10 ส.ค. 2021 เวลา 11:48 • การศึกษา
ทำไมถึงเรียกความผิดนี้ว่า "อั้งยี่"...🔥🔥🔥
สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ผมมาพาคุณผู้อ่านมาผ่ายุทธจักร ฐานความผิดประเภทหนึ่ง ที่มีอยู่ในประมวลกฏหมายอาญา เป็นความผิดที่อยู่ในลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ..นั้นก็คือ
"ความผิดฐานเป็นอั้งยี่"
ความผิดฐานนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วมีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นฐานความผิดมาช้านาน
"อั้งยี่" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "สมาคมลับของจีน "
อั้งยี่ มีอยู่คู่สังคมไทยมาแต่ในอดีต คือการตั้งสมาคมลับของจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จัดการ ดูแลแสวงหาผลประโยชน์ในกลุ่มคนจีนและค้าขาย และแบ่งเป็นหลายกลุ่ม
มีการตั้งกฎกันเองในกลุ่มนั้น ๆ การปะทะกันระหว่างกลุ่มอั้งยี่เพื่อแย่งผลประโยชน์ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงได้มีการบัญญัติกฎหมาย ให้อั้งยี่ หรือสมาคมลับ มีโทษทางอาญา ในรัชกาลที่ 5 และมีการปรับปรุงเรื่อยมาจนเป็นกฎหมายอาญาในปัจจุบัน
ภาพจาก MonoMax
มาตรา 209 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ...
ถามว่า การกระทำคืออะไร ก็คือการเป็นสมาชิกของคณะบุคคล
สมาชิก หมายถึงใคร ก็คือ ผู้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในคณะบุคคล
คณะบุคคล ก็หมายถึง การที่บุคคล 2 คนขึ้นไปเข้าร่วมกันเป็นคณะเพื่อแสดงออกซึ่งความมุ่งหมายเดียวกัน
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่นี้ จะสำเร็จเป็นความผิดทันที เมื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคล.. โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องลงมือกระทำผิดใด ๆ ก่อน
เช่น เป็นสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็น แม้จะยังไม่ลงมือก่อความไม่สงบ ก็ตาม ก็มีความผิดตามมาตรา 209 (คำพิพากษาฎีก่ที่ 1176/2543)
หรือเป็นสมาชิกขบวนการโกงทุจริตโกงข้อสอบของทางราชการ ฯ
องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานนี้ อีกประการหนึ่งก็คือ คณะบุคคลนั้น "ปกปิดวิธีดำเนินการ " แปลความง่าย ๆ ก็คือ จะมีวิธีการที่รู้กันเฉพาะสมาชิกเท่านั้น คนอื่นไม่มีทางรู้ได้
อาจจะเป็นสัญลักษณ์ ต่าง ๆ เช่น รอยสัก การใช้ผ้าสีแดงพันต้นแขน หรือแสดงสัญญาณมือ ซึ่งสามารถรู้กันเองได้ในหมู่สมาชิกเท่านั้น
รอยสักสัญลักษณ์รูปโดเรมอนต้นแขนซ้าย สมาชิกจะมีทุกคน( ภาพจากFacebook)
และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การมาเป็นสมาชิกคณะบุคคล ต้องมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายนั้นเอง และจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ก็ได้ เช่นเพื่อโกงข้อสอบ หรือจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อเรียกค่าไถ่ หรือ แบ่งแยกดินแดน ตัวอย่างเช่น
จำเลยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ " ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี" มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย ด้วยการใช้กำลังก่อการร้าย ถือว่า มีความมุ่งหมายอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผิดมาตรา 209 ( คำพิพากษาฎีกาที่ 222/2556 )
อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาคดีอาญาของเรานั้นเป็นระบบกล่าวหา การตั้งข้อหาย่อมมาพร้อมข้อเท็จจริงที่ปรากฎและพยานหลักฐานในเบื้องต้น
ฉะนั้นแล้ว เราจะได้ยินคำว่า อั้งยี่-ซ่องโจร มาคู่กันเสมอ ...จนอาจคิดไปว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ใช่ครับ
ยิ่งช่วงมีการชุมนุมประท้วงในปัจจุบัน เราก็จะได้พบได้เห็น ฐานความผิดทั้งสองฐานนี้บ่อยขึ้น เพราะ ความผิดทั้งสองฐานนี้แม้จะอยู่ติดกันแต่..
เป็นความผิดที่แยกจากกันได้
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อผู้นั้นเข้าเป็นสมาชิกบุคคล
ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร ตามมาตรา 210 เป็นการกระทำผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงประชุมกันเพื่อการทำความผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 784/2557 )
มันจึงเป็นคนละฐานความผิดครับ
หอมปากหอมคอกับยุทธจักร "อั้งยี่" ก็อยากจะนำเสนอ ความผิดฐานซ่องโจร กันไปเลยที่เดียว ซึ่งจะทำให้ยาวเกินไปก็ต้องขอไว้โอกาสหน้าครับ เดี๋ยวไม่มีอะไรจะเขียน 555
ก่อนจากอยากรู้ไหมครับ ผู้ชายที่ถูกภริยาด่ามักเกิดวันไหน ..ลองดูนะครับ
ภาพจากFacebook
😊😊😊 บุญรักษาทุกๆท่านครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา