22 ส.ค. 2021 เวลา 11:49 • การศึกษา
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ใช้แทนลายมือจริงได้หรือไม่
ปัจจุบันนี้ แทบจะทุกคนต่างมีเครื่องมือสื่อสารเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์
และทุกอย่างมีการรับส่งข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์กันเกือบหมดแล้ว ถ้ายังต้องเซ็นด้วยปากกากันบนกระดาษอยู่อีก อุปกรณ์ข้างต้นก็อาจจะดูเหมือนใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก
“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” คือ การที่เราลงชื่อโดยไม่ต้องใช้ปากกาเซ็นลงบนกระดาษ แต่จะเป็นการเซ็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายนั้นก็รับรองไว้ชัดเจนว่าใช้ได้และมีผลทางกฎหมายด้วย
1
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) คือเพื่อรองรับผลทางกฎหมายของลายมือชื่อ ว่าต่อไปนี้ถ้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถใช้ได้
เดิมเราเซ็นบนกระดาษ เราอาจจะนึกถึงตัวหนังสือที่เป็นชื่อของเรา แต่การเซ็นในแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพลายเซ็นแบบนั้นแล้ว ถ้ามีองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถใช้เป็นลายมือชื่อได้เหมือนกัน
📌การใช้ Username กับ Password ก็สามารถทำได้
📌การกด “Agree” ถ้าเป็นกลไกในการแสดงเจตนา ก็สามารถทำได้
📌การใช้ Biometric ต่าง ๆ เพื่อทดแทนลายมือชื่อ ก็สามารถทำได้
📌ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่ใช้เทคโนโลยี PKI (Public Key Infrastructure) ก็สามารถทำได้
โดยกฎหมายธุรกรรมฯ มีบทบัญญัติในเรื่องลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า “ต้องทำลายมือชื่ออย่างไร” จึงจะมีผลตามกฎหมาย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญมี 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ
1
- ระบุได้ว่าเป็นลายมือชื่อของใคร
- ต้องรู้ว่าจะลงลายมือชื่อด้วยเจตนาอะไร เช่น ในฐานะคู่สัญญา ผู้ค้ำประกัน หรือพยาน
- วิธีการที่ดี เช่น ดูความคุ้มค่าของธุรกรรม ประเภทของธุรกรรม ความสำคัญของธุรกรรม เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสม
แล้วเราจะเลือกวีธีการที่ดีอย่างไร
เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ลายมือชื่อว่าเป็นแบบไหนโดยเฉพาะ และเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ดังนั้น ถ้าการใช้ Username และ Password ครบองค์ประกอบที่กำหนด หรือการกด “Agree” สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนกด แล้วครบองค์ประกอบ ก็ใช้ได้
แต่เนื่องจากคนใช้ส่วนใหญ่อาจจะไม่มั่นใจว่า หากทำแบบนั้นหรือแบบนี้จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จึงพยายามที่จะทำให้การปรับใช้กฎหมายหรือมาตรฐานมีความชัดเจนขึ้น
เพื่อช่วยให้คนที่นำลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ ไปใช้ มีแนวทางในการใช้งานลายมือชื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดประเภทของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ใช้ได้ตามกฎหมาย หาก (1) ระบุได้ว่าเป็นของใคร (2) รู้ว่าลงนามไปเพื่ออะไร และ (3) ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้
1
ถ้าครบองค์ประกอบนี้ ก็เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น จึงเป็นอะไรก็ได้ที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ
2) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ คือสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความที่ลายมือชื่อนั้นกำกับได้ เช่น ไฟล์ข้อมูลนั่นมีการส่งมาพร้อมกับลายมือชื่อ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากคนอื่นระหว่างทาง และตัวลายมือชื่อ สามารถใช้ตรวจสอบได้ทันทีว่า มีการแก้ไขไฟล์มาระหว่างทาง
สามารถออกและใช้ในองค์กรได้ เพื่อให้พนักงานทำธุรกรรมภายในองค์กร ซึ่งจะต้องมีเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมา เช่น ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ทำให้เกิดสิทธิที่ตัวเจ้าของลายมือชื่อเข้าถึงได้คนเดียว
การนำลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ไปใช้งาน ถ้าจะให้ปลอดภัย ควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนะคะ
หมายเหตุ : ลายมือชื่อดิจิทัล หมายถึง ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากกระบวนการเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้สามารถยืนยันตัวเจ้าของลายมือชื่อและตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความ
และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการทำให้เจ้าของลายมือชื่อไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดจากข้อความที่ตนเองลงลายมือชื่อได้
3) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ โดยให้บุคคลที่ 3 ที่น่าเชื่อถือมารับรอง คือ การให้บุคคลที่ 3 มาช่วยรับรองลายมือชื่อของเราว่า ลายมือชื่อนี้ได้มีการผูกไว้กับตัวของเราเรียบร้อยแล้ว เวลาไปทำธุรกรรมนอกองค์กร ก็มีบุคคลที่ 3 นี้ รับรองให้ว่า ลายมือชื่อนี้เป็นของเรา ซึ่งทำให้การธุรกรรมน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี พอมีคำว่าลายเซ็นดิจิทัลเพิ่มเข้ามา บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วมันต่างกันยังไง กับ ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เราจึงสรุปมาให้พอสังเขป ดังนี้
ฟังก์ชัน >> ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ระบุบุคคลที่ลงนามระบุเจตนาและความยินยอมของเขา
ส่วนลายเซ็นดิจิทัลรองรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์รักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเสริมสร้างความไว้วางใจของผู้ลงนามและตรวจจับความพยายามในการปลอมแปลง
คุณสมบัติ >> ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์คือเครื่องหมายใด ๆ ที่วางบนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนลายเซ็นดิจิทัลสร้างลายนิ้วมืออิเล็กทรอนิกส์
การเข้ารหัส >> ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้การเข้ารหัส ส่วนลายเซ็นดิจิทัลใช้การเข้ารหัส
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับการลงลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็คงพอจะเห็นประโยชน์หลักๆ ก็คือสามารถลดต้นทุนการใช้กระดาษและการจัดเก็บกระดาษได้ไม่น้อยทีเดียวนะคะ สำหรับบทความนี้ก็หวังว่าจะช่วยทำให้คุณผู้อ่านได้มีความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ได้บ้างนะคะ
Cr. ETDA
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
สามารถเยี่ยมชมเราผ่านช่องทางอื่นตามลิ้งข้างล่างนี้ค่ะ :
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา