7 ส.ค. 2021 เวลา 07:08 • การศึกษา
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา..
สวัสดีครับคุณผู้อ่านที่รักและเคารพทุกท่าน..โมหะ โทสะ เป็นอารมณ์ที่น่ากลัวซึ่งหากผู้ใดมีติดตัวไว้จะเกิดโทษมหันต์ พระท่านถึงบอกว่า จงใช้ชีวิตอย่างมีสติ และดำเนินชีวิตในปัจจุบันด้วยความไม่ประมาท...
จะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ ข่าวนักแสดงหนุ่มทำร้ายแฟนสาวจนถึงแก่ความตายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืน
ผมติดตามอ่านจากเพจข่าว เนื้อข่าวสั้น ๆ นักแสดงหนุ่มให้การ ซึ่งปรากฎตามข่าวว่า มีการแย่งมีดแล้วเกิดการชุลมุน ซึ่งระหว่างแย่งมีดก็เกิดบาดแผลที่ตัวผู้ตาย ถึง 20 แผล เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
ขอบคุณภาพจาก มติชนออนไลน์
ผมจะชวนท่านผู้อ่าน มาหาความรู้ทางกฎหมายตามข้อเท็จจริงนี้กัน ส่วนในเรื่องของคดีความปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องดำเนินต่อไป
มีสุภาษิตกฎหมายที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่า " กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา " ในกฎหมายอาญาถือเป็นหลักสำคัญ ในการพิจารณาการกระทำ ของ ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ว่ากระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
กรรม ก็คือ การกระทำ เช่น มีเจตนากระทำให้ตายหรือไม่ หรือแค่มีเจตนาร้ายหากผู้กระทำมีเจตนาฆ่าให้ตาย ก็ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
แต่หากเพียงมีเจตนาทำร้าย แม้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามมาตรา 290 ซึ่งอัตราโทษก็จะเบากว่า มาตรา 288
เจตนาฆ่า หรือเจตนา ทำร้าย การค้นหาเจตนา เราไม่สามารถหยั่งรู้ว่า จิตใจของผู้กระทำว่าคิดอะไรอยู่ในขณะกระทำ กฎหมายจึง ใช้หลักที่ว่า " การกระทำที่แสดงออกมา เป็นตัวชี้จิตใจหรือความคิดของผู้กระทำ " นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า..
"กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา "
มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นมากมายนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และปรับเข้ากับข้อกฎหมาย
โดยศาลฎีกาได้วางแนวในการพิจารณาแยกเจตนา ฆ่า และเจตนาทำร้าย ไว้ดังนี้
1.พิจารณาจาก " อาวุธ " ที่ใช้กระทำผิด
2. พิจารณาจาก " อวัยวะ " ที่ถูกกระทำ
3. พิจารณาจาก " ลักษณะบาดแผล " ที่ถูกกระทำ
4. พิจารณาจากพฤติการณ์อื่น ๆ
ฉะนั้น เวลาเราเจอข้อเท็จจริง ประเภทนี้ ท่านผู้อ่านก็จะสามารถแยกเจตนาเบื้องต้นได้ว่า เออ..แบบนี้เป็นเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้าย ..แต่แค่เบื้องต้นนะครับ สุดท้าย ก็ต้องมีข้อเท็จจริงแบบละเอียดในชั้นศาลที่ต้องพิจารณาอีก ...
ที่นี้ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ ว่า คำวินิจฉัยศาลฎีกา ใช้หลัก ที่ว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มาเป็นแนวในการพิจารณาวาา เป็นเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้าย..
ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายห่างเพียง 3 เมตร ถูกทีเอว ถือว่ามีเจตนาฆ่า (ฎีกา 5664/2534)
ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายห่างเพียง 1 วา (2 เมตร) ถูกที่ขากระดูกแตก ซึ่งถ้ามีเจตนาฆ่าจริงแล้วสามารถเลือกยิงอวัยวะสำคัญได้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาฆ่า ( ฎีกาที่ 1006/2501)
ใช้มีด ยาวฟันผู้ตายถึง 3แห่งและบริเวณอวัยวะที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ( 777/2505 )
ดูจากตัวอย่างคดี ก็ที่จะพอให้เรา ๆ ท่าน ๆ ที่เคารพรักทั้งหลายได้พอเข้าใจในสุภาษิตดังกล่าวได้พอสมควรนะครับ
มาเรื่องอมยิ้มของเรามั้งดีก่า...เมื่อสองวันเห็นลูกชายเปิดอัลบั้มเลือกรูปตอนแบเบาะ มาดู ..ผมก็เลยถาม ..
ผม : ต้นว่าน เลือกรูปเอาไปทำอะไรนะ
ต้นว่าน : คุณครูบอกว่า ..ให้เอารูปถ่ายไม่เกิน 3 เดือนไปให้จะทำประวัติ ม.๒
พ่อมาช่วยหนูดูหน่อย ว่า รูปไหนที่หนูอายุไม่เกิน 3 เดือน.. คุณครูน่าจะเอารูปปัจจุบัน เนอะพ่อ ....
ผม : ...!!!!
1
😊😊😊 บุญรักษาทุก ๆ ท่านครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา