปูคือ กระจุกดาวรังผึ้ง (Beehive Cluster) หรือ ไพรซีปี (Praesepe) หรือ M44 ตามบัญชีวัตถุเมซีเย (Messier object) ความสว่าง 3.7 ต้องออกไปดูในที่ที่มืดสนิทนอกเมืองเช่นเดียวกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา