3 ส.ค. 2021 เวลา 08:13 • สุขภาพ
การมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ เช่น นอนไม่หลับ กระวนกระวาย รับประทานอาหารไม่ลง ตั้งสมาธิไม่ได้ หงุดหงิดฉุนเฉียวจนกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด หดหู่ มีความคิดอยากตาย ฯลฯ
แน่นอนว่าย่อมสร้างความรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ และหลายคนก็มักจะอยากรู้ว่า "นี่เราเป็นอะไร" หรือ "เราป่วยเป็นโรคอะไร"
...
ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดหรือแปลกเลยค่ะ ที่คนเราอยากจะรู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร
แต่มันก็จะเป็นการเกินกำลังและใช้พลังงานไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อตนเอง
เพราะ การที่จะรู้ว่าป่วยเป็นโรค(จิตเวช)อะไรนั้น มีเพียง "จิตแพทย์" เท่านั้นที่จะบอกได้
เนื่องจาก จิตแพทย์ จะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเกณฑ์การวินิจฉัยว่าต้องการอาการอะไร กี่อาการ และดำเนินอาการมานานเพียงใด ถึงจะเข้าเกณฑ์ของความเจ็บป่วย
...
การที่ตัวของผู้ที่มีอาการเอง ใช้เวลาและพลังงานไปกับการค้นหาว่าตัวเองเป็นโรคอะไรด้วยตัวเองนั้น
อาจจะเป็นการยากที่จะประเมินตนเองได้ถูกต้อง
ดังนั้น ในการค้นหาว่าป่วยเป็นโรคอะไรนั้น ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าค่ะ
ถ้ามีความไม่สบายใจกับอาการที่ไม่พึงประสงค์
ควรติดต่อกับโรงพยาบาลหรือสถานบริการที่มีแผนกจิตเวช เพื่อ
1. ขอข้อมูลว่าถ้าอยากไปพบจิตแพทย์จะต้องเตรียมอะไรไปบ้าง
2. ขอข้อมูลเรื่องเวลาในการติดต่อ เช่น ควรไปกี่โมง วันไหน เริ่มติดต่อที่ส่วนไหนของสถานบริการ
(หรือเพื่อถามค่าใช้จ่ายคร่าวๆ สำหรับประเมินกำลังของตนเองว่าจ่ายไหวไหม)
...
นอกจาก การตัดสินใจไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (หรือนักจิตวิทยา) แล้ว
สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกท่านที่มีอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทำควบคู่กับการไปพบแพทย์ ก็คือ
🌿 เรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น 🌿
เพราะแม้ว่าแพทย์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่แพทย์ทำได้มากที่สุดก็คือ วินิจฉัยโรค ให้การรักษาทางการแพทย์
แต่คนที่ต้องอยู่กับอาการเหล่านั้น ก็คือ - ตัวคุณเอง -
...
ในทางปฏิบัติแล้ว มันแทบจะไม่สำคัญสำหรับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์เลยค่ะ ที่จะรู้ว่า ป่วยเป็นโรคอะไร
สิ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่า เวลาที่มีอาการเกิดขึ้น จะต้องทำยังไง เพื่อให้ตนเองสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาที่มีอาการไปได้
เป็นตัวคุณเองที่เลือกตัดสินใจว่า -จะกินยา - หรือ - ไม่กินยา -
เป็นตัวคุณเองที่เลือกว่า ถ้าอาการมาอีก จะทำยังไงกับตัวเอง เช่น
หากนอนไม่หลับจะเลือกข่มตาข่มใจ เลือกลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง หรือเลือกวิธีอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับการแนะนำมาจากแพทย์/นักจิตวิทยา
...
เนื่องจาก เวลาที่มีโรคบางอย่างเกิดขึ้น ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้โรคเกิดขึ้นหรือดำเนินต่อไปมักมาจาก 3 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สังคม
ด้านร่างกาย คุณอาจจะได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากแพทย์ เช่น ได้ยามารับประทาน แต่ส่วนที่เหลือมาจากตัวคุณ เช่น กินยาตรงเวลาตามแพทย์สั่ง
ด้านจิตใจ คุณอาจจะได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากแพทย์/นักจิตวิทยาได้ เช่น จิตบำบัด แต่ส่วนที่เหลือมาจากตัวคุณ เช่น คุณจะลองปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อให้เกิดผลต่อจิตใจดูไหม จะออกกำลังกาย จะหางานอดิเรก หรือจะนอนร้องไห้เหมือนเดิมในทุก ๆ วัน รวมไปถึงคุณจะเปลี่ยนวิธีคิดไหม หรือจะใช้วิธีคิดเดิมที่คิดแล้วทำให้จิตใจหดหู่ห่อเหี่ยว
ด้านสังคม คุณอาจจะได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากคนรอบข้างได้ เช่น มีคนคอยให้กำลังใจ มีคนรับฟังเวลาที่คุณรู้สึกแย่ แต่ส่วนที่เหลือมาจากตัวคุณ เช่น คุณจะออกมาพบปะผู้คนไหม จะมองเห็นกำลังใจจากคนรอบข้างหรือเปล่า จะเลือกพาตัวเองไปพบกับผู้คนที่มีวิธีคิดแบบไหน
...
อย่างไรก็ตาม มันไม่เป็นไรนะคะ หากที่ผ่านมาคุณจะหลงลืมการดูแลตัวเองไปบ้าง มีวิธีคิดที่พาตัวเองไปพบกับความรู้สึกแย่บ้าง หรือไปอยู่กับกลุ่มคนที่พาให้คุณรู้สึกแย่บ้าง เพราะหากคุณมีร่างกาย จิตใจ สังคม ที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นกับคุณหรอกค่ะ
แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณเริ่มทราบแล้วว่า มีบางสิ่งในชีวิตของตัวเองกำลังไม่ถูกต้องอยู่ ซึ่งเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือป่วยขึ้นมา ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนมัน เช่น ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับยาที่ได้รับ ในกรณีที่รู้สึกว่าผลข้างเคียงของยามันมากเกินไป
ซึ่งเหล่านี้ก็คือ การเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นกับตนเอง
นอกจากนั้น อยากให้กำลังใจนะคะ โรคจิตเวชบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นมาในวันเดียว แต่สะสมมายาวนาน อาจจะสะสมตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น ดังนั้น การรักษาก็จะไม่หายได้ทันทีในวันเดียว หรือในเวลาแค่แป๊บเดียว มันอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย หลายเดือนหรือหลายปี แต่หากคุณเรียนรู้ที่จะอยู่กับอาการต่าง ๆ พบแพทย์ตามนัด รับประทานยาตามที่ระบุไว้หน้าซอง หรือรับการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป
มีโอกาสหายป่วยแน่นอนค่ะ
โฆษณา