7 ส.ค. 2021 เวลา 12:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดวงอาทิตย์ ที่มาของวันอาทิตย์
โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “เฟตอน (Phaeton)” เพื่อนๆ ของเฟตอนท้าเขาว่า ถ้าเฟตอนมีพ่อเป็นสุริยเทพ (เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์) จริง ก็พิสูจน์ให้พวกเราเห็นสิ
ภาพ The Fall of Phaeton โดย Peter Paul Rubens ประมาณปี พ.ศ. 2147-2148 (ค.ศ. 1604-1605) ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/The_Fall_of_Phaeton_(Rubens)
เฟตอนจึงเดินทางไปหา “ฮีลีโอส (Helios)” สุริยเทพผู้เป็นพ่อ
“ท่านพ่อ ข้าขออะไรสักอย่างจากท่านพ่อได้ไหม?”
“เจ้าขอมาได้เลย ข้าจะให้ทุกอย่างตามที่เจ้าขอ”
“จริงๆ นะท่านพ่อ”
“พ่อเป็นเทพ พูดแล้วไม่คืนคำ”
“งั้นข้าขอขับรถม้าของท่านพ่อ พาดวงอาทิตย์ขึ้นบนท้องฟ้า พวกเพื่อนๆ ข้าจะได้เห็นว่าข้าเป็นลูกของท่านพ่อจริง ขอแค่วันเดียวเท่านั้นเองนะท่านพ่อ”
“เออ…เจ้าขออย่างอื่นเถิด ม้าทั้ง 4 ตัวนี้แข็งแรงและพยศมาก แม้แต่มหาเทพซูสยังไม่สามารถควบคุมได้”
“ท่านพ่อพูดเองว่าจะไม่คืนคำ จะให้ทุกอย่าง ตามที่ข้าขอ ข้าไม่ขออย่างอื่น นอกจากขอให้ข้าได้ขับรถม้าของท่านพ่อ”
ไม่ว่าฮีลีโอสจะพยายามเกลี้ยกล่อมเฟตอนให้เปลี่ยนใจอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงจำใจต้องยอมให้เฟตอนขับรถม้า โดยฮีลีโอสได้สอนวิธีการบังคับรถม้า
เมื่อเฟตอนได้ขึ้นบังคับรถม้าที่มีดวงอาทิตย์ เขาไม่สามารถควบคุมรถม้าได้ รถม้าได้ขึ้นสูงเกินไป ทำให้โลกหนาวเย็น แล้วรถม้าก็ลงมาต่ำเกินไป ทำให้โลกร้อนขึ้น จนบางส่วนของทวีปแอฟริกากลายเป็นทะเลทราย และคนแอฟริกาผิวไหม้กลายเป็นผิวดำ
ภาพวาดสุริยเทพฮีลีโอส (หรืออาจเป็นเฟตอน) ขับรถม้า ศิลปะกรีก ประมาณ 430 ปีก่อนคริสตกาล ที่มาภาพ Theoi Project https://www.theoi.com/Gallery/T17.1.html
มหาเทพซูส (Zeus) เห็นเหตุการณ์ เกรงว่าจะเกิดมหาภัยพิบัติแก่โลกมนุษย์ จึงขว้างสายฟ้ามาใส่เฟตอนเสียชีวิตร่วงหล่นตกลงมา ส่วนฮีลีโอสก็รีบเข้าไปควบคุมรถม้าพาดวงอาทิตย์ให้เคลื่อนที่กลับไปเป็นปกติ
ชาวกรีกโบราณได้สร้างรูปประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ของเทพฮีลีโอสที่เมืองโรดส์เรียกว่า “Colossus of Rhodes” เมื่อ 280 ปีก่อนคริสตกาล ความสูง 33 เมตร จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ แต่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 226 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้พังลงมา
ชื่อเทพฮีลีโอส เป็นที่มาของธาตุฮีเลียม (helium) ซึ่งเป็นธาตุที่ค้นพบที่ประเทศอินเดียตอนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) เรียกว่า “The King of Siam’s eclipse” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิดอย่างแม่นยำไว้ล่วงหน้า 2 ปี และเสด็จทอดพระเนตรที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ชาวโรมันเรียกเทพฮีลีโอสว่า “ซอล (Sol)” คำนี้ในภาษาละตินหมายถึงดวงอาทิตย์ด้วย และเป็นที่มาของคำศัพท์ที่ขึ้นว่า solar เช่น solar cell (เซลล์สุริยะ หรือ เซลล์แสงอาทิตย์), solar system (ระบบสุริยะ), solar eclipse (สุริยุปราคา) ฯลฯ
ภาพพระอาทิตย์ในศาสนาฮินดู ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Surya
ในศาสนาฮินดูเรียกเทพแห่งดวงอาทิตย์ว่า สุริยะ หรือ สูรยะ (Surya) ประทับบนรถม้า 7 ตัว หมายถึง 7 วันในสัปดาห์
ภาษาไทยเวลาใช้คำว่า “พระอาทิตย์” จะมีความหมายเกี่ยวกับเทพเจ้า ถ้าเป็นทางวิชาการดาราศาสตร์นิยมใช้ว่า “ดวงอาทิตย์” มากกว่าพระอาทิตย์
ดวงอาทิตย์ (Sun) เป็นที่มาของวันอาทิตย์ (Sunday) เป็นดาวที่สำคัญที่สุดสำหรับโลก เพราะเป็นแหล่งพลังงานและแสงสว่างให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ก็จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลก
ดวงอาทิตย์ (Sun) เป็นที่มาของวันอาทิตย์ (Sunday) เป็นดาวที่สำคัญที่สุดสำหรับโลก เพราะเป็นแหล่งพลังงานและแสงสว่างให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ก็จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลก
ดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นดาวฤกษ์ (star) มีแสงสว่างในตัวเอง ต่างจากดาวเคราะห์ (planet) ที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แสงของดวงอาทิตย์เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ หรืออาจกล่าวว่าดวงอาทิตย์เป็นลูกไฟนิวเคลียร์
ดาวที่เราเห็นในเวลากลางคืนเกือบทั้งหมดเป็นดาวฤกษ์เหมือนดวงอาทิตย์เรา ดาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์ก็คือ ดาวที่เป็นชื่อวันในสัปดาห์ (ไม่นับดวงอาทิตย์) คือ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และ ดาวเสาร์
องค์ประกอบหลักของดวงอาทิตย์เป็นไฮโดรเจน 73.46 เปอร์เซ็นต์ และฮีเลียม 24.85 เปอร์เซ็นต์
ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าโลก 109.2 เท่า แต่เมื่อเทียบกับดาวอื่นๆ ในจักรวาลแล้ว ดวงอาทิตย์มีขนาดเล็ก และสีจริงของดวงอาทิตย์เป็นสีเหลือง จึงเรียกว่าเป็นดาวแคระเหลือง (yellow dwarf star)
ที่เราเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีแดงเวลาใกล้ขอบฟ้า ตอนดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นตอนเช้า และดวงอาทิตย์กำลังจะตกตอนเย็น เกิดจากแสงอาทิตย์หักเหผ่านชั้นบรรยากาศของโลก แสงสีแดงมาเข้าตาเรา จึงเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีแดง และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เมื่อเราเห็นดวงอาทิตย์สีแดงนั้น ดวงอาทิตย์จริงได้ตกไปแล้ว แต่แสงได้หักเหเข้าตาเรา
ห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าขณะที่ดวงอาทิตย์มีแสงจ้า (มองได้ตอนดวงอาทิตย์เป็นสีแดง) รวมทั้งห้ามมองดวงอาทิตย์ผ่านกล้องดูดาว กล้องสองตา และกล้องถ่ายรูป DSLR (ผ่านช่องมอง viewfinder) โดยไม่มีแว่นกรองแสงอาทิตย์ (solar filter) เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ เนื่องจากเลนส์กล้องจะรวมแสงให้แรงกว่าเดิมหลายเท่า
อีกอย่างหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ของเราแปลกแตกต่างจากดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในจักรวาลคือ ดวงอาทิตย์ของเราเป็นโสด ไม่มีคู่ ขณะที่ระบบดาวฤกษ์อื่นๆ มักมีดวงอาทิตย์ในระบบมากกว่า 1 ดวง
ดวงอาทิตย์มีอายุ 4.5 ล้านปี และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนอาจใหญ่ถึงโลก (ตอนนั้นมนุษย์ไม่สามารถอยู่บนโลกได้) คาดว่าดวงอาทิตย์จะมีอายุอีก 6.5 ล้านปี หลังจากนั้นจะหดตัวลงเป็นดาวแคระขาว
โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 8 นาทีแสง คือแสงใช้เวลาเดินทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก 8 นาที เมื่อมองจากบนโลกเราเห็นดวงอาทิตย์ในอดีตเมื่อ 8 นาทีที่แล้ว
ในสมัยโบราณเคยเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดาวทุกดวง (รวมทั้งดวงอาทิตย์) โคจรรอบโลก ต่อมาพบว่าโลกต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล (สุริยจักรวาล)
ต่อมาพบว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบดาราจักรหรือแกเล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) ปัจจุบันเชื่อทฤษฎีการระเบิดใหญ่หรือบิกแบง (Big Bang) จักรวาลกำลังขยายตัว แกเล็กซีส่วนใหญ่วิ่งแยกห่างออกจากกัน (มีชนกันบ้าง) ดังนั้นทุกแห่งในจักรวาลอาจมองว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาลได้
ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ (นักดาราศาสตร์นิยมใช้คำว่า “ระบบสุริยะ” มากกว่าคำว่า “สุริยจักรวาล”) มีดาวเคราะห์เป็นบริวารหมุนรอบ เรียงจากใกล้ดวงอาทิตย์ออกไปคือ ดาวพุธ (Mercury), ดาวศุกร์ (Venus), โลก (Earth), ดาวอังคาร (Mars), ดาวพฤหัสบดี (Jupiter), ดาวเสาร์ (Saturn), ดาวยูเรนัส (Uranus), ดาวเนปจูน (Neptune)
นอกนั้นก็มีดาวอื่นๆ เช่น ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) อย่างดาวพลูโต (Pluto) ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) และ ดาวหาง (comet)
โลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 1 วัน ดวงจันทร์หมุนรอบโลก ใช้เวลา 1 เดือน (29.53 วัน) โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี (365.25 วัน) ดวงอาทิตย์หมุนรอบแกเล็กซีทางช้างเผือกใช้เวลานาน 230 ล้านปี (ด้วยความเร็ว 720,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ดวงอาทิตย์ก็หมุนรอบตัวเองด้วย โดยแต่ละส่วนของดวงอาทิตย์หมุนไม่เท่ากัน บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ใช้เวลารอบละ 25 วัน ส่วนบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ใช้เวลา 36 วัน
 
ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เราสามารถมองเห็นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เป็นแสงสีเงินหรือสีขาวสวยงามมากเรียกว่า “โคโรนา (corona)” คำนี้ หนังสือศัพท์วิทยาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546 ใช้ว่า “คอโรนา”
ภาพสุริยุปราคาเต็มดวง 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ที่สหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่มา https://www.facebook.com/148300028566953/posts/1554592761270999/?d=n
โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าควรใช้ว่า “โคโรนา” จะใกล้เคียงกับการออกเสียงตามรากศัพท์ภาษากรีกมากกว่า (corona แปลว่า มงกุฎ)
ภาพไวรัสโคโรนา ที่มา Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Coronavirus
โคโรนาของดวงอาทิตย์เป็นที่มาของชื่อ ไวรัสโคโรนา (coronavirus) และโควิด 19 (COVID-19 ย่อมาจาก coronavirus disease 2019) เนื่องจากรูปร่างไวรัสคล้ายโคโรนาของดวงอาทิตย์ (ดูภาพประกอบ)
ในวันเดียวกันแต่ละสถานที่ เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกอาจแตกต่างกัน หรือสถานที่เดิมแต่คนละวัน เวลาและทิศทางดวงอาทิตย์ขึ้นและตกก็อาจแตกต่างกัน
สามารถดูได้จากเว็บไซต์ Time and Date
1
https://www.timeanddate.com/sun/ หรือแอปดูดาว (แนะนำ Celestron SkyPortal ดาวน์โหลดฟรี ใช้ง่าย)
. ภาพแสงออโรรา 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) ที่ประเทศนอร์เวย์ ถ่ายภาพโดย Tommy Richardsen เกิดจากอนุภาคในลมสุริยะที่มาจากดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กของโลก ที่มาภาพ NASA https://apod.nasa.gov/apod/ap150504.html
ปรากฏการณ์เกี่ยวกับแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศโลกเป็นสิ่งน่าสนใจมาก เช่น แสงออโรรา (aurora) หรือแสงเหนือแสงใต้, รุ้งกินน้ำ (rainbow), ทรงกลดหรือวงแสงแบบเฮโล่ (halo) ฯลฯ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา