5 ส.ค. 2021 เวลา 13:30 • หนังสือ
Wherever there is judgment, there is noise – and more of it than you think
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30น. มาแล้วคับผม สัปดาห์นี้ขอนำเสนอ
Noise
A Flaw in Human Judgment
By Daniel Kahneman, Olivier Sibony, Cass R. Sunstein
#Who_Should_Read
-ผู้ที่อยากเพิ่มความแม่นยำของการตัดสินใจ
-ผู้ที่อยากเข้าใจสิ่งรบกวนการตัดสินใจ
-ผู้ที่อยากสร้างระบบการตัดสินใจที่มีเสถียรภาพ
1
หมายเหตุ- รีวิวนี้เขียนตามความเข้าใจของผู้อ่าน อาจมีส่วนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับได้
#What_I_Get
คนเราทุกคนล้วนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการตัดสินใจนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องใหญ่ที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณไปตลอด ทุกการตัดสินใจในชีวิตล้วนส่งผลต่อเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การตัดสินใจที่ดีจึงเป็นเสมือนพื้นฐานของการสร้างชีวิตที่ดี แต่การตัดสินใจบางทีก็เป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์เรา และการที่คนส่วนมากนั้นตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมย์และอคติ (bias) ก็จะยิ่งทำให้การตัดสินใจของเราไม่ดีเท่าที่ควร แต่นอกจากอคติแล้วยังมี สิ่งรบกวน (noise) ที่ทำให้เราตัดสินสิ่งต่าง ๆ ได้แย่ลงอีกด้วย
1
โดยหนังสือเล่มนี้จะมาเล่าถึงเรื่องราวของความบกพร่องในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์เรา ซึ่งผมจะแบ่งทั้งหมดออกเป็น 4ส่วน ที่จะค่อย ๆ อธิบายความบกพร่องของการตัดสินใจและวิธีรับมือให้กับมัน
ส่วนที่ 1 สำรวจความแตกต่างของ อคติ (bias) และ สิ่งรบกวน (noise)
โดยพื้นฐานการตัดสินใจของมนุษย์เรา สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด คือ “ความแม่นยำ” (accuracy) ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพยายามตัดสินใจให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
แต่สองสิ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการตัดสินใจ คือ “อคติ (bias)” และ “สิ่งรบกวน (noise)”
โดย bias จะทำให้ผลส่วนใหญ่ของการตัดสินคลาดเคลื่อนออกไปจากค่าที่แท้จริง เช่น การมองโลกในแง่ดีเกินไปจะทำให้เราตัดสินใจโดยเลือกทางเลือกที่เป็นไปได้ยากกว่าปกติ เพราะเราคิดว่ามันเป็นไปได้ง่ายกว่าความเป็นจริง
1
และ noise คือ การเกิดความแตกต่างในการตัดสินในเรื่องที่ควรตัดสินใจเหมือนกัน เช่น การที่ศาลให้บทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดแบบเดียวกันไม่เท่ากัน
1
พวกเราคงคุ้นเคยกับคำว่า bias กันมาบ้าง เพราะ bias มักถูกหยิบยกมาใช้ในการอธิบายเรื่องราวความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น
1
แต่ noise นั้นมักเป็นที่พบเห็นน้อยกว่าเนื่องจากการจะมองเห็น noise นั้นเราต้องมาที่สถิติโดยรวมเป็นหลัก ถ้าเรามองแค่เรื่องราวเฉพาะหน้าเราจะมองไม่เห็นมันเลย
1
โดยจากงานวิจัยพบว่า noise มีผลทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจไม่ได้น้อยไปกว่า bias เลย
ภายในหนังสือจึงได้นำเสนอการทำ noise audit หรือการตรวจสอบสิ่งรบกวน เพื่อช่วยให้เกิดความแม่นยำมาขึ้นในการตัดสินใจต่าง ๆ
1
อย่างเช่นกรณีตัวอย่าง การตรวจสอบคำตัดสินโทษของศาลที่พบว่าในความผิดแบบเดียวกัน แต่ผู้พิพากษาแต่ละคนลงโทษผู้กระทำผิดต่างกัน
เนื่องจากผู้พิพากษาแต่ละคนเข้มงวดไม่เท่ากัน, ให้ความสนใจแต่ละผู้กระทำผิดไม่เหมือนกัน และอารมณ์ในขณะที่ตัดสินแตกต่างกัน ก็จะทำให้ผลการตัดสินแตกต่างกันไปทั้งที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
1
ส่วนที่ 2 ธรรมชาติของการตัดสินใจ และความผิดพลาด
อย่างที่ได้กล่าวไว้ด้านบน ธรรมชาติของคนเรามักใช้ความรู้สึกภายในเป็นตัวผลักดัน และใช้ข้อมูลที่เรามีอยู่เพื่อประกอบกันเป็นการตัดสินใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นการตัดสินใจของคนเรามีความแม่นยำประมาณแค่ 60 % เท่านั้น
1
โดยความผิดพลาดของการตัดสินใจนั้นมาจาก bias และ noise นั่นเอง ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เกิดจากจิตใจมนุษย์ทั้งสิ้น โดยภายในหนังสือเล่มนี้เราจะเน้นไปที่การอธิบาย noise (สำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่อง bias แนะนำให้อ่าน Think Fast and Slow ครับ)
1
ภายในระบบการตัดสินใจต่าง ๆ มักจะมี noise อยู่ด้วยเสมอ การมีอยู่ของ noise คือการที่การได้รับข้อมูลเหมือน ๆ กัน แต่ตัดสินใจออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งความแตกต่างของการตัดสินใจนี้มากจาก noise 2 ส่วนดังต่อไปนี้
1.Level Noise คือ การที่แต่ละคนมีมาตรฐานของตัวเองที่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
เช่น ผู้พิพากษาที่เข้มงวดสั่งขังคุก 6 ปี แต่ผู้พิพากษาที่ผ่อนปรนสั่งขังเพียง 2 ปี ในคดีความที่เหมือนกัน
ความแตกต่างนี้เกิดขึ้นเพราะตัวบุคคลไม่ใช่เพราะข้อมูลที่ได้รับแตกต่างกัน ดังนั้นจึงนับว่าเป็น noise
1
2.Pattern Noise คือ การที่แต่ละคนตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่เท่ากันเป็นผลให้การตัดสินใจต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้านั้นได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน โดย pattern noise จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 Stable Pattern Noise คือ การที่แต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าไม่เหมือนกัน รวมถึงความเชื่อและสิ่งที่ยึดถือของแต่ละคนด้วย ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล
1
เช่น ผู้พิพากษาเห็นผู้ต้องหาเหมือนกับลูกสาวตัวเองเลยผ่อนผันโทษให้ หรือผู้ต้องหาหน้าตาเหมือนคนที่เราไม่ชอบเลยเพิ่มโทษให้ เป็นต้น
2.2 Occasion Noise คือ การที่คนคนเดิมตัดสินใจเรื่องราวเดียวกันหลายครั้ง แต่ให้ผลการตัดสินใจที่ต่างกันออกไป โดยเกิดจากการที่สิ่งเร้าทำให้ความรู้สึกและเหตุผลในการตัดสินต่างกันออกไป ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เกิดในตัวบุคคลเดียวกัน
เช่น ผู้พิพากษา A ส่วนใหญ่มักจะตัดสินให้โทษขนานเบาในช่วงเช้าที่ยังไม่เหนื่อย แต่จะให้โทษที่หนักกว่าปกติในช่วยเย็นที่ทำงานมานานแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นคดีความแบบเดียวกันก็ตาม
1
ส่วนที่ 3 การเพิ่มความแม่นยำและวิธีการลดความผิดพลาด
จากการที่ได้ทำความเข้าใจพื้นฐานของ noise แล้วจะเห็นว่า noise มีส่วนทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ไม่ยุติธรรมเท่าที่ควร บางระบบตัดสินใจยิ่งถ้ามี noise มากก็จะยิ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้ เราจึงควรหาวิธีการลด noise เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการตัดสินใจ
ภายในหนังสือได้นำเสนอหลักการ decision hygiene ในการช่วยการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยประกอบด้วยหลักการย่อย 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1
1.Sequencing Information คือ การให้ข้อมูลเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ทำการตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลอื่น ๆ มาเป็นกรอบอ้างอิงในการตัดสินใจ ซึ่งก่อให้เกิดอคติในการยืนยัน (confirmation bias) และทำให้การตัดสินใจเอนเอียงไปทางที่ผิดและกระจายตัวมากขึ้น
1
เช่น กรณีตัวอย่าง การยืนยันลายนิ้วมือของคนร้าย ที่เคยมีการส่งข้อมูลสืบสวนแนบไปด้วยแต่กลับทำให้ผู้ตรวจสอบลายนิ้วมือชี้ตัวคนร้ายผิดถึงแม้จะตรวจสอบหลายรอบแล้ว เพราะการใช้ข้อมูลสืบสวนมาช่วยในการตัดสินใจทำให้มองพลาดจุดที่สำคัญส่วนอื่นและเลือกมองหาเฉพาะสิ่งที่ตรงกับข้อมูลที่ได้รับมาเท่านั้น
1
2.Shared Scale Grounded in an Outside View คือ การให้รายละเอียดต่าง ๆ ของมาตรวัดที่ใช้ในการช่วยตัดสินใจ โดยใช้พื้นฐานข้อมูลมาตรวัดร่วมกัน เพื่อลดความแตกต่างของการให้คะแนนพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน
1
เช่น การให้ประเมินพนักงานรายปี ผู้จัดการแต่ละคนต้องประเมินพนักงานคนเดียวกัน โดยผู้จัดการแต่ละคนอาจมองเห็นคุณสมบัติเดียวกันแต่ให้คะแนนไม่เท่ากันเพราะมาตรฐานพื้นฐานไม่เท่ากัน
เราจึงควรระบุมาตรฐานให้ชัดเจนขึ้นว่าคะแนนเท่านี้หมายถึงคุณสมบัติแบบใดบ้างให้ชัดเจน เพื่อสร้างมาตรฐานการให้คะแนนที่เท่าเทียมกัน
3.Aggregating Multiple Independent Judgment คือ การแยกให้แต่ละคนตัดสินใจแยกจากกันโดยสิ้นเชิง แล้วนำผลการตัดสินใจนั้นมารวมกันภายหลัง จะพบว่าการตัดสินใจของกลุ่มคนที่ตัดสินแบบอิสระออกจากันให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าปกติ
1
เช่น การแยกย่อยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงธุรกิจออกเป็นหลาย ๆ ด้าน แล้วให้พนักงานแต่ละคนแยกกันไปทำแบบอิสระต่อกัน โดยผลการตัดการตัดสินใจในแต่ละด้านจะไม่ขึ้นต่อกัน แล้วค่อยนำข้อมูลการตัดสินใจแต่ละส่วนนั้นกลับมารวมกันเป็นข้อมูลกลางการตัดสินใจข้อตกลงอีกทีหนึ่ง จะช่วยลดการเกิดการพวกมากลากไปได้อย่างดี
4.Judgment Guideline คือ การสร้างคู่มือพื้นฐานการตัดสินใจให้กับคนที่อยู่ภายในระบบนั้น เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในการตัดสินใจ ตามข้อมูลและเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว
1
เช่น การวินิจฉัยโรค แพทย์บางคนมีหน้าที่ตัดสินใจว่าผู้ป่วยคนไหนควรต้องทำการตรวจเพิ่มเติม ถ้าแพทย์ต้องพิจารณาด้วยตัวเองทุกครั้งอาจทำให้ใช้พลังงานมากและเกิดความไม่แน่นอนขึ้น ว่าอาการเดียวกันบางคนตรวจบางคนไม่ตรวจ การใช้คู่มือจะช่วยสร้างความเสถียรว่าผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการตรวจทุกคน
5.Structuring Complex Judgment คือ การสร้างโครงสร้างการตัดสินใจที่ซับซ้อนไว้ล่วงหน้า โดยโครงสร้างดังกล่าวอาจระบุถึงเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะต้องพิจารณาเป็นหลัก เพื่อลดความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อเหตุการณ์ตรงหน้าลง
1
เช่น การสัมภาษณ์รับพนักงาน ถ้าไม่มีการตั้งเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาพนักงานไว้ ผู้สัมภาษณ์มักจะใช้ความรู้สึกที่มีต่อผู้เข้าสัมภาษณ์เป็นแกนหลักในการพิจารณา ถ้ามองแล้วไม่ชอบแต่แรกเห็นก็จะมองหาแต่สิ่งที่มายืนยันตามที่คิด แต่ถ้ามีเกณฑ์พิจารณาที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์มองหาคุณสมบัติที่แท้จริงของผู้สัมภาษณ์มากขึ้น
ส่วนที่ 4 การปรับระดับ noise
จากการที่เราได้ทำความเข้าใจหลักการในการลด noise ในระบบการตัดสินใจต่าง ๆ แล้ว เราจะพบว่า noise นั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากความแตกต่างของบุคคลเป็นหลัก ซึ่งการกำจัดความแตกต่างนี้ไปเสียทั้งหมดก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป
เราต้องพิจารณาว่าความแตกต่างภายในระบบนั้นก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าที่เราจะใช้หลักการในการกำจัด noise เหล่านั้นหรือไม่
หนึ่งในวิธีการกำจัด noise ทั้งหมดคือการใช้กฎที่ชัดเจน หรือการใช้ algorithm ที่ให้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมทุกครั้ง (แต่ผู้สร้าง algorithm ก็อาจก่อให้เกิด bias ได้เช่นกัน)
แต่การกำจัด noise ทั้งหมดอาจทำให้ระบบการตัดสินใจนั้นไม่มีการพัฒนาจากสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา แต่ถ้ามี noise มากเกินไปก็จะทำให้ไม่มีมาตรฐานจนเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นมาได้
ดังนั้นการวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าระบบต่าง ๆ ควรมี noise อยู่ในระดับเท่าไรจึงมีความสำคัญมากไม่ต่างกัน แต่จากการสำรวจส่วนมากในปัจจุบันพบว่าระบบต่าง ๆ ยังมี noise มากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ทำให้เกิดผลเสียทางธุรกิจ และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมมากมาย
#How_I_Feel
 
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใช้วิทยาศาตร์แยกแยะระบบการตัดสินใจของคนเราออกมาได้อย่างละเอียดละออ พร้อมด้วยตัวอย่างของการเกิด noise ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบรอบตัวเรา
การทำให้เราได้เห็น noise ต่าง ๆ ในชีวิตเราทำให้เราสามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้นและตัดสินใจได้แม่นยำมากขึ้นด้วยการใช้หลักการในลด noise ของการตัดสินใจลง
หนึ่งในประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ การมองเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยมุมมองเชิงสถิติจะช่วยให้เราเห็นในมุมที่กว้างขึ้นและคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำมากขึ้น
จริง ๆ แล้วภายในหนังสือมีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับการตัดสินใจ ที่เอามาเล่ายังไงก็ไม่หมด ถ้ามีโอกาสผมแนะนำให้ลองอ่านเองดูสักรอบนะครับ
ปล.ผมอ่านเป็น ver.ENG อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนตรงไหนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
Review by Another Book
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30 ครับผม
กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
โฆษณา