2 พ.ย. 2019 เวลา 23:05 • ประวัติศาสตร์
孔子及弟子
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์
9.อิ๋วจื่อ(有子)
อิ๋วจื่อ แซ่อิ๋ว นามว่ายั่ว ฉายาจื่อยั่ว ชาวแคว้นหลู่ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๓๓ ปี
ในบรรดาศิษย์ของขงจื่อ จะมีเพียงอิ๋วจื่อ เจิงจื่อ หมินจื่อ หยั่นฉิวที่ถูกเรียกชื่อลงท้ายด้วยคำว่าจื่อ ส่วนท่านอื่น ๆ จะเรียกเพียงแค่นามธรรมดาเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าเหล่าศิษย์ที่ทำการเรียบเรียงคัมภีร์หลุนอวี่ได้ให้ความเคารพต่ออิ๋วจื่อมากเพียงใด อีกทั้งตามที่ร่ำลือกันก็คือ อิ๋วจื่อมีใบหน้า อิริยาบทและลักษณะการพูดจาที่ละม้ายคล้ายขงจื่อมากเป็นพิเศษ ดังนั้นหลังจากขงจื่อได้ถึงแก่อนิจกรรม ทุกคนจึงประสงค์แต่งตั้งอิ๋วจื่อให้เป็นตัวแทนของขงจื่อ แต่ด้วยเหตุที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรมจึงได้ยกเลิกไปในที่สุด
อิ๋วจื่อเป็นบุคคลที่มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากประชาชนแคว้นหลู่อยู่พอควร ครั้งหนึ่งเจ้าแคว้นหลู่เคยรับสั่งให้อิ๋วจื่อเข้าเฝ้าเพื่อถวายความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขปัญหาทุพภิกขภัย ซึ่งคำกราบทูลของท่านอิ๋วจื่อนับเป็นหัวใจอันสำคัญในการบริหารการคลัง การอากร และความสงบสุขของแผ่นดินตราบจนปัจจุบัน ดังมีปรากฏในบทเหยียนเยวียนดังนี้คือ
หลู่ไอกงถามอิ่วยั่วว่า “ครั้นเกิดทุพภิกขภัย การคลังมิพอใช้ พึงทำอย่างไร ?” อิ่วยั่วกราบทูลว่า “ไยไม่ใช้อากรข้าวแบบ ๑๐ ชัก ๑ เล่า ?” หลู่ไอกงตรัสว่า “ขนาด ๑๐ ชัก ๒ แล้ว ข้ายังมิพอเพียงเลย แล้วจะให้ใช้แบบ ๑๐ ชัก ๑ อย่างไรได้ ?” อิ่วยั่วกราบทูลว่า “ครั้นประชาราษฎร์มั่งมี มีหรือที่เจ้าแคว้นจะขาดรอน แต่ครั้นประชาราษฎร์ขาดรอน มีหรือที่เจ้าแคว้นจะมั่งมี ?”
ตามที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ จะเห็นว่าอิ๋วจื่อมีความมุ่งมั่นในการรณรงค์คุณธรรม ๘ อย่างแข็งขัน ดังมีปรากฏในเนื้อหาดังต่อไปนี้
๑. อิ๋วจื่อกล่าวว่า “สำหรับผู้ที่มีกตัญญุตาธรรมและภราดรธรรมแล้วชอบแข็งข้อต่อผู้ใหญ่นั้น น้อยนักแล สำหรับผู้ที่มิแข็งข้อต่อผู้ใหญ่แล้วชอบก่อความวุ่นวายนั้น มิเคยปรากฏมาก่อนแล อันวิญญูชนจะยึดมั่นที่รากฐาน ครั้นรากฐานตั้งมั่นแล้วธรรมะจึงจักบังเกิด ส่วนกตัญญุตาธรรมและภราดรธรรมนั่นไซร้ แท้ก็คือรากฐานแห่งเมตตาธรรมแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๒)”
๒. อิ๋วจื่อกล่าวว่า “อันสารัตถประโยชน์แห่งจริยธรรมนั้น จะถือหลักแห่งความสมานฉันท์เป็นสำคัญ สำหรับมรรคาแห่งบูรพกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นธุระน้อยใหญ่ ก็ล้วนยึดถือตามหลักนี้ทั้งสิ้น แต่สำหรับบางกรณีที่มิอาจลุล่วงไปด้วยดี ก็ด้วยเพราะสักแต่ใช้หลักแห่งการสมานฉันท์เสียอย่างเดียว แต่หากมิรู้ปรับใช้ด้วยจริยธรรมแล้ว ก็มิควรเช่นกันแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๑๒)”
๓. อิ๋วจื่อกล่าวว่า “สัจจะที่ชอบด้วยมโนธรรม คำมั่นสัญญาจึงจะสามารถปฏิบัติให้เป็นจริง มารยาทที่ชอบด้วยจริยธรรม จึงจะทำให้หลีกพ้นจากความอัปยศ อีกมิได้พลาดจากการสมาคมกับบุคคลที่ควรคบหา ฉะนี้ก็จะเป็นที่เคารพยกย่องแล (บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๑๓)”
วาทะทั้งหมดที่ยกมา ล้วนเป็นบรรทัดฐานในด้านการยกระดับคุณธรรมที่ดียิ่งนักแล
โฆษณา