20 ต.ค. 2019 เวลา 22:49 • ประวัติศาสตร์
孔子及弟子
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์
8.จื่อเซี่ย (子夏)
ปู่ซัง ฉายาจื่อเซี่ย ชาวแคว้นเว่ย อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๔๔ ปี มีความเป็นเลิศในด้านวรรณกรรม
เนื่องด้วยแขนงวิชาที่ขงจื่อได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์จะมีอยู่สองด้านใหญ่ คือ วิถีจิตหนึ่ง และวรรณกรรมอีกหนึ่ง ในด้านของวิถีจิตนั้นได้มีศิษย์เอกเหยียนหุยและเจิงจื่อเป็นผู้สืบทอดหลัก ส่วนด้านวรรณกรรมนั้นก็มีจื่ออิ๋วและจื่อเซี่ยเป็นผู้สืบทอดหลัก แต่ต้องถือว่าจื่อเซี่ยมีความลุ่มลึกในด้านนี้มากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวรรณกรรม
จื่อเซี่ยเป็นผู้ที่มีความแตกฉานในด้านวรรณกรรมอย่างหาใครเทียมได้ยาก ครั้งหนึ่งท่านเคยถามขงจื่อเกี่ยวกับกลบทตอนหนึ่งในคัมภีร์ซือจิง ขงจื่อรู้สึกชื่นชมในปฏิภาณของจื่อเซี่ยจนถึงกับชมว่า “จื่อเซี่ย ข้าคงร่วมวิจารณ์คัมภีร์ซือจิงกับเจ้าได้แล้วซินะ”
คัมภีร์ซือจิงเป็นคัมภีร์ที่ขงจื่อใช้ศึกษาอ้างอิงและถ่ายทอดให้เหล่าลูกศิษย์เป็นประจำ เป็นคัมภีร์ที่ประพันธ์ด้วยภาษาโบราณที่กระชับทั้งความงามและความหมายที่อ่านเข้าใจได้ยากยิ่ง ดังนั้นผู้ที่จะได้รับคำกล่าวชมจากขงจื่อดังนี้ หากมิใช่มีความลุ่มลึกในด้านวรรณกรรมแล้ว ก็คงจะไม่มีโอกาสเช่นนี้ได้ง่ายนัก ซึ่งในความจริงแล้ว ผู้ที่ได้รับคำกล่าวชมจากขงจื่อในลักษณะนี้จะมีเพียงสองท่าน คือจื่อก้งและจื่อเซี่ยเท่านั้นเอง
และด้วยเหตุที่จื่อเซี่ยเป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในบรรณพิภพจีน ขงจื่อจึงให้โอวาทเตือนสติแก่จื่อเซี่ยว่า “เจ้าพึงเป็นวิญญูบัณฑิต มิพึงเป็นทุรบัณฑิต” ซึ่งจื่อเซี่ยก็ได้น้อมนำปฏิบัติในโอวาทนี้เรื่อยมา
หลังจากขงจื่อได้ถึงแก่กาลกิริยา จื่อเซี่ยก็มุ่งเผยแพร่คำสอนในแถบซีเหอจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ประจักษ์ และเนื่องด้วยจื่อเซี่ยมีบุคลิกที่ละม้ายคล้ายขงจื่อ ดังนั้นผู้คนจึงแทบจะยกย่องจื่อเซี่ยให้เป็นขงจื่อไปเลยก็ว่าได้
ในด้านคติธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ของจื่อเซี่ย ทุก ๆ คำพูดล้วนเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เป็นอย่างดี จึงขอนำสรุปวาทะที่สำคัญไว้ดังนี้
๑. จื่อเซี่ยกล่าวว่า “พึงเคารพเมธีแทนการหลงใหลในเพศสตรี ในการปรนนิบัติบุพการี พึงปฏิบัติโดยสุดกำลังความสามารถที่มี ในการรับใช้องค์พระภูมี พึงถวายความจงรักทั้งกายา ในการคบหามิตรสหาย พึงมีสัจจะต่อวาจา คนที่ทำได้เช่นนี้ แม้นจะไม่เคยเรียนหนังสือ แต่ข้าก็ถือว่าเขาเป็นผู้ที่มีการศึกษาดีแล้ว(บทเสวียเอ๋อตอนที่ ๗)”
๒. จื่อเซี่ยกล่าวว่า “ทุกวันจงตระหนักรู้ในสิ่งที่ขาด ทุกเดือนจงอย่าลืมเลือนในสิ่งที่เรียน ฉะนี้ถือว่าใฝ่ศึกษาได้แล้วแล (บทจื่อจังตอนที่ ๕)”
๓. จื่อเซี่ยกล่าวว่า “พึงเป็นผู้พหูสูตและมุ่งมั่นในปณิธาน รู้ไล่เลียงไต่ถามและตริตรองให้สุขุม เมตตาธรรมก็อยู่ในนี้แล้วแล (บทจื่อจังตอนที่ ๖)”
๔. จื่อเซี่ยกล่าวว่า “อันวิญญูชนจะมีลักษณะ
ผันแปรอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ยามทัศนาจากที่ไกลก็ดูสง่า ครั้นได้ชิดใกล้ก็รู้สึกอบอุ่น เมื่อฟังการเจรจาก็รู้สึกน่าเกรงขาม (บทจื่อจังตอนที่ ๙)”
โดยสรุปแล้ว จื่อเซี่ยถือเป็นปรมาจารย์ในด้านวรรณกรรม เพราะมีนักประพันธ์จำนวนมากได้ยึดแบบแผนและหลักคำสอนของจื่อเซี่ยมาเป็นแม่แบบในการประพันธ์ ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นล้วนมีชื่อเสียงตราบจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องถือว่าจื่อเซี่ยเป็นผู้ที่มีคุณูปการในด้านการพัฒนาวรรณกรรมจีนอย่างมิต้องสงสัย
โฆษณา