Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
2 ส.ค. 2021 เวลา 05:59 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ
จื่ออิ๋ว 子游
จื่ออิ๋ว แซ่เหยียน นามว่าเหยี่ยน ฉายาจื่ออิ๋ว อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๔๕ ปี (บ้างก็กล่าวว่าอายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๓๕ ปี) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวรรณกรรมพร้อมกับจื่อเซี่ย มีกิตติศัพท์ด้านจริยธรรมและคีตะ
นิยามจริยธรรม หรือ หลี่ (禮)
คำว่าจริยธรรมจะมีความหมายว่า “ธรรมอันควรประพฤติปฏิบัติ” ในที่นี้จะใช้เป็นศัพท์แปลของคำว่าหลี่ (禮) เหตุเพราะหลี่ในภาษาจีนนั้นจะครอบคลุมความหมายอยู่หลายด้านด้วยกัน หนึ่งคือจารีตประเพณี สองคือศีลธรรมความดี สามคือจริยามารยาท สี่คือหลักเกณฑ์แห่งสากล
ในส่วนความหมายเชิงจารีตประเพณีและพิธีกรรมนั้น เราจะสามารถเห็นได้จากการถามคำถามของศิษย์ขงจื่อที่มีนามว่าหลินฟั่ง ในครั้งนั้นหลินฟั่งได้ถามเรื่องแก่นสาระแห่งจริยธรรม (หลี่) ขงจื่อตอบว่า “ถามได้ดีมาก ! อันว่าจริยธรรม หากต้องให้ฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลือง ขอเลือกความประหยัดจะดีกว่า อันว่าพิธีศพ หากต้องให้บริบูรณ์ตามจารีต ขอเลือกความโศกาจะเหมาะกว่า”
ข้อนี้มีความชัดเจนว่าจริยธรรมหรือหลี่ (禮) มีความหมายในแง่ของจารีตประเพณี ท่านเห็นว่าการเจริญในประเพณีโบราณ หากจะให้มีความสมบูรณ์ตามธรรมเนียมและต้องสิ้นเปลืองแล้วล่ะก็ ขงจื่อตอบว่าขอเลือกความประหยัดดีกว่า หรืออย่างเช่นการประกอบพิธีศพ ถ้าจะให้สมบูรณ์ตามธรรมเนียมที่ทำสืบกันมา ขงจื่อเห็นว่าขอเลือกแบบไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ตามจารีต แต่ให้เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูจากใจจริงจะดีกว่า
ในส่วนความหมายของจริยธรรมหรือหลี่ (禮) ที่มีนัยหมายถึงเรื่องศีลธรรมนั้น ความจริงก็สามารถเห็นได้จากคำสอนของขงจื่อตอนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวว่า “ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จักรู้ละอายและปรับปรุงตน”
หรือครั้งหนึ่งที่ขงจื่อได้กล่าวว่า “นบนอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะเหนื่อยเปล่า รอบคอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะตื่นตระหนก อาจหาญโดยไร้จริยธรรม ก็จะมุทะลุ เที่ยงตรงโดยไร้จริยธรรม ก็จะบุ่มบ่าม หากวิญญูชนเทิดทูนบุพการี ประชาราษฎร์ก็จะมุ่งมั่นในเมตตาธรรม หากไม่ทอดทิ้งสหายเก่า มวลชนก็จะแน่นแฟ้นมิจืดจาง”
จากคำสอนของขงจื่อข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากนำความหมายเฉพาะนัยยะเชิงจารีตประเพณีไปขยายความคำสอนสองบทนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ายังมิอาจอธิบายบริบทได้อย่างสมบูรณ์ หรือกระทั่งอาจจะทำให้เข้าใจขงจื่อผิดว่าเป็นคนคร่ำครึเคร่งจารีตไปเลยก็ได้ แต่ครั้นนำความหมายเชิงศีลธรรมไปอธิบายขยายความแล้ว เราก็จะสามารถเห็นถึงบริบทที่ชัดเจนได้ในทันที
จริยธรรมเป็นสิ่งที่ขงจื่อให้ความสำคัญสูงสุดในการดำเนินชีวิต เพราะจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้นโบราณจึงกล่าวว่า “มีจริยธรรมก็สามารถจรจรัลทั่วหล้า หากไร้จริยธรรมแล้วไซร้ แม้เพียงหนึ่งก้าวก็ยังยากที่จะก้าวเดิน” ด้วยเหตุนี้ ในคัมภีร์หลุนอวี่จึงกล่าวว่า “อันสารัตถประโยชน์แห่งจริยธรรมนั้น จะถือหลักแห่งความสมานฉันท์เป็นสำคัญ(禮之用,和為貴)” ดั้งนั้นจริยธรรมหรือหลี่ในที่นี้ จึงมีความหมายในเชิงศีลธรรม
จริยธรรมหรือหลี่มีอยู่ในทุกเชื้อชาติศาสนา อย่างเช่นพระราชพิธีที่เห็นในพระราชวัง หรือกระทั่งพิธีกรรมธรรมดาที่เห็นในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา เป็นต้นว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือพิธีการบวชนาค พิธีมงคลสมรส พิธีในประเพณีสงกรานต์ และพิธีอื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนคือจริยธรรมหรือหลี่ทั้งสิ้น เบื้องหลังของจริยธรรมเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ผสมผสานค่านิยมต่างๆ มากมายเข้าไว้ด้วยกัน ดังเช่นพิธีการบวชนาค ก็จะมีค่านิยมในเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนา ค่านิยมในเรื่องความกตัญญูที่บุตรต้องบวชทดแทนคุณบุพการี ค่านิยมในเรื่องของลำดับความเป็นผู้ใหญ่และผู้น้อยเป็นต้น
สิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นพิธีกรรมเหล่านี้ ความจริงก็เป็นการผสมสานออกมาจากระบอบความคิด ดังนั้นแกนกลางของจริยธรรมหรือหลี่หรือพิธีกรรม ความจริงก็คือแกนกลางของความคิดในการมองโลกรอบตัว ดังนั้นจึงมีนักปราชญ์กล่าวว่า จริยธรรมก็คือ “หลัก” หลักนี้คือหลักแห่งความคิดในการแยกแยะผิดชอบชั่วดี หลักนี้คือหลักในการมองโลกอย่างเป็นสากล เป็นหลักที่เข้าได้กับทุกเชื้อชาติศาสนา เป็นหลักที่เป็นความจริงเหนือกาลเวลา ดังนั้นจริยธรรมจึงยังมีนัยที่หมายถึงหลักแห่งสากลนั่นเอง
เป็นเลิศในจริยธรรม หรือ หลี่ (禮)
ในบันทึกหลี่จี้ (จริยศาสตร์) ได้ระบุไว้ว่า “นับแต่เสนาบดีกระทั่งสามัญชน หากใครมีข้อกังขาที่มิอาจสรุปเรื่องจริยาและคีตะ คำอธิบายของจื่ออิ๋วถือว่ามีอิทธิพลพอที่จะชี้ขาดการตัดสินนั้นได้” จากจุดนี้จึงสามารถเห็นถึงอิทธิพลของจื่ออิ๋วที่มีต่อจริยธรรมและคีตะได้เป็นอย่างดี
ความรอบรู้เรื่องจริยธรรมของจื่ออิ๋ว เป็นที่ยอมรับของผู้คน หรือแม้กระทั่งศิษย์พี่น้องด้วยกันอย่างไร ในคัมภีร์หลี่จี้ บทถันกงฉบับบน (檀弓上) ได้บันทึกเรื่องราวไว้เช่นนี้ว่า
เจิงจื่อแต่งชุดอวมงคลไปเคารพศพ แต่จื่ออิ๋วแต่งชุดปกติไปเคารพศพ เจิงจื่อชี้ไปที่จื่ออิ๋ว และกล่าวกับผู้คนว่า “คนผู้นี้ คือผู้ที่เรียนรู้จริยธรรม แต่ไฉนจึงแต่งชุดปกติมาเคารพศพเล่า?” ครั้นเจ้าภาพทำพิธีอาบน้ำศพ ประคองศพใส่ในโลง เปลี่ยนชุดและเกล้าผมแล้ว จื่ออิ๋วก็เดินรี่ออกไป แล้วสวมชุดอวมลคลพร้อมคาดผ้าดิบเข้ามาอีกครั้ง เจิงจื่อเห็นแล้วกล่าวขึ้นว่า “ข้าผิดแล้ว ข้าผิดแล้ว ชายผู้นี้ต่างหากที่ถูกต้อง”
เรื่องราวที่บันทึกในคัมภีร์หลี่จี้นี้ สะท้อนให้ทราบว่า แม้นเจิงจื่อจะทำถูกต้องตามระเบียบจริยธรรมแล้ว หากแต่จื่ออิ๋วกลับมีความละเอียดในจริยธรรมมากยิ่งกว่า เพราะจื่ออิ๋วทราบว่า ก่อนที่เจ้าภาพจะได้อาบน้ำศพ และประคองศพใส่โลงนั้น ในช่วงนี้ยังจัดอยู่ในช่วงมงคล หาไม่อวมงคลไม่ ครั้นเจ้าภาพได้ทำพิธีตรงนี้เสร็จ เจ้าภาพจึงจะเริ่มผลัดเปลี่ยนชุดเป็นชุดไว้ทุกข์ จื่ออิ๋วเข้าใจรายละเอียดในจุดนี้ดีว่า ก็ในเมื่อเจ้าภาพยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นชุดไว้ทุกข์ แล้วแขกที่มาเคารพศพ จะสวมชุดอวมงคลได้อย่างไร จากตรงนี้จึงสามารถเห็นถึงความละเอียดและความเข้าใจในจารีตประเพณีของจื่ออิ๋วได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น อันว่าจริยธรรมคืออะไร จริยธรรมนอกจากจะหมายถึงการเข้าใจจารีตประเพณีตามแบบแผนแล้ว ยังจะต้องมีความเข้าใจในหัวใจของจารีตที่ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นแบบแผนอีกด้วย ในส่วนนี้ต้องมีใจที่ละเอียด รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา จึงจะเข้าใจหัวใจของจริยธรรมได้อย่างถ่องแท้ เหมือนดั่งเช่นตัวอย่างข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า จื่ออิ๋วจะให้เกียรติเจ้าภาพ ก็ในเมื่อเจ้าภาพยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นชุดไว้ทุกข์เลย แล้วแขกที่มาร่วมงาน จะสามารถสวมชุดอวมงคลก่อนได้อย่างไร
ผลงานด้านการปกครอง
จื่ออิ๋วไม่เพียงแตกฉานจริยาคีตะในเชิงทฤษฎีเท่านั้น หากยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการประสิทธิ์จริยธรรมและคีตะอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในคัมภีร์หลุนอวี่บทหยางฮั่วในต่อไปนี้
ขงจื่อเดินทางไปอู่เฉิง ได้ยินเสียงขับร้องกับเสียงเครื่องสาย ขงจื่อยิ้มสรวลแล้วกล่าวว่า “เชือดไก่ไยต้องถึงกับใช้มีดฆ่าวัว” จื่ออิ๋วกล่าวว่า “ครั้งอดีต ข้าเคยได้ยินอาจารย์กล่าวว่า ‘หากวิญญูชนเรียนธรรมก็จักรักชาวประชา หากทุรชนเรียนธรรมก็จักเชื่อฟังคำบัญชา’ ” ขงจื่อกล่าวว่า “ศิษย์ทั้งหลาย คำพูดของเหยี่ยนถูกต้องยิ่งนัก ที่ข้าพูดเมื่อสักครู่เป็นเพียงคำล้อเล่นหรอก”
ครานั้นจื่ออิ๋วเป็นนายอำเภอเมืองอู่เฉิง ได้ใช้จริยธรรมและคีตะในการบริหารท้องถิ่น ครั้นขงจื่อเดินทางสู่อู่เฉิงก็ได้ยินเสียงดนตรีขับขานอยู่เป็นระยะ จึงอุทานขึ้นว่าฆ่าไก่ไยต้องใช้มีดฆ่าวัว ซึ่งมีความหมายว่า แค่บริหารอำเภอเล็กๆ ไยต้องถึงกับใช้จริยคีตะด้วย แต่แท้จริงแล้วคำนี้มีนัยแฝงความรู้สึกเสียดายในความสามารถของจื่ออิ๋วที่ต้องมาอุดอู้อยู่ในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ อันเหมือนเช่นหยกงามที่ต้องมาตกอยู่ในในโคลนตมก็มิปาน แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจที่จื่ออิ๋วสามารถนำพาในคำสอนของขงจื่อมาปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ได้
ขงจื่อเคยกล่าวว่า “หากวิญญูได้เรียนจริยคีตะ ก็จะทำให้รู้จักรักคนและเจริญในวิถีแห่งธรรมา หากสามัญชนได้เรียนจริยคีตะ ก็จะทำให้มีระเบียบและนำพาในรัฐประศาสน์” ด้วยเหตุนี้จึงเปรยขึ้นอย่างอารมณ์ดีว่าฆ่าไก่ไยต้องใช้มีดฆ่าวัวขึ้น
การรู้คน
การเป็นนักปกครองที่ดี หาใช่เพียงแต่เอาตัวเข้าทุ่มอย่างสุดกำลังอย่างซื่อสัตย์สุจริตอย่างเดียวก็พอไม่ หากแต่ต้องรู้จักเอาคนดีขึ้นมาปกครองด้วยต่างหาก คนดีเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความสามารถและคุณธรรมที่ดีเลิศ เป็นเหมือนหยกงามที่ซุกซ่อนอยู่ในศิลา หน้าที่แห่งผู้ปกครองก็คือต้องเอาคนดีเหล่านี้ออกมา ให้โอกาสเขาได้แสดงความสามารถ ซึ่งที่สุดก็จะเป็นประโยชน์แก่มวลประชา หากผู้ปกครองใด แม้นจะทำหน้าที่อย่างเหนื่อยยากและทุ่มเท สร้างผลงานฝากไว้มากมาย ตลอดชีวิตการทำงานไม่เคยมีประวัติทุจริตแต่อย่างใด หากแต่ไม่ได้คัดเฟ้นคนดีขึ้นมาได้เลยสักคน ก็ถือว่าผู้ปกครองคนนี้ประสบกับความล้มเหลวแล้วในชีวิตการทำงาน
เรื่องราวการค้นเฟ้นคนดีของจื่ออิ๋ว ได้มีการบันทึกในคัมภีร์หลุนอวี่ บทยงเหยี่ยตอนที่ ๑๒ ดังนี้
เมื่อครั้งที่จื่ออิ๋วเป็นนายอำเภอเมืองอู่เฉิง ขงจื่อได้ไปเยี่ยมจื่ออิ๋ว แล้วด้ถามขึ้นว่าว่า “เจ้าพบคนดีที่นั่นหรือยัง?”
จื่ออิ๋วก็ตอบขึ้นว่า “มีอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ถันไถเมี่ยหมิง เขาไม่เดินทางที่ลัดเลาะ และหากมิใช่งานราชการแล้ว เขาจะมิเข้าหาศิษย์ที่ห้องรโหฐานแต่อย่างใด”
จากบทสนทนาข้างต้น จะเห็นว่า จื่ออิ๋วมีความละเอียดในการดูคน ตามประวัติแล้ว ถันไถเมี่ยหมิงเป็นคนม่อต้อ ลักษณะไม่มีความโดดเด่น จนอาจทำให้ผู้คนมองอย่างหมิ่นหยาม แต่จื่ออิ๋วกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ จื่ออิ๋วเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมของถันไถเมี่ยหมิงอย่างละเอียด โดยหาได้ใส่ใจที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ ก็พบว่า ถันไถเมี่ยหมิงไม่เดินลัดไปลัดมา ข้อนี้บ่งชี้ว่าถันไถเมี่ยหมิงเป็นคนที่เที่ยงตรง มีความหยิ่งทะนงในเกียรติสูง ไม่ทำอะไรฉาบฉวยและมักง่าย และที่สำคัญ ถันไถเมี่ยหมิงไม่เคยเข้าพบจื่ออิ๋วเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ข้อนี้บ่งบอกว่า ถันไถเมี่ยหมิงเป็นคนสุจริต ไม่ประจบสอพลอ มีความเที่ยงธรรมและสง่าผ่าเผย
ด้วยการแนะนำของจื่ออิ๋วเช่นนี้ ภายหลัง ถันไถเมี่ยหมิงก็ได้มีโอกาสปวารณาตนเป็นศิษย์ของขงจื่ออีกคน
ปกป้องครูบาอาจารย์
จื่ออิ๋วเป็นผู้ที่อยู่ในโอวาทของอาจารย์และเคารพขงจื่อเป็นดั่งบิดา เป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณอย่างสูงยิ่ง หากได้ยินใครครหาอาจารย์ จื่ออิ๋วก็จะออกมาพิทักษ์เกียรติของอาจารย์อย่างถึงที่สุด
ดังจะเห็นได้จากบันทึก ซัวเยวี่ยน ดังต่อไปนี้
จี้คังจื่อถามจื่ออิ๋วว่า “เมื่อคราวที่จื๋อฉั่นวายชนม์ เหล่าผู้ชายในแคว้นเจิ้งต่างปฏิเสธการแขวนเครื่องหยกติดตัว ส่วนเหล่าสตรีต่างก็เลิกประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทุกประการ ทั่วทั้งหัวเมืองมักได้ยินเสียงระงมโหยไห้อยู่ตลอด ๓ เดือน ระหว่างนี้ไม่มีการจัดมหรสพใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่จื๋อฉั่น แต่สำหรับการจากไปของขงจื่อ ข้าหาเคยได้ยินประชาชนแคว้นหลู่เป็นเช่นนี้ไม่ นี่เป็นเพราะเหตุใดฤๅ?”
จื่ออิ๋วตอบว่า “ข้อนี้อุปมาดั่งการชักน้ำเข้าท้องนา ครั้นมีน้ำต้นกล้าจึงเกิด ครั้นขาดน้ำต้นกล้าก็ตาย ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะปรากฏเห็นได้อย่างเด่นชัด แต่หากเป็นการโปรยพิรุณจากสวรรค์แล้ว อาณาบริเวณที่รับน้ำฝนมีความกว้างขวาง ทั่วหล้าล้วนได้รับอานิสงส์กันพร้อมหน้า ประชาราษฎร์ต่างอยู่เย็นเป็นสุขจนหาได้เอะใจถึงพระคุณแห่งสวรรค์ที่มีต่อประชาราษฎร์ไม่ ฉันใด ความรู้สึกที่พสกนิกรมีต่อขงจื่อก็เป็น ฉันนั้น สิ่งนี้ยังจะเทียบกันได้อีกหรือ?”
จี้คังจื่อเป็นเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในแคว้นหลู่ เขาไม่มีสติปัญญาพอที่จะหยั่งถึงความยิ่งใหญ่แห่งมหาบุรุษ โดยเห็นแต่เพียงเปลือกนอกที่ชาวโลกชื่นชม ทั้งนี้เพราะไฉน นั่นก็เพราะการบำเพ็ญเพียรแห่งมหาบุรุษ ท่านจะเร้นกายในโลกา เร้นชื่อใต้ดินฟ้า เร้นคุณธรรมจนดูเงอะงะ ไม่อวดวิชาความสามารถ ดังนั้นหากผู้พบเห็นไม่มีศีลที่เสมอหรือใกล้เคียง ก็จะมิอาจเข้าถึงความประภัสสรที่ท่านแฝงเร้นอยู่ไม่
และนี่ก็ต้องหน้าที่แห่งศิษย์ที่จะต้องเชิดชูเกียรติแห่งครูบาอาจจารย์ให้ปรากฏ และจากบทสนทนาข้างต้น เราก็จะเห็นถึงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ได้เป็นอย่างดี
บทจริยานำพาสูมหาเอกภพ
มีบทความอยู่บทหนึ่งที่คนจีนน้อยใหญ่ต่างสามารถท่องได้จนขึ้นใจ ไม่เพียงแต่สามารถท่องได้ขึ้นใจเท่านั้น หากยังจะมีการใส่ทำนองเพลง และฝึกหัดขับร้องเป็นกันตั้งแต่เด็ก บทความนี้ก็คือ “ดำเนินจริยาสู่มหาเอกภพ”
บทความ “ดำเนินจริยาสู่มหาเอภพ” เป็นบทความที่บรรยายโลกแห่งสันติสุขที่ขงจื่อใฝ่ฝัน หากกล่าวว่าตะวันตกมียูโทเปียเป็นสังคมในอุดมคติ ชาวพุทธเรามีโลกพระศรีอาริย์เป็นสังคมในอุดมคติ สำหรับขงจื่อนั้นก็มีสังคมแห่งมหาเอกภพเป็นสังคมในอุดมคติ และท่านก็ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ “ดำเนินจริยาสู่มหาเอกภพ” ขึ้น
แต่การเกิดขึ้นของบทความบทนี้ ก็ด้วยเพราะมีจื่ออิ๋วเป็นเหตุปัจจัย ท่านจึงได้ทำการบันทึก และภายหลังได้ถูกเก็บไว้ในคัมภีร์หลี่จี้ บทหลี่อวิ้น ตอนโลกเอกภพดังนี้ว่า
“ครั้งหนึ่ง ขงจื่อได้ถอนใจขึ้นในระหว่างเป็นผู้ช่วยในพิธีบูชา จื่ออิ๋วอยู่เคียงข้างจึงถามขึ้นว่า ‘ท่านอาจารย์ถอนใจด้วยเรื่องใดฤๅ?’ ขงจื่อตอบว่า ‘อันการเจริญแห่งมหาธรรมนั้น ได้ปรากฏในพระอริยกษัตริย์ทั้งสามพระองค์เมื่ออดีตกาล แต่น่าเสียดายที่ข้ามิทันได้ดูชม หากแต่ข้ามีอุดมการณ์เช่นนั้นอย่างมุ่งมั่น คือ
อันการดำเนินแห่งมหาธรรมนั้น เพื่อประโยชน์สุขแห่งใต้หล้าเป็นมั่นหมาย เลือกใช้ปราชญ์เมธา มีไมตรีถือสัจจา ดังนั้นผู้คนจักไม่กตัญญูเพียงบุพการีแห่งตน ไม่เลี้ยงดูเพียงบุตรธิดาของตน ให้ผู้เฒ่าได้สุขสันต์ในบั้นปลาย ชายฉกรรจ์ได้ทำคุณประโยชน์ เหล่าดรุณได้รับการเลี้ยงดู ตลอดจนเหล่าคนหม้าย ผู้สูญเสียบุตรธิดา เด็กกำพร้า ผู้พิการ และผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย ล้วนต้องได้รับการดูแล ชายมีงานหญิงมีคู่ สิ่งของมิทิ้งบนแผ่นดิน ทั้งมิหน่วงเหนี่ยวอยู่เพียงตน เรี่ยวแรงมิอำพรางอยู่ที่ตน ทั้งมิกระทำเพียงเพื่อตน ฉะนั้นจึงสิ้นเล่ห์และไม่แพร่หลาย เหล่าโจรผู้ร้ายกบถจักไม่มีเกิด ดั่งนี้จึงออกธุระโดยมิต้องดาลกลอน และนี่ก็คือโลกแห่งเอกภพแล’ ”
จึงเห็นได้ว่า จื่ออิ๋วมีส่วนสำคัญในการผลักดันจริยคีตะของขงจื่อ อันประหนึ่งวสันตวายุอันอบอุ่นที่โชยชื่นให้วัฒนธรรมจีนได้ยืนยงมานานนับพันปี
3 บันทึก
2
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์ (孔子及弟子)
3
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย