12 ส.ค. 2021 เวลา 13:30 • หนังสือ
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30น. มาแล้วคับผม สัปดาห์นี้ขอนำเสนอ
ริเน็น
สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น
โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
#Who_Should_Read
-ผู้ที่อยากเข้าใจหลักการบริหารธุรกิจแบบญี่ปุ่น
-ผู้ที่อยากสร้างธุรกิจที่มอบคุณค่าให้กับผู้อื่น
-เจ้าของธุรกิจที่อยากสร้างธุรกิจที่มีอายุยืนยาว
#What_I_Get
 
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบริษัทที่มีอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดในโลก โดยรวมแล้วมีถึง 3113 บริษัทเลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าลำดับที่สองกว่า 2 เท่าตัว
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้บริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากสามารถอยู่รอดและสร้างกำไรได้ต่อเนื่องแม้จะผ่านเวลามานานกว่า 100 ปี?
ความสำเร็จของบริษัทที่อยู่ได้ยาวนานกว่า 100 ปีโดยพื้นฐานแล้วมาจากปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่ยึดถือหลัก ”การสร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์รอบด้านทั้งต่อตัวธุรกิจ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้ารวมถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและโลกอีกด้วย
ภายในหนังสือได้แบ่งแยกการบริหารธุรกิจเป็น 2 รูปแบบคือ
1.บริษัท “ต้นไผ่”
บริษัทต้นไผ่บริหารโดยมีเป้าหมายหลัก คือ การทำผลประกอบการให้เติบโตอย่างรวดเร็ว อาจจะมีคคติพจน์ที่สวยหรู แต่แท้จริงแล้วสนใจเรื่องยอดขายกับลูกค้ามากกว่าส่วนอื่นมาก
บริษัทต้นไผ่จะให้ความสำคัญกับผู้หุ้นเป็นอันดับแรก เพราะเป็นผู้ลงทุน รองลงมาคือลูกค้าและสังคม ลำดับสุดท้ายคือพนักงานและคู่ค้า ที่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจทำการไล่พนักงานเพื่อลดต้นทุน หรือกดดันคู่ค้าให้ลดราคาอยู่เสมอ เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้แก่บริษัท
(หมายเหตุ- ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าบริษัทต้นไผ่ไม่ใช่บริษัทที่ไม่ดี การบริหารแบบนี้ทำให้บริษัทเติบโตได้เร็ว ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่แลกมาด้วยการกดดันพนักงานและคู่ค้า จึงไม่อาจอยู่ได้นานถ้าความเชื่อใจของพนักงานและคู่ค้าเสียไป)
2.บริษัท “ต้นสน”
บริษัทต้นสนบริหารโดยมีเป้าหมายหลัก คือ การทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยพัฒนาสังคม มีการสื่อสารถึงคุณค่าภายในบริษัทอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าต่อสังคมมากกว่าผลกำไรสูงสุด
บริษัทต้นสนจะให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าหากพนักงานมีความสุขพวกเขาย่อมสร้างคุณค่าดี ๆ ให้กับลูกค้าได้ ถัดมาคือคู่ค้า ลูกค้า สังคม และผู้ถือหุ้นตามลำดับ
บริษัทต้นสนแม้จะเผชิญหน้าเศรษฐกิจตกต่ำก็จะพยายามรักษาพนักงานและคู่ค้าไว้ โดยไม่ไปกดดันและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระยะยาวขึ้น จนทุกคนต่างรู้สึกขอบคุณที่บริษัทให้คุณค่า จนเกิดเป็นแรงที่ช่วยให้บริษัทก้าวผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้
1
รูปแบบการบริหารที่จะทำให้บริษัทอยู่ได้ยาวนานเป็น 100 ปีก็คือ การบริหารแบบบริษัทต้นสน นี่เอง โดยรากของต้นสนที่เป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างบริษัทต้นสนก็ คือ การสร้างและยึดถือ “ริเน็น” หรือ ปรัชญาธุรกิจ
การสร้างริเน็นเริ่มต้นด้วย 3 คำถามต่อไปนี้
1.บริษัทดำรงอยู่เพื่ออะไร (พันธกิจ : Mission) - เหตุผลที่ธุรกิจต้องดำรงอยู่ รวมถึงความสำคัญที่มีต่อลูกค้าและสังคม โดยอาจมองหาจากสิ่งที่เราทำให้ลูกค้ามีความสุข เพื่อสร้างพันธกิจที่ขยายความสุขนั้นออกไป
1
2.บริษัทมุ่งไปในทิศทางใด (วิสัยทัศน์ : Vision) – ภาพอนาคตที่บริษัทจะพัฒนาไป สิ่งที่บริษัทจะทำและไม่ทำในอนาคต โดยมองหาสิ่งที่เราเชื่อมั่นเพื่อวางเป็นรากฐานของบริษัท
1
3.บริษัทจะนำเสนอคุณค่าอย่างไร (คุณค่า : Value) – คุณค่าของบริษัทที่มอบให้แก่พนักงาน ลูกค้า คู่ค่า และสังคม โดยการรับรู้คำขอบคุณที่ได้จากคนรอบตัวว่าบริษัทได้ให้คุณค่าอะไรบ้าง ซึ่งบางทีอาจจะมีมากกว่าที่คุณคิด
โดยการตอบคำถามหลัก 3 ข้อนี้จะช่วยขัดเกลาหลักการที่จะเป็นแกนกลางของธุรกิจ ที่ควรเป็นหลักการที่ยั่งยืนและไม่มีมุมมองที่คับแคบจนเกินไป แกนกลางนี้มาจากการมองว่าบริษัทจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรซึ่งจะขัดเกลาเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมของธุรกิจต้นสนต่อไป
ริเน็นเปรียบเสมือนดังรากสนที่แข็งแกร่ง สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการดูแลกิ่งสน 4 กิ่งต่อไปนี้ เพื่อสร้างบริษัทที่ยั่งยืน
1.กิ่งสนที่ 1 : พนักงาน
บริษัทต้นสนจะสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับพนักงาน และมองว่าพนักงานคือทรัพย์สินที่มีคุณค่าที่สุดของบริษัท โดยจะให้การดูแลอย่างดีทั้งด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน ผลตอบแทน จิตใจ การขอบคุณพนักงานอย่างจริงใจ การอบรมคุณธรรมของบริษัท และการปลูกฝังและวางระบบให้พนักงานช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
2.กิ่งสนที่ 2 : คู่ค้า
บริษัทต้นสนจะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า เพื่อค่อย ๆ สร้างความเชื่อใจที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันและแก้ปัญหาไปด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่มองราคาเป็นหลักในการเลือกคู่ค้า
โดยบริษัทต้นสนจะนึกถึงประโยชน์ของคู่ค้าด้วย โดยให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมที่จะช่วยให้คู่ค้าเติบโตได้ และทำให้ทั้งสองธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
3.กิ่งสนที่ 3 : ลูกค้า
บริษัทต้นสนมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความสุขให้ลูกค้าอย่างแท้จริง ถึงแม้ลูกค้าจะไม่ได้เรียกร้องแต่บริษัทจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เสมอ เพื่อสร้างความสุขจากการได้รับที่ธุรกิจมอบคุณค่าให้กับลูกค้า ถึงแม้จะทำให้กำไรลดลงบางส่วนก็ตาม
บริษัทต้นสนมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากลูกค้า เห็นความสำคัญของลูกค้าเก่าและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่ามากกว่าการสร้างลูกค้าใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าเดิม เพื่อสร้างความเชื่อใจแก่ลูกค้าเก่าทุกคน
4.กิ่งสนที่ 4 : สังคม
บริษัทต้นสนจะสร้างสินค้าและบริการที่ดี และทำเพื่อลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและก่อให้เกิดสังคมที่ดีขึ้น นอกจากนี้การจ่ายภาษีอย่างถูกต้องก็เป็นการช่วยสังคมทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้บริษัทต้นสนยังเป็นบริษัทที่ขอบคุณสังคมที่มีส่วนให้บริษัทเติบโตจึงได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบแทนสังคม เช่น การสร้างประโยชน์ในท้องถิ่น การสละพื้นที่ให้ชุมชนทำกิจกรรม การบริจาค หรือแม้แต่การถ่ายทอดความรู้ทางธุรกิจ
ตัวอย่างธุรกิจต้นสน
ร้านโอซาสะเป็นร้านขายขนมเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 3 ตารางเมตรที่ขายขนมเพียง 2 ชนิด คือ โยกัง (วุ้นถั่วแดง) และ ขนมโมนากะ (แป้งบางกรอบไส้ถั่วแดง) ร้านเลือกที่จะทำขนมเพียง 2 ชนิดแล้วทำให้ดีที่สุดมากกว่าการทำขนมหลากหลายที่สุดท้ายคนก็จะเลิกซื้อไป
โดยการทำโยกังของร้านนี้จะพิถีพิถันเป็นพิเศษให้ได้โยกังที่ดีที่สุด และจะทำเพียง 150 แท่งเพื่อควบคุมคุณภาพ และถ้าทำออกมาได้ไม่ดีพอก็จะทำการทิ้งไปอย่างไม่เสียดาย จะไม่ขายสินค้าที่ไม่ดีที่สุดออกไปเด็ดขาด เป็นการสร้างความเชื่อใจกับลูกค้าว่าจะได้สินค้าที่ดีที่สุดเสมอ
นอกจากนี้เจ้าของร้านเป็นคนที่เป็นมิตรกับพนักงาน และให้อิสระในการทำงานสูง เพราะการให้ความเชื่อใจต่อตัวพนักงานอย่างเต็มที่ โดยใช้การแนะนำอย่างมีความเมตตาแทนการออกคำสั่ง
วัตถุดิบถั่วแดงที่ร้านใช้ก็มาจากคู่ค้าเก่าแก่ที่ติดต่อกันมานานกว่า 50 ปี เป็นการสร้างความเชื่อใจและช่วยกันผลักดันให้เกิดสินค้าที่ดีที่สุดเสมอ ถึงแม้ว่าวัตถุดิบจะแพงกว่าเจ้าอื่น แต่ได้วัตถุดิบที่เชื่อใจได้เสมอนั้นถือว่าคุ้มค่า
ร้านนี้จึงเปรียบเสมือนร้านค้าที่สะสมความเชื่อใจของบุคคลทุกฝ่ายมากกว่าการตั้งร้านค้าเพื่อสะสมเงินเป็นอย่างมาก การที่ทุกคนในปฏิสัมพันธ์ของธุรกิจมีความเชื่อกันและสร้างสิ่งที่ดีที่สุดออกมาเสมอก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยั่งยืนได้ยาวนาน
#How_I_Feel
 
หนังสือเล่มนี้ได้สอนเราเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจที่มองผลระยะยาวอย่างแท้จริง ด้วยการมองบทเรียนของธุรกิจที่สามารถอยู่ได้นานกว่า 100 ปี ผ่านหลักการสร้างและยึดถือ “ริเน็น” ที่ช่วยให้ธุรกิจมีแกนกลางที่ดี มีคุณธรรม และมองถึงผลประโยชน์และคุณค่าของทุกคนรอบตัว
เรียกได้ว่าการที่ธุรกิจหนึ่งจะอยู่ได้ยืนยาวนั้นต้องดูแลทุกคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทเป็นอย่างดี จนก่อให้เกิดสังคมแห่งความเชื่อใจ ที่เชื่อว่าทุกคนจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กันเสมอ
Review by Another Book
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30 ครับผม
กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
โฆษณา