6 ส.ค. 2021 เวลา 06:33 • สุขภาพ
ย้อนอดีตจากการปลูกฝีสู่วัคซีน mRNA
ขณะนี้วัคซีนถือเป็นวาระระดับโลก เพราะทุกประเทศล้วนต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โซเฟียอยากชวนผู้อ่านสำรวจวิวัฒนาการวัคซีนตั้งแต่ก้าวแรก (ที่ต้องขอบคุณเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ และเจ้าวัวเพื่อนยาก) จนถึงก้าวปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง mRNA ที่ยังไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนใดมาก่อน ก่อให้เกิดความก้าวล้ำพร้อมข้อถกเถียงมากมาย เช่นที่มันเป็นตลอดมาในประวัติศาสตร์
วันเวลาหลายร้อยปี วัคซีนได้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้มากมายเพียงไร และมันสอนบทเรียนใดแก่เรา
วัคซีนจากฝีดาษวัว ค.ศ. 1796
หลายคนรู้จักเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ในฐานะบิดาแห่งวัคซีน จากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้ฝีดาษหรือไข้ทรพิษขึ้นในปี 1796 ซึ่งเป็นนับกันว่าเป็นวัคซีนชนิดแรกของโลก เจนเนอร์เคยได้ยินจากหญิงเลี้ยงโคว่าผู้ที่ป่วยจากการสัมผัสกับวัวที่เป็นโรคฝีดาษวัวมาก่อนจะไม่เป็นไข้ทรพิษอีก เขาจึงฝังช้ินส่วนจากแผลของคนที่เป็นโรคฝีดาษวัวลงให้กับเด็กคนหนึ่ง เด็กคนนั้นเป็นไข้เพียงไม่กี่วันก็หาย จากนั้นเขาลองฉีดเชื้อทรพิษเข้าไปในร่างกายเด็กปรากฎว่าไม่เป็นอะไรเลย เขาคือผู้ที่พิสูจน์ได้ว่าชิ้นส่วนแผลที่ฝังเข้าไปในร่างกายไม่ถึงขั้นทำให้คนเป็นโรคแต่สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ นี่คือการปลูกฝี วิธีการของเจนเนอร์ใช้ได้ผล นั่นคือจุดเริ่มต้นและที่มาของคำว่า Vaccine ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Vacca ที่แปลว่าวัวนั่นเอง
วัคซีนเชื้ออ่อนแรง ค.ศ. 1879
ผู้ที่พิสูจน์ได้ว่าเชื้อโรคเป็นสาเหตุของความป่วยไข้นั้นคือหลุยส์ พาสเตอร์ ผู้ได้ชื่อว่าบิดาให้จุลชีววิทยา เขาได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการหมักไวน์และเบียร์ช่วงกลางทศวรรษ 1850 และพบว่ากระบวนการหมักดองเกิดจากจุลชีพในอาหาร และจุลชีพยังทำให้คนและสัตว์เป็นโรค
ในปี 1877 พาสเตอร์ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคอหิวาต์ในไก่ และประสบความสำเร็จในการเพาะเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ เขาสั่งให้ผู้ช่วยฉีดเชื้อเข้าไปในไก่สำหรับการทดลอง แต่ผู้ช่วยลืมทำ จนเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเขานึกถึงได้จึงฉีดเชื้อที่เพาะทิ้งไว้นานแล้วเข้าไป ปรากฏว่าไก่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยความแปลกใจพาสเตอร์จึงลงฉีดเชื้อที่ยังสดใหม่เข้าไปในไก่ชุดเดียวกัน ปรากฏว่าไก่ยังคงแข็งแรงไม่ป่วยไข้ เขาพบว่าพิษของเชื้อที่เพาะไว้นั้นจะค่อยๆ ลดลงเมื่อโดนอากาศและลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป เขาเรียกการที่พิษค่อยๆ อ่อนลงนี้ว่า “การอ่อนแรง” (attenuation) ซึ่งเป็นคำที่ยังคงใช้กันทุกวันนี้
1
จากนั้นพาสเตอร์ ร่วมมือกับชาร์ลส์ แชมเบอร์แลนด์ นักจุลชีววิทยา และเอมีล รูซ์ แพทย์และนักแบคทีเรียวิทยาชาวฝรั่งเศส เริ่มพัฒนาวัคซีนจากเชื้ออ่อนแรงเพื่อป้องกันโรคแอนแทรกซ์ ในปี 1879
วัคซีนของเจนเนอร์และพาสเตอร์เป็นวัคซีนแบบเชื้ออ่อนแรงเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือวัคซีนของเจนเนอร์ใช้เนื้อสารที่มาจากธรรมชาติ เช่น น้ำหนอง สะเก็ตแผลของคนหรือสัตว์ ซึ่งหาได้ยากกว่า ทำให้ลำบากในกรณีที่ต้องผลิตวัคซีนจำนวนมาก ในขณะที่ของพาสเตอร์ใช้วิธีทางแล็บ โดยการเพาะเชื้อขึ้นมาแล้วค่อยทำให้อ่อนแรงลง
เริ่มพิชิตไวรัส ค.ศ. 1885
เมื่อเชื่อพิษสุนัขบ้าระบาด พาสเตอร์จึงเริ่มพัฒนาวัคซีนป้องการโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นโดยวิธีทำให้เชื้ออ่อนแรงเช่นกัน แต่กว่าจะค้นพบวิธีก็เล่นเอาสาหัส เขาไม่สามารถเพาะเชื้อนอกร่างกายสัตว์ได้สักที เพราะเชื้อโรคครั้งนี้เป็นเชื้อไวรัสที่เติบโตได้ในตัวสิ่งมีชีวิตหรือโฮสต์เท่านั้น พาสเตอร์พบว่าเมื่อนำเชื้อจากสัตว์อีกชนิดฉีดเข้าไปในสัตว์ต่างชนิดเชื้อจะอ่อนแรงลง เขาจึงเพาะเชื้อในตัวกระต่าย และหลังจากกระต่ายตายเขาจึงนำเส้นประสาทไขสันหลังมาผึ่งให้โดนออกซิเจนเพื่อให้เชื้ออ่อนแรง จากนั้นจึงนำเชื้อนี้ฉีดให้สุนัข 50 ตัวและพบว่าได้ผล คนแรกที่ได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของพาสเตอร์ คือเด็กวัย 9 ขวบที่โดนสุนัขติดเชื้อขย้ำ ซึ่งต้องรับวัคซีนถึง 13 เข็มใน 11 วัน และเด็กคนนี้รอดปลอดภัย วัคซีนพิษสุนัขบ้าของพาสเตอร์จึงถือว่าสำเร็จในปี 1885
ค้นพบวัคซีนเชื้อตาย ค.ศ. 1896
หลังจากนั้นหนึ่งปีมีการทดลองพัฒนาวัคซีนจากเชื้อตายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้นกพิราบที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าติดเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร แม้ว่าในความเป็นจริงเชื้อโรคที่ทำให้นกพิราบตายเป็นเชื่อแบคทีเรีย แต่วงการวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่าการใช้เชื้อตายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน การวิจัยเกี่ยวกับเชื้อตายดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
.
จนปี 1896 ในเยอรมนีวัคซีนไทฟอยด์ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย ริชาร์ด ฟิฟเฟอร์ และวิลเฮล์ม โคลล์ โดยใช้เชื้อตาย ส่วนทางฝั่งอังกฤษอัลม์โรธ ไวรท์ก็คิดค้นวัคซีนไทฟอยด์ได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 - ต้นศตวรรษที่ 20 ถือเป็นยุคที่ฝรั่งเศส เยอรมนีและอังกฤษ ขับเคี่ยวในการพัฒนาวัคซีนกันอย่างมาก วัลด์มาร์ ฮัฟฟ์ไคน์ ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันพาสเตอร์ในฝรั่งเศส ก็พัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตโรคและกาฬโรคด้วยวัคซีนแบบเชื้อตายในช่วงนี้เช่นกัน
ยุติใช้สัตว์ในการทดลองวัคซีน ค.ศ. 1949
จนเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การพัฒนาวัคซีนรุดหน้าไปอย่างมากเนื่องจากนวัตกรรมในการเพาะเชื้อไวรัส ในปี 1949 จอห์น เอนเดอร์ โธมัส เวลเลอร์ และเฟรเดอริก รอบบิน เขาเพาะเชื้อไวรัสโปลิโอในหลอดทดลองโดยใช้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและผิวจากตัวอ่อนมนุษย์ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อในตัวสัตว์ ซึ่งมีกระบวนการซับซ้อน ผลิตได้น้อย มีราคาแพง ทำให้ที่ผ่านมาการพัฒนาวัคซีนโปลิโอทำได้อย่างจำกัด การค้นพบครั้งนี้ทำให้ทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบล และยังทำให้โจนัส ซัลค์ ผลิตวัคซีนโปลิโอสำเร็จ
.
ในระหว่างทศวรรษ 1940 ถึง 1970 จึงมีการผลิตวัคซีนเพิ่งขึ้นอีกมาก และหลายชนิดได้กลายเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดกันตั้งแต่เด็กๆ เช่น วัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนที่รวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนเข้าด้วยกันในชื่อ DTP วัคซีนโปลิโอทั้งแบบฉีดและกิน วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน
1
เริ่มต้นไวรัลเวกเตอร์ ค.ศ. 1990
ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่วัคซีนพัฒนาด้วยการใช้วิทยาการตัดต่อพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ไวรัสอะดีโน ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เราเป็นไข้หวัดทั่วไป และสามารถตัดแต่งพันธุกรรมได้ นักวิทยาศาสตร์นำไวรัสมาดัดแปลงให้ไม่สามารถแบ่งตัว และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสที่เราต้องการป้องกันติดไปด้วย สิ่งนี้เราเรียกว่าไวรัสพาหะ เมื่อนํามาฉีดมันจะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสต่อไวรัสที่เราต้องการป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ผลิตวัคซีน AzAstraZeneca และ Johnson & Johnson นั่นเอง
.
แต่ก็มีคนกลัวว่าวัคซีนจะเข้าไปเปลี่ยนยีนของเรา ซึ่งนักไวรัสวิทยาทั่วโลกยืนยันว่า ไวรัสอดิโนไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของเราได้
1
ถึงเวลาของ mRNA ปี 2020
และในปี 2020 เทคนิคใหม่เอี่ยมอย่าง mRNA ได้นำมาพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งยังไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนใดๆ จริงๆ แล้วมีการพยายามในการใช้ mRNA ในการรักษาโรคมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990
mRNA เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนขึ้นตามรหัสคำสั่งนั้นๆ
ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบวิธีที่จะสังเคราะห์ mRNA ของไวรัสให้พุ่งตรงเข้ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผ่านทดลองและล้มเหลวถึง 10 ปี ถึงอย่างนั้นผลการทดลองครั้งนั้นก็ไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่กลับเข้าตานักวิทยาศาสตร์สองคน คนหนึ่งคือเดอร์ริก รอสซี ผู้ที่ร่วมก่อตั้ง Moderna และอีกคนคืออูเกอร์ ซาฮิน ซีอีโอจาก BioNTech ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับ Pfizer ซึ่งเป็นสองบริษัทที่พัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันโควิด-19 สำเร็จ
1
การผลิตวัคซีนแต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันไป วัคซีนแบบดั้งเดิมอย่างการใช้เชื้ออ่อนแรงและเชื้อตายมีวิธีการผลิตที่ใช้แรงงานและเวลามาก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวัคซีนที่พัฒนาในช่วงหลังมาอย่างวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA ในขณะเดียวกันวัคซีนที่เพิ่งพัฒนาขึ้นช่วงหลังยังใหม่มาก จึงอาจมีข้อจำกัดตรงที่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบน้อยว่าวัคซีนแบบดั้งเดิม
อ้างอิง:
โฆษณา