7 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • การเมือง
กระจุกอำนาจ
วิกฤติที่ยากเย็น ไม่มีใครสู้ได้คนเดียวตามลำพัง ต้องใช้สารพัดสมอง สารพัดเรี่ยวแรงมาร่วมกันต่อสู้กับวิกฤติ ย่อมดีกว่าการรวบอำนาจการตัดสินใจ
บทความโดย ดร.บวร ปภัสราทร | คอลัมน์ "ก้าวไกล วิสัยทัศน์"
กระจุกอำนาจ
ยิ่งวิกฤติขยายตัวเป็นวงกว้าง ยิ่งต้องกระจายกันไปแก้ไข ซึ่งจะแก้ไขได้ต้องกระจายไปทั้งงาน ทั้งทรัพยากร ทั้งการตัดสินใจ การรวบอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรเอาไว้กับใครสักคนในขณะที่เผชิญกับวิกฤติวงกว้างไม่ต่างไปจากใช้ตาคู่เดียวมองไปทุกจุดบนท้องฟ้าเพื่อหาดาวตก มองเห็นได้เพียงไม่กี่ดวง ทั้งๆ ที่มีเป็นร้อย รูปแบบการกระจายหน้าที่การงานไปรับมือวิกฤติพอจะบอกให้รู้ได้ล่วงหน้าว่า การรับมือกับวิกฤตินั้นจะจบลงด้วยความเสียหายมากน้อยแค่ไหน
ใครก็ตามที่เคยเล่าเรียนเรื่องการจัดการสมัยใหม่ รู้ดีกันทุกคนว่าผู้บริหารที่ดีต้องกระจายหน้าที่การงานไปให้คนรอบตัวช่วยกันคิด ช่วยกันทำตามหนทางที่คนเหล่านั้นคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ที่พบเจอ วิกฤติในวงกว้างแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการเดียวกันในทุกหนทุกแห่ง
วิกฤติในบ้านเมืองหนึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการที่ใช้ได้กับอีกบ้านเมืองหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องการหูตาและสมองมากมายมาใช้ในแก้ไขในแต่ละพื้นที่ ยิ่งเสริมอำนาจ เสริมทรัพยากรให้กับคนพื้นที่มากเท่าใด ภาพวิกฤติในแต่ละพื้นที่ย่อมชัดเจนยิ่งขึ้น หมายถึงโอกาสในการจัดการกับต้นตอของวิกฤติย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าให้นายใหญ่มาดูตั้งแต่มณฑลจนกระทั่งหมู่บ้าน ก็เหมือนกับดูกระดานหมากรุกที่นายใหญ่เห็นแค่ว่ายังมีเรือมีขุนอยู่เท่านั้น นายใหญ่จะไม่เห็นว่าตอนนี้เบี้ยทรุดโทรมเต็มทีแล้ว
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ พบว่า ยิ่งผู้นำเจอวิกฤติแล้วรู้สึกว่าตนเองมั่นคงน้อยลงแค่ไหน การกระจุกอำนาจจะเกิดมากขึ้นแค่นั้น ไม่ใช่อย่างที่เคยคิดกันว่าผู้บริหารบ้าอำนาจชอบกระจุกอำนาจ ในทางตรงข้ามผู้บริหารที่หวาดกลัวว่าวิกฤติจะทำให้อำนาจของตนเองลดน้อยถอยลง นี่แหละที่ชอบเลือกการกระจุกอำนาจ เพื่อลงไปทำงานจุกจิกแทบทุกเรื่อง สนองความรู้สึกมั่นคงในอำนาจของตนเอง ทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยไปทุกเรื่องจนเรื่องใหญ่ขาดหายไปหมด กลายเป็นการขี่หลังลูกน้องไล่ดับไฟไปเรื่อยๆ แทนที่จะให้ลูกน้องต่างคนต่างวิ่งไปดับไฟ
2
ความรู้สึกว่าตนเองไม่มั่นคงในยามวิกฤตินั้น มาจากสองสาเหตุสำคัญ ความกลัวต่อความล้มเหลวและความไม่ไว้ในทีมงานของตน วิกฤติวงกว้างไม่ง่ายที่จะแก้ไข ยิ่งเป็นวิกฤติใหม่ที่ไม่เคยพบเจอ ใครๆ ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็พลาดได้ ใครที่ยอมรับความผิดพลาดได้ ขอโทษเป็น ก็บริหารวิกฤติไปได้ตามเหตุตามผล แพ้บ้างชนะบ้างเป็นธรรมดา
แต่คนที่ชอบชนะทุกเกมพอเจอวิกฤติแบบนี้เข้าย่อมกลัวว่าครั้งนี้ฉันจะแพ้ ยิ่งเคยชนะมาด้วยวิธีการที่ตุกติก มีคนคอยเช็คบิลอยู่เยอะแยะ ยิ่งต้องการปิดประตูแพ้ เลยต้องลงมาเล่นเองทุกขั้นตอน การกระจุกอำนาจท่ามกลางวิกฤติจึงเกิดขึ้น เพื่อใช้ยกเป็นเหตุบอกว่าฉันสั่งถูกแล้วแต่ลูกน้องทำผิดต่างหาก ถ้าไม่กลัวจะตกเก้าอี้ ถ้าไม่กลัวเสียหน้า การกระจุกอำนาจก็จะไม่เกิดขึ้น
2
เมื่อสรณะคือความไม่ไว้ในในทีมงานของตน ย่อมตามมาด้วยการสำคัญผิดในบทบาทหน้าที่ของตนเอง การมอบหมายหน้าที่การงานกลายเป็นการสั่งการ คือสั่งให้ไปทำนั่นทำนี่ ตามวิธีที่สั่ง ทำไปแล้วตรงไหนมีอะไรต้องตัดสินใจก็ต้องกลับมาถามใหม่ แทนที่จะถ่ายทอดพันธกิจส่วนนั้นให้กับคนที่มีความรู้ มีความสามารถ และมีทัศนคติที่เหมาะสมกับพันธกิจนั้นไปทำ พร้อมยกอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรในพันธกิจส่วนนั้นให้ไปด้วย
การมอบหมายหน้าที่การงานที่มีประสิทธิผลจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้บริหารสามารถส่งมอบความรู้ ประสบการณ์ และค่านิยมในการทำงานที่ตนเองมีอยู่ พร้อมกับเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม บอกว่าเอาพุตเอาท์คำคืออะไร ต้องได้เมื่อไรไปให้กับผู้ที่รับมอบหน้าที่นั้นไปทำ
วันใดที่มองเห็นทีมงานทำงานแล้วเหมือนกับกำลังเห็นตนเองกำลังทำงานนั้น วันใดที่มองออกว่าที่เขากำลังทำอยู่นั้นอยู่ตรงส่วนไหนขององค์ประกอบของความสำเร็จที่ต้องการ วันใดที่ไม่คิดเรื่องเสียหน้า วันนั้นอำนาจจะกระจายออกไปเอง.
โฆษณา