1 ส.ค. 2021 เวลา 15:47 • กีฬา
วิเคราะห์จากหลักสรีระศาสตร์ : สถิติวิ่ง 100 เมตรของยูเซน โบลต์ จะถูกทำลายได้อย่างไร ? | MAIN STAND
ยูเซน โบลต์ คือผู้ถือครองฉายา “มนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก” จากการทำสถิติวิ่ง 100 เมตร ไว้ที่เวลา 9.58 วินาที
แต่เมื่อยอดลมกรดชาวจาเมกา ได้อำลาลู่วิ่งไปแล้ว โอกาสก็เปิดกว้างให้กับนักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาท้าทายสถิติโลกดังกล่าวลง
คำถามก็คือ เราจะได้เห็นใครที่วิ่งได้เร็วกว่า ยูเซน โบลต์ หรือไปถึงขั้นวิ่ง 100 เมตร ในเวลาต่ำกว่า 9 วินาที ได้ในช่วงชีวิตเราหรือเปล่า ?
สถิติโลกของโบลต์ (และสถิติในอุดมคติ)
ระหว่างปี 2008-2009 ยูเซน โบลต์ ฉีกสถิติโลกเป็นว่าเล่น จากเวลาเดิมที่ 9.74 วินาทีของ อซาฟา พาวเวลล์ ได้ถูกหั่นลงมาเหลือเพียง 9.58 วินาทีเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นักวิ่งระดับแนวหน้ากว่า 10 คน ใช้เวลานานถึง 40 ปี เพื่อร่นระยะเวลาสถิติโลกให้หายไป 0.21 วินาที ส่วน โบลต์ อยู่ดี ๆ ก็มาปาดทิ้งไป 0.16 วินาที ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น
1
จากจุดนี้ ทำให้หลายคนเริ่มคาดคิดว่า โบลต์ น่าจะเป็นมนุษย์คนแรก ที่พังสถิติวิ่ง 100 เมตร ได้ในเวลาต่ำกว่า 9.50 วินาที และกลายเป็นที่จับตามองในแทบทุกการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากทำสถิติโลกไว้ในการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009 โบลต์ ไม่เคยทำเวลาได้เร็วกว่านั้นอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นใจของสนามแข่งขัน หรือเจ้าตัวที่ตัดสินใจแผ่วปลายไปด้วยตัวเอง หลังจากมั่นใจแล้วว่าไม่มีใครจะเร่งความเร็วแซงขึ้นมาได้
แล้วถ้าในกรณีที่ทุกอย่างเป็นใจ เวลาสถิติโลกในอุดมคติของ ยูเซน โบลต์ จะเป็นอย่างไรบ้าง ?
หากย้อนเวลากลับไปดูการวิ่ง 3 ครั้ง ที่เร็วที่สุดของ โบลต์ นั่นคือ ในโอลิมปิก ปี 2008, 2012 และชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2009 แล้วมาลองแบ่งการวิ่งออกมาเป็น 5 ส่วนหลัก ๆ นั่นคือระยะ 20, 40, 60, 80, และ 100 เมตร จะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
2
- โอลิมปิก ปี 2008 โบลต์ ออกตัว 20 เมตรแรก ได้ดีกว่าทั้งสองครั้งหลัง
- ชิงแชมป์โลก ปี 2009 โบลต์ ทำความเร็วช่วง 20-40 เมตร กับช่วง 80-100 เมตร ได้ดีที่สุด (แม้จะมีชะลอลงไปบ้าง ระหว่างหันไปมองเวลาตัวเองที่สกอร์บอร์ด)
- โอลิมปิก ปี 2012 โบลต์ สามารถเก็บช่วง 40-80 เมตรได้ดีที่สุด
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าหากเจ้าลมกรดรายนี้อยู่ในช่วงท็อปฟอร์มที่สุด เขาสามารถรีดเวลาในการวิ่งลงไปถึง 9.52 วินาทีด้วยกัน
และถ้า โบลต์ สามารถออกตัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือการทำเวลาตอบสนองไว้ที่ 0.1 วินาทีพอดี จะช่วยให้เวลาใหม่ของเจ้าตัวอยู่ที่ประมาณ 9.47 วินาทีเลยด้วยซ้ำ
นอกจากเรื่องความสามารถของ โบลต์ แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขันได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลมในสนาม ที่ทางกรีฑาโลกรองรับให้มีลมช่วยได้แค่ +2 เมตร/วินาทีเท่านั้น รวมถึงอุณหภูมิภายนอก ที่ถ้าไม่หนาวเย็นจนเกินไป (อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส) จะช่วยให้ร่างกายของนักวิ่งสามารถรักษาอุณหภูมิในร่างกายไว้ได้ กล้ามเนื้อจะไม่ตึงจนเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ หรือทำผลงานได้ไม่ดี
อีกหนึ่งปัจจัยปิดท้าย คือระดับความสูงของสถานที่จัดการแข่งขัน ซึ่งกาลครั้งหนึ่ง โอลิมปิก เคยเดินทางไปสู่เมือง เม็กซิโก ซิตี้ ในปี 1968 ณ ความสูง 2,260 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเมื่อยิ่งสูงมากเท่าไหร่ อากาศก็ยิ่งเบาบางลงเท่านั้น และทำให้แรงต้านอากาศลดน้อยลง จนทำให้เกิดการทำลายสถิติอย่างถล่มถลายในการวิ่งระยะสั้นและกรีฑาประเภทลาน รวมถึงสถิติโลกทั้งกระโดดไกลและเขย่งก้าวกระโดด ต่างถูกเขียนขึ้นมาใหม่ เช่นกันกับกระโดดสูงและกระโดดค้ำถ่อ ที่ได้สถิติโอลิมปิกใหม่ไปทั้งหมดในสนามเดียวกัน
4
ถ้านำปัจจัยทั้งสามมารวมกันแล้ว โบลต์ จะสามารถลดเวลาลงไปได้อีก 0.1 วินาที แปลว่าในอุดมคติแล้ว สถิติโลกของยอดนักวิ่งรายนี้จะอยู่ที่ 9.37 วินาทีด้วยกัน
ดังนั้น ถ้าเรามีนักวิ่งที่ปลดล็อกความสามารถตัวเอง ควบคู่ไปกับการมีปัจจัยของสนามที่เหมาะสม ก็คงไม่ยากที่จะทำลายสถิติดังกล่าว … จริงหรือไม่ ?
1
เจ้าลมกรดคนถัดไป
หากเราลองเข้าโหมดพระเจ้า แล้วสามารถดีไซน์มนุษย์ในอุดมคติขึ้นมาได้หนึ่งคน เพื่อส่งมาทำลายสถิติโลกของ ยูเซน โบลต์ คุณคิดว่านักวิ่งคนนั้นต้องมีลักษณะร่างกายอย่างไร ?
1
ความสูงอยู่ที่ 185-195 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้สูงเกินจนทำให้มีนํ้าหนักมากเกินไป และไม่เตี้ยเกินไปจนเสียเปรียบในช่วงก้าว มีเส้นเอ็นที่ยาวและแข็งแรงในช่วงขาและเท้า กล้ามเนื้อช่วงสะโพก, ต้นขา, หัวไหล่, และช่วงหลังส่วนบนที่แข็งแรง พร้อมกับอุดมไปด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อสีขาว หรือ Fast twitch fiber มากกว่าเส้นใยกล้ามเนื้อสีแดง หรือ Slow twitch fiber ก่อนจะปิดท้ายด้วยรูจมูกและปอดที่ใหญ่ เพื่อสามารถนำอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ดี นี่คงเป็นส่วนผสมของคุณสมบัติในอุดมคติที่จะมาเป็นนักวิ่งเจ้าของตำแหน่ง “มนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลก” ได้ในไม่ช้า
1
จากลักษณะข้างต้น การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแบบนี้ จะช่วยให้นักวิ่งสามารถออกตัวได้รวดเร็วและทรงพลัง ก่อนที่จะตั้งลำตัวให้ตรง และใช้ประโยชน์จากเส้นใยกล้ามเนื้อสีขาวที่ยืดและหดตัวเร็ว ทำให้สามารถออกแรงอย่างเต็มที่ได้ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 วินาที ตามด้วยการมีระบบเส้นเอ็นที่ยาว ซึ่งเสริมให้ร่างกายของนักวิ่ง ทำความเร็วได้สูงกว่าเดิม พร้อมกับสามารถรักษาระดับความเร็วดังกล่าวไว้ได้นานยิ่งขึ้นนั่นเอง
ถ้ารวมเข้ากับการฝึกซ้อมที่ถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ควบคู่ไปกับหลักการวิ่ง ทักษะ โภชนาการอาหาร และอุปกรณ์แข่งขันที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว โอกาสทำลายสถิติโลก ก็คงดูเหมือนไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลยไม่ใช่หรือ ?
1
น่าเสียดายที่ร่างกายของคนเรา ค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ที่ทำให้ความเร็วในการวิ่ง 100 เมตร ยังไม่ถูกทำลายไปอย่างง่ายดาย
เริ่มจากการเร่งความเร็วระหว่างออกตัว ที่จะต้องทั้งระวังไม่ให้ร่างกายตอบสนองต่อเสียงปืนเร็วเกินไป จนกลายเป็น False Start ควบคู่ไปกับการออกแรงส่งให้เร่งความเร็วจาก 0 ขึ้นมาได้ถึง 1 ใน 3 ของความเร็วสูงสุด ตั้งแต่ก่อนที่เท้าของนักวิ่งจะสัมผัสกับลู่เสียด้วยซ้ำ
อ่านบทความ “ขีดจำกัดของร่างกาย : ทำไมการออกตัววิ่งในทันที ถึงกลายเป็น FALSE START ได้” https://www.mainstand.co.th/catalog/1-FEATURE/2425
จากตรงนั้น เราจะเห็นว่ามีการแซงกันของนักวิ่งในลู่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงก่อนเข้าเส้นชัย ซึ่งในส่วนนี้ ไม่ได้มาจากการเร่งความเร็วปลายเลย แต่เป็นเพราะผลเสียจากเส้นใยกล้ามเนื้อสีขาว ที่สามารถเร่งความเร็วไปสู่จุดสูงสุดได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนล้าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ความเร็วของนักวิ่งบางคนตกลงไป ในขณะที่คู่แข่งอาจจะยังคงแตะช่วงความเร็วพีกอยู่นั่นเอง
ที่สำคัญเลยก็คือ ในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่ทุกสนามที่จะมีสภาพที่เป็นใจกับการวิ่งไปเสียหมด ยกตัวอย่างเช่นในโอลิมปิกครั้งนี้ กรุงโตเกียว ตั้งอยู่ที่ความสูง 40 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอุณหภูมิระหว่างแข่งขันอยู่ที่ประมาณ 28 องศาเซลเซียส และมีลม +0.1 เมตร/วินาที แม้จะมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างเป็นใจ แต่สภาพความสูงและลมช่วยที่น้อยนิดนั้น ก็อาจไม่ได้ช่วยเสริมให้นักวิ่งในโอลิมปิกครั้งนี้ทำเวลาได้เร็วมากนัก
1
ทำให้เวลาที่ดีที่สุดนั้น ตกเป็นของ เจคอปส์ มาร์เซล นักวิ่งชาว อิตาลี ที่ใช้เวลาตอบสนองต่อสัญาณออกตัว 0.161 วินาที และเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 9.80 วินาที แม้จะห่างจากสถิติโลกของ โบลต์ ไป 0.22 วินาที แต่เจ้าตัวก็ยังสามารถเร่งความเร็วได้สูงถึง 43.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วง 15 เมตรสุดท้าย ซึ่งกลายเป็นสถิติใหม่ของทวีปยุโรปอีกด้วย
1
น่าคิดเช่นกันว่า ถ้า มาร์เซล สามารถตอบสนองต่อการออกตัวได้เร็วกว่านี้ และสามารถออกแรงส่งจากบล็อกสตาร์ตได้มากกว่านี้สักเล็กน้อย พร้อมกับมีปัจจัยลมส่งที่เป็นใจให้มากกว่าแค่ +0.1 เวลาที่เจ้าตัวทำได้นั้น จะเร็วขึ้นไปได้อีกสักเท่าไหร่กัน และนักวิ่งวัย 26 ปีรายนี้ จะใกล้เคียงกับการสร้าง “สถิติโลกใหม่” ในอนาคตหรือไม่
สถิติครั้งใหม่
อันที่จริง จัสติน แกตลิน ยอดนักวิ่งชาวอเมริกัน เคยทำเวลาได้ 9.45 วินาทีมาแล้ว…
อย่างไรก็ตาม นั่นคือส่วนหนึ่งในรายการโชว์ของญี่ปุ่น ที่นำพัดลมมาช่วยเร่งความเร็วให้กับเขา ด้วยแรงลมสูงถึง 20 เมตร/วินาที แน่นอนว่าสูงเกินกว่าที่ทาง กรีฑาโลก จะอนุมัติให้เป็นสถิติใหม่อย่างแน่นอน
แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ว่าร่างกายของมนุษย์ของเรานั้น มีความสามารถที่จะวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าว และพร้อมจะทำลายความเร็วสูงสุดของ โบลต์ ที่ทำไว้ 44.72 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ความเร็วเฉลี่ย 39.45 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เมื่อ 12 ปีที่แล้วลงได้
1
และถ้าตัดเรื่องของการเร่งออกไป โบลต์ เคยทำความเร็วในการวิ่ง 150 เมตร ไว้ที่ 14.35 วินาที ที่เขาสามารถวิ่งในระยะทาง 100 เมตรสุดท้าย ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 8.70 วินาทีเท่านั้น ด้วยความเร็วเฉลี่ยในระยะทางดังกล่าวที่ 41.38 กิโลเมตร/ชั่วโมง มากพอที่จะทุบทุกสถิติที่มีอยู่ไปอย่างสบาย ๆ
ทว่าในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ยังคงเลี่ยงไม่ได้ที่นักวิ่งเหล่านี้ จะต้องเร่งความเร็วออกตัวให้สูงที่สุด และใส่ให้หมดแม็ก เพื่อทำลายทุกข้อจำกัดต่าง ๆ และไปหยุดเวลาที่ไม่เคยหยุดรอใครเหล่านี้ให้ได้
2
กาลครั้งหนึ่ง เราเคยมองว่ากำแพงเวลาของ 10 วินาที เป็นสิ่งที่ยากจะทำลาย แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป กำแพงดังกล่าวก็กลายเป็นอดีต และเมื่อเราหันมองกลับไปดูพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของมวลมนุษยชาติ ก็จะพบว่าทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่พาสถิติโลกมาถึงจุดนี้
และเมื่อถึงวันที่เราได้รู้จักกับนักวิ่งคนถัดไป ผู้ขึ้นมาพังสถิติของ ยูเซน โบลต์ ลงได้ นั่นก็จะเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เราจะหันมองต่อไป และไม่แน่ว่าในสักวัน เราอาจได้ทันเห็นมนุษย์โลกคนแรกที่วิ่งระยะ 100 เมตร ด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 9 วินาที ก็เป็นได้
โฆษณา