11 ส.ค. 2021 เวลา 12:38 • ประวัติศาสตร์
• ตำนานหินดำแห่งกะอ์บะฮ์ในนครมักกะฮ์
ในบทความก่อนหน้านี้เล่าถึงประวัติของอับราฮัมผู้เป็นอัครบิดรแห่งชาวยิว คริสต์ และอิสลาม ซึ่งในนั้นได้กล่าวถึงตอนที่ฮาการ์และอิชมาเอลภรรยาคนที่สองและบุตรของอับราฮัมได้ถูกขับไปเร่ร่อนจนเกือบตายในทะเลทราย อิชมาเอลเตะทรายด้วยความโกรธแค้นใจจนไปเจอบ่อน้ำเข้า ซึ่งพออับราฮัมทราบเรื่องก็มาหาแล้วสร้างวิหารไว้ใกล้กับบ่อน้ำที่ช่วยชีวิตสองแม่ลูกนี้ไว้
2
แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้เล่าคือ อับราฮัมได้นำ “หินดำศักดิ์สิทธิ์” มาประดิษฐานไว้ในวิหารแห่งนี้ หินดำที่ว่านั้นมีตำนานยาวนานย้อนไปถึงเมื่อครั้งที่ยังมีมนุษย์คู่แรกคืออดัมกับอีฟ หินดำและวิหารแห่งนี้ปัจจุบันกลายเป็นศาสนสถานที่บรรดาผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจากทั่วโลกเดินทางมาแสวงบุญเป็นประจำทุกปี
4
เพื่อไม่ให้ขาดช่วงจากบทความที่แล้ว จึงจะมาเล่าเรื่องนี้กันต่อ
เหล่าชาวมุสลิมต่างมาแสวงบุญที่วิหารกะอ์บะฮ์ (Image: Islam Hashtag)
• ตำนานอดัมกับอีฟและหินดำ
ในหนังสือปฐมกาล (Book of Genesis) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในคัมภีร์ของพวกฮีบรูหรือยิวได้กล่าวถึงกำเนิดอดัมกับอีฟ อดัมเป็นชายคนแรกบนโลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา จากนั้นพระเจ้าจึงสร้างอีฟขึ้นจากกระดูกซี่โครงของอดัมเพื่อให้เป็นคู่อาศัยอยู่ด้วยกัน ณ สวนแห่งอีเดนอันวิจิตรที่พรั่งพร้อมด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง โดยพระเจ้าทรงประทานทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการให้
4
สวนแห่งอีเดนนี้มีผลไม้ดาษดื่นเต็มอยู่ทั่วสวน พระเจ้าบอกกับอดัมว่าเขาสามารถกินผลไม้นานาชนิดในสวนแห่งนี้ยกเว้นแต่ผลไม้ชนิดเดียว คือ ผลจากต้นแห่งความรู้ดีรู้ชั่ว ทั้งอดัมกับอีฟใช้ชีวิตในสวนแห่งอีเดนด้วยความไร้เดียงสาจึงมิได้รู้สึกอับอายที่อยู่ในสภาพกายเปล่าเปลือย
2
แต่งูพิษล่อลวงให้อีฟกินผลไม้ต้องห้ามนี้จนได้เพราะความอยากรู้อยากเห็น และอีฟก็นำผลไม้นี้บางส่วนส่งให้อดัมกินต่อ พอกินเข้าไปทั้งคู่จึงเกิดความตระหนักรู้ขึ้นและสูญเสียความไร้เดียงสา พระเจ้าจึงสาปงูพิษตนนั้น พระเจ้าทำนายว่าเหล่ามนุษย์ชายหญิงจะได้รับผลที่ตามมาจากการไม่เชื่อฟังพระเจ้า และขับอดัมกับอีฟออกจากสวนแห่งอีเดนไปเพื่อออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกที่โหดร้ายและซับซ้อน
1
จากเรื่องเล่าของฝั่งอิสลาม ระบุว่าก่อนที่อดัมกับอีฟจะออกจากสวนแห่งอีเดนไป พระเจ้าอนุญาตให้พวกเขานำของจากสวนแห่งนี้ติดตัวไปได้ 1 ชิ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ของสิ่งนี้จะทำให้ทั้งสองรำลึกถึงสิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้ข้างหลังที่สวนแห่งอีเดนนี้ และจะได้รำลึกถึงสิ่งที่จะอยู่กับพวกเขาทั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งจะทำให้พวกเขาสำนึกได้ว่าถึงแม้ว่าจะสูญเสียสวนแห่งอีเดนไปแต่ไม่ได้สูญเสียพระเจ้า พระองค์จะอยู่กับพวกเขาถึงแม้ว่าเบื้องหลังของพวกเขาประตูของสวนแห่งอีเดนจะปิดลงก็ตาม
1
สิ่งที่อดัมกับอีฟนำติดตัวมาเป็นที่ระลึกคือหินสีดำก้อนหนึ่งซึ่งมาจากสวรรค์ และหินดำก้อนนี้ก็เป็นมรดกตกทอดสืบมาถึงอับราฮัม
เมื่ออิชมาเอลค้นพบบ่อน้ำในโอเอซิส อับราฮัมผู้เป็นบิดาจึงมาเยี่ยมเยือนภรรยาคนที่สองและบุตรชาย เขาได้สร้างวิหารไว้ตรงจุดนี้ วิหารแห่งนี้เรียกว่ากะอ์บะฮ์ (Kaaba) และอับราฮัมได้นำหินดำนี้มาประดิษฐานไว้ในกะอ์บะฮ์ แต่ในอีกเรื่องเล่าหนึ่งระบุว่าเทวทูตญิบรีล หรือ เกเบรียล (Gabriel) นำหินดำมามอบให้อับราฮัมในตอนที่สร้างวิหารนี้ขึ้น
ต่อมา ได้มีเมืองเกิดขึ้นรอบกะอ์บะฮ์นี้ และถูกเรียกว่า นครมักกะฮ์ (Mecca)
ภาพที่วาดโดยมิเกลันเจโลเมื่อปี 1508-12 ที่บนเพดานของวิหารซิสทีน (Image: Art Now and Then)
ตำแหน่งที่ประดิษฐานของหินดำในวิหารกะอ์บะฮ์ (Image: Arab News)
• ในกาลต่อมา
นครมักกะฮ์ ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ ที่ซึ่งชนเผ่าที่เร่ร่อนอย่างเบดูอินอาศัยอยู่ เบดูอินเป็นเผ่าพันธุ์นักรบที่ห้าวหาญ คนเหล่านี้ต่อสู้แย่งชิงเพื่อจะได้ครอบครองโอเอซิส แต่ชนเผ่าเบดูอินเคารพนับถือนครมักกะฮ์ และจะทำการเดินทางไปแสวงบุญยังที่แห่งนั้นเพื่อไปจุมพิตหินดำที่เชื่อกันว่าตกทอดมาตั้งแต่สมัยอดัมกับอีฟ และดื่มน้ำจากบ่อที่อิชมาเอลพบ
ชนเผ่าเบดูอินนับถือพระอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าสูงสุด แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นดั่งอับราฮัมที่เชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียว ชาวเบดูอินยังบูชาเทพเคารพองค์อื่น ๆ ด้วย
บรรดาผู้คนที่นครมักกะฮ์มีรายได้งดงามจากผู้แสวงบุญที่ดั้นด้นเดินทางมาจุมพิตหินดำและดื่มน้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์ และซื้อรูปเคารพที่ขายอยู่รายรอบนครมักกะฮ์ จึงทำให้มูฮัมหมัดชายผู้เกิด ณ ที่แห่งนี้ไม่พอใจกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงออกเดินทางออกจากนครมักกะฮ์เพื่อสวดภาวนา และได้ยินเสียงที่พระเจ้าส่งผ่านเทวทูต จากนั้นเขาจึงกลายเป็นศาสดาสั่งสอนผู้คนให้นับถือพระเจ้าองค์เดียว โดยเขาประณามการบูชารูปเคารพ และการเก็บเงินผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญ
1
บรรดาผู้ศรัทธาในคำสอนของเขาถูกเรียกว่า “ผู้ยอมมอบตนต่อพระเจ้า” หรือมุสลิมนั่นเอง แต่ความขัดแย้งในนิกายความเชื่อนำมาซึ่งการทำร้ายชาวมุสลิมในนครมักกะฮ์ มูฮัมหมัดหลบออกจากนครมักกะฮ์ในยามกลางคืนเพื่อเดินทางไปยังเมืองยาธริบซึ่งต่อมาถูกเรียกว่ามะดีนะฮ์ที่หมายถึงนครแห่งศาสนทูต ซึ่งในปีที่มูฮัมหมัดออกจากนครมักกะฮ์ถูกนับเป็นศักราชเริ่มต้นแรกในปฏิทินอิสลามที่เรียกว่า ฮิจเราะห์
2
สิ่งที่ตามมาคือการทำศึกสองเมืองที่นครมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์ห้ำหั่นกัน การศึกครั้งสุดท้ายมูฮัมหมัดนำทัพขนาดใหญ่ไปกำชัยถึงนครมักกะฮ์ และชักจูงให้ชาวเมืองเป็นมุสลิมและขนย้ายรูปเคารพออกจากกะอ์บะฮ์ไปจนหมด จากนั้นก็กลับนครมะดีนะฮ์
3
ก่อนสิ้นชีวิต มูฮัมหมัดเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ เขาไปที่กะอ์บะฮ์อันเป็นที่ประดิษฐานของหินดำและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ การเดินทางครั้งสุดท้ายของเขากลายเป็นต้นกำเนิดของพิธีฮัจญ์ที่ชาวมุสลิมกระทำสืบมาจนปัจจุบัน
ภาพที่วาดขึ้นในปี 1315 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในตอนที่ชาวมักกะฮ์บูรณะวิหาร แต่พอเสร็จกลับตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้ยกหินดำกลับไปไว้ที่เดิม มูฮัมหมัดได้เป็นผู้ยกหินดำมาประดิษฐานไว้ที่เดิม (Image: Wikipedia)
ผู้แสวงบุญพยายามจูบ สัมผัส ตรงจุดที่หินดำประดิษฐานอยู่ (Image: Inside Saudi)
• หินดำคืออะไร
1
ภาษาอาหรับเรียกหินดำว่า อัลฮ์ยา อัล อัสวัต (al-Hajar al-Aswad) ซึ่งมีสัณฐานเป็นหินรูปครึ่งวงกลม สีดำแดง มีขนาดกว้างประมาณ 10 นิ้ว และสูง 12 นิ้ว หินดำแตกออกเป็นหลายชิ้น ซึ่งส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมี 3 ชิ้น (รวมทั้งหมดเป็น 7-8 ชิ้น) และถูกรวมบรรจุไว้ในโลหะเงินบริสุทธิ์โดยตั้งอยู่ที่มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวิหารสีดำที่เรียกว่ากะฮ์บะฮ์ ซึ่งเรียกตามลักษณะของวิหารที่เป็นรูปทรงลูกบาศก์
2
ในตำนานของชาวมุสลิมระบุว่าหินดำนี้ถูกประทานลงมาจากสวรรค์ ซึ่งในแรกเริ่มนั้นมีสีขาวบริสุทธิ์เหมือนดั่งน้ำนม แต่ได้ดูดซับเอาบาปของมนุษย์ผู้เป็นลูกหลานของอดัมกับอีฟเข้าไว้จึงกลายเป็นสีดำแทน แต่บ้างก็ว่าที่มันกลายเป็นสีดำเหตุเพราะซึมซับเอาบาปจากบรรดาผู้ที่มาแสวงบุญจำนวนมหาศาลที่มาจูบและสัมผัส
2
แต่อีกข้อเท็จจริงหนึ่งได้บันทึกไว้ว่าเหตุที่มันกลายเป็นสีดำเนื่องจากชาวอาหรับในอดีตมีการเชือดสัตว์เพื่อบูชายัญบนหินแล้วเอาเลือดมาชโลมหิน นานเข้าจึงกลายเป็นสีดำแดง ส่วนการที่หินดำได้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามแย่งชิงกันครอบครองนครมักกะฮ์นั่นเอง
2
เมื่อชาวมุสลิมมาแสวงบุญ จะมีการเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ และเวลาเดินผ่านมุมที่หินดำประดิษฐานอยู่จะมีการจูบ สัมผัส หรือไม่ก็โบกมือ (ในกรณีที่เข้าไม่ถึง) ซึ่งไม่ใช่การบูชา แต่สำหรับการจูบหินดำนั้นเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่ชาวมุสลิมปฏิบัติตามศาสดามูฮัมหมัด โดยธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นเมื่อกาลิฟคนที่ 2 ที่ชื่อว่า โอมาร์ บอกแก่สาวกว่าเขาเห็นศาสดามูฮัมหมัดทำเช่นนี้กับตาของตัวเอง จึงให้เหล่าสาวกทำตาม
3
โดยเพจมุสลิมไทยโพสต์อธิบายว่าการที่ศาสดามูฮัมหมัดจูบหินดำนั้นเพราะ “หินดำคือการสาบานของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งและทรงเกียรติในพื้นพิภพนี้ ซึ่งสิ่งถูกสร้างของพระองค์ (มนุษย์) สามารถจับสัมผัสมันได้ เสมือนกับการที่ชายได้จับสัมผัสมือของพี่น้องของเขา”
มีการสันนิษฐานว่าหินดำคืออะไร บ้างก็ว่าเป็นหินบะซอลต์บ้าง หินอาเกตบ้าง หรือเป็นแม้กระทั่งแก้ว แต่นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่าหินดำน่าจะเป็นหินอุกกาบาต และหินดำนี้ในปี 930 เคยถูกกลุ่มคลั่งศาสนานิกายหนึ่งขโมยออกไปเรียกค่าไถ่และเก็บเอาไว้นานนับ 20 ปี
2
ภาพหินดำที่อยู่ในกรอบที่ทำด้วยเงินครอบไว้ (Image: Wikipedia)
ภาพหินดำที่ทางการซาอุดิอาระเบียออกนำมาเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2564 (Image: General Presidency of the Two Holy Mosques/CNN)
อ้างอิง:
1. ฮัลโลเวย์, ริชาร์ด, ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา