Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Inorbital
•
ติดตาม
30 ก.ค. 2021 เวลา 13:27 • ไลฟ์สไตล์
โอ๊ยยยย หมั่นไส้อ้ะ
เคยเป็นมั้ย เวลาเราเห็นคนอื่นโดยเฉพาะคนที่น่าจะอยู่ในอันดับเดียวกับตัวเองหรือต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นอันดับที่เห็นได้ชัดเจนอย่างเรียนชั้นเดียวกัน ทำงานตำแหน่งเดียวกัน หรืออันดับที่ตัวเองมโนขึ้นมาเอง เช่น ชั้นว่าชั้นรูปร่างหน้าตาแจ่มกว่าคนนั้นคนนี้นะ พอเราเห็นคนเหล่านี้เกิดจะเด่นกว่าหรือได้ดีกว่าขึ้นมา แล้วใจมันมักจะพุ่งเป้าหาข้อตำหนิเขาโดยอัตโนมัติ ไม่ชอบขี้หน้าเขาขึ้นมาซะงั้น หรือที่เราเรียกกันว่าอาการหมั่นไส้นั่นเอง
สถานการณ์ตัวอย่าง เพื่อนร่วมงานใหม่ในตำแหน่งเดียวกัน แนะนำตัวเองพร้อมเล่าประวัติให้ฟังว่าตนเพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศกลับมาเมืองไทย ส่วนเราและกลุ่มเพื่อนของเราที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันจบในไทยทุกคน ภาษาอังกฤษก็แค่พอสื่อสารได้ พอลับหลังเพื่อนใหม่คนนี้พวกเราก็สุมหัวเม้าธ์มอยกันในกลุ่ม ออกแนวหมั่นไส้ว่า เรียนนอกเดี๋ยวนี้ใครๆก็ไปกัน ทุนพ.ก.(พ่อกรู)ทั้งนั้นแหละ (แล้วถ้าพ่อเขาส่งไปเรียนมันไม่ดียังไงอ่ะ) หาข้อสรุปเสร็จสรรพโดยยังไม่ทันมีข้อมูลอะไรเลย สมมติเพื่อนใหม่คนนี้ได้มีการอธิบายต่อว่าเขานั้นสอบชิงทุนไปเรียน เราก็หาข้อติต่อไปอีก เช่น มหา'ลัยอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะรู้จัก ไม่ใช่ไอวี่ลีกหนิ หรือบางคนถึงไม่ได้ร่วมเม้าธ์มอยด้วย แต่ลึกๆแล้วก็อาจจะแอบมองหาหลุมดำหรือข้อตำหนิของเพื่อนใหม่คนนี้ไว้ในใจเหมือนกัน เราทำไปทำไม??
ในทางกลับกัน เคยเจอมั้ย อยู่ดีๆก็มีคนหมั่นไส้เราโดยบางทีเราก็ไม่รู้สาเหตุ โดยมากมักจะเป็นคนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนๆกัน หรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันนี่แหละ จะเป็นเพื่อน รุ่นพี่ หัวหน้างาน หรือบางทีก็เป็นคนที่เราไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจเลยว่าเขาจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร
สถานการณ์ตัวอย่าง เราย้ายงานไปแผนกใหม่ ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนขึ้นเท่าตัว เพื่อนๆพี่ๆที่แผนกเก่าพากันมึนตึงใส่เราซะงั้น งงเบย ทำไรผิดอ่ะ บางคนสะบัดใส่เราซะอีกว่าทิ้งงานเก่าไว้ให้ ทั้งๆที่เราก็รับผิดชอบส่งมอบงานแล้วเรียบร้อย อ้าว เป็นไรอ่ะ เป็นเพื่อนกันมาตั้งนาน นอยด์ไปอีก เขาทำไปทำไม??
หยุด อย่าเพิ่งกล่าวโทษตัวเองหรือใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เรามาหาคำตอบกันดีกว่า
ขอขอบคุณนายแบบและนางแบบ ในความ(ไม่ค่อยจะ)ร่วมมือ Photo: Inorbital
ก่อนจะนำไปสู่คำตอบ อยากจะแนะนำให้รู้จักแนวคิดแนวคิดหนึ่ง คือเรื่อง Last-Place Aversion หรือการหลีกเลี่ยงการเป็นที่โหล่
Last-Place Aversion อธิบายภาษาบ้านๆอย่างเราก็คือ การที่คนเราพยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่จะตกเป็นที่โหล่นั่นเอง เรื่องนี้ได้มีการทำการศึกษาโดย Kuziemko, Ilyana, Ryan W. Buell, Taly Reich, และ Michael Norton (ลงอ้างอิงไว้ด้านล่าง ผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้)
กล่าวโดยรวมถึงผลการศึกษาพบว่ากลุ่มคนที่มีรายได้เกินกว่าค่าแรงขั้นตำ่เพียงเล็กน้อย โดยมากมักจะไม่เห็นด้วยกับการประกาศเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และผลการศึกษาคล้ายๆกันยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำหรือไม่ถึงขั้นยากจนแต่รายได้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มักจะไม่สนับสนุนการกระจายรายได้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีฐานะด้อยกว่าตัวเองให้ขึ้นมามีฐานะทัดเทียมกับตน จริงๆงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เราพอจะเอามาปรับใช้ได้จากข้อสรุปสั้นๆที่ว่า มนุษย์เรากลัวการตกเป็นที่โหล่นั่นเอง
แต่เราจะไม่คุยวิชาการกัน กลับมาเรื่องของเรา หากเราพิจารณาจากสถานการณ์ตัวอย่างเรื่องเพื่อนร่วมงานทั้ง 2 กรณีข้างต้น สถานการณ์แรก สาเหตุของการที่เราเกิดความหมั่นไส้ หรือพยายามหาข้อตำหนิของเพื่อนร่วมงานใหม่นั้น ก็เพราะเรารู้สึกถูกคุกคามโดยเพื่อนคนนี้ รู้สึกว่าเราอาจจะโดนคนๆนี้เบียดแซงหน้าเราไป ทำให้เราอาจจะหลุดมาใกล้ตำแหน่งที่โหล่ ในทางกลับกัน สถานการณ์ที่สองที่เพื่อนร่วมงานแผนกเก่าของเราอยู่ดีๆก็มึนตึงใส่เรา (หรือแอบหมั่นไส้เรา) อาจจะเป็นเพราะเขารู้สึกว่ากำลังถูกเราแซงหน้าก็เป็นได้ เขาอาจจะกำลังรู้สึกถูกคุกคามทำให้ตัวเขานั้นตกอันดับเข้าใกล้การเป็นที่โหล่
ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ไม่ผิด ตรงกันข้าม หากปราศจากความรู้สึกเหล่านี้ มนุษย์เราอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้เพราะไม่มีการแข่งขันอะไรกันเลย ใครจะดีกว่าจะแซงหน้าก็แซงไป ไม่ต่อสู้ไม่พยายามรักษาอันดับอะไรทั้งนั้น
อ้าว ถ้ามันดีอยู่แล้วก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรนี่
สิ่งที่จะบอกก็คือ การที่มนุษย์เรามีความรู้สึกเพื่อพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นที่โหล่ นั่นเป็นสิ่งดี แต่มันต้องดูวิธีการ
ยังไงล่ะ?
จะเห็นว่าจากสถานการณ์ตัวอย่าง ไม่มีใครเลยที่จะ "ลงมือปฏิบัติ” เพื่อเอาตัวเองออกมาจากตำแหน่งที่อาจจะกลายมาเป็นที่โหล่ แต่กลับใช้วิธี”คิด”เพื่อหลอกสมองของตัวเองให้สบายใจว่า เรายังไม่ใช่ที่โหล่หรอก เห็นมั้ยเนี่ยคนเนี้ยะ ยังมีข้อด้อยอีกตั้งเยอะ เรายังไม่หลุดจากตำแหน่งที่โหล่หรอกน่า นั่นก็เพราะการคิดนั้นมันง่ายกว่าการลงมือปฏิบัติเป็นไหนๆ
พอจะเห็นอะไรบ้างรึยัง?
เราเรียนรู้เรื่อง Last-Place Aversion เพื่อจะได้เท่าทันความคิดของตัวเอง เมื่อจิตใจเราพยายามเพ่งมองหาข้อตำหนิของใครก็ตาม จะได้ดึงสติตัวเองกลับมาแล้วมองด้วยใจเป็นกลางว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ และมีประโยชน์อันเป็นแก่นแท้ (core value) อย่างไรกับการคิดแบบนั้น แล้วที่โหล่ที่ว่านี่มันมีผลกระทบกับชีวิตเราจริงๆ หรือแค่ที่โหล่มโน(คือไม่ได้มีผลกระทบอะไร เช่นกลัวว่าคนนั้นคนนี้จะสวยกว่าหล่อกว่า ทั้งๆที่เรื่องความสวยความหล่อมันแล้วแต่คนมอง มันเป็น feeling) และถ้ามันจะมีผลกระทบกับเราจริงๆ แทนที่เราจะแค่คิดหาข้อตำหนิโจมตีอีกฝ่ายเพื่อหลอกจิตใจตัวเองให้สบายใจไปวันๆ ไม่สู้เราลงมือทำอะไรซักอย่างตอนนี้เลยดีกว่ามั้ย
จากสถานการณ์ตัวอย่างข้างต้น ก็เช่น ถ้าเรากังวลจริงๆว่าเพื่อนร่วมงานใหม่ที่จบนอกมาจะมีความสามารถทางภาษามากกว่าเรา คือมีผลกระทบกับชีวิตการทำงานของเราแน่ๆ เราก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม หรือไม่งั้นก็หาจุดแข็งอื่นของเราให้เจอแล้วพัฒนาให้ดีแบบฉีกแนวออกไปเลยชนิดที่คนอื่นตามไม่เห็นฝุ่น ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกันกับเขาในสนามที่เราเป็นรอง
นั่นถึงจะเรียกว่าได้นำเอาแนวคิดเรื่อง Last-Place Aversion มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
ในทางกลับกันถ้าตัวเราเป็นผู้ถูกกระทำ เช่น โดนหมั่นไส้แบบงงๆ ดังตัวอย่างข้างต้น เราก็จะได้เลิกงงและเข้าใจพฤติกรรมของอีกฝ่ายมากขึ้น ไม่ถือโทษโกรธเขาและให้อภัยได้โดยง่าย จะถือความขุ่นข้องนั้นไว้ทำไมให้มันหนัก ใช่มั้ยล่ะ
เมื่อเราเข้าใจเรื่อง Last-Place Aversion เราก็จะเห็นเรื่องนี้เป็นเพียงแค่กลไกทางสมองอย่างนึงของมนุษย์ เราจะสามารถหยุดคิดเพื่อพิจารณาการกระทำของตัวเองและผู้อื่นได้โดยที่ไม่ต้องมีการกล่าวโทษอะไรกันเลย
เพราะจิตใจมนุษย์มันก็เป็นเช่นนั้นเอง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้าง แม้สักเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นความดีใจเล็กๆของผู้เขียนแล้ว
บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่ใช่บทความสำหรับอ้างอิงทางการศึกษาแต่ประการใด
อ้างอิง
Kuziemko, Ilyana, Ryan W. Buell, Taly Reich, and Michael Norton. "'Last-place Aversion': Evidence and Redistributive Implications." Quarterly Journal of Economics 129, no. 1 (February 2014): 105–149.
ไลฟ์สไตล์
1 บันทึก
2
2
2
1
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย