9 ส.ค. 2021 เวลา 02:02 • กีฬา
ปารีส เกมส์ 2024 : โอลิมปิกที่ค่าจัดสุดถูกและเป็นมิตรกับธรรมชาติกว่าครั้งใด ๆ ? | Main Stand
1
โอลิมปิก เกมส์ 2020 จะสิ้นสุดการแข่งขันลงในวันนี้ ก่อนคบเพลิงแห่งเกียรติยศจะถูกส่งไม้ต่อให้กับเจ้าภาพประเทศถัดไป นั่นคือ กรุงปารีส เมืองหลวงแห่งฝรั่งเศส
แม้มหกรรมกีฬาในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวใจแห่งยุโรป จะเริ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่การพูดถึงโอลิมปิก เกมส์ ครั้งต่อไป กลับเริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันนี้ เพราะประเทศฝรั่งเศสยืนยันว่า พวกเขาได้เตรียมสนามแข่งขันไว้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แถมยังจะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
Main Stand ขอพาไปขุดคุ้ยเรื่องราวของ ปารีส 2024 ว่าเหตุใดโอลิมปิก เกมส์ ครั้งหน้า จึงเป็นโอลิมปิกที่ผู้คนทั่วโลกจับตาและคาดหวังมากที่สุดครั้งหนึ่ง
เส้นทางสู่เจ้าภาพโอลิมปิก
เส้นทางสู่การรับบทบาทเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 ของประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2015 เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประกาศชื่อ 5 เมืองสุดท้ายที่มีโอกาสคว้าสิทธิตรงนี้ไปครอง ได้แก่ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี, นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน, นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา, กรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่แต่ละชาติจะถูกรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เพราะต้องผ่านการคัดเลือกถึง 3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นแรก การนำเสนอวิสัยทัศน์, คอนเซ็ปต์ของงาน และกลยุทธ์ต่าง ๆ ขั้นที่สองคือ ตรวจสอบความพร้อมด้านธรรมาภิบาล, กฎหมาย และงบประมาณการสร้างสถานที่จัดการแข่งขัน ส่วนขั้นที่สาม ได้แก่ ประสบการณ์, มรดกจากสนามแข่งขัน และการส่งมอบการแข่งขัน
แต่ยังไม่ทันที่การคัดเลือก 3 ขั้นตอนจะเสร็จสิ้นดี ฮัมบูร์ก และ โรม ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 ส่งผลให้เหลือเพียง ปารีส และ ลอสแอนเจลิส เป็นผู้ท้าชิงในการครองสิทธิ์เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
1
เมื่อตรวจสอบความพร้อมของทั้งสองชาติ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล มองเห็นว่า ทั้ง 2 เมืองต่างมีความพร้อมในการรับบทบาทเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ จึงตัดสินใจให้เมืองที่ความพร้อมมากกว่าเป็นเจ้าภาพในปี 2024 ส่วนอีกเมืองที่มีความพร้อมน้อยกว่า จะทำหน้าที่นี้ในปี 2028
หากพิจารณาความพร้อมในแต่ละด้าน สื่อทั่วโลกต่างมองตรงกันว่า กรุงปารีส มีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 มากกว่า เหตุผลหลักข้อหนึ่งมาจาก ความทุ่มเทของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง จึงมีความสามารถในการบริหารงบประมาณของประเทศได้เป็นอย่างดี
1
ตรงกันข้าม ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงวุ่นวายกับนโยบายกีดกันผู้อพยพ ที่แม้ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะยืนยันว่านโยบายด้านนี้ไม่มีผลต่อการคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก และทรัมป์ก็ยืนยันว่าเขาสนับสนุนนครลอสแอนเจลิสเต็มที่ แต่ความอื้อฉาวของผู้นำแห่งสหรัฐฯ ส่งผลเสียต่อสายตาชาวโลกในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติไม่น้อย
เดือนกุมภาพันธ์ 2017 ตัวแทนจาก 50 เมืองใหญ่ทั่วโลก (นำโดย นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา) ลงนามสนับสนุนให้กรุงปารีสทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 โดยกล่าวว่า พวกเขามองเห็นปัญหาโลกร้อนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลัง โดยกรุงปารีสถือเป็นตัวตั้งตัวตีต่อสู้กับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อเดือนธันวาคม 2015
1
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า นานาชาติต่างใช้การคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 เพื่อเล่นเกมการเมืองกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทั้งสร้างความไม่เท่าเทียมทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนปัญหาโลกร้อน ทรัมป์พูดเสมอว่าเป็น ”เรื่องไร้สาระ” จนปะทะคารมกับ เกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักอนุรักษ์มาแล้ว
เมื่อทั่วโลกพร้อมใจสนับสนุนขนาดนี้ ผลลัพธ์จึงไม่มีพลิกล็อก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประกาศให้ กรุงปารีส เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ 2024 ส่วนนครลอสแอนเจลิสที่เหมือนจะรู้ผลล่วงหน้า จึงถอนตัวจากการบิดครั้งนี้ เพื่อคว้าโควต้าเจ้าภาพในปี 2028 แทน
“ปารีส 2024 ภูมิใจที่จะได้ร่วมงานกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและเพื่อนของเราในลอสแอนเจลิส ที่สามารถหาทางออกที่ดีแก่ทั้งสองเมืองในเรื่องการจัดการแข่งขัน และกระแสของโอลิมปิกในปี 2024 และ 2028” โทนี เอสตังเก้ อดีตนักกีฬาเรือแคนูเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย และรองประธานคณะกรรมการปารีส 2024 กล่าว หลังความสำเร็จครั้งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส
สถาปัตยกรรม สู่ สนามกีฬา
แม้กรุงปารีสจะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 39 ล้านคนภายในหนึ่งปีได้ แต่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นอะไรที่แตกต่างออกไป เห็นได้ชัดจากโตเกียว เกมส์ 2020 ที่มีการทุ่มเม็ดเงิน 4 แสนล้านเยน หรือราว 1.2 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนากรุงโตเกียว ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ แต่รวมถึงการขยายสนามบิน ทั้ง นาริตะ และ ฮาเนดะ รวมถึงปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ
หากมองงบประมาณที่ประเทศญี่ปุ่นทุ่มเทให้โตเกียวเกมส์ แล้วหันกลับมามองงบประมาณของปารีสเกมส์ เราอาจจะมองเห็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสถูกเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกชาติต่อไป เพราะกระทรวงกีฬาฝรั่งเศสประกาศว่า พวกเขาพร้อมทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนากรุงปารีสไปพร้อมกับโอลิมปิก ด้วยเงิน 35 ล้านยูโร หรือราว 1,300 ล้านบาท
แต่ถึงจะใช้งบประมาณน้อยกว่าญี่ปุ่นนับแสนล้านบาท (จากการวางแผนในตอนแรก) แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส เคยแสดงความกังวลไว้ว่า โอลิมปิก เกมส์ 2024 อาจใช้งบประมาณที่มากเกินจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร หากนักการเมืองจากพรรคสังคมนิยมจะกังวลเช่นนั้น เพราะบทเรียนจากโอลิมปิกครั้งก่อนหน้าที่มีการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างสนามแข่งขัน, หมู่บ้านนักกีฬา และการขนส่งต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุดสถานที่เหล่านั้นกลับถูกทิ้งร้างและไม่เคยตอบแทนเงินที่เสียไปอย่างคุ้มค่าได้เลย
ชมแกลเลอรีภาพถ่าย สถานที่จากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ถูกทิ้งร้างได้ที่นี่
การสร้างสรรค์มหกรรมกีฬาระดับโลกให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมฝรั่งเศส ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการเงิน จึงเป็นโจทย์สำคัญของปารีส 2024 ซึ่งขีดเส้นใต้ไว้ว่าต้องไม่เกิน 7,500 ล้านยูโร หรือ เกือบ 3 แสนล้านบาท โดยทุกเม็ดเงินที่ลงไป จะต้องกลับมาตอบแทนเมืองหลวงแห่งผรั่งเศสอย่างคุ้มค่า
1
ฝ่ายจัดงานจึงประกาศชัดเจนว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของสนามแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ ครั้งหน้า จะเป็นสถานที่ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือ ปรับปรุงเพื่อใช้งานในโอลิมปิกเป็นการชั่วคราว มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่
สนามกีฬาที่ใช้ในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันปารีส 2024 จึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เหมือนโตเกียวเกมส์ 2020 ที่ทุ่มงบประมาณสูงกว่า 1.5 แสนล้านเยน เพื่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติญี่ปุ่น แต่เลือกใช้ สตาด เดอ ฟรองซ์ ที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 1998
สตาด เดอ ฟรองซ์ ถือเป็นหัวใจของโซนสนามแข่งขันหลักในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ที่เรียกว่า “Grand Paris Zone” โดยจะไม่มีการสร้างสนามแห่งใหม่ในโซนนี้ แต่จะมีการปรับปรุงสถานที่ซึ่งมีอยู่แล้วให้เป็นสนามแข่งขัน เช่น การใช้พาวิลเลียนในเขตคอมมูน ลา บูร์เก้ เป็นสนามแข่งขันกีฬาแบดมินตัน, วอลเลย์บอล และยิงปืน
นอกเหนือจากสนามแข่งขันในเขต Grand Paris Zone แล้ว ยังมีสนามแข่งขันในอีกหลายประเภทกีฬา ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับโอลิมปิก เกมส์ 2024 เพียงรายการเดียว โดยทั้งหมดล้วนดัดแปลงจากสถานที่สำคัญซึ่งมีอยู่แล้วในกรุงปารีส
1
ไม่ว่าจะเป็น สนามวอลเลย์บอลชายหาดในสวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส, ดัดแปลงแม่น้ำแซนบริเวณหอไอเฟลเป็นสระว่ายน้ำ เพื่อรองรับการแข่งขันไตรกีฬาและเซิร์ฟ, สนามแข่งขันกีฬายิงธนูในออแตลเดแซ็งวาลีด อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์การทหาร และสุสานของนโปเลียน โบนาปาร์ต รวมถึงจัดการแข่งขันฟันดาบและเทควันโดในกร็องปาแล ศูนย์ประชุมและนิทรรศการกลางกรุงปารีส
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานที่ในกรุงปารีส ที่ถูกดัดแปลงมาใช้งานในโอลิมปิกเป็นการชั่วคราว ซึ่งยังมีสถานที่อื่นนอกกรุงปารีสที่ถูกนำมาใช้ในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ พระราชวังแวร์ซาย แหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ที่จะถูกดัดแปลงเป็นสนามขี่ม้า และปัญจกีฬา ให้รองรับผู้ชมได้มากถึง 40,000 คน
สำหรับสถานที่ซึ่งจะถูกก่อสร้างขึ้นใหม่ เช่น หมู่บ้านนักกีฬา ได้มีการวางแผนมาอย่างดีแล้วว่าจะต้องตอบโจทย์การใช้งานให้มากที่สุด โดยหมู่บ้านนักกีฬาแห่งใหม่นี้ จะใช้พื้นที่บริเวณคอมมูนลีลล์แซงต์เดนีส์ ซึ่งอยู่ห่างจากสนามแข่งขันส่วนใหญ่ในกรุงปารีสราว 15-30 นาที
ส่วนสถานที่ซึ่งถูกพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นแค่ในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2024 เท่านั้น เช่น หมู่บ้านสื่อมวลชน หรือ สถานีถ่ายทอดสดนานาชาติ จะถูกสร้างเป็นการชั่วคราวภายในพื้นที่เดียว เพื่อให้แน่ใจว่าจะง่ายต่อการรื้อถอนในอนาคต พร้อมกับประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด
โอลิมปิกสีเขียว
ปารีสเกมส์ ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ในเรื่องงบประมาณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในโลกตะวันตกเวลานี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ที่มีความตื่นตัวกับปัญหาตรงนี้กว่าเอเชียอย่างเห็นได้ชัด
มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า ภายในปี 2022 กรุงปารีสจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปขี่รถยนต์เข้าสู่ 4 เขตใจกลางเมืองได้อีก โดยให้เดินทางด้วยการขี่จักรยาน, เดินเท้า หรือใช้ขนส่งสาธารณะ เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดมลพิษภายในเมือง และเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น
2
ฝ่ายจัดงานปารีส 2024 จึงประกาศว่า โอลิมปิก เกมส์ ครั้งหน้าจะแตกต่างจากโอลิมปิกทุกครั้งที่เคยผ่านมา เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาระดับโลกจะถูกจัดขึ้นโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกมกีฬาและธรรมชาติควบคู่กันอย่างยั่งยืน
เหตุผลหนึ่งที่ฝรั่งเศสเลือกใช้สถานที่ซึ่งมีอยู่แล้ว 95 เปอร์เซ็นต์เป็นสนามแข่งขันก็มีอิทธิพลจากเหตุผลนี้เช่นกัน ฝ่ายจัดงานยืนยันว่า ปารีสเกมส์ จะมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแลนด์มาร์กของกรุงปารีสให้กลายมาเป็นสนามกีฬา
ส่วนสถานที่ซึ่งถูกสร้างชึ้นใหม่ เช่น หมู่บ้านนักกีฬา จะถูกออกแบบเป็นเขตนิเวศ หรือ eco-district เพื่อเตรียมพร้อมการเข้ามาอยู่อาศัยของประชาชนทั่วไปในอนาคตข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารประชากรกรุงปารีส และแผนระยะยาวในการพัฒนาชุมชน
ปารีสเกมส์ 2024 ยังเน้นย้ำในเรื่องการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อจัดการแข่งขัน เพื่อลดการสร้างมลพิษในอากาศ รวมถึงก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ฝ่ายจัดงานยังให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียน 100%, สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น, สนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ, การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพน้ำ และวิธีการสำหรับขนส่งนักกีฬาและผู้ชมที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เห็นได้ชัดว่า ปารีส 2024 ไม่ได้ถูกจัดขึ้นเพื่ออวดความยิ่งใหญ่ หรือแสดงถึงอำนาจทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในเมือง พร้อมกับแสดงศักยภาพของฝรั่งเศสไปพร้อมกัน
ยังมีอีกหลายรายละเอียดและกิจกรรม ที่ฝรั่งเศสพยายามสอดแทรกวัฒนธรรม ด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนใคร เช่น การเปิดตัวนักกีฬาผ่านแม่น้ำแซน เพื่อแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของกรุงปารีส โดยไม่ลืมความต้องการของผู้คนในเวลานี้ นั่นคือการอนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
ไม่มีใครรู้ว่า ปารีส 2024 จะสามารถจัดงานโดยปราศจากมลพิษตามความตั้งใจได้หรือไม่ ? แต่ความทะเยอทะยานของพวกเขาก็สะท้อนมุมมองของคนฝรั่งเศสที่มีต่อโลกใบนี้ ซึ่งดูเหมือนว่า ความยิ่งใหญ่จากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ จะไม่ใช่เกียรติยศอีกต่อไป หากต้องแลกมากับการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและทำลายธรรมชาติ
ปารีส 2024 จึงเป็นต้นแบบที่หลายประเทศควรศึกษา ถึงการจัดมหกรรมขนาดใหญ่อย่างยั่งยืน พร้อมการสร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว นักกีฬาจากทั่วโลกจะเดินทางมาและจากไปภายในหนึ่งเดือน แต่ประชาชนที่นี่จะต้องอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ต่อไป คงต้องติดตามกันว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ปารีสเกมส์ จะสร้างประโยชน์แก่ชาวปารีเซียงได้มากแค่ไหน
1
โฆษณา