1 ส.ค. 2021 เวลา 22:19 • ปรัชญา
“ยอมรับความจริงได้ใจจะไม่ทุกข์”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
ถ้ายอมรับความจริง ใจจะเฉยๆ ตายก็ได้อยู่ก็ได้ แต่ถ้ายังอยู่แล้วอยากจะตาย อย่างนี้ก็ไม่ถูก เป็นความอยากเหมือนกัน อยากตายก็ไม่ดี อยากไม่ตายก็ไม่ดี ต้องอยู่ตรงกลาง อยู่ระหว่างความอยากตายกับความไม่อยากตาย คืออยู่เฉยๆ เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง ร่างกายจะอยู่ก็ปล่อยให้อยู่ไป เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาไม่หาย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ตอนนั้นอยากจะตาย ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะยังไม่ตาย เวลาร่างกายจะตายก็ไม่อยากตาย อย่างนี้ก็ทุกข์อีก ต้องปล่อยวาง ถึงเวลาจะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป ถึงเวลาอยู่ก็ต้องปล่อยให้อยู่ไป แล้วใจจะไม่ทุกข์
ใจไม่ได้เป็นร่างกาย ไปทุกข์กับร่างกายทำไม เหมือนกับไปทุกข์กับคนอื่นทำไม คนอื่นจะเป็นจะตาย ทำไมต้องวุ่นวายไปกับเขาด้วย ใจเราไม่ได้เป็นไม่ได้ตายไปกับเขาเลย ใจไม่มีวันตาย ใจได้ร่างกายที่เป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง ใจก็เลี้ยงดูตุ๊กตาไป พาไปโน่นพามานี่ พาไปเที่ยว ถ้าไม่มีร่างกายก็ไปเที่ยวไม่ได้ ถ้าไม่มีความอยากเที่ยวแล้ว จะมีหรือไม่มีร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่มีความอยากจะใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็เป็นไป
หลวงปู่ชอบต้องนั่งรถเข็นท่านก็ไม่เห็นเดือดร้อน ท่านก็อยู่กับมันไป เข็นท่านไปไหนท่านก็ไป ไม่เข็นท่านก็ไม่ไป ท่านอยู่ตามอัตภาพ ใจท่านไม่ได้ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ท่านไม่ได้ไปหาความสุข ท่านไปโปรดสัตว์ ไปเผยแผ่ธรรมะ ไปสั่งสอนธรรมะให้แก่ผู้อื่น แต่พวกเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเราไม่ได้ไปโปรดสัตว์ เราไปโปรดตัวเราเอง ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน พอร่างกายไม่สามารถไปได้ ก็หงุดหงิดเศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะตายไม่อยากจะอยู่ พออยากจะตายก็ทุกข์อีก ทุกข์ซ้ำซ้อน ทุกข์ที่ร่างกายแล้วยังต้องมาทุกข์ที่ใจอีก
ถ้าไม่มีความอยากตาย เวลาร่างกายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต เจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ใจจะเฉยๆ ไม่เดือดร้อน เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร เวลาร่างกายปกติก็เฉย เจ็บไข้ได้ป่วยก็เฉย เพราะปฏิบัติรักษาใจให้เฉยได้ ด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเจริญปัญญานี่เอง เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือรักษาความเฉย ความเป็นอุเบกขา ความสงบของใจนี่เอง
กำลังใจ ๖๑ ,กัณฑ์ที่ ๔๕๕     
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา