8 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • กีฬา
มังงะลิมปิก : 7 มังงะกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาโอลิมปิก
"มังงะ" ถือสิ่งที่อยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญต่อชาวอาทิตย์อุทัย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือป๊อบคัลเจอร์ของพวกเขา
นอกจากนี้มันเป็นเหมือนซอฟท์พาวเวอร์ ที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรม โดยเฉพาะเหล่าคนต่างชาติ และยิ่งเห็นชัดมากขึ้นในโอลิมปิก 2020 ที่เหล่านักกีฬาต่างชาติพากันแสดงสัญลักษณ์จาก มังงะเรื่องดัง
แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น มังงะ ไม่ได้แค่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา โดยเฉพาะมังงะกีฬา ที่ออกมาวางตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ในปี 1964
และนี่คือมังงะกีฬา ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาญี่ปุ่นไปไกลถึงระดับโอลิมปิก ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
2
[ Attack No.1 | จิคาโกะ อุราโนะ (วอลเลย์บอล) ]
นี่คือมังงะที่มีต้นกำเนิดมาจากโอลิมปิก 1964 ที่แท้จริง เมื่อผลงานการคว้าเหรีญทองของ "แม่มดแห่งตะวันออก" ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจให้จิคาโกะ อุราโนะ วาดมังงะวอลเลย์บอลที่ชื่อว่า Attack No.1 ในปี 1968
มันคือเรื่องราวของ โคซุเอะ อายุฮาระ หญิงสาวที่รักในการเล่นเบสบอลมาก เธอมีความฝันที่จะก้าวขึ้นมาเป็น "เอซ" หรือมือหนึ่งของทีมชาติญี่ปุ่น และไปเล่นในโอลิมปิก 1972 ที่มิวนิก ทำให้เธอต้องพยายามฝึกซ้อมอย่างหนักไปถึงจุดนั้น
"ไม่ว่าจะต้องซ้อมหนักแค่ไหน ฉันก็มุ่งเป้าที่จะไปแข่งโอลิมปิกที่มิวนิก และฉันจะเล่นวอลเลย์บอลเพื่อสิ่งนั้น" โคซุเอะประกาศกร้าว
มังงะเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น จนถูกนำไปทำเป็นอนิเมะ รวมไปถึงภาพยนตร์ ในขณะเดียวกัน ประโยคข้างต้นก็โดนใจ โมโคโตะ โอบายาชิ นักวอลเลย์บอลสาวทีมชาติญี่ปุ่นอย่างจัง และกลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เธอได้ผ่านเข้าไปเล่นในโอลิมปิกถึง 3 สมัยในปี 1988, 1992, 1996
"ประโยคที่เธอพูดสิ่งที่เธอปรารถนาทำให้ฉันตระหนักได้ว่านี่คือสิ่งที่ฉันรอมาตลอด มันทำให้ฉันมุ่งมั่นสำหรับโอลิมปิก ประโยคนั้นเหมือนเป็นคติประจำใจ" โอบายาชิ กล่าวกับ NHK
โดยเฉพาะในแอตแลนตา 1996 เธอยังมีโอกาสได้แสดงความเป็นแฟนตัวยงของมังงะเรื่องนี้ ด้วยการมาพร้อมกับผมทรงหางม้า ซึ่งเป็นทรงเดียวกับ โคซุเอะ ตัวเอกของเรื่อง
"ฉันกลายเป็น โคซุเอะ เป็นครั้งแรกตอนที่ฉันทำผมทรงหางม้าสูงกว่าใครในทีม มันน่าจะเป็นหางม้าที่สูงที่สุดในประเทศ"
[ Yawara! | นาโอกิ อุราซาวะ (ยูโด) ]
1
ผลงานจากปลายปากกาของ นาโอกิ อุราซาวะ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังเจ้าของผลงานอย่าง 20th Century Boys และ Monsters ที่ตีพิมพ์ในปี 1986 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ยาวาระ อิโนะคุมะ นักยูโดสาวอัจฉริยะ ที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างคนธรรมดา
อย่างไรก็ดี เธอต้องเล่นยูโดอย่างจำใจ เพราะว่า จิโงโร อิโนะคุมะ ปู่ของเธอคือแชมป์ยูโดญี่ปุ่น 5 สมัยซ้อน ที่หมายมั่นปั้นมือจะฝึกหลานสาวขึ้นไปสู่แชมป์ระดับประเทศ และคว้าเหรียญโอลิมปิก
โดยมังงะเรื่องนี้อาจารย์อุราซาวะ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก คาโอริ ยามางุจิ ที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ แถมในโอลิมปิก 1988 ที่ยูโดเป็นกีฬาสาธิต เธอยังไปไกลด้วยการคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันที่โซล
ในขณะเดียวกัน Yawara! ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักยูโด ในรุ่นต่อมา รวมไปถึง เรียวโกะ ทามูระ นักยูโดสาวดาวรุ่งพุ่งแรงของญี่ปุ่น ที่ได้ลงแข่งโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลนาด้วยวัยเพียง 16 ปี แถมยังสามารถคว้าเหรียญเงินมาได้ ก่อนที่หลังจากนั้นจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้อีก 2 ครั้งในปี 2000 และ 2004
เธอบอกว่าเธอรู้จักกับมังงะเรื่องนี้สมัยประถม และชื่นชอบคาแร็คเตอร์ตัวเอก นอกจากนี้ การที่เธอมัดผมลงแข่งยูโด ที่โอลิมปิก 1992 ซึ่งเหมือนกับตัวเอกในเรื่อง ยังทำให้สื่อพากันเรียกเธอว่า "ยาวาระจัง" และกลายเป็นชื่อเล่นติดตัวเธอมานับตั้งแต่ตอนนั้น
1
[ กัปตันสึบาสะ | โยอิจิ ทาคาฮาชิ (ฟุตบอล) ]
2
หากเอ่ยถึงมังงะฟุตบอล คงไม่มีเรื่องไหนจะสร้างความสั่นสะเทือนไปมากกว่ากัปตันสึบาสะ ของ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมวงการฟุตบอลญี่ปุ่นจากหน้ามือเป็นหลังมือ
กัปตันสึบาสะ เล่าเรื่องราวของ สึบาสะ โอโซระ ยอดแข้งที่มีความฝันที่จะพาทีมชาติญี่ปุ่นขึ้นไปคว้าแชมป์โลก อย่างไรก็ดี เส้นทางของพวกเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะคำว่า "ระดับโลก" ที่พวกเขาต้องก้าวข้ามให้ได้
กัปตันสึบาสะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1981 ในสมัยที่ฟุตบอลยังเป็นเพียงแค่กีฬานอกสายตาสำหรับคนญี่ปุ่น แต่มันก็ช่วยปลุกกระแสฟุตบอลบูม จนทำให้เด็กหันมาเล่นฟุตบอลมากขึ้น เช่นกับกับ ฮิเดโตชิ นาคาตะ อดีตนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ที่เคยผ่านเวทีโอลิมปิก 2 สมัย และฟุตบอลโลกอีก 3 สมัย
"ในญี่ปุ่นเมื่อปี 20 หรือ 30 ปีที่แล้วเบสบอลยิ่งใหญ่มาก ส่วนฟุตบอลเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นผมจึงไม่มีฮีโร หรือทีมในฝันอะไร" นาคาตะกล่าวกับ FIFA.com
"แต่มันมีการ์ตูนเรื่องนึงที่ชื่อว่ากัปตันสึบาสะ ตอนที่ผมอ่านมัน ผมรู้สึกชอบฟุตบอลมากๆ ผมเคยคิดว่าจะเล่นเบสบอลหรือฟุตบอลดี และสุดท้ายผมก็เลือกฟุตบอล"
และไม่ใช่แค่นักเตะญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อนักเตะระดับโลกหลายคนอย่าง อันเดรียส อิเนียสต้า, เฟร์นานโด ตอร์เรส, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ หรือแม้แต่ ซีเนดีน ซีดาน ก็เป็นแฟนของการ์ตูนเรื่องนี้ ที่เรียกได้ว่านี่คือซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงพลังจริงๆ
[ Prince of Tennis | ทาเคชิ โคโนมิ (เทนนิส) ]
"เทนนิสซูเปอร์ไซย่า" อาจจะเป็นชื่อเล่นอย่างไม่เป็นทางการของ The Prince Of Tennis แต่มันก็การันตีได้ถึงจุดเด่นของมังงะเรื่องนี้ เมื่อผลงานของ ทาเคชิ โคโนมิ ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1999 ล้วนเต็มไปด้วยการเล่นเทนนิสแบบสุดมัน
มันคือเรื่องราวของ เรียวมะ เอจิเซ็น นักเทนนิสอัจฉริยะ ที่ย้ายมาอยู่โรงเรียนเซชุน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านเทนนิส ก่อนจะไล่ตบรุ่นพี่จนยึดมือหนึ่งของโรงมาครองได้สำเร็จ เขามีเป้าหมายในการคว้าแชมป์ระดับมัธยมต้น ที่ทำให้เขาต้องพัฒนาตัวเอง และเรียนรู้เทคนิคที่ซับซ้อน ก่อนที่มันจะทำให้เขาได้รู้ว่ากีฬาชนิดนี้มีความหมายต่อตัวเขาอย่างไร
แน่นอนว่าจุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่ความเวอร์วัง แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็กญี่ปุ่นหลายคน ไม่เว้นแม้แต่ เคอิ นิชิโคริ นักเทนนิสชายหมายเลข 1 ของญี่ปุ่น เจ้าของเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2016
เขายอมรับว่า "Air K" ท่าไม้ตายของเขาที่เป็นการตบลูกโฟร์แฮนด์หน้าเน็ต นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Prince Of Tennis
ในขณะที่ นาโอมิ โอซากะ ก็เป็นแฟนของการ์ตูนเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะ เรียวมะ ตัวเอกของเรื่องที่เธอถึงขั้นเคยทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "My Husband" (ลิงค์ https://twitter.com/Naomi_Osaka_/status/1140176529491709952)
[ ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน | ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ (วอลเลย์บอล) ]
มังงะวอลเลย์บอลยอดฮิต ของ ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ ที่แม้จะเพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2012 แต่ก็สามารถทำยอดขายเกินกว่า 50 ล้านเล่มไปเป็นที่เรียบร้อย มันคือเรื่องราวของ โชโย ฮินาตะ นักวอลเลย์บอลร่างเล็ก ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ นั่นคือการก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของวงการนี้
ซึ่งนอกจะทำยอดขายได้อย่างถล่มทลายแล้ว มังงะเรื่องนี้ยังทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนนักวอลเลย์บอลชายสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่เริ่มตีพิมพ์ และที่สำคัญมันยังช่วยปลุกกระแสวอลเลย์บอลชายให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
แต่ที่สำคัญที่สุดอิทธิพลของไฮคิว ได้ส่งผลไปถึงแม้กระทั่งนักกีฬาอาชีพ โดยเฉพาะ อาคิฮิโร ยามาอุจิ มิดเดิลบล็อคเดอร์ (ตัวบล็อคกลาง) ทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิก 2020 เจ้าของส่วนสูง 2.03 เมตร ก็เป็นแฟนตัวยของการ์ตูนเรื่องนี้
"บางครั้ง ผมก็อยากจะฝึกทันทีหลังจากอ่านมังงะจบ มันอาจจะฟังดูแปลกนิดหน่อยที่มันทำให้รู้สึกตื่นเต้น มันทำให้หัวใจคนสั่นระรัว" ยามาอุจิกล่าวกับ NHK
[ Ganba! Fly High | ชินจิ โมริซุเอะ และ ฮิโรยูกิ คิคุตะ (ยิมนาสติก) ]
แม้อาจจะไม่คุ้นหูผู้อ่านชาวไทยสำหรับ Ganba! Fly High มังงะยิมนาสติก ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของ ชุน ฟูจิมากิ นักยิมนาสติก มีเป้าหมายที่จะลงแข่งในโอลิมปิก 2000 แต่มันก็เป็นมังงะที่มีความพิเศษต่อวงการยิมนาสติกญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
เพราะนอกจาก ชินจิ โมริซุเอะ ผู้แต่งเรื่องนี้ (วาดภาพโดย ฮิโรยูกิ คิคุตะ) จะเป็นอดีตนักกีฬายิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิกในปี 1984 แล้ว มันยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับ โคเฮ อุจิมูระ นักกีฬายิมนาสติกรุ่นหลัง
เขาคือนักยิมนาสติกคนแรกในรอบ 44 ปีที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในรุ่นอุปกรณ์รวมได้ 2 ครั้งติดต่อกัน หลังทำได้ในลอนดอน 2012 และ ริโอ 2016 แถมเขายังคว้าอีกหนึ่งเหรียญทองในประเภททีมในโอลิมปิกที่บราซิล รวมไปถึงเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกอีก 10 รายการ
อุจิมูระ บอกว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเขามาจากมังงะ Ganba! Fly High ที่เป็นเหมือนแรงกระตุ้นสำคัญ จนทำให้เขาก้าวขึ้นมายืนอยู่จุดสูงสุดของโพเดียม
"ตัวเอกในเรื่องอัจฉริยะมาก เขาสามารถทำท่าที่ไม่น่าจะทำได้ มันสอนให้ผมรู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้" อุจิมูระให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเทศ
[ Ganbare Genki | ยู โคยามะ (มวย) ]
ปิดท้ายกันที่มังงะชกมวยจากยุค 70s ของ ยู โคยามะ ที่วาดเรื่อง Azumi สวยประหาร และ Sprinter กับเรื่อง Ganbare Genki หรือชื่อไทยว่า เก็งกิ ยอดนักสู้
มังงะเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตของ เก็งกิ โฮริงุจิ ลูกชายของนักมวยพเนจร ที่ต้องเสียแม่ไปตั้งแต่เกิด และต้องติดสอยห้อยตามพ่อไปชกมวยตั้งแต่เด็ก จนซึมซับและอยากจะเอาอย่างพ่อ
แต่น่าเศร้าที่พ่อของเขาดันมาเสียชีวิตกระทันหัน ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้า และต้องไปอาศัยอยู่กับตายาย ทว่าเขาก็ไม่เคยหยุดความฝันที่จะเดินตามรอยพ่อ ทำให้หลังจบมัธยมต้นเขาได้ตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าสู่โตเกียว เพื่อชกมวยอย่างจริงจัง และมีเป้าหมายในการคว้าแชมป์โลก
Ganbare Genki ได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีสำหรับคนญี่ปุ่นในยุคนั้น โดยมันสามารุคว้ารางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยม หรือ Shogakukan Manga ในปี 1976 และถูกทำเป็นอนิเมะออกฉายในปี 1980-1981
แต่ที่ไม่น่าเชื่อการ์ตูนเรื่องนี้ ได้ส่งอิทธิพลมายังเด็กที่เกิดในปี 2000 อย่าง เซนะ อิริเอะ เจ้าของตำแหน่งนักมวยหญิงญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิก
อิริเอะ บอกว่าเธออ่านการ์ตูนเรื่องนี้เป็นครั้งแรกตอนอยู่ ป.2 และเริ่มตกหลุมรักในกีฬาหมัดมวยนับตั้งแต่ตอนนั้น จนทำให้เธอเริ่มต้นฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้อย่างจริงจัง
"ยิ่งฝึกมากยิ่งขึ้นเท่าไร การชกของฉันก็ดีขึ้น สิ่งนี้มันทำให้ฉันสนุกมาก" อิริเอะ ย้อนความหลังกับ Asahi
นอกจากนี้ ก่อนแข่งโอลิมปิก เธอยังได้รับกำลังใจชั้นเยี่ยม เมื่อ ยู โคยามะ คนวาดการ์ตูนเรื่องนี้ได้มอบภาพวาดเหมือนเธอเป็นของขวัญ ก่อนที่เธอจะนำมาโพสต์หลังคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ
"อาจารย์ยู โคยามะ คนวาด Ganbare Genki ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฉันเริ่มชกมวยวาดให้ ฉันดีใจจนไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้เลยค่ะ" เธอกล่าวในทวิตเตอร์
"นี่คือสิ่งที่ทำให้ฉันมีความสุขมากเช่นกัน ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ สำหรับแรงบันดาลใจ" อิริเอะกล่าวกับ Yomiuri Shinbun
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา